top of page
รูปภาพนักเขียนFeminista

Feminista Perspective:เฟมทวิต VS เบียวชิบหาย ว่าด้วยกระแสเฟมินิสต์กับปฏิกิริยาโต้กลับของกลุ่มต่อต้าน




(ภาพข้างบนจากเพจ พระเยซูเป็นคนคิด)


ในช่วงปีที่ผ่านมา หากใครเล่นทวิตเตอร์ จะพบกับคำว่า “เฟมทวิต” ที่ถูกเรียกกันโดยกลุ่มผู้ชายกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่พอใจกับการวิพากษ์วิจารณ์และออกมาทักท้วงกับประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ไล่ตั้งแต่เรื่อง มองนม คุกคามทางเพศ อาการใคร่เด็ก ความรุนแรงในครอบครัว ไปจนถึงมุกตลกข่มขืน ล้อเลียนเรื่องเพศ


โดยกลุ่มที่มักจะนำคำว่าเฟมทวิตมาใช้ หลายคนมาจากกลุ่มในเฟซบุคที่ชื่อว่า The sanctuary of เบียวชิบหาย ซึ่งถ้าใครติดตามกลุ่มนี้ จะพบว่าเป็นกลุ่มที่มีผู้ชายจำนวนมากมารวมตัวกัน และโพสต์ข้อความที่มีลักษณะของการใช้มุกตลกในเรื่องเพศ หรือนำโพสต์ที่มีเนื้อหาเหยียดเพศและบางเนื้อหาเป็นการสนับสนุนความรุนแรงทางเพศ ไม่ว่าจะเป็น คลิปผู้ชายทำร้ายร่างกายผู้หญิง คลิปของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศที่ถูกกลั่นแกล้ง และเปิดให้คนในกลุ่มมาแสดงความเห็นในลักษณะของการล้อเลียน ตีตรา เล่นมุกขำขัน โดยอ้างเรื่องของฟรีสปีชมาปกป้องการกระทำเหล่านี้ แม้ว่าจะมีการรายงานไปยังผู้ให้บริการคือบริษัทเฟซบุคเพื่อให้ปิดกลุ่มหรือโพสต์ที่เป็นการคุกคาม แต่ก็ยังมีการเปิดกลุ่มใหม่อยู่เรื่อยๆ


การใช้คำว่าเฟมทวิตในช่วงแรก มีลักษณะของการมองว่า กลุ่มผู้หญิงที่พูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ หรือไม่เห็นด้วยเรื่องการละเมิดทางเพศหรือมุกตลกข่มขืน เป็นกลุ่มเฟมินิสต์ไม่แท้ เป็นแค่เฟมินิสต์ที่เอาแต่ “ฉอด” ในทวิตเตอร์ไปวันๆแต่ไม่ได้ลงมือทำอะไร ไม่เหมือน “เฟมินิสต์” ตัวจริงที่ขับเคลื่อนอยู่ข้างนอกโลกออนไลน์

และคำว่าเฟมทวิต ก็ถูกนำมาใช้ในลักษณะของการล้อเลียนผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาพูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่ใช้ทวิตเตอร์เป็นที่ถกเถียงพูดคุยเรื่องเพศ


อย่างไรก็ดี ผู้หญิงที่ถูกเรียกว่า เฟมทวิต ได้ใช้คำนี้ในความหมายใหม่ โดยเรียกตัวเองว่า เฟมทวิต และยืนกรานในการใช้คำนี้ โดยมองว่าเฟมทวิตก็คือเฟมินิสต์ที่ขับเคลื่อนสังคมผ่านพื้นที่ออนไลน์อย่างทวิตเตอร์ ดังนั้นคำว่า เฟมทวิต จึงพลิกกลับจากการถูกเรียกอย่างดูแคลน เป็นการภาคภูมิใจในการเป็นเฟมทวิต เห็นได้จากการที่ผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์หลายคน พร้อมใจกันต่อท้ายชื่อด้วยคำว่าเฟมทวิต เพื่อยืนกรานในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ


ปฏิกิริยาโต้ตอบของกลุ่มผู้ชายในโลกออนไลน์


หลังจากกระแสเฟมินิสต์ในกลุ่มคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การกระทำที่เป็นการเหยียดเพศหรือส่งเสริมสนับสนุนการล่วงละเมิดทางเพศ ได้ถูกถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถกเถียงเรื่องมองนมไม่ผิด การเขียนนิยายที่มีฉากข่มขืน การเล่นมุกตลกข่มขืน การแต่งตัวเปิดเผยร่างกาย ไปจนถึงการวิจารณ์บทความที่มีเนื้อหาสนับสนุนอาการใคร่เด็ก ทำให้เกิดปฏิกิริยาโต้ตอบจากกลุ่มผู้ชายจำนวนมาก โดยอาจแบ่งเป็นวิธีการตอบโต้หลักๆที่เห็นได้ชัด เช่น


-การลดทอนขบวนการต่อสู้ของเฟมินิสต์ด้วยการด้อยค่า

เช่น การเล่นมุกตลกของกลุ่มเบียวชิบหาย การแต่งเรื่องในเพจ Aunnism การสร้างมีมล้อเลียนเฟมินิสต์

จากภาพตัวอย่าง จะเห็นว่าเกิดการทำมีมเพื่อล้อเลียนเฟมินิสต์จำนวนมาก เพื่อทำให้คนเข้าใจว่าเฟมินิสต์เรียกร้องในสิ่งที่เล็กน้อยหยุมหยิม และมีแต่เรื่องไม่เป็นเรื่อง ไม่สำคัญ









-การปลอมแอคเค้าน์ในทวิตเตอร์เป็นเฟมทวิต

มีการสร้างแอคเค้าท์ปลอมและโพสต์เรื่องราวปลอมๆขึ้นมาเพื่อดิสเครดิตให้กลุ่มเฟมทวิตเป็นแค่เฟมินิสต์ที่ต้องการสถาปนาระบบหญิงเป็นใหญ่ และนำเรื่องราวเหล่านั้นไปโพสต์ต่อตามกลุ่มต่างๆ ทำให้คนเข้าใจผิดว่าเฟมทวิตเป็นพวกที่ไม่ได้เรียกร้องความเท่าเทียม แต่ต้องการกำจัดผู้ชายและสถาปนาระบบหญิงเป็นใหญ่ ซึ่งทำให้มีคนจำนวนมากเชื่อว่าเป็นความจริง และนำมาดิสเครดิตขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มเฟมทวิต



-การคุกคามนักกิจกรรมทางเพศและการกลั่นแกล้งของกลุ่มแอนตี้เฟมินิสต์

เมื่อผู้หญิงออกมาพูดเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศในพื้นที่ออนไลน์ ผลที่เกิดขึ้นคือการถูกคุกคามและกลั่นแกล้ง กรณีของ เฟลอ นักกิจกรรมหญิงที่ออกมาพูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ถูกนำรูปไปโพสต์ในกลุ่มเบียวชิบหาย และเปิดให้ผู้มาแสดงความเห็นด้วยการล้อเลียนรูปร่างหน้าตา สภาพร่างกายของเธอติดต่อกันเป็นเวลาหลายสัปดาห์ รวมไปถึงการแสดงความเห็นในเชิงคุกคามทางเพศอีกจำนวนหลายข้อความ จากหลากหลายบุคคล ส่งผลให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยและกระทบต่อสภาพจิตใจของนักกิจกรรมคนดังกล่าว


ปรากฎการณ์เฟมทวิตและกลุ่มผู้ชายแอนตี้เฟมินิสต์สะท้อนอะไร?


ภาวะของการสูญเสียอำนาจและพื้นที่ในการพูดหรือทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องตระหนักเรื่องเพศ

เนื่องจากกลุ่มเฟมทวิตออกมาถกเถียงเรื่องเพศกันอย่างกว้างขวาง ไม่เห็นด้วยกับการเล่นมุกตลกข่มขืน ไม่เห็นด้วยกับการสนับสนุนให้เกิดการคุกคามทางเพศ เช่น ข้อถกเถียงเรื่องการมองนม หรือกรณีนิยายที่มีฉากข่มขืน การออกมาพูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ส่งผลให้พื้นที่ในการแสดงออกทางเพศของผู้ชายกลุ่มหนึ่งถูกจำกัด และการออกมาโต้แย้งการกระทำของผู้ชายกลุ่มนี้ เป็นการท้าทายอำนาจและความคิดแบบชายเป็นใหญ่ ซึ่งผู้ชายเป็นผู้ควบคุมอำนาจในการพูด การแสดงออกทางเพศและการกระทำทางเพศมาโดยตลอด แต่การออกมาโต้แย้งของกลุ่มเฟมทวิต ทำให้ผู้ชายกลุ่มนี้สูญเสียพื้นที่ผูกขาดในการแสดงออกทางเพศ การคุกคามทางเพศของตัวเอง จนนำไปสู่การโต้กลับด้วยการล้อเลียนกลั่นแกล้งและดิสเครดิตกลุ่มเฟมทวิต


อำนาจที่ไม่เท่ากันของผู้ล้อเลียนและผู้ถูกล้อเลียน

การออกมาเล่นมุกตลก ลดทอนกลุ่มเฟมทวิตให้กลายเป็นแค่เฟมินิสต์ที่เรียกร้องสิทธิในการกดขี่ผู้ชายหรือเรียกร้องแต่เรื่องหยุมหยิม การทำให้เฟมินิสต์ด้อยค่า ถูกอ้างเรื่องการใช้ฟรีสปีชในการเล่นมุกตลกขำขันใส่ผู้หญิงกลุ่มนี้ โดยมองว่าในโลกเสรีประชาธิปไตย ทุกคนมีสิทธิที่จะพูดอะไรก็ได้ ตราบเท่าที่ไม่เป็นเฮทสปีช โดยที่คนเหล่านี้ไม่ได้ตระหนักถึง อำนาจที่ไม่เท่ากัน และสภาพสังคมที่เป็นอยู่จริง


ทั้งๆที่ในความเป็นจริง เฟมินิสต์คือขบวนการหรือกลุ่มคนที่ต่อสู้เรียกร้องให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ ไม่ว่าจะในระดับปัจเจกไปจนถึงระดับโครงสร้างทางสังคม ปัจจุบันผู้หญิงและเพศหลากหลาย รวมถึงผู้ชายที่มีอำนาจน้อย ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกเลือกปฏิบัติ ถูกใช้ความรุนแรง อย่างต่อเนื่อง เฟมินิสต์ไม่ได้อยู่ในสถานะที่มีอำนาจไปกดขี่ผู้ชาย อย่างที่ผู้ชายบางกลุ่มออกมากล่าวหาว่า เฟมินิสต์ก็แค่อยากกดขี่ผู้ชาย ไม่ได้เรียกร้องความเท่าเทียมสำหรับทุกเพศ


ดังนั้นการเล่นมุกตลกล้อเลียนเฟมินิสต์ นอกจากจะเป็นการพยายามลดทอนคุณค่าของกลุ่มผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาพูดถึงประสบการณ์การถูกกดขี่ทางเพศของพวกเธอแล้ว ยังเป็นการมองข้ามปัญหาเรื่องอำนาจที่ไม่เท่ากัน และใช้การล้อเลียน การทำให้เป็นเรื่องตลก กลบเสียงของคนที่ลุกมาพูดเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศอีกด้วย


ปรากฎการณ์แอนตี้เฟมินิสต์ไม่ใช่เรื่องใหม่


การออกมาตอบโต้หรือต่อต้านเฟมินิสต์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นแต่อย่างใด ในสังคมตะวันตกที่แนวคิดเฟมินิสม์ได้วางรากฐานมาอย่างยาวนาน ก่อนที่จะประสบผลสำเร็จในเชิงนโยบายและกฎหมายหรือแนวคิดของคนในสังคม ผู้หญิงจำนวนมากที่ลุกมาเรียกร้องเรื่องความเท่าเทียมทางเพศถูกดิสเครดิตมาตลอด ว่าเป็นพวกเกลียดผู้ชายบ้าง พวกผิดปกติทางเพศบ้าง พวกได้คืบจะเอาศอกบ้าง หนักหนาถึงขั้นจับไปทรมานก็มี จับติดคุก ทำร้ายร่างกาย ฆ่า เกิดขึ้นมาหมดแล้ว


เพียงแต่ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตอนนี้ เห็นชัดว่าเป็นการปะทะกันทางความคิดระหว่างคนที่สนับสนุนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและออกมาส่งเสียงว่าไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร และเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงความคิดอย่างไร กับกลุ่มคนที่ไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนแปลง และต้องการยึดกุมอำนาจในการแสดงออกทางเพศและการกระทำทางเพศที่กระทำมาอย่างยาวนาน จนเกิดเป็นการสร้างวาทกรรมเรียกคนอีกกลุ่มว่า เฟมทวิต ในเชิงดูถูก และเกิดการล้อเลียนด้อยค่าเฟมทวิตกลุ่มนี้บนพื้นที่ออนไลน์ ด้วยการสร้างมีมหรือมุกตลกต่างๆอย่างที่ปรากฎในตอนต้น


การแบ่งเฟมินิสต์ออกเป็น เฟมินิสต์ปลอม และเฟมินิสต์แท้


ปรากฎการณ์ล่าสุดในโซเชียลมีเดีย หลังจากที่มีการพยายามดิสเครดิตกลุ่มเฟมทวิตอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากมีเฟมินิสต์ที่ทำงานในองค์กรหรือกลุ่มที่ขับเคลื่อนทางกฎหมายมาร่วมถกเถียงเป็นระยะ ทำให้เกิดการพยายามแยกเฟมินิสต์ออกเป็นสองขั้ว คือเฟมินิสต์ปลอม ซึ่งเป็นการกล่าวหาไปที่กลุ่มเฟมทวิตที่ไม่ได้ทำงานกับกลุ่มองค์กรนอกพื้นที่ออนไลน์ ว่าเป็นแค่คนที่อ้างตัวว่าเป็นเฟมินิสต์และดีแต่พูดในทวิตเตอร์ ไม่ได้ทำงานขับเคลื่อนอย่างจริงจังเหมือนเฟมินิสต์แท้ ที่ทำงานผลักดันให้เกิดกฎหมายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ หรือเรียกร้องให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศกับทุกเพศ ไม่เหมือนเฟมทวิตบางคนที่คิดอยากจะสถาปนาอำนาจหญิงเป็นใหญ่เท่านั้น


การแบ่งเฟมินิสต์ออกเป็นสองขั้วคือปลอมกับแท้ ยิ่งสะท้อนให้เห็นความพยายามดิสเครดิตเฟมินิสต์รุ่นใหม่ที่ใช้พื้นที่ออนไลน์ในการสื่อสารเรื่องความเท่าเทียม โดยมองว่า เฟมินิสต์ที่สื่อสารเรื่องความเท่าเทียมทางเพศบนพื้นที่ออนไลน์ ไม่ใช่เฟมินิสต์ที่แท้
ไม่เหมือนกับเฟมินิสต์ที่ทำงานนอกพื้นที่ออนไลน์ ลงพื้นที่ชุมชน ช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ หรือมีบทบาทในการผลักดันกฎหมายต่างๆไม่ใช่แค่พูดอยู่ในโซเชี่ยลมีเดีย
การดิสเครดิตนี้จึงมาพร้อมกับการทำมีมล้อเลียนเฟมทวิตและใช้คำว่า เฟคเฟม เพื่อลดทอนเสียงของเฟมินิสต์รุ่นใหม่ที่อยู่บนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์


ความเท่าเทียมทางเพศในกลุ่มผู้ชายบางกลุ่มที่เชื่อหลักการเสรีประชาธิปไตย


สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับปรากฎการณ์แอนตี้เฟมินิสต์ คือกลุ่มคนที่ออกมาต่อต้านเฟมทวิต หลายคนคือกลุ่มเดียวกับที่ใช้แฮชแท็ก Save วันเฉลิม หรือเป็นกลุ่มที่สนับสนุนประชาธิปไตย พูดเรื่องรัฐบาล รัฐประหาร สิทธิมนุษยชน วิจารณ์สถาบันต่างๆในสังคมอยู่เป็นประจำ แต่เมื่อมีการพูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ประสบการณ์ของผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ คนกลุ่มเดียวกันนี้กลับไม่เข้าใจเรื่องความไม่เป็นธรรมทางเพศและไม่สามารถร่วมเป็นกระบอกเสียงให้กับคนที่ได้รับความไม่เป็นธรรมทางเพศได้ ซึ่งถ้าหากวิเคราะห์ไปให้ถึงรากของการไม่สามารถทำความเข้าใจปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเพศ ก็เป็นเพราะคนกลุ่มนี้เป็นคนที่จะเสียอำนาจในการกดขี่ทางเพศ ในการแสดงออกทางเพศที่เป็นการละเมิดกลุ่มผู้หญิงหรือเพศหลากหลาย ซึ่งไม่ต่างจากกลุ่มชนชั้นนำที่ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงทางการปกครองให้เป็นประชาธิปไตย เพราะไม่ต้องการสูญเสียอำนาจในการปกครองที่ตัวเองมีอยู่เหนือประชาชน


นอกจากนี้ การไม่เคยได้รับประสบการณ์การถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือคุกคามทางเพศ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กลุ่มผู้ชายที่สนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย ไม่เข้าใจว่าทำไมการเล่นมุกตลกข่มขืน หรือการคุกคามทางเพศด้วยคำพูด จึงส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้หญิงจนทำให้เฟมทวิตต้องออกมาเรียกร้องให้ยุติการกระทำเหล่านั้น


เฟมทวิตก็เป็นเฟมินิสต์กลุ่มหนึ่ง


ถึงที่สุดแล้ว การกล่าวหาว่าเฟมทวิตไม่ใช่เฟมินิสต์ที่แท้ ก็เป็นแค่การพยายามดิสเครดิตขบวนการเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์บนพื้นที่ออนไลน์ เพราะในความเป็นจริง ขบวนการเคลื่อนไหวรูปแบบใหม่ในโลกยุคใหม่ ไม่ได้จำกัดเฉพาะการที่ต้องลงไปประท้วงบนท้องถนนอย่างเดียวเท่านั้น ไม่จำกัดเฉพาะการต้องไปสังกัดองค์กรความเท่าเทียมทางเพศ องค์กรผู้หญิงเท่านั้น แต่การขับเคลื่อนทางความคิดในสังคมที่ขยับไปมีชีวิตและประสบการณ์ที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ออนไลน์ ก็เป็นรูปแบบหนึ่งในการเคลื่อนไหวทางสังคมเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะกับโลกยุคดิจิตอล ที่การคุกคามทางเพศได้ขยายขอบเขตจากพื้นที่ออฟไลน์มาสู่พื้นที่ออนไลน์ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการ คุกคามทางเพศออนไลน์ การบุลลี่ออนไลน์ การแบล็คเมล์ การทำให้ด้อยค่าต่างๆ ทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้บนพื้นที่ออนไลน์และมีผลกระทบทั้งในพื้นที่ออนไลน์และออฟไลน์


ดังนั้นขบวนการเคลื่อนไหวของเฟมทวิตจึงเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์ในภาพใหญ่ ไม่สามารถที่จะไปด้อยค่าหรือลดทอนการต่อสู้ของคนกลุ่มนี้เพียงเพราะพวกเขาเป็นคนรุ่นใหม่ที่ใช้ทวิตเตอร์ในการสื่อสารหรือลุกออกมาพูดประสบการณ์การถูกกดขี่ทางเพศผ่านโซเชี่ยลมีเดีย หรือเพียงเพราะพวกเขาไม่ได้สังกัดองค์กรที่ทำงานเรื่องเพศในโลกออฟไลน์เหมือนเฟมินิสต์กลุ่มอื่นที่ไม่ได้ใช้โซเชียลมีเดียในการเคลื่อนไหวเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในสังคม


สุดท้ายนี้ ปรากฎการณ์ต่อต้านเฟมินิสต์รุ่นใหม่หรือเฟมทวิต จึงสะท้อนให้เห็นว่า ความกลัวและความโกรธในการถูกท้าทายอำนาจของกลุ่มผู้ชายในพื้นที่ออนไลน์นั้นเป็นผลมาจากการเกิดขึ้นของกลุ่มเฟมทวิต และการโต้กลับเมื่อใช้เหตุผลโต้แย้งด้วยไม่ได้จึงออกมาในรูปแบบของมีมล้อเลียนหรือมุกตลกที่พยายามด้อยค่าเฟมทวิตหรือเฟมินิสต์ในหลากหลายรูปแบบ อย่างที่ปรากฎในกลุ่มเบียวชิบหายและเพจมีมต่างๆนั่นเอง









ดู 11,693 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page