top of page
รูปภาพนักเขียนFeminista

Affirmative Action การให้สิทธิเฉพาะกลุ่ม ยังจำเป็นอยู่ไหมในพ.ศ.นี้




ถ้าใครเคยติดตามข่าวคดีอาชญากรรมทางเพศที่อินเดีย ก็คงทราบอยู่แล้วว่ามีสถิติสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ข่าวการข่มขืนที่อินเดียมักจะเป็นข่าวใหญ่อันดับต้นๆตามหน้าสื่อ มีหลายคดีที่เป็นคดีสะเทือนขวัญซึ่งเกิดขึ้นกับการเดินทางโดยสารขนส่งสาธารณะหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบริเวณพื้นที่สาธารณะ อาทิเช่น คดีข่มขืนนักศึกษาอินเดียบนรถโดยสารประจำทางที่ดังมากๆจนสำนักข่าวบีบีซีทำสารคดีออกมาในชื่อว่า The India's Daughter

ดูตัวอย่างสารคดีได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=2c2CALjAv2g



นอกจากมาตรการทางกฎหมายอื่นๆ เพื่อปกป้องคุ้มครองผู้หญิงที่มีแนวโน้มเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศสูงมากแล้ว ยังมีการแก้ปัญหาที่เราสามารถพบเห็นได้ตามขนส่งสาธารณะ สมัยเรียนอยู่ที่อินเดีย ผู้เขียนเคยโดยสารรถไฟที่อินเดียหลายครั้ง ทั้งรถไฟระยะสั้น รถไฟท้องถิ่น และรถไฟฟ้าในเมืองใหญ่ จนสังเกตว่ามีการจัดพื้นที่สำหรับผู้หญิงที่ต้องการโดยสารขนส่งสาธารณะโดยเฉพาะ โดยจะสามารถเห็นป้ายสัญลักษณ์ที่เขียนว่า Lady Only หรือ Ladies Compartment บนรถไฟฟ้าหรือบนรถไฟท้องถิ่น แปลว่า เฉพาะผู้หญิงเท่านั้น ที่สามารถขึ้นไปนั่งในโบกี้ดังกล่าวได้


แต่แม้จะมีการจัดสรรพื้นที่ให้กับผู้หญิงโดยเฉพาะแล้ว ในความเป็นจริง จำนวนของโบกี้กลับไม่เพียงพอ และเมื่อเทียบกับจำนวนโบกี้ทั่วไป ถือว่าน้อยมาก ขบวนรถไฟขบวนหนึ่งมีแค่หนึ่งหรือสองโบกี้สำหรับผู้หญิงเท่านั้น


ผู้เขียนเคยขึ้นผิดโบกี้ เนื่องจากรถไฟกำลังออกตัว ทำให้เร่งรีบขึ้นไปบนโบกี้ทั่วไป ที่มีผู้ชายนั่งยืนเบียดเสียดอยู่เต็มโบกี้ ปฏิกิริยาที่ได้รับคือ สายตาของเหล่าผู้ชายที่มองจ้องมาด้วยหลากหลายสีหน้าแววตา และผู้ชายบางคนบอกให้ออกไปนั่งที่โบกี้ของผู้หญิง แต่ด้วยความเบียดเสียดบนขบวนรถไฟ ผู้เขียนไม่สามารถขยับตัวไปไหนได้ จึงต้องรอจนกว่าขบวนจะจอดในสถานีถัดไปจึงสามารถเปลี่ยนโบกี้ได้


เรื่องการจัดสรรพื้นที่สำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานานแล้วว่าจำเป็นหรือไม่

อย่างในประเทศไทยเองก็มักจะมีการถกเถียงว่าด้วยเรื่องที่จอดรถสำหรับผู้หญิง โดยมองว่า หากสนับสนุนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ทำไมต้องแยกหญิงชายหรือให้สิทธิพิเศษกับผู้หญิงด้วย


แต่หากเราคำนึงถึงความเป็นจริง จะเห็นว่า การจัดสรรพื้นที่สำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะนั้น เป็นสิ่งที่ยังจำเป็น

เหตุผลหนึ่งคือ ตราบใดที่สังคมยังเต็มไปด้วยการล่วงละเมิดทางเพศและกลุ่มบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมาย ยังคงเป็นผู้หญิง การหาทางปกป้องกลุ่มเปราะบาง ย่อมเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล และนอกจากนี้ การจัดสรรพื้นที่ให้กับผู้หญิงโดยเฉพาะ ยังเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้ผู้หญิงในการเดินทางด้วยตัวเองโดบไม่ต้องพึ่งพิงสามี พ่อหรือผู้ชายในครอบครัวอีกด้วย ซึ่งสำหรับบริบทวัฒนธรรมในหลายประเทศ การต้องพึ่งพิงผู้ชายในครอบครัวในการเดินทางนั้น ถือว่าเป็นการจำกัดการเดินทางของผู้หญิงและส่งผลให้ผู้หญิงไม่สามารถออกไปนอกบ้านเพื่อวัตถุประสงค์ใดๆได้หากปราศจากผู้ชาย


ในบริบทของประเทศอินเดีย เนื่องจากค่านิยมของสังคม มองว่าผู้หญิงไม่ควรออกจากบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงโสด หรือผู้หญิงตัวคนเดียว การเดินทางของผู้หญิงจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายต่อขนบของสังคมชายเป็นใหญ่เป็นอย่างยิ่ง ทำให้ผู้หญิงหลายคนประสบปัญหาในการเดินทาง ทั้งการถูกล่วงละเมิดทางเพศ และการเข้าไม่ถึงขนส่งสาธารณะ การจัดสรรพื้นที่สำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ จึงกลายเป็นมาตรการหนึ่งในการช่วยเหลือผู้หญิง


ลองนึกภาพว่า หากไม่มีโบกี้สำหรับผู้หญิงเลย ผู้หญิงจะเดินทางลำบากแค่ไหน เพราะข้างนอกนั้นเต็มไปด้วยผู้ชาย แค่วิ่งเบียดเสียดขึ้นรถไฟกับผู้ชายก็ยิ่งยากแล้ว ถ้าไม่มีโบกี้สำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ จำนวนของผู้หญิงที่สามารถเดินทางโดยรถไฟคงเหลืออยู่น้อยนิด


ดังนั้นตู้โดยสารสำหรับผู้หญิงในประเทศอินเดีย จึงเป็นการเลือกปฏิบัติเชิงบวกที่สำคัญมากๆในการช่วยให้ผู้หญิงได้เดินทางโดยขนส่งสาธารณะ เหมือนที่ผู้ชายมีโอกาสในการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ การมีตู้โดยสารสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ จึงไม่ใช่สิทธิพิเศษ แต่เป็นการพยายามทำให้ผู้หญิงเข้าถึงขนส่งสาธารณะมากขึ้น และปลอดภัยจากอาชญากรรมทางเพศได้ในระดับหนึ่งซึ่งแม้จะเป็นแค่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุแต่ก็เป็นเรื่องที่หลายคนมองว่าจำเป็นจะต้องแก้ปัญหาเพื่อสถานการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลากับผู้หญิง


ย้อนกลับมาดูที่บริบทของไทย คำถามที่ว่าเรียกร้องความเท่าเทียมแล้วทำไมยังต้องมีที่จอดรถผู้หญิงตามห้างสรรพสินค้า? ทำไมไม่เรียกร้องให้ทุกคนได้มีความปลอดภัยเหมือนๆกัน? คำถามเหล่านี้ตั้งอยู่บนสมติฐานที่ว่า เพศไหนๆก็มีความเสี่ยงไม่ปลอดภัยจากการถูกทำร้ายตามลานจอดรถได้เช่นกัน แต่ปัญหาของการตั้งคำถามเช่นนี้ คือการมองปัญหาที่เกิดขึ้นในระนาบเดียวกันทั้งหมด โดยขาดการพิจารณาบริบทเฉพาะและสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นจริงว่าอาชญากรรมทางเพศส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในลานจอดรถมักเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้หญิง สิ่งที่อยากชวนผู้อ่านคิดต่อก็คือ แทนที่เราจะตั้งคำถามว่าทำไมต้องมีสิทธิเฉพาะสำหรับผู้หญิง เราอาจจะต้องตั้งคำถามว่าสังคมแบบไหนที่ทำให้ผู้หญิงจำนวนมากตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศ สังคมแบบไหนที่ทำให้ผู้หญิงรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะต้องเดินทางร่วมกับผู้ชาย และเราจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับคนทุกเพศได้อย่างไร หรือเราจะสอนลูกหลานเราไม่ให้ทำความรุนแรงทางเพศคนอื่นๆได้อย่างไร ไม่ว่าลูกหลานเราจะเป็นเพศใดก็ตาม


และถ้าเราอยากจะไปให้ไกลกว่าคำถามที่ว่า ทำไมเรียกร้องความเท่าเทียมแล้วยังต้องมี Lady Parking ก็มีผู้ที่เสนอทางแก้ปัญหาอื่นซึ่งผู้เขียนรู้สึกเห็นด้วยกับแนวดังกล่าว คือหลายคนเสนอว่า ถ้าจะทำลานจอดรถที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน อาจจะต้องมาพิจารณว่าคนกลุ่มใดบ้างที่ต้องการความปลอดภัยหรือเข้าใช้บริการได้เพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงที่มาคนเดียว ผู้ชายที่มาคนเดียว คนข้ามเพศที่อาจตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มเกลียดชังทางเพศ ซึ่งกระบวนการหรือหลักเกณฑ์ในการพิจารณาก็จะต้องมาออกแบบกันอีกทีโดยการมีส่วนร่วมของคนกลุ่มดังกล่าว เพื่อให้ตอบโจทย์คนที่ต้องการความปลอดภัยและเป็นกลุ่มที่มีภาวะเสี่ยงต่อการใช้ความรุนแรง


นอกจากนี้ก็จะต้องเข้าไปทำงานกับองค์กรหรือบริษัทที่ดูแลลานจอดรถว่ามีมาตรการเพิ่มหรือรักษาความปลอดภัยอย่างไรบ้างเพื่อที่จะทำให้ผู้ใช้บริการได้ปลอดภัยที่สุดและไม่เสี่ยงต่อการถูกทำร้ายภายในลานจอดรถขององค์กรหรือบริษัท ซึ่งการทำงานนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นหากเราเอาแต่ตั้งคำถามซ้ำๆแค่ว่า เรียกร้องความเท่าเทียมแต่ทำไมต้องมีลานจอดรถเฉพาะของผู้หญิง


อย่างไรก็ดี ในทัศนะของผู้เขียน การเลือกปฏิบัติเชิงบวกหรือการยืนยันสิทธิเฉพาะของกลุ่มที่เข้าไม่ถึงโอกาสหรือมีภาวะเสี่ยงต่อการถูกใช้ความรุนแรงทางเพศ ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้เกิดความปลอดภัยหรือการทำงานทางความคิดต่อคนที่ใช้ความรุนแรงทางเพศต่อผู้อื่น เพราะตราบใดที่สังคมไม่ตระหนักว่าทุกคนควรเข้าถึงพื้นที่สาธารณะได้เท่าเทียมกันโดยไม่เสี่ยงต่อการถูกใช้ความรุนแรง คดีอาชญากรรมก็จะยังเกิดขึ้นกับผู้หญิงหรือคนที่มีแนวโน้มถูกใช้ความรุนแรงในกลุ่มต่างๆ


และไม่ใช่แค่เรื่องลานจอดรถ ตู้รถโดยสารสาธารณะที่มีการให้สิทธิกับกลุ่มที่เข้าไม่ถึงหรือเสี่ยงต่อการใช้ความรุนแรง ประเด็นอื่นๆอย่างเช่น โควต้าการศึกษา การจ้างงาน หรือหลักเกณฑ์ที่สร้างขึ้นเพื่อคนเฉพาะกลุ่มก็เป็นเรื่องที่ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เสมอภาคทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีตัวอย่างในประเทศอินเดีย ที่รัฐบาลจะกำหนดที่นั่งสำหรับนักศึกษาที่มาจากนอกวรรณะเพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้เข้ารับการศึกษา เพราะไม่เช่นนั้นคนนอกวรรณะหรือกลุ่มดาลิต อาจถูกใช้อำนาจจากคนวรรณะสูงกลั่นแกล้งหรือกีดกันไม่ให้เข้าถึงการศึกษา หรือกรณีสัดส่วนที่นั่งของนักการเมืองในสภาที่กำหนดให้มีผู้หญิงเข้าไปเป็นสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ ก็เพื่อให้โอกาสผู้หญิงเข้าไปทำงานขับเคลื่อนประเด็นต่างๆได้เช่นเดียวกันกับที่นักการเมืองชายมีโอกาส แต่ด้วยเหตุแห่งเพศ ผู้หญิงจึงไม่ได้เข้าไปทำงานในสภาได้โดยง่าย การกำหนดโควต้าทางการเมืองจึงเกิดขึ้นด้วยแนวคิดที่ว่า เมื่อไม่ได้เท่ากันมาตั้งแต่ต้น ก็ต้องทำให้คนกลุ่มอื่นๆได้มีโอกาสเพิ่มขึ้นที่จะเข้าไปทำงานในระบบ แม้ในเบื้องต้นจะไม่ได้การันตีว่าการเข้าไปในระบบนั้นจะประสบความสำเร็จในการส่งเสียงของกลุ่มตัวเองก็ตาม


เรื่องการเลือกปฏิบัติเชิงบวกหรือการยืนยันสิทธิเฉพาะกลุ่มมีข้อถกเถียงและข้อขัดแย้งเกิดขึ้นมากมายในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มที่รู้สึกว่าตนเสียประโยชน์หรือเสียโอกาสให้คนกลุ่มอื่นที่ด้อยกว่า หรือกรณีที่ชัดเจนว่าคนกลุ่มดังกล่าวไม่สามารถเข้าไปทำงานในโครงสร้างซึ่งกดขี่และใช้อำนาจสูง การกำหนดที่นั่งจึงไม่มีประโยชน์หากระบบยังไม่เปลี่ยนหรือทัศนคติของคนจำนวนมากในโครงสร้างนั้นยังไม่เปลี่ยน ซึ่งสำหรับคนที่สนใจอ่านข้อโต้แย้งถกเถียงอย่างละเอียด ผู้เขียนจะพยายามเขียนถึงในโอกาสต่อไปค่ะ






ดู 710 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page