วัฒนธรรมการโทษเหยื่อ และวัฒนธรรมการเล่นมุกตลกเกี่ยวกับการข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศ คือปรากฎการณ์ในสังคมออนไลน์ที่สะท้อนถึงความไม่เข้าใจเรื่องความรุนแรงทางเพศ
จากกรณีที่มีการเผยแพร่คลิปของผอ.โรงเรียนดัง กระทำอนาจารลวนลามเด็กนักเรียนหญิงคนหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง แต่ในขณะที่กำลังมีการดำเนินการทางกฎหมาย รวมไปถึงสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ความคิดเห็นของคนบางกลุ่มในสังคมออนไลน์ กลับมีลักษณะของการโทษเหยื่อ (Victim Blaming) รวมไปถึงการล้อเลียนเล่นมุกตลกใต้ข่าวหรือคลิปวีดีโอกันอย่างสนุกสนาน ตัวอย่างเช่น ในโพสของผู้ใช้เฟซบุครายหนึ่ง ซึ่งโพสคลิปดังกล่าวไว้ในกลุ่มสาธารณะ มีความเห็นทำนองว่า “เด็กผู้หญิงเดี๋ยวนี้ก็ร้ายใช่เล่น” หรือมุกตลกทำนองว่า “ในเสื้อมีมดอยู่หรือเปล่า ผอ.เลยช่วยขยี้ให้”
ในขณะที่ผู้ใช้เฟซบุครายหนึ่งโพสสเตตัสทำนองว่า
“ข้อแก้ตัวที่ผอ.บอกว่าช่วยซ่อมคอมเฉยๆ จะฟังขึ้นทันที ถ้าเด็กผู้หญิงในคลิปเป็นปัญญาประดิษฐ์ แล้วระบบปฏิบัติการขัดข้อง เลยต้องล้วงควักเข้าไปซ่อมให้”
นอกจากนี้ใต้โพสข่าวออนไลน์หลายๆสำนักข่าว ก็มีความเห็นประเภทโทษเหยื่อหลากหลาย เช่น
“ทำไมไม่ส่งเสียงร้อง”
“ทำไมไม่ลุกออกไปจากตรงนั้น”
“เด็กมันก็ใช่ย่อยไหม”
“ทำไม่ไม่ระวังตัวเอง”
คำถามเหล่านี้ ล้วนจัดอยู่ในกลุ่มของการโทษเหยื่อทั้งสิ้น
Victim Blaming คืออะไร?
เว็บไซต์ของ Harvard Law School Student Organizations ได้อธิบายคำนี้เอาไว้ว่า
“Victim-blaming is the attitude which suggests that the victim rather than the perpetrator bears responsibility for the assault. Victim-blaming occurs when it is assumed that an individual did something to provoke the violence by actions, words, or dress”
สรุปโดยย่อคือ เป็นทัศนคติที่กล่าวโทษต่อเหยื่อว่ามีส่วนในการทำให้เกิดเหตุการณ์นั้นๆขึ้น เช่น อาจเป็นการยั่วยุให้ใช้ความรุนแรงโดยการกระทำ คำพูด หรือการแต่งตัวของเหยื่อเอง
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ทัศนคตินี้มุ่งไปที่ความผิดของเหยื่อไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วน แทนที่จะเป็นความผิดของผู้กระทำความความผิดนั้น
Victim Blaming ส่งผลต่อเหยื่ออย่างไรบ้าง?
ส่งผลให้เหยื่อไม่กล้าแจ้งความดำเนินคดี ส่งผลให้เหยื่อถูกตีตราและโทษตัวเอง จนอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายหรือภาวะเจ็บป่วยทางจิตในที่สุด นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดอคติต่อการดำเนินคดีโดยรัฐหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงการถูกสังคมผลักไสไม่ต้อนรับ (Social Exclusion) นอกจากวัฒนธรรมการโทษเหยื่อที่เกิดขึ้นเวลามีข่าวข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศแล้ว การเล่นตลกขำขัน ล้อเลียน ก็เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่ส่งเสริมความรุนแรงทางเพศทางอ้อม โดยการเล่นมุกตลกกับเรื่องการข่มขืนหรือการล่วงละเมิดทางเพศ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Rape Joke หรือ Sexist Joke ตัวอย่างมุกตลกเหล่านี้ล่าสุดที่ผู้เขียนเคยเจอ คือการเล่นมุกตลก จากการประท้วงของนักศึกษาหญิงคนหนึ่งที่แบกฟูกที่นอนไปในมหาวิทยาลัย โดยฟูกนั้นคือฟูกเดียวกันกับที่เธอนอนและถูกข่มขืนบนฟูกนั้น มีคนโพส์ตมุกตลกทำนองว่า
“แบบนี้ถ้าโดนข่มขืนบนโขดหิน คงทำแบบนี้ไม่ได้เพราะแบกไม่ไหว”
“ถ้างั้นต้องใช้โฟมที่ทำเป็นรูปหินแทน 555”
ยังมีมุกตลกอีกจำนวนมากที่ถูกสร้างขึ้นจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศ เช่น
“ถ้าโดนคนนี้ข่มขืนก็ยอมให้โดนข่มขืน”
“โดนแท่งสักที เดี๋ยวก็หายเป็นทอม”
และอีกหลากหลายมุกตลกที่คนอ่านสามารถพบเจอได้ตามข่าวออนไลน์หรือคลิปวีดีโอ
ทำไมวัฒนธรรมการโทษเหยื่อและการเล่นมุกตลกจากความรุนแรงทางเพศ
สะท้อนถึงความไม่เข้าใจเรื่องความรุนแรงทางเพศ?
ถ้าเข้าใจเรื่องความรุนแรงทางเพศ สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้น เช่น การโทษเหยื่อ โดยการตั้งคำถามที่ระดมใส่ผู้ถูกกระทำ อาทิเช่น
ทำไมไม่ระวังตัวเอง?
คำตอบคือ เหยื่อการข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศจำนวนมาก ระวังตัวเองอย่างเต็มที่แล้ว แต่เพราะผู้กระทำเป็นผู้มีอำนาจมากกว่าทั้งทางกายภาพและทางจิตใจ เช่น เป็นนายจ้าง เป็นคนในครอบครัว เป็นต้น
ทำไมไม่ลุกหนีจากตรงนั้น? คำตอบคือ ในห้วงเวลาเกิดเหตุ เหยื่อจำนวนมากเกิดภาวะช็อคหรือกลัว จนไม่สามารถแม้แต่จะขยับตัวหรือเปล่งเสียงร้องออกมาได้ นอกจากคำถามประเภทโทษเหยื่อแล้ว มุกตลกที่สร้างจากความรุนแรงทางเพศ ก็มาจากความไม่เข้าใจว่า มุกเหล่านั้น สนับสนุนความรุนแรงอย่างไร เช่น มุกที่บอกว่า ถ้าเด็กผู้หญิงเป็นหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ ผอ.โรงเรียนคงแก้ตัวขึ้นว่ากำลังซ่อมระบบปฏิบัติการด้วยการล้วงควักเข้าไปในตัว มุกดังกล่าว ได้ทำให้เหตุการณ์นี้กลายเป็นเพียงเรื่องขำขัน ลดทอนความรุนแรงของเหตุการณ์ไปเป็นเพียงเรื่องสมมติในจินตนาการ ทั้งๆที่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ตัวผู้เสียหายเองกำลังได้รับการกระทำซ้ำจากสื่อที่นำเสนอคลิปเหตุการณ์แบบไม่เซ็นเซอร์หน้า รวมไปถึงได้รับคอมเม้นท์ประเภทโทษเหยื่อและขำขันกับเหตุการณ์เต็มพื้นที่สื่อออนไลน์ อีกทั้งผู้เสียหายกำลังอยู่ในกระบวนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และยังต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายและการเยียวยาจิตใจอีกเป็นเวลาพอสมควร มุกดังกล่าว ได้ลดทอนผู้ถูกกระทำที่มีเลือดเนื้อ มีจิตใจ และเป็นมนุษย์ที่ถูกกระทำจากผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าทั้งอายุและตำแหน่งแห่งที่ในสังคม ให้กลายเป็นแค่เรื่องหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ที่ถูกล้วงควักเพื่อแก้ไขข้อขัดข้อง และเรียกเสียงหัวเราะจากคนในสังคมออนไลน์ มีการกดไลค์และกดไอค่อนหัวเราะจากคนกลุ่มหนึ่ง
ผู้ที่มีทัศนคติโทษเหยื่อ หรือเล่นมุกตลกขำขันกับเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศ จึงไม่ได้เข้าใจสถานการณ์ที่ผู้ถูกกระทำต้องเผชิญทั้งในอดีต ซึ่งก็คือในขณะที่ถูกละเมิด ข่มขืน
ในสภาวะปัจจุบัน ซึ่งก็คือการต้องเข้าสู่ขั้นตอนการดำเนินคดีและรับมือกับความเห็นด้านลบจากคนรอบข้าง
รวมไปถึงในอนาคต ที่อาจต้องเข้ารับการบำบัดรักษา อันเนื่องมาจากโรคซึมเศร้าหรืออาการทรอม่าจากการถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ
ดังนั้น วัฒนธรรมการโทษเหยื่อและการเล่นมุกตลกกับเรื่องความรุนแรงทางเพศ จึงเป็นการกระทำหนึ่งที่สนับสนุนให้เกิดความรุนแรงทางอ้อม ผลิตซ้ำการตีตราเหยื่อ ลดทอนความรุนแรงให้กลายเป็นเรื่องเล็กน้อย เป็นเรื่องปกติ เรื่องขำขันประจำวัน และวัฒนธรรมเหล่านี้ไม่ควรได้รับการยอมรับให้มีอยู่ในสังคม
ข้อมูลอ้างอิง
Opmerkingen