top of page
รูปภาพนักเขียนFeminista

ประกอบร่างความคิดจาก อรุณธตี รอย ว่าด้วยทุนนิยม โรคระบาด ชนชั้นวรรณะ ภาษา การต่อสู้และปิตาธิปไตย






ชื่อของอรุณธตี รอยในความทรงจำของเราคือการรู้จักเขาในฐานะนักเขียนที่มีชื่อเสียงจากผลงานที่ชื่อว่า เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ น่าประหลาดใจที่แม้เราจะเคยทำงานในวงการหนังสือมาระยะเวลาเกือบสิบปี และเคยมีหนังสือเล่มนี้บนชั้นหนังสือมาก่อน แต่เราไม่เคยอ่านเลยสักครั้ง กระทั่งได้ไปเรียนต่อที่อินเดียและอันที่จริงมีโอกาสที่จะได้พบปะในงานเสวนาหลายๆงาน แต่โอกาสนั้นกลับไม่เคยเกิดขึ้น และความทรงจำของเราที่มีต่ออรุณธตีในเวลาต่อมากลับไม่ใช่เพราะงานเขียน แต่เป็นการรับรู้เรื่องราวจากการที่เขาเข้าไปมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวทางสังคมในเรื่องการแย่งยึดที่ดินและไล่ที่ประชาชน จากกรณีการต่อสู้ที่เรียกว่า The Chengara struggle (Chengara Samaram) ซึ่งเป็นการต่อสู้ของกลุ่มดาลิตและกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองที่ต่อสู้เพื่อที่ดินทำกินของตัวเองให้รอดพ้นจากการยึดครองที่ดินจากรัฐและนายทุน อรุณธตีคือคนหนึ่งที่เข้าไปร่วมต่อสู้กับขบวนการนี้และทำให้เราได้เห็นภาพการเดินเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้คนในรัฐเคเรล่าของอรุณธตีในฐานะนักเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางสังคม นั่นคือภาพจำของเราที่มีต่อเขาก่อนจะได้ฟังบทสนทนาออนไลน์ที่ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สนพ.ซอย จัดขึ้นวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในหัวข้อ "Arundhati Roy on The Pandemic,Necro Politics and Literature"


บทสนทนานั้นเริ่มต้นด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่อรุณธตีเข้าไปมีส่วนร่วมและเขาได้พูดในสิ่งที่สำคัญมากๆเกี่ยวกับการประท้วงของกลุ่มชาวนาในอินเดีย โรคระบาดโคโรน่าไวรัส ระบบชนชั้นและวรรณะที่ครอบงำและกดทับคนในสังคมอินเดียที่ถูกทำให้เป็นชายขอบ


"The battle of Love against Hate. A battle for Love. It must be militantly waged and beautifully won."

โคว้ทด้านบนคือปาถกฐาส่วนหนึ่ง ของอรุณธตีในงานชุมนุมเมื่อต้นปี โดย อ.วริตตา ขอให้อรุณธตีเล่าถึงความสำคัญของการจัดงาน Elgar Parishad ว่าเป็นมายังไง มีความสำคัญอะไร อรุณธตีจึงพูดถึงการต่อสู้ที่ Bhima Koregaon สั้นๆว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มดาลิตหรืออีกชื่อหนึ่งคือมหัทร (Mahar)ที่ไปร่วมกับอังกฤษ หรืออธิบายง่ายๆคือกองทัพอังกฤษหนุนหลัง เพื่อจะโค่นล้มการปกครองของพวก Peshwar ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ปกครองที่ใช้อำนาจกดขี่คนดาลิตมาอย่างยาวนาน งาน Elgar Parishad ถูกจัดครั้งแรกในปี 2017 ก่อนวันเฉลิมฉลองที่ Bhima Koregaon อันเป็นสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะของกลุ่มดาลิตในการต่อสู้เมื่อปี 1818 สถานที่นี้ตั้งอยู่ในเมืองปูเน่ รัฐมหารัชฏระ (Maharashata) ซึ่งในวันถัดมาที่มีการจัดงานเฉลิมฉลอง ปรากฎว่ามีเหตุปะทะกับพวกฝ่ายขวาที่สนับสนุนเจ้าผู้ปกครองเก่าและเป็นกลุ่มแอนตี้ดาลิต ทำให้มีผู้เสียชีวิตหนึ่งคนและบาดเจ็บหลายคนในวันที่ 1 มกราคม 2018 ทำให้รัฐบาลเริ่มปฏิบัติการกวาดล้างนักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวจากงานชุมนุมในครั้งนั้น มีการออกหมายจับและตั้งข้อหาทั้งหมด 16 คน ซึ่งหลายคนในนั้นเป็นเพื่อนของอรุณธตีด้วย โดยรัฐกล่าวหาว่ากลุ่มนักกิจกรรมร่วมวางแผนสังหารนายกรัฐมนตรี และเชื่อมโยงไปว่างาน Elgar Parishad เป็นการปลุกปั่นกลุ่มเหมาอิสต์ที่ต่อต้านรัฐและก่อให้เกิดความรุนแรงในเช้าวันต่อมานั้นเอง


ตอนนั้นเรายังเรียนอยู่ที่เมืองปูเน่ จำได้ว่ามีการเดินขบวนและปะทะกับฝ่ายขวาจนมีคนตาย และทั้งเมืองก็ถูกปิด ร้านรวงปิดทั้งหมด และมหาวิทยาลัยปิดเพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย ส่วนเราได้แต่ติดตามข่าวอยู่ที่หอนักศึกษา มารู้อีกทีก็ได้ข่าวว่ามีคนตายแล้ว ก่อนหน้าจะเกิดเหตุการณ์นี้ ระหว่างที่เรียนเรื่องการเมืองกับความเป็นชาตินิยมในอินเดีย เราทราบมาว่า ความใกล้เคียงของรัฐบาลอินเดียกับรัฐบาลไทยคืออาการเกลียดกลัวกลุ่มคอมมิวนิสต์ หรือที่อินเดียเรียกกันว่า naxalite หรือลัทธิเหมาอิสต์นั่นเอง เพียงแต่ว่าที่ต่างกันคือ ขบวนการคอมมิวนิสต์ในไทยอ่อนแอไป แต่ขบวนการคอมมิวนิสต์ในอินเดียยังเข้มแข็งและมีทั้งขบวนการต่อสู้ด้วยความรุนแรงและมีขบวนการที่ต่อสู้ผ่านทางพรรคการเมืองในระบอบรัฐสภา ที่รัฐเคเรล่าบ้านเกิดของอรุณธตีเองก็ปกครองด้วยรัฐบาลท้องถิ่นซึ่งเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ของอินเดีย


สิ่งที่น่าสนใจคือ อรุณธตีให้ความเห็นไว้ว่า อุดมการณ์ฝ่ายซ้ายในอินเดียนั้นสำคัญต่อการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองของคนอินเดียมากๆ แต่ปัญหาก็คือตราบใดที่เราไม่ยอมรับความล้มเหลวที่ผ่านมาของระบอบคอมมิวนิสต์หรือความผิดพลาดในการปฏิบัติในอดีต นั่นคือปัญหาใหญ่ และตราบใดที่เราไม่วิพากษ์ทุนนิยมว่ามันทำลายเราอย่างไร ทำลายใครบ้าง เราก็จะไม่มีทางไปไหนได้เลย อรุณธตีพูดถึงระบบทุนนิยมเยอะมากก็เพราะว่ามันเป็นสาเหตุของการทำลายทรัพยากรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ดินหรือแหล่งน้ำ ป่าไม้ ทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์


อรุณธตีพูดถึงการเข้ามาของยุคตลาดเสรี นโยบายการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรของรัฐเพื่อป้อนสินค้าเกษตรเข้าสู่ตลาด แต่ประสบความล้มเหลวเพราะชาวนาที่ไม่มีที่นาของตัวเองไม่สามารถขายผลผลิตได้เพียงพอต่อหนี้ที่เกิดจากการซื้อเมล็ดพันธุ์และยาเคมีต่างๆ ทำให้ชาวนาจำนวนมากฆ่าตัวตายเพราะไม่อาจแบกรับหนี้สินได้ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มากในรัฐปัญจาบช่วงที่มีการใช้นโยบายพัฒนาการเกษตรโดยรัฐในยุคนั้น


สำหรับสถานการณ์การประท้วงของชาวนาในประเทศอินเดียปัจจุบัน อรุณธตีให้ความเห็นไว้ว่าเป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจก็เพราะว่ามันเป็นการรวมตัวกันของชาวนาจากหลากหลายสหภาพทั้งเล็กและใหญ่ และหลายคนก็มีแนวคิดแบบชาตินิยมฮินดู ชาวนาหลายคนเป็นกลุ่มดาลิตและหลายคนก็เป็นคนที่ไม่มีที่ดินทำกิน แต่ทุกคนมารวมกันแม้ว่าจะมีความแตกต่างกันอย่างมากก็ตาม มันเป็นการรวมตัวกันเพื่อต่อต้านเจ้าของที่นาและกฎหมายต่างๆที่ไม่เป็นธรรมต่อชาวนา


นอกจากสถานการณ์การประท้วงของกล่มชาวนาในอินเดียแล้ว เธอยังพูดถึงสถานการณ์โรคระบาดที่ส่งผลรุนแรงต่อคนหลายกลุ่มในอินเดีย โดยเฉพาะชนชั้นแรงงาน ผู้หญิง ดาลิต มุสลิม


โรคระบาด ชนชั้นและปิตาธิปไตย


อรุณธตียกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจว่า


เมื่อชนชั้นแรงงานเดินเท้าออกจากเมืองกลับไปที่บ้านเกิด พวกเขาก็ออกจากความเป็นชนชั้นแรงงานและเข้าสู่ระบบของวรรณะอีกครั้ง ที่น่าเศร้าไปกว่านั้นก็คือ ผู้หญิงจำนวนมากหนีจากระบบเจ้าปกครองที่ดิน หนีจากการถูกควบคุมในบ้านเกิด หนีจากความรุนแรงทางเพศ ไปทำงานเป็นชนชั้นแรงงานในเมือง เมื่อเกิดโรคระบาดก็ต้องกลับมาที่บ้านเกิดเพราะไม่มีงานทำ ทำให้ต้องเผชิญกับความรุนแรงในครอบครัวและการควบคุมทางเพศต่างๆ


ในหลายๆรัฐ ผู้หญิงที่ไม่ได้อยู่กับครอบครัวต้องไปลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยมีการอ้างเรื่องความปลอดภัย แต่จริงๆคือต้องการควบคุมและติดตาม ผู้หญิงไม่มีอำนาจเหนือตัวเอง โรคระบาดในแง่นี้จึงยิ่งทำให้ระบอบปิตาธิปไตยนั้นแสดงตัวเพิ่มมากขึ้น


ซึ่งตรงนี้เราคิดว่ามันคล้ายกับสถานการณ์โรคระบาดในประเทศไทย ที่ชนเผ่าพื้นเมืองในไทย ได้รับผลกระทบคล้ายๆผู้หญิงทางอินเดีย คือการที่ผู้หญิงชนเผ่าเข้าเมืองไปหางานทำ แต่เมื่อเกิดโรคระบาดและตกงานพวกเธอต้องกลับมาเผชิญกับความรุนแรงทางเพศที่บ้านเพราะต้องอยู่ร่วมบ้านกับผู้ชายตลอดเวลาและภาวะความเครียดของผู้ชายก็ถูกปลดปล่อยผ่านความรุนแรงที่กระทำต่อผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่าอย่างผู้หญิงและเด็ก


สถานการณ์โรคระบาดในอินเดียที่เลวร้ายมากๆก็คือพอรัฐบาลประกาศล็อคดาวน์แบบไม่มีเตือนล่วงหน้า สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนที่อาศัยอยู่ในสลัมหรือชุมชนแออัดไม่สามารถที่จะมีมาตรการระยะห่างทางสังคมได้เหมือนคนชนชั้นกลางหรือชนชั้นสูง เพราะพวกเขาอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันเป็นจำนวนมาก การเว้นระยะห่างทางสังคมจึงได้ผลตรงกันข้ามต่อคนกลุ่มนี้ และเมื่อเมืองปิด คนไม่มีงานทำ ไม่มีอาหาร คนต้องเดินเท้ากลับบ้านเกิดเป็นระยะทางหลายร้อยไมล์ เพราะรถสาธารณะก็ไม่วิ่ง และยังต้องเผชิญหน้ากับการถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายระหว่างทาง คำถามสำคัญคือใครที่ต้องเสียสละ ใครที่จะมีชีวิตรอด ชนชั้นไหนที่ตายก่อน วรรณะไหนที่มีโอกาสเข้าถึงการรักษาโรคหรือปลอดภัยจากโรคระบาด


ระบบวรรณะ กลไกทางสังคมที่มองไม่เห็น


นอกจากนี้อรุณธตียังพูดถึงระบบทางสังคมที่ดูเหมือนจะไม่มีอยู่แล้ว เมื่อทุนนิยมและความเป็นสมัยใหม่เข้ามาในอินเดีย แต่ที่จริงแล้ว ระบบ "วรรณะ" ยังเป็นกลไกทางสังคมที่มีบทบาทสูงมากในทุกระดับและมักจะไม่ถูกพูดถึงในสื่อต่างๆ วรรณะที่อรุณธตีเคยพูดถึงในงาน Elgar Parishad คือ วรรณะบรรษัท อันหมายถึงการร่วมมือกันระหว่างนายทุนเศรษฐีจากวรรณะสูงกับรัฐ ในการแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานของผู้คน แต่วรรณะที่ยังคงฝังรากลึกในอินเดียมาอย่างยาวนาน ก็คือวรรณะแบบศาสนาฮินดูที่ทำให้คนจากวรรณะสูงกว่าใช้อำนาจกับคนวรรณะต่ำกว่าได้และมีความสลับซับซ้อนเกินกว่าจะถูกทำลายได้ด้วยการเข้ามาจัดระเบียบของพวกอาณานิคมอังกฤษ ซึ่งเหตุการณ์ที่ Bhima Koregaon ก็เป็นความพยายามหนึ่งของกองทัพอังกฤษในการเข้ามาปกครองอินเดียและเชิญชวนให้กลุ่มดาลิตเข้าร่วมกับการต่อสู้กับผู้ปกครองดินแดนของแต่ละรัฐโดยอ้างว่าเพื่อปลดปล่อยดาลิตให้เป็นอิสระจากระบบวรรณะ แต่ถึงที่สุดแล้ว ดาลิตก็เป็นได้แค่เครื่องมือของอังกฤษในการทำลายอำนาจของชนชั้นปกครองในขณะนั้น แต่ระบบวรรณะยังคงอยู่ในสังคมอินเดียจนถึงปัจจุบันและเป็นสิ่งที่สื่อต่างๆพยายามเลี่ยงที่จะพูดถึงปัญหาที่กลุ่มดาลิตยังคงเผชิญต่อความไม่เป็นธรรมในรูปแบบต่างๆที่กระทำโดยรัฐและคนจากวรรณะสูง



แม้ว่าประเทศไทยจะไม่มีวรรณะแบบอินเดีย แต่สิ่งที่เราคิดว่าประเทศอินเดียกับไทยนั้นมีสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกันมากๆ ก็คือเรื่องของ การไล่ที่ประชาชนเพราะโครงการพัฒนาของรัฐเช่น การสร้างเขื่อน การพัฒนาเขตเศรษฐกิจ การอนุญาตให้นายทุนเข้าไปทำสัมปทานเหมืองแร่และอื่นๆ การผูกขาดเมล็ดพันธุ์โดยนายทุนและรัฐทำงานร่วมกัน ทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงทรัพยากร อย่างในไทย กรณีที่ผู้เข้าร่วมในบทสนทนานี้จากสำนักพิมพ์ซอยพูดถึง คือกรณีของชาวบ้านบางกลอยที่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานไล่ที่ กรณีของชาวบ้านที่จะนะ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการต่อสู้กับรัฐเพื่อแผ่นดินเกิดและทรัพยากรที่กำลังจะถูกพรากไปเพราะโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังมีคนกล่าวไว้ว่าแม้ในไทยไม่มีวรรณะแบบฮินดู แต่เราก็มีคนในชนชั้นสูงที่ปฏิบัติกับคนชนชั้นล่างเยี่ยงทาสและเราก็ไม่อาจวิจารณ์คนพวกนั้นได้เพราะมีกฎหมายที่จับกุมคุมขัง รวมไปถึงการอุ้มหายจากอำนาจมืดที่มองไม่เห็นอีกด้วย


ในช่วงแลกเปลี่ยนสนทนา นอกเหนือจากเรื่องทุนนิยมที่เป็นบทสนทนาหลักแล้ว มีเรื่องหนึ่งที่นักศึกษาแลกเปลี่ยนกับเขาเรื่องผู้ชายที่สมาทานแนวคิดแบบอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายไม่ค่อยชอบใจคำว่าเฟมินิสต์นัก และพวกเขาเสนอว่าให้เรียกตัวเองว่าฮิวแมนนิสต์ ไม่ใช่เฟมินิสต์ อรุณธตีตอบว่า ในอินเดียเองก็มีปัญหานี้ว่าฝั่งซ้ายไม่สามารถที่จะเข้าใจเรื่องเพศหรือเรื่องวรรณะ หรือเชื้อชาติได้ การตั้งชื่อเป็นเรื่องที่สำคัญมากและมันก็หนีไม่พ้นจากการโดดเดี่ยว ในขณะเดียวกันมันก็อาจเป็นการกีดกันใครออกไปได้ด้วย แต่สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรที่จะเปิดพื้นที่ให้มากที่สุดและขยายขอบเขตความเข้าใจให้กว้างขึ้น



นอกจากนี้เมื่อนักศึกษาพูดถึงโครงการเราชนะที่ทำให้ประชาชนจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีดิจิตอลในการลงทะเบียนรับเงินและแสกนหน้ายืนยันตัวตนต่างๆ อรุณธตีก็พูดถึงเรื่องการนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้กับประชาชนในประเทศอินเดียด้วยเช่นกัน ซึ่งส่งผลให้คนจน คนชนชั้นแรงงานทั้งหลายได้รับผลกระทบเพราะการเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ อรุณธตีมองว่ารัฐบาลพยายามควบคุมทุกอย่างเพื่อขจัดการคอรัปชั่น แต่คนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายคือคนที่เข้าไม่ถึงโอกาสทางสังคมต่างหากไม่ใช่พวกที่มีอำนาจมากที่ทำการทุจริตคอรัปชั่นหรือทำธุรกิจมืด การเข้ามาของทุนนิยมและความทันสมัยต่างๆของเทคโนโลยีได้เข้ามาผูกขาดการค้าและตลาด เข้ามาทำงานกับระบบการศึกษาของอินเดีย และส่งผลให้คนกลุ่มหนึ่งได้รับอำนาจเพิ่มขึ้น ในขณะที่คนอีกจำนวนมากก็ถูกแยกห่างออกไปจากศูนย์กลางมากขึ้นเรื่อยๆ


ชาวนาและชนเผ่าพื้นเมืองถูกยึดครองที่ดิน คนมุสลิมเผชิญกับปัญหาการถูกสังหารหมู่ การใช้ศาลเตี้ยเพราะการเกลียดกลัวคนมุสลิม มีการจับกุมคุมขังมุสลิมโดยไม่มีแม้กระทั่งข้อหาที่ชัดเจนเป็นจำนวนมาก ชนชั้นแรงงานทั้งหลายกลายเป็นคนตกงานและอยู่ภายใต้ระบอบวรรณะอย่างโงหัวไม่ขึ้น เหล่านี้คือปัญหาที่อรุณธตีเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงในการปาฐกถาของเธอที่งานชุมนุม Elgar Parishad ในวันที่ 30 มรกราคมที่ผ่านมา สามารถอ่านทั้งหมดได้ที่ https://scroll.in/article/985529/arundhati-roy-our-battle-for-love-must-be-militantly-waged-and-beautifully-won


การเมืองเรื่องของภาษา ภาษากับชนชั้น


ในส่วนของพาร์ทวรรรกรรม เราคงไม่มีความเห็นอะไรมากเพราะยังไม่ได้อ่านงานวรรณกรรมของอรุณธตีที่ถูกนำมาพูดถึง แต่อยากแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องการเมืองกับภาษาในอินเดียไว้เล็กน้อยจากประสบการณ์ของตัวเองในระหว่างที่ใช้ชีวิตที่อินเดียช่วงระยะเวลาหนึ่ง


ปาลิน จากสนพ.ซอย พูดถึงภาษาในฐานะเครื่องมือของการปลดปล่อยจากการถูกกดขี่ ซึ่งตัวอรุณธตีเองใช้ภาษาอังกฤษในการเขียนงานเป็นหลัก แต่ข้อถกเถียงของการใช้ภาษาอังกฤษในอินเดียนั้นก็มีออกมาหลายแง่มุม


ภาษาอังกฤษถูกนำมาใช้ต่อสู้ทางการเมืองโดยกลุ่มดาลิตและกลุ่มรัฐที่อยู่ทางนอร์ทอีสต์ของอินเดีย เช่น รัฐมานิปูร์ แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นอภิสิทธิ์ของชนชั้นกลางมีการศึกษาที่ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ครั้งหนึ่งรัฐบาลอินเดียเคยมีนโยบายการบังคับใช้ภาษาอังกฤษ และเมื่อมีความพยายามในการต่อต้านมรดกของเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ภาษาฮินดีจึงกลายเป็นภาษาที่ถูกยกย่องให้เป็นภาษาของชาติและมีการบังคับใช้ในงานราชการต่างๆ และในขณะเดียวกันก็มีความพยายามในการฟื้นฟูภาษาท้องถิ่นเพิ่มขึ้น โรงเรียนรัฐในชนบทหลายแห่งไม่ได้มีการบังคับใช้ภาษาอังกฤษอีกต่อไป และนั่นทำให้คนจำนวนมากพยายามหาเงินมาส่งลูกหลานเรียนในโรงเรียนเอกชนราคาแพงเพื่อที่จะได้เข้าถึงภาษาอังกฤษ ในแง่นี้การใช้ภาษาอังกฤษจึงเป็นอุปสรรคของคนชนชั้นแรงงานหรือคนที่มีฐานะยากจนและไม่อาจส่งลูกหลานเข้าเรียนโรงเรียนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักได้


เราเคยมีเพื่อนร่วมชั้นที่มาจากเมืองหลวงของอินเดีย เขาถูกส่งเข้าเรียนที่โรงเรียนเอกชนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักในการเรียนการสอน เพราะพ่อแม่ของเขาที่เป็นชนชั้นกลางมีความเชื่อว่าภาษาอังกฤษจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาดีขึ้นในอนาคต หากว่าลูกสาวได้งานทำที่ดี เพราะใช้ภาษาอังกฤษได้คล่อง ซึ่งมันก็ส่งผลให้เขาเรียนดีที่สุดในชั้นและเข้าถึงข้อมูลความรู้ในรูปแบบของภาษาอังกฤษได้มากกว่านักศึกษาคนอื่นๆที่มาจากโรงเรียนที่ใช้ภาษาถิ่นและภาษาฮินดีเป็นหลัก แต่ขณะเดียวกันมันก็มาพร้อมกับความกดดันและภารกิจอันหนักอึ้งที่ต้องแบกเพื่อครอบครัวด้วย เขาเคยเขียนบทกวีที่พูดถึงภาษาอังกฤษเอาไว้ที่นี่ English: The Language I Yearn(ed) to Learn


ในประสบการณ์ส่วนตัว เราพบว่าเราเผชิญกับปัญหาเรื่องชนชั้นและภาษาในห้องเรียนตั้งแต่ปีแรก เมื่อเพื่อนร่วมชั้นกว่า 80% มาจากเมืองเล็กๆที่ไม่ถนัดการใช้ภาษาอังกฤษ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พวกเขาเข้าไม่ถึงข้อมูลความรู้ในรูปแบบภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนการสอนในชั้นจากอาจารย์ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก พวกเขาไม่อาจเข้าใจเนื้อหาที่อาจารย์มอบหมายให้อ่านก่อนเข้าชั้นเรียน เพราะตำราเรียนเรื่อง เพศสถานะศึกษา (Gender Studies) นั้นอยู่ในรูปแบบภาษาอังกฤษ การแปลให้เป็นภาษามาราตี (ภาษาท้องถิ่นของเมืองปูเน่) มีความยากและไม่อาจแปลความหมายได้ทั้งหมด เพราะไม่มีชุดคำศัพท์ที่ตรงตามความหมายของภาษาอังกฤษต้นฉบับ สิ่งที่เกิดขึ้นกับความเหลื่อมล้ำทางภาษาคือความเข้าใจในตำราที่ไม่เท่ากัน คะแนนสอบที่แตกต่างกัน และโอกาสในการได้รับการจ้างงานหลังจากเรียนจบก็แตกต่างกันด้วย


นอกจากต้องเผชิญหน้ากับความไม่เท่าเทียมกันเพราะภาษาอังกฤษ การเมืองเรื่องภาษาก็มีผลกับชีวิตของผู้คน เมื่อภาษาอูรดูถูกทำให้เป็นภาษาของการก่อการร้ายของคนมุสลิม ภาษาฮินดีก็ถูกทำให้เป็นภาษาของความเป็นชาตินิยมอินเดีย และภาษาอังกฤษนั้นถูกทำให้เป็นตัวแทนของการล่าอาณานิคม ด้วยเหตุนี้ คนที่ไม่สามารถเป็นเนื้อเดียวกันกับความเป็นชาตินิยมฮินดูได้ ผู้คนที่ถูกกดขี่จากความเป็นฮินดู เช่น กลุ่มดาลิต กลุ่มชนเผ่า (Adivasi) กลุ่มชนทางนอร์ทอีสต์ของอินเดีย กลุ่มต่างๆเหล่านี้จึงเลือกใช้ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับชาตินิยมฮินดู


ดังนั้นครั้งหนึ่งในงานประชุมผู้หญิงดาลิตระดับชาติที่ผู้หญิงดาลิตจากทั่วอินเดียจะมารวมตัวกันในงาน Dalit Women Speak Out ที่จัดขึ้นในมหาวิทยาลัยที่เราเรียนอยู่ เราจึงมีโอกาสได้สื่อสารกันด้วยการใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาเดียวที่สามารถสื่อสารกันได้ และน่าสนใจว่าแม้แต่ภาษาฮินดีที่ดูเหมือนเป็นภาษาทางการ พวกเขาก็ไม่พูดหรือพูดไม่คล่อง ทำให้เพื่อนชาวอินเดียคนอื่นๆของเราก็ไม่สามารถสื่อสารกับเขาได้ด้วยภาษาฮินดี ต้องใช้ภาษาอังกฤษอย่างเดียวเท่านั้น ในบริบทนี้ ผู้ใช้ภาษาฮินดีที่เป็นภาษาประจำชาติจึงมิอาจใช้เครื่องมือนี้ในการสื่อสารได้ แต่ภาษาอังกฤษที่เป็นเครื่องหมายของนักล่าอาณานิคมอังกฤษกลับกลายแปลงร่างมาเป็นภาษาแห่งการต่อสู้ปลดแอกของคนอีกกลุ่ม


อย่างไรก็ดี เราสนใจการใช้ภาษาในฐานะของเครื่องมือที่นำไปสู่การปลดแอก การแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือชุดประสบการณ์ การเป็นสะพานนำไปสู่ความรู้ใหม่และปริมณฑลที่เราไม่เคยไปถึง ในแง่นี้การแปลภาษาจึงมีความหมายต่อตัวเรามาก และเราอยากขอบคุณที่อรุณธตีเขียนงานวรรณกรรมเป็นภาษาอังกฤษให้เราที่อยู่นอกขอบเขตของภาษาฮินดีหรือภาษาอื่นในอินเดีย ได้เข้าใจบริบทหรือประสบการณ์ที่สำคัญที่เขามีต่อสภาพสังคมในอินเดียผ่านงานวรรณกรรมที่เราคงได้หามาอ่านต่อไปภายหลังจากได้ฟังบทสนทนาในครั้งนี้



บทสนทนาระหว่างอรุณธตี รอย กับผู้ร่วมแลกเปลี่ยนหลายคนนั้นน่าสนใจมาก นอกจากจะมีสิ่งที่เราเขียนถึงในแล้วข้างต้น ยังมีประเด็นเรื่องความเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ เรื่องปรากฎการณ์สัญลักษณ์ค้อนเคียว ซึ่งอรุณธตีนั้นออกตัวว่าไม่ได้ติดตามสถานการณ์ในไทยเท่าไหร่เพราะไม่มีสื่อที่ทำข่าวประเทศไทยให้ติดตาม และเราเห็นด้วยมากๆว่าคนอินเดียส่วนใหญ่ไม่ได้รับรู้สถานการณ์ในไทย และการได้มาแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ก็ทำให้อรุณธตีได้รู้จักกับสถานการณ์ในประเทศไทยมากขึ้น โดยเขาหวังว่าจะมีโอกาสได้มาพบปะกับนักอ่านที่ประเทศไทยสักครั้งหลังการผ่านพ้นไปของโรคระบาดในรอบนี้ ซึ่งเราเองก็หวังเช่นกันว่าจะได้พบและแลกเปลี่ยนกับเขาหลังจากที่เราได้อ่านวรรณกรรมที่เขาเขียนอย่างน้อยสองถึงสามเล่ม โดยเฉพาะเล่มที่พูดถึง ฮิจระห์และคนมุสลิมในอินเดีย ซึ่งในบทสนทนาครั้งนี้ก็ถูกพูดถึงด้วยเช่นกัน


สำหรับใครที่สนใจการสนทนาออนไลน์ในครั้งนี้ เข้าไปฟังย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/EnglishDeptFacultyofArtsChulalongkornUniversity/videos/341708760392690


















ดู 608 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page