top of page

"Damnatio Memoriae" กับความตายที่(เรา)ไม่พึงปรารถนา



บุ้ง เนติพร เสน่ห์สังคม เสียชีวิตวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 สองวันก่อนหน้าที่เราจะเดินทางไปดูหนังสารคดี Damnatio Memoriae ไม่พึงปรารถนา ของพี่ปุ่น ธัญสก พันสิทธิวรกุล ในเทศกาลภาพยนตร์สารคดีที่เมืองไทเป หนังเรื่องล่าสุดของพี่ปุ่นที่เราได้ดูคือ Homogeneous, Empty Time สุญกาล ที่มีตัวเราปรากฎอยู่ในหนังบางฉากบางตอน และหลังจากนั้นก็ยังไม่เคยมีโอกาสได้ดูหนังเรื่องอื่นของพี่ปุ่นอีกเลย นี่จะเป็นเรื่องแรกในรอบเจ็ดปีที่ผ่านมา


ก่อนดูก็เตรียมใจไว้แล้วประมาณนึงว่าจะมีฟุตเทจที่เต็มไปด้วยภาพความรุนแรง ศพ ร่างเปลือยเปล่าของทั้งคนเป็นและคนตาย แต่พอถึงเวลาจริงๆ บางภาพก็ทำใจจ้องมองนานๆ ไม่ได้ ต้องลดระดับสายตาจ้องไปที่มุมจอเป็นพักๆ หรือเบลอโฟกัสสายตาให้ภาพไม่ชัดไปเลย บางช่วงรู้สึกมือสั่น กระสับกระส่าย ร้องไห้ให้กับความโหดร้ายที่มนุษย์กระทำต่อกัน


บางฟุตเทจเป็นภาพที่เราเคยเห็นมาแล้ว ทั้งในออนไลน์และออฟไลน์ แต่บางฟุตเทจก็ไม่เคยเห็นมาก่อน พี่ปุ่นเก่งมากที่หาฟุตมาได้เยอะขนาดนั้น แล้วใส่มาในจังหวะที่พอเหมาะพอดี ภาพฟุตเทจความรุนแรงที่ตัดสลับกับเพลงป๊อบหวานๆ เพลงดังในตำนานอย่าง The Moon Represents My Heart ของ เติ้งลี่จวิน ที่เราได้ยินแม่ร้องเพลงนี้มาตั้งแต่เด็กแต่ไม่เคยรู้จนกระทั่งวันที่ดูหนังว่านักร้องคือคนไต้หวัน หรือเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องคู่กรรม ที่ฉากหลังเป็น ณเดชน์ พระเอกของเรื่องนี้ร้องเพลง อังศุมาลิน และพยายามทำหน้าซึ้งใส่ผู้ชม หรือเพลงประกอบหนังเรื่อง Duck and Cover ที่เป็นหนังโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลอเมริกาเรื่องภัยอันตรายจากอาวุธสงครามนิวเคลียร์ เพลงที่ใส่มาและตัดสลับกับภาพฟุตเทจความรุนแรงเป็นช่วงที่ทำให้เราหลุดหัวเราะออกมาท่ามกลางภาพอันน่าสยดสยองชวนหดหู่ของการฆ่ากันจากสงครามทางการเมืองในประเทศต่างๆ ทั้ง ไทย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน พม่า เวียดนาม อเมริกา


เป็นการหัวเราะแบบขันขื่น เพราะพอนึกว่าการเมืองโลกและการเมืองไทยที่ผ่านมายังวนเวียนอยู่กับการแย่งชิงอำนาจ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สงครามกลางเมือง มีผู้ชนะและผู้แพ้ที่เขียนประวัติศาสตร์ของตัวเอง (ประวัติศาสตร์กระแสหลักเป็นของผู้ชนะเสมอ) และยังมีคนที่ตายเพราะการต่อสู้อยู่ทุกวัน


บุ้ง เนติพร เสน่ห์สังคม เสียชีวิตวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 จากการอดอาหารประท้วงกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็น

เพราะเอฟเฟคจากการอดอาหารและกลับมากินอาหาร หรือไม่ได้กินอะไรเลยจนตาย ตามที่ข่าวออกมาและยังไม่นิ่ง แต่การตายของบุ้งก็สะท้อนความอำมหิตของสถาบันทางสังคมการเมืองต่างๆ ในไทยได้แทบทุกมิติ ความปล่อยเบลอทางการเมืองของรัฐบาลพลเรือนที่ไม่กล้าแตะมาตรา 112 เพราะกลัวจะถูกยุบพรรค ความโหดเหี้ยมของสถาบันกษัตริย์ไทยที่ลงโทษคนที่ตั้งคำถามต่ออำนาจของตัวเองและใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ความอำมหิตของคนรักเจ้าคลั่งชาติที่สะใจในการตายของผู้หญิงคนนึงที่ไร้ทางสู้ ประวัติศาสตร์ทางการเมืองเหล่านี้จะถูกบันทึกในความทรงจำของคนในแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกันออกไป แต่สำหรับเราคือความทรงจำที่เป็นโศกนาฏกรรมทางการเมืองที่น่าสะอิดสะเอียนอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะกับการที่ใครบางคนออกมาเชื้อชวนให้คนใช้ชีวิตกันตามปกติ หลังการตายของบุ้งเพียงไม่ถึงสองวัน ความตายของนักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกเคลือบหวานเหมือนขนมเคลือบน้ำตาลและสีสันอันงดงามด้วยคำว่า ซอฟต์พาวเวอร์ ผ้าขาวม้าไทยไปไกลระดับโลก อาหารดีดนตรีไพเราะ โลกข้างนอกมีอะไรมากกว่าในโซเชียลมีเดีย ใครอยากจะกรีดร้องคร่ำครวญก็ปล่อยมันไป แต่เรามาใช้ชีวิตปกติกันเถอะ สำหรับเรา คำเชื้อชวนนี้คือความเลือดเย็นพอๆกับอีโมจิหัวเราะที่ถูกกดในข่าวการตายของบุ้ง


บุ้ง เนติพร เสน่ห์สังคม เสียชีวิตวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 เรามีนักต่อสู้ มีคนที่ลุกขึ้นมาประท้วงหาความยุติธรรมทางสังคม และเราก็มีคนที่ใช้อำนาจ กระทำความรุนแรงวนเวียนไม่จบสิ้นตั้งแต่ระดับที่เล็กที่สุดอย่างความขัดแย้งในครอบครัว ไปจนความขัดแย้งระดับชาติ คนที่มีอำนาจที่สามารถเอ่ยปากให้ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ใส่ประเทศศัตรูได้ภายในไม่กี่วินาทีอย่างในอเมริกา คนที่มีอำนาจข่มขืนหญิงสาวกว่าพันคนในนานกิง คนที่มีอำนาจฆ่าล้างเผ่าพันธ์ในปาเลสไตน์ หรือคนที่มีอำนาจออกหนังสือเนรเทศเมียเก่าออกจากประเทศ ถอดยศถอดตำแหน่งใครก็ได้เป็นว่าเล่นทุกวัน เรามีทหารที่ประกาศใช้กระสุนจริงกับประชาชนที่มาประท้วงรัฐบาล แล้วเราก็มีคนที่เพิกเฉยไปจนถึงสะใจกับการตายของคนอื่นเพียงเพราะคิดไม่เหมือนกัน แต่ประวัติศาสตร์ความทรงจำของความตายส่วนใหญ่ที่หลายๆคนจำได้ ก็มักจะอยู่ในรูปแบบของการสังหารหมู่อันโด่งดังที่ได้รับการกล่าวถึง แต่หลายๆครั้งก็ไม่มีใครจดจำหน้าตาของคนตายได้ เหมือนครั้งนึงที่คนเสื้อแดงตายไปในปี 2553 หนังสือ คนที่ตายมีใบหน้า คนที่ถูกฆ่ามีชีวิต บันทึกภาพถ่ายของคนเหล่านั้นเอาไว้ เป็นภาพถ่ายที่สำหรับบางคนแล้ว ไม่พึงปรารถนาที่จะจดจำหรือจ้องมอง และอาจถึงขั้นเบือนหน้าหนี


หนังของพี่ปุ่นก็น่าจะทำงานกับคนจำนวนมากในระดับนั้น ภาพผู้ชายสองคนเปลือยเปล่า ภาพโคลสอัพไปที่จู๋ของผู้ชายอีกคนที่กำลังถูกชักขึ้นชักลงไปมาด้วยมือของผู้ชายอีกคนนึง ท่ามกลางเสียงผู้กำกับที่สั่งการอยู่นอกเฟรม น่าจะเป็นภาพที่คนจำนวนหนึ่งไม่อยากเห็น แต่อาจจะน้อบกว่าหรือพอๆกับภาพการตายของคนจำนวนมากทางประวัติศาสตร์ที่ถูกลบออกจากความทรงจำของผู้คน แต่ถ้าเทียบกับภาพทั้งสองแบบแล้ว แบบไหนที่คนสามารถจะทนดูได้มากกว่ากัน ระหว่างฉากโชว์จู๋ของนักแสดงในเรื่อง กับฉากความตายของคนนับหมื่นนับพันจากหลากหลายสถานที่ หลากหลายเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ สำหรับเราภาพจู๋อาจจะทนดูได้ง่ายกว่า


บุ้ง เนติพร เสน่ห์สังคม เสียชีวิตวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 สำนักข่าวออนไลน์รายงานข่าวนี้กันอย่างพร้อมเพรียง รีแอคชั่นของผู้คนจำนวนมากคือการกดอีโมจิหัวเราะ หัวเราะให้กับการตายของคนที่ลุกขึ้นต่อต้านความอยุติธรรม

คอมเม้นท์ใต้ข่าวมีคนจำนวนมากที่สะใจ มีคำพูดที่ว่า "แผ่นดินสูงขึ้นอีกหน่อยแล้ว" "อยากให้ที่เหลือตายๆตามกันไป"

ตัดภาพมาที่ฟุตเทจในหนัง ไม่พึงปรารถนา เหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาวันที่ 6 ตุลา 2519 ถูกหยิบมาฉายซ้ำในงาน ผ่านมาแล้ว 48 ปี ผู้คนจำนวนมากก็ยังคงหัวเราะให้กับการตายของศัตรูทางการเมืองที่ไร้อำนาจ คนมีอำนาจยังรักษาสถานะของตัวเองได้อย่างยาวนาน ศาล ทหาร พ่อค้านายทุน พรรคการเมือง ยังคงเป็นส่วนประกอบของสถาบันกษัตริย์อยู่เสมอ มาตรา 112 ยังคงถูกใช้สร้างความขัดแย้งทางการเมืองไทยจนถึงปัจจุบัน การอดอาหารประท้วงถูกมองเป็นเรื่องไร้ค่าไร้ประโยชน์


“ถ้าคุณไม่มีคาริสม่าเท่าคานธีก็อย่าทำ” ใครบางคนพูดไว้

“นักการเมืองดันหลังให้คนไปตาย ฉกฉวยประโยชน์จากการตายของคนตัวเล็กตัวน้อย”


ใครอีกหลายคนพูดไว้ตั้งแต่สมัยคนเสื้อแดงปี 53 จนมาถึงความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างแดงส้มในปี 67


ในฐานะนักศึกษาด้านสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์ ข่าวการตายของบุ้งจะถูกบันทึกเอาไว้มากน้อยแค่ไหนในการศึกษากระแสหลัก ในวิชาประวัติศาสตร์การเมืองไทย เราไม่แน่ใจ แต่อย่างน้อยข้อเขียนนี้ก็เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ส่วนตัวของเรา เราอยากเขียนเพราะไม่อยากให้เรื่องบุ้งหายไปกับเหตุการณ์ทางการเมืองอื่นๆที่กำลังจะตามมา ไม่อยากให้หายไปเหมือนเหตุการณ์อื่นๆ ทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฎอยู่ในหนังเรื่องนี้ของพี่ปุ่น แต่ไม่ปรากฎที่อื่น พี่ปุ่นบอกว่ามันคือบันทึกประวัติศาสตร์ความทรงจำส่วนตัวที่เค้ามีต่อเหตุการณ์เหล่านี้ แม้จะถูกตั้งคำถามจากผู้ชมหลังหนังฉายว่า ได้เช็คความถูกต้องทางประวัติศาสตร์แล้วหรือยัง แต่คำตอบของพี่ปุ่นคือเรามีประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องด้วยหรือ ในเมื่อประวัติศาสตร์มักถูกเขียนด้วยคนชนะเสมอ และประวัติศาสตร์ของคนแพ้ก็มักจะเสียงดังไม่เท่ากัน


บุ้ง เนติพร เสน่ห์สังคม เสียชีวิตวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 เธอถูกดำเนินคดีจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งหมด 3 คดี และถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 จากการทำโพลสอบถามของกลุ่มทะลุวัง บุ้งอดอาหารประท้วงกระบวนการยุติธรรมเป็นเวลา 110 วัน ก่อนเสียชีวิต ข้อเรียกร้องของบุ้งคือ ให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และจะต้องไม่มีคนที่เห็นต่างทางการเมืองถูกคุมขังอีก แต่ข้อเรียกร้องเหล่านั้นหลายคนมองว่าเป็นข้อเรียกร้องที่นามธรรมเกินไป และเสียงของบุ้งก็ถูกกลบด้วยข่าวการแสวงหาผลประโยชน์จากเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองคนอื่นๆ ข้อกล่าวหาที่ยังไม่เคยถูกสอบสวนอย่างตรงไปตรงมา การแสดงออกทางการเมืองที่ถูกมองว่าก้าวร้าว ใช้คำพูดที่รุนแรง สร้างความเดือดร้อนให้กับสังคม ตั้งแต่การละเมิดศาล ไปจนถึงบุกพรรคการเมือง ผู้คนเกลียดบุ้งเหมือนตัวร้ายในละคร แม้แต่คำไว้อาลัยกับการตายสำหรับบางคนก็ยังต้องออกตัวไว้ก่อนว่า ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่บุ้งแสดงออกแต่ก็เสียใจด้วย บุ้งตายไปพร้อมๆกับคำสาปแช่งพอๆ กับคำแสดงความเสียใจ


เราเขียนบันทึกชิ้นนี้เพราะหนังของพี่ปุ่นทำงานกับความรู้สึกของเราที่กำลังเต็มไปด้วยความโกรธ ความเศร้า ความเสียใจ ต่อการตายของผู้หญิงคนนึงที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย บันทึกทางประวัติศาสตร์ของพี่ปุ่นเต็มไปด้วยภาพการตายของผู้คน และเรารู้ว่ามันจะเกิดขึ้นอีก จะมีภาพฟุตเทจอีกมากมายที่พี่ปุ่นหรือผู้กำกับคนอื่นอาจจะได้ใช้ทำหนังต่อไปในอนาคต แม้กระทั่งภาพบางภาพที่เราเคยเห็นกับตาหรือภาพการประท้วงของบุ้งวันหนึ่งมันก็อาจจะกลับมาอยู่ในหนังของพี่ปุ่น หรือถูกบันทึกอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ตลอดไปรอให้คนมาค้นเจอ วันนี้การกระทำของบุ้งเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาสำหรับใครหลายๆคน พอๆกับผู้คนอีกจำนวนมากในโลกนี้ที่ถูกทำให้สูญหาย ถูกเป่าหัว

เหมือนประธานาธบดีจอห์น เอฟ เคเนดี้ เหมือนเสธแดง เหมือนคนเสื้อแดง จะต่างกันก็ตรงที่อำนาจที่มีในมือที่ไม่เท่ากัน และการถูกเขียนประวัติศาสตร์สำหรับผู้หญิงนักต่อสู้ที่มักจะเงียบงันกว่าผู้ชายเสมอในหน้าประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่ผ่านมาจากทั่วโลก ความตายของคนตัวเล็กตัวน้อยในประเทศนี้จะยังคงดำเนินต่อไป ตราบใดที่มาตรา 112 และสถาบันกษัตริย์ยังเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมือง


บุ้งไม่ได้ยอมตายเพราะอุดมการณ์ แต่บุ้งถูกทำให้ตายเพราะยึดมั่นในอุดมการณ์ สำหรับเราการตายของบุ้งถูกบันทึกไว้แบบนั้น และตัวเราเองเป็นส่วนหนึ่งของการตายของบุ้งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เราเป็นส่วนหนึ่งของความตายและความทรงจำอันไม่พึงปรารถนานั้น และอาจจะเป็นแบบนั้นต่อไปในการตายของคนอีกหลายๆ คนในอนาคต



ข้อมูลเพิ่มเติม







ดู 101 ครั้ง1 ความคิดเห็น

1 Comment


อยากเล่าเพิ่มเติมว่า หนังฉายวันแรกวันที่ 14 ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่เรารู้ข่าวการเสียชีวิตของบุ้ง วันนั้นเราแย่มาก ตอน Q&A คือแทบตอบอะไรไม่ได้เลย

Like
bottom of page