top of page
รูปภาพนักเขียนFeminista

"ฝันร้ายต้องอยู่กับผู้กระทำไม่ใช่ผู้ถูกกระทำ" อย่าปล่อยให้วัฒนธรรมข่มขืนกลบเสียงของผู้ถูกกระทำ




สัปดาห์ที่ผ่านมา หากใครที่ติดตามข่าวในแวดวงศิลปวรรณกรรม ก็คงจะได้ยินข่าวบรรณาธิการที่ประสบความสำเร็จในวงการวรรณกรรมคนหนึ่ง พยายามล่วงละเมิดทางเพศหรือกระทำอนาจารผู้อื่น มีบทสนทนาในข้อความแชทระหว่างบุคคลดังกล่าวกับผู้เสียหาย ที่สื่อให้เห็นถึงการกล่าวอ้างแรงปรารถนาทางจิตใจที่ทำให้เกิดการกระทำผิด มีการพยายามขอให้ผู้เสียหายให้อภัยกับสิ่งที่ทำลงไป โดยไม่ได้พูดถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ถูกกระทำ มีเพียงคำกล่าวอ้างว่าตนเองได้รับความรู้สึกผิดอย่างไร มีภาวะเจ็บป่วยทางร่างกายอย่างไรจากความผิดที่ได้ทำลงไปเพื่อขอความเห็นใจให้ผู้ถูกกระทำยกโทษและให้อภัย ทั้งนี้ผู้เสียหายยืนยันจะดำเนินคดีจนถึงที่สุดและไม่ยอมความ


อ่านเนื้อหาข่าวละเอียดได้ที่ https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_7740187


อันที่จริงกรณีการล่วงละเมิดทางเพศหรือคุกคามทางเพศในแวดวงศิลปวรรณกรรม เคสนี้ไม่ใช่เคสแรก ที่ผ่านมามีการออกมาเรียกร้องหรือแฉพฤติกรรมการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศของคนทำงานในแวดวงศิลปะวรรณกรรมอยู่บ่อยครั้ง แต่หลายๆครั้งไม่ได้รับความสนใจจากสื่อ จนเรื่องดังกล่าวเงียบหายไป โดยเฉพาะเมื่อผู้ถูกกระทำไม่ใช่คนมีชื่อเสียงและคนกระทำเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง มีสถานะทางสังคม ข่าวเหล่านั้นก็มักจะหายไปจากการรับรู้ของคนในสังคมอย่างรวดเร็ว และยิ่งไปกว่านั้นคือทุกๆครั้งที่ผู้ถูกกระทำออกมาพูด ก็จะมีคนออกมาปกป้องผู้กระทำเสมอ เพราะไม่มีใครเชื่อว่าบุคคลที่มีสถานะทางสังคม มีชื่อเสียง เป็นคนทำงานสร้างสรรค์ ทำงานเพื่อสังคม จะกระทำความผิดอย่างที่ถูกกล่าวหา


และเรื่องเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในแวดวงศิลปวรรณกรรม แต่คดีเหล่านี้เกิดขึ้นในแวดวงนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย สื่อที่ทำงานประเด็นทางสังคมการเมือง อยู่จำนวนไม่น้อย ที่ผ่านมามีทั้งข่าวการร้องเรียนอาจารย์มหาวิทยาลัยที่อาศัยสถานะของตนแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศกับนักศึกษาทั้งในและนอกคณะ มีข่าวนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตยละเมิดทางเพศ มีกรณีนักวิชาการทำร้ายร่างกายคนรัก แต่หลายๆครั้งเรื่องกลับจบลงด้วยการที่ฝ่ายผู้เสียหายถูกฟ้องหมิ่นประมาท หรือถูกตั้งคำถามกลับจนต้องหยุดต่อสู้ไปเอง ซึ่งหนึ่งในคำถามที่ผู้ที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมต้องเผชิญคือ การถูกถามว่าสมยอมเองไหม ทำไมไปอยู่ในห้องสองต่อสอง ให้ท่าผู้ชายเองหรือเปล่า สารพัดคำถามที่ทำให้ผู้ถูกกระทำกลายเป็นคนผิดและยอมจำนนไปเสียเอง


เคสที่จะประสบความสำเร็จหรือได้รับการสนับสนุนในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม จำนวนมากเป็นเพราะผู้ถูกกระทำมีระบบซัพพอร์ตที่ดี ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงาน รวมไปถึงสถานะทางสังคมที่เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมหรือความช่วยเหลือจากสื่อ แต่ก็ต้องยอมรับว่าหลายๆเคสไม่ได้โชคดีแบบนั้นเสมอไป


อำนาจกับวัฒนธรรมข่มขืนในสังคมไทย


ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทย มีข่าวการล่วงละเมิดทางเพศ ความรุนแรงทางเพศรายวัน ไม่ว่าจะเป็นข่าวข่มขืน ข่าวการใช้ความรุนแรงของคู่รัก และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรุนแรงที่มีรากฐานมาจากเรื่องเพศ ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทย ในรัฐที่ไม่มีการเรียนการสอนเรื่องสิทธิทางเพศหรือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในสถาบันการศึกษา สื่อที่ยังคงฉายภาพซ้ำๆให้เห็นถึงการตบจูบ การบังคับปลุกปล้ำนางเอกที่กระทำโดยพระเอก การแซวการล้อเลียนกันเรื่องเพศ การเล่นมุกตลกทางเพศ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นรากฐานวัฒนธรรมการข่มขืน และเมื่อฝ่ายผู้กระทำเป็นฝ่ายที่มีอำนาจเหนือ จึงไม่แปลกที่มีคนจำนวนมากตกเป็นเหยื่อทางเพศ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอำนาจน้อย เช่น ผู้หญิงและเด็กๆ และเมื่อเรามาพิจารณาเรื่องอำนาจของผู้กระทำที่อยู่ในแวดวงศิลปวรรณกรรม คนทำงานวิชาการหรือนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เราจะเห็นความสลับซับซ้อนของอำนาจที่ทำให้ผู้กระทำสามารถพ้นผิดลอยนวลได้ง่ายๆ อันเนื่องมาจาก “สถานะทางสังคม” บางอย่างที่ถูกสร้างขึ้นหรือคนในวงการนั้นมีส่วนในการสนับสนุนให้เกิดการใช้อำนาจนั้นขึ้น ทำไมผู้เขียนจึงมองเรื่องสถานะทางสังคมของกลุ่มคนทำงานด้านนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้เกิดการใช้อำนาจทางเพศ เพราะสำหรับแวดวงคนทำงานด้านนี้ เป็นที่รู้กันดีกว่ามักจะมีอำนาจในการพูดหรือเขียนให้สิ่งต่างๆดูสมเหตุสมผลขึ้นมาได้ นักเขียนที่เป็นที่นับหน้าถือตา ได้รับความไว้วางในในการร่วมงาน พูดหรือเขียนอะไรก็มีคนฟัง ย่อมแตกต่างจากบุคคลที่ไม่มีชื่อเสียงหรือมีอิทธิพลในวงการวรรณกรรม หรือกรณีนักเคลื่อนไหวนักวิชาการทางการเมืองที่พร่ำพูดถึงความเท่าเทียมกัน สิทธิมนุษยชน ก็ได้รับความไว้วางใจจากคนในแวดวงว่าคนเหล่านี้จะเข้าใจเรื่องสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายของคนอื่น แต่ในความเป็นจริงกลับกระทำละเมิดทางเพศหรือคุกคามทางเพศได้อย่างแนบเนียน โดยอาศัยความไว้วางใจ แสวงหาผลประโยชน์ทางเพศกับคนทำงานด้วยกัน โดยอ้างวัฒนธรรมเสรีทางเพศ และตีขลุมไปเองว่าทุกคนจะยินยอมมีความสัมพันธ์ทางเพศได้ง่ายๆจากการเกลี้ยกล่อมหรือใช้กำลังบังคับในที่สุด


การส่งเสียงและสนับสนุนผู้ถูกกระทำต้องไม่ใช่แค่รายกรณี


ที่ผ่านมาเมื่อเกิดกรณีการคุกคามทางเพศหรือการล่วงละเมิดทางเพศขึ้นในแวดวงศิลปวรรณกรรม สังคมการเมือง แวดวงวิชาการ เรามักจะเห็นการออกมาส่งเสียงประณามหรือบอยคอตผู้กระทำเป็นกรณีๆไป แต่นั่นก็อาจไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของปัจเจก ไม่ใช่การกระทำส่วนตัวที่ต้องไปไล่เบี้ยเอาผิดกันเองระหว่างผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำเท่านั้น แต่ปัญหานี้คือปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งครอบคลุมทั้งหมดในสังคมไทย การที่ผู้กระทำไม่คิดว่าการคุกคามทางเพศผูัอื่นเป็นความผิด เป็นสิ่งที่ทำได้เป็นปกติ การใช้ความไว้วางใจเข้าหาเหยื่อที่เปราะบาง สิ่งเหล่านี้คือแพทเทิร์นหรือรูปแบบที่ผู้กระทำจะนำมาใช้ซ้ำๆ และนำมาสู่วัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล ซึ่งที่ผ่านมาคนในแวดวงศิลปวรรณกรรม สังคมนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิทางการเมืองมองข้ามเรื่องความรุนแรงทางเพศมาโดยตลอด และหลายครั้งมองว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องของนักกิจกรรมเฟมินิสต์เท่านั้นที่จะมีหน้าที่เคลื่อนไหวเรียกร้อง เสียงของผู้ถูกกระทำจึงไม่เคยเป็นกระแสหลักในวงการนี้


ผู้เขียนจึงคิดว่ากรณีของบรรณาธิการคนดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นให้คนในแวดวงเดียวกันนี้เริ่มตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นและให้ความสำคัญกับการทำงานเพื่อยุติความรุนแรงทางเพศ การแสวงผลประโยชน์ทางเพศกับคนในแวดวงนี้ให้มากขึ้น ตัวอย่างที่ดีซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากกรณีล่าสุด คือการประกาศจุดยืนและแถลงการณ์จากสำนักพิมพ์จำนวนหนึ่ง เช่น แถลงการณ์จากสำนักพิมพ์ P.S ที่นอกจากจะประณามการกระทำของบรรณาธิการคนดังกล่าวแล้ว ยังประกาศจุดยืนในการคัดสรรคนทำงานที่ไม่มีพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศอีกด้วย หรือแถลงการณ์ของสำนักพิมพ์บีโกเนีย สำนักพิมพ์หลวยสู สำนักพิมพ์อะโวคาโด สำนักพิมพ์ Library House ที่ร่วมประณามการกระทำของบรรณาธิการคนดังกล่าวและแสดงจุดยืนสนับสนุนการต่อสู้ของผู้ถูกกระทำ


ซึ่งนอกเหนือไปจากการส่งเสียงประณามหรือให้กำลังใจผู้ถูกกระทำ ข้อเสนอหนึ่งของผู้เขียนที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับองค์กร บริษัท สำนักพิมพ์ ที่มีจุดยืนไม่สนับสนุนพฤติกรรมทางเพศที่เป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น คือการจัดทำนโยบายการทำงานในองค์กรของตนเองให้เป็นรูปธรรมและบังคับใช้กับทุกคนในองค์กร เช่น แนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน และแนวปฏิบัติเพื่อคุ้มครองหรือเยียวยาผู้เสียหายจากการถูกคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศ ที่จะทำให้เมื่อเกิดกรณีทางเพศเกิดขึ้น องค์กร บริษัท หรือสำนักพิมพ์จะสามารถดำเนินการสอบสวนหรือเยียวยาผู้เสียหายได้ทันท่วงที และนอกเหนือจากแนวปฏิบัติภายในองค์กร การประกาศนโยบายการร่วมงานกับบุคคลภายนอก เช่น นักเขียน บรรณาธิการ กองบรรณาธิการ คนทำงานศิลปะทั้งหลาย จะต้องมีนโยบายที่ไม่ร่วมงานกับผู้กระทำความผิดทางเพศในทุกกรณี เพื่อให้พฤติกรรมการคุกคามทางเพศหรือล่วงละเมิดทางเพศไม่ได้รับการสนับสนุนให้ดำรงอยู่ในแวดวงคนทำงานสร้างสรรค์อีกต่อไป


สุดท้ายนี้ ผู้เขียนในฐานะผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์เฟมินิสต้า ขอร่วมประณามการกระทำหรือพฤติกรรมที่เป็นการคุกคามทางเพศ การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศของบรรณาธิการคนดังกล่าว และไม่ร่วมงานกับบุคคลที่มีพฤติกรรมละเมิดสิทธิทางเพศผู้อื่นในทุกกรณี ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต


อ่านแถลงการณ์ของสนพ PS เพิ่มเติม ได้ที่ https://www.facebook.com/P.S.Publish/posts/pfbid07j4RUaJ7GWKU3c1K3z5sm9ZH7Ld8BMxHs6KpgP5F2dAPWJXxk9yXW4vGgTJ21Rvnl











ดู 388 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Commentaires


bottom of page