หลายคนอาจคุ้นชื่อของ รวงทัพพ์ แก้วแกมจันทร์ ในฐานะนักพัฒนาสื่อเด็กและผู้ก่อตั้ง หิ่งห้อยน้อยคลับ สื่อ และแพลทฟอร์มออนไลน์สำหรับการรับฟังและเปิดบทสนทนาในประเด็นอ่อนไหว หรือ Taboo ที่เด็กไม่สามารถสื่อสารหรือเข้าถึงได้อย่างเปิดเผย แต่นอกเหนือจากการทำงานด้านสื่อเด็ก รวงยังได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ เฟมินิสต้าจึงชวนเธอมาพูดคุยและแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับแนวคิดเฟมินิสม์ รวมไปถึงเรื่องสมรสเท่าเทียมและประชาธิปไตย เพื่อให้เห็นความหลากหลายในการทำงาน และสะท้อนถึงสิ่งที่เฟมินิสต์เป็นและทำในสังคมไทยค่ะ
รวงรู้จักแนวคิดเฟมินิสม์มาจากที่ไหน?
เราคิดว่าคงรู้จักจากหนังสือและอินเตอร์เน็ต คำว่าสตรีนิยม อะไรแบบนี้ น่าจะเป็นตอนอายุ 16-17 ตั้งแต่เราอ่าน อัญจารี(องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ) บนเว็บไซต์ ตั้งแต่มีการประชุมผู้หญิงที่ปักกิ่ง แล้วเราก็สนใจดาราต่างชาติที่เค้าพูดถึงเฟมินิสม์ และนักเขียนเฟมินิสต์ แต่เราไม่ชอบคำว่าสตรีนิยม เราว่าคำว่า 'สตรี' มันดูเชิดชูผู้หญิง คือเราก็เชิดชูผู้หญิง แต่คำวา 'สตรีนิยม' มันดูให้น้ำหนักกับคำว่า 'สตรี' มากเกินไป คือคำว่า ‘สตรี ‘มันดูเป็นอีกระดับนึง เราชอบคำว่า ‘ผู้หญิง’ มากกว่า แล้วเราคิดว่าจริงๆแล้ว เฟมินิสม์ ในความหมายมันไม่ได้รับใช้แค่ผู้หญิง มันไม่ใช่การดูแลหรือพูดถึงแค่ผู้หญิง มันมีมากกว่านั้น เราเลยไม่ชอบคำแปลว่า สตรีนิยม มันเป็นคำถามของเรากับคำแปลนั่นแหละ
แล้วถ้าให้ใช้คำใหม่แทน คิดว่าควรแปลแนวคิดเฟมินิสม์ว่าอะไร ในการพูดถึงความเท่าเทียมทางเพศ
ก็คงใช้คำว่า คนที่ทำงานเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศมากกว่าสตรี เพราะจริงๆแล้วมันครอบคลุมไปหลายมิติมากสำหรับเฟมินิสม์น่ะ แต่เราก็เข้าใจรากของคำว่าสตรีนะ เข้าใจว่าทำไมมันถึงเป็นรากฐานของความคิดนี้
เอสตริด ลินด์เกรน
เป็นตัวอย่างของคนที่ทำงานด้านเด็กและผู้หญิงที่รวงรู้สึกศรัทธาและนำมาเป็นแบบอย่าง
รวงสนใจงานศิลปะโดยเฉพาะศิลปะของเฟมินิสต์
แสดงว่าไม่ได้เรียกตัวเองว่าเฟมินิสต์?
ก็เคยคุยเรื่องนี้กับน้องคนนึงที่เป็นเฟมินิสต์เหมือนกันช่วงที่ผ่านมา ว่าตกลงเราเรียกตัวเองว่าเฟมินิสต์หรือเปล่า มันก็เหมือนไปชัดขึ้นที่อินเดีย แล้วเราก็คิดว่าเราน่าจะเป็นเฟมินิสต์ตอนที่ไปอยู่อินเดีย เพราะว่าเราเกลียดบรรยากาศที่ผู้หญิงไม่เท่าเทียมกับผู้ชายมาก คือเรารู้สึกว่ามันอยู่ไม่ได้น่ะ ถ้าไม่ได้เป็นเฟมินิสต์ คือความกดดันมันเยอะมาก ผู้ชายทำแบบนั้นได้ ผู้หญิงทำแบบนี้ไม่ได้ ทั้งๆที่เราก็มีชีวิตเหมือนกัน คือเรารู้สึกมาก ทั้งรักทั้งเกลียดอินเดีย เพราะเหตุผลเรื่องเพศนี่แหละ มันจะเห็นความทุกข์ยากของผู้หญิงที่นั่น และมันก็สะท้อนที่ไทย คือที่อินเดียมันเห็นทั้งกายและใจ ที่ไทยเราอาจจะเห็นในด้านกายน้อย การกดขี่อะไรแบบที่เป็นรูปธรรมน่ะ แต่นามธรรมมันลึกมาก แล้วเราก็ไม่รู้จะพูดกับใคร เชื่อมโยงกับในงานด้วย ที่เรามีรูปลักษณ์แบบนี้ในตอนนี้ มันก็เกิดจากการที่เราถูกกดขี่แหละ เราก็เลยโกนหัว เจาะจมูก ซึ่งมันก็มาจากอะไรก็ตามที่เป็นความงามที่เรารู้สึกว่าอยากทำ แล้วมันก็จะขัดกับภาพเหมารวมของผู้หญิงในสังคมไทย ที่ต้องผมยาว แล้วมันก็จะถูกจับจ้อง
รวงลงพื้นที่ในตอนใต้ของอินเดีย เพื่อเรียนรู้ความไม่เท่าเทียมทางเพศและการถูกกดขี่โดยโครงสร้างอำนาจรัฐ ในภาพคือกลุ่มฮิจระ ที่รวมตัวกันในทมิฬนาดู
มีอยู่วันนึงที่มีผู้ชายคนนึงเข้ามาอยู่ในพื้นที่ที่เราทำงาน แล้วเค้าก็พูดว่า เด็กผู้หญิงน่ะไม่มีวันที่จะฝันได้หรอก ไม่มีวันที่จะเป็นนักผจญเพลิงได้หรอก เราก็คิดเรื่องนี้อยู่ประมาณสามชั่วโมงกับกลุ่มผู้ปกครองและกลุ่มนักจิตที่คอยสนับสนุนเราอยู่ในพื้นที่งาน ตอนนั้นเรารู้สึกว่าเราอยากจะทำให้ร่างกายเรา Transform ไปใหม่ มันเกี่ยวกับความรู้สึกมากๆที่อยู่ข้างใน คือเราก็เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศและเรามาทำงานนี้ เราตั้งใจมากและเราจะทำงานกับเด็ก เราขอด้วยว่าพื้นที่ที่เราทำงานเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็ก แล้วขอด้วยว่าวันนี้เป็นวันเด็กผู้หญิงสากล เราขอให้เด็กผู้หญิงมาเขียนสิ่งที่เค้ารู้สึกกับตัวเอง โพสต์นั้นไม่มีเด็กผู้ชายเข้ามาคุยนะแต่ว่าทำไมมีผู้ชายคนนี้เข้ามาได้ล่ะ แล้วเค้าก็โจมตีเรามากว่าเราคิดแบบนี้ใช่ละ ผู้หญิงทำแบบนั้นแบบนี้ไม่ได้ ทำให้เรานึกถึงกลุ่มเบียว (กลุ่มในเฟซบุคที่มักจะพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องการเหยียดเพศและคนชายขอบ) ขึ้นมาเลย
เราเชื่อเสมอว่า เราสวยงามนะ เราคิดว่าเราสวยงาม แล้วเด็กที่อยู่ในพื้นที่เราเค้าก็อยากจะสวยงามด้วยเหมือนกัน แล้วทำไมคุณมาทำผิดกติกา แล้วคุณก็ไม่เห็นคุณค่าว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่จะให้เด็กผู้หญิงออกมาพูด ซึ่งเด็กผู้หญิงกับคุณถ้าเทียบกันแล้ว คุณพูดเสียงดังกว่ามาก มันไม่แฟร์นะ
ตอนที่มีเฟมินิสต์คลาส เราก็เลยคิดว่าเราต้องพูดถึง พื้นที่ความปลอดภัย และเราก็พยายามจะบอกว่าพื้นที่นี้มันเป็นพื้นที่ที่เด็กถูกกดทับอยู่แล้ว และถ้าเป็นเด็กผู้หญิงก็ยิ่งถูกกดทับเข้าไปอีก เราก็เลยคิดว่า ถ้าเราจะเป็นใครสักคนที่ทำงานด้านเด็ก เราต้องทำให้เด็กคนนั้นเห็นว่าเราเป็นคนที่พยายามมากที่จะบอกว่าน้องทำได้ทุกอย่าง เราก็เลยไปโกนหัว เจาะจมูก ให้มันชัดไปเลยว่า ไม่ว่าคุณจะอยู่ในลุคไหน คุณก็ทำอย่างที่คุณคิดได้ สิ่งที่คุณต้องการได้ ซึ่งมันจะกวนตีนมาก มันจะเหี้ยมากเลย ในการที่สังคมมองเรามา ซึ่งมันเป็นการท้าทายของเราเองแหละ ว่าเราจะอยู่ในลุคนี้ได้นานมั้ย เพื่อที่จะเข้าใจการถูกกดทับจากอคติที่เกี่ยวกับรูปลักษณ์ เรือนร่างของเพศหญิง
รวงตัดผมที่ร้านตัดผมผู้ชายที่อินเดีย
คือลุคแบบนี้ สังคมไทยก็จะมีการตีตรา เพราะผู้หญิงในภาพของสังคมไทยมันจะต้องผมยาว เรียบร้อยหรือผมยาว เซ็กซี่ไปเลย มันก็จะมีภาพจำไม่กี่แบบ มีมาตรฐานความงาม ทีนี้พอรวง โกนหัว เจาะจมูก ปฏิกิริยาของสังคมที่รวงต้องเจอทุกวัน เป็นยังไงบ้าง?
แล้วเราอ้วนด้วยนะอีกอันนึง แล้วเราก็มีผิวเข้มด้วย มีรอยสักด้วย คนก็จะตัดสินเราได้ง่ายมากเลย เราก็อยู่ในความรู้สึกที่แบบว่า เออ ดูสายตาของคนซิ คนกลัวเรามั้ย คนเกรงเรามั้ย ก็มีคนจำนวนนึงมาถาม โดยเฉพาะผู้หญิงจะมาถามเราเยอะมากว่าทำไมถึงทำแบบนี้แบบนั้น คนที่ถามด้วยความอยากรู้เราก็เข้าใจได้ แต่บางคนก็ตัดสินไปเลย แล้วก็ใช้คำพูดที่รุนแรงกับเรา อันนี้เราก็รู้แหละว่าเรากำลังฝึกตัวเอง คืองานทาบูมันเป็นงานที่คนไม่พูดน่ะ แล้วเราก็แสดงออกผ่านงาน ผ่านตัวเองไปเลย อันนี้คือจุดยืนของเรา
เราคิดว่ามันก็เชื่อมโยงกับเฟมินิสต์ที่เรามีผ่านการแสดงออก คือเราสนับสนุน เสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of expression) มากๆ เราอยากเป็นแบบไหนก็ให้มันชัดไปเลย
เคยเจออะไรหนักๆมั้ย เช่นการปฏิเสธซึ่งๆหน้า เพราะรูปลักษณ์ของตัวเรา
รวง : ก็ไปกินข้าว แล้วทุกคนที่ร้านก็มองมาที่เรา เค้าก็พูดว่าทำอะไรมา ทำไมโกนหัวแบบนี้ ไปบวชชีมาหรอ แต่ในน้ำเสียงมันก็จะเป็นน้ำเสียงเหยียดน่ะนะ นึกออกมั้ย แล้วเราก็แต่งตัวธรรมดา คือออกไปกินข้าว ไม่ได้แต่งตัวดีอะไร คนก็จะดูถูกเรา แล้วมันก็จะเชื่อมโยงกับการไม่ให้เกียรติน่ะ คือไม่ต้องให้เกียรติผู้หญิงคนนี้ละ
เฟมินิสต้า : มันน่าสนใจตรงที่ มีคนจำนวนมากที่เป็นเฟมินิสต์ แล้วไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาลักษณะแบบคนชนชั้นกลาง ดูดี เป็นผู้ทรงภูมิ หลายครั้งเราจะค่อนข้างเห็นเฟมินิสต์ในต่างประเทศที่เป็นดาราแล้วออกมาพูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ก็จะเป็นแบบผิวขาว สวยๆ ทีนี้เวลาพูดอะไรออกมาคนก็จะฮือฮา อย่างเอ็มม่า วัตสัน คนก็จะฟังเค้า แต่ในขณะที่เฟมินิสต์แบบเรา แบบเจี๊ยบ มัจฉา แบบรวง ที่ผิวเข้ม ไม่ได้มีรูปลักษณ์ตามภาพจำของหญิงไทย เวลาออกมาพูด คนก็จะมองว่าอีพวกนี้มันเป็นอะไร
รวง : เค้าจะมองแบบเป็นตัวประหลาด เป็น Weirdo อะไรแบบนี้ ซึ่งเราก็คิดว่า มันเป็นพื้นที่อิสระให้เราประหลาดขึ้นไปมากเรื่อยๆสำหรับเรานะ เราก็มีพื้นที่ที่เราจะค้นหาอะไรใหม่ๆ ที่เราอยากทำ แล้วสังคมไม่กล้าทำ เราก็จะทำมันไปเรื่อยๆ ซึ่งตรงนี้เรามองว่ามันเป็นอิสระมากสำหรับเรา เราชื่นชมความงามของความ Weird แล้วเราก็ไปยืนในจุดที่เป็นเควียร์เฟมินิสต์ แล้วก็ชัดมากสำหรับเราในเวลานี้
สำหรับรวง เฟมินิสต์มันก็ออกมาผ่านเรื่องของการแสดงออกค่อนข้างเยอะ การท้าทายสังคมเรื่องรูปลักษณ์หน้าตาภายนอก ซึ่งมันคือชีวิตประจำวัน แล้วแนวคิดแบบเฟมินิสม์ที่พูดถึงการท้าทายสังคม ความเท่าเทียมทางเพศ รวงใช้กรอบคิดเฟมินิสม์แบบนี้กับงานที่ทำอยู่อย่างไรบ้างในปัจจุบัน
งานของเราตอนนี้เป็นการสื่อสารออนไลน์ เราเห็นว่าเด็กไม่ได้มีพื้นที่ปลอดภัยในการใช้พื้นที่ออนไลน์ แล้วเด็กก็มีความหลากหลายด้วย ถ้าเรามีงานที่ออกไปเป็นสื่ออะนิเมชั่นเป็นการ์ตูนหรือเพลง เราก็จะใส่ตัวละครที่มีความหลากหลายมากขึ้น อย่างเช่น ในเพลง หิ่งห้อยน้อยสำรวจทาบู ก็จะมีเด็กที่มีความพิการ เป็นเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ อะไรแบบนี้ หรือตัวละครพ่อที่เป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยว คือเราจะใส่มันไว้แทนที่จะใส่ภาพเหมารวมแบบพ่อแม่ลูกอะไรแบบนี้ หรือต้นกล้วยที่ไม่มีปลี คือเป็นอะไรที่เหมือนกับไม่มีแม่ คือเราก็จะใส่ไปผ่านสัญลักษณ์บางอย่างที่มันดูแล้วอาจจะไปสะเทือนข้างในอะไรแบบนี้
รวงออกแบบให้มีตอไม้ที่ตายแล้ว เป็นพื้นที่เกิดใหม่ของเห็ดเรืองแสง ในแพลทฟอร์มสำหรับเด็กที่ชื่อว่า หิ่งห้อยน้อยคลับ เพราะรวงเชื่อว่า เด็ก ๆ เรียนรู้ได้จากทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่ความตาย
เราจะใส่พวกความหลากหลายแบบนี้เข้าไปมากขึ้น หรือถ้าดูงานเราแล้วสงสัยว่า รวงทำอะไรวะ ทาบูคืออะไร คนอาจจะจับมันไม่ถูกเลยก็ได้ แต่เรารู้ว่าเราทำอะไรอยู่ เพราะว่าการค้นหาความหลากหลายมันยังมีอยู่ ปัญหาที่มันหลากหลายมันยังมีอยู่ เช่น เราได้รับข้อความจากน้องผู้หญิงคนนึง อายุ 19 ปี อันนี้คือเค้าอนุญาตให้เราพูดได้แล้วนะ คือเค้าเป็นเด็กมุสลิม แล้วเค้าบอกว่าอยากจะไปฝังเข็มยาคุมกำเนิดแต่เค้าถูกแม่ทัดทานเอาไว้ แล้วแม่เค้าก็พูดว่าลูกของแม่ไม่ใช่คนแบบนั้น คือไม่ใช่คนที่จะมีเซ็กส์หรือเป็นเด็กใจแตกอะไรแบบนั้น หรือว่าลูกอยากทำแบบนั้น ลูกอยากฝังเข็มเพราะลูกอยากล่ะ น้องเค้าก็รู้สึกเจ็บปวดใจเนาะ เค้าเนี่ยเป็น LGBT ด้วย เป็นมุสลิมด้วย แล้วเค้าเคยถูกข่มขืนตอนที่เค้าอายุห้าขวบ ซึ่งเราก็เห็นว่าพื้นที่ที่มันเปิดขึ้นเราไม่รู้เลยว่าวันนึงเราจะได้รับข้อความอะไรจากเด็ก แต่เราคิดว่ามันน่าจะไปแตะบางส่วนที่มันทับซ้อนกับการกดทับในสังคม เด็กเค้าได้ปรากฎขึ้นมาจริงๆ
อันนี้น่าจะเป็นจุดที่ว่าเราสนใจที่จะพูดในหลายๆประเด็น แล้ววันนึงเด็กเค้าก็จะมั่นใจที่จะเข้ามา นี่คือสิ่งที่เรารู้สึกว่าเราอยากจะทำ อย่างเช่น ทำไมเราต้องไปม็อบทั้งๆที่ทำงานเกี่ยวกับเด็ก แต่ว่าในม็อบมันก็มีเด็กไง เด็กก็อยากจะรู้ ทำไมเราต้องบอกว่าเด็กต้องรู้แต่เรื่องของเด็ก คือเด็กเค้าก็พร้อมที่จะเติบโต เค้าก็มีสิ่งที่ต้องเรียนรู้อีกมากมาย อย่ามาบอกว่าเด็กรู้ไม่ได้ เหมือนที่อย่าบอกว่า ผู้หญิงทำอะไรไม่ได้ มันเหมือนกันเลยสำหรับเรา
เฟมินิสม์ของเราก็น่าจะเป็น งานที่เราพูดถึงความหลากหลาย การใช้ตัวแทนที่มันก็ไม่ใช่ตัวแทนทั้งหมดที่เราสามารถยกได้แต่มันคือส่วนหนึ่งของความหลากหลายเข้ามาในงาน เรื่องที่คนไม่พูดหรือเรื่องที่คนรู้สึกว่าถูกกดทับ แล้วมันไม่เคยปรากฎอยู่บนพื้นที่ อะไรแบบนี้
แล้วเรื่องประจำเดือนล่ะ เราเห็นรวงทำงานเรื่องประจำเดือนกับผ้าอนามัยเยอะ มันมาจากตรงไหน
จริงๆเรามีคำถามกับเรื่องนี้มานานแล้ว ตั้งแต่เราเป็นเอ็นจีโอ เงินเดือนก็น้อย แล้วเราต้องแบ่งเงินเดือนในแต่ละเดือนเป็นสัดส่วนเพื่อที่จะใช้จ่าย และผ้าอนามัยมันก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราต้องจ่าย แล้วมันใช่มั้ยที่เราต้องจ่าย ทั้งที่มันเป็นเรื่องธรรมชาติของคนของผู้หญิง เราก็เลยเริ่มคิดว่าหรือเราจะไม่ใช้ผ้าอนามัยในระบบทุนนิยม ตอนแรกก็เริ่มจากการไปลองมูนคัพ (ถ้วยอนามัย) ไปศึกษาและลองใช้ มันก็ไม่เวิร์คสำหรับเรานะ แล้วยิ่งไปอยู่อินเดีย มันลำบากในการกำจัดและคุณภาพ เรื่องผ้าอนามัยยังไม่มีการพูดถึงเลยด้วยซ้ำในที่ที่เราไปเรียนตอนนั้น พอพูดแล้วเป็นเรื่องใหญ่มาก มันเลยทำให้เราอยากทำเรื่องนี้ แล้วพอกลับมาที่ไทยก็มีพี่คนนึงเค้าชวนทำผ้าอนามัยซักได้ พอดูข้อมูลแล้วมันก็จะมีกลุ่มผู้หญิงที่อยู่ในเรือนจำ กลุ่มเด็ก กลุ่มคนไร้บ้าน เราก็เลยลองทำเรื่องนี้โดยไม่มีงบอะไรสนับสนุนนะ ก็ทำมาเรื่อยๆ
รวงกับผ้าอนามัยซักได้ที่อยากทำให้เด็กใช้
เรื่องประจำเดือนนี่ก็เป็นเรื่องทาบูและแตะกับหลายประเด็น เรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ ท้องไม่พร้อม เรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เรื่อการดูแลสุขภาพของผู้หญิง มันก็เลยทำให้เราพบว่าเรื่องนี้มันจะเป็นทางเป็นประตูอีกประตูนึงที่มันเปิดไปได้อีกมาก และช่วงหยุดปีใหม่ที่ผ่านมาเราไม่รู้จะทำอะไร ผ้าอนามัยซักได้ก็ยังไม่มีทุน เราเลยถามคนนั้นคนนี้ว่าอยากจะทำอะไรกับกลุ่มคนไร้บ้านมั้ย เพราะเราคิดว่าเราจะไปบริจาคผ้าอนามัยด้วย ก่อนหน้านั้นมีการพูดถึงเรื่องภาษีผ้าอนามัย มันก็มีการรวมกลุ่มกันของเฟมินิสต์ นักการเมืองหญิงมาคุยกัน แต่มันก็เงียบไป
เราเลยไปบ้านของคนไร้บ้าน แล้วก็นำผ้าอนามัยจำนวนนึงไปให้ เค้าใช้กันแค่เดือนเดียวก็หมดและมันเป็นอะไรที่ไม่ยั่งยืน ในแง่ของใช้แล้วทิ้งขยะ เราเลยคิดว่าต้องจริงจังมากขึ้น พอโควิดมาปุ๊บ เห็นเลยว่าชัดมาก
พอเข้าไปในพื้นที่ก็จะรู้ว่าคนที่เค้ามีเมนส์เค้าก็ไม่ได้มีเงินไปซื้อผ้าอนามัย เค้าก็ต้องใช้กระดาษทิชชู่ ใช้ผ้า แล้วมันไม่มีพื้นที่ให้พูด เราไปพื้นที่คลองเตย พื้นที่คนไร้บ้านตรงสนามหลวงรอบๆราชดำเนิน มันเห็นชัดมากว่าเค้าไม่มี
แล้วถ้าเค้าไม่มี วันที่เค้าเมนส์มา เค้าก็ไม่กล้าออกไปรับของแจกนะ เค้าก็จะไม่ได้กินข้าวนะ คือมันเชื่อมไปประเด็นของปากท้อง เรื่องของเศรษฐกิจด้วย แล้วยิ่งเด็กด้วย เค้าก็จะไม่ได้ไปไหนเลย ผู้ใหญ่ที่เป็นผู้หญิงยังมีทางมากกว่า
พอเราประกาศไปในเฟซ ก็มีเด็กที่สนใจอยากจะได้ผ้าอนามัยซักได้ ซึ่งตอนนี้ก็ยังทำไม่เสร็จนะ เพราะเงินก็ไม่มีมากพอ แต่วันนี้ก็ยังมีคนที่บริจาคเข้ามา เราคิดว่ามันก็ยังจำเป็นในช่วงที่มีโควิด เคอร์ฟิว หรือล็อกดาวน์ ถ้ามันยืดระยะไป มันก็จะมีผลมาก และผ้าอนามัยก็เป็นเรื่องของสุขภาพจิตด้วย การถูกกดทับมันชัดมาก เราคิดว่าเราจะทำเรื่องนี้ต่อ ไม่ถึงขั้นที่เรามีอำนาจที่จะไปเปลี่ยนกฎหมายขนาดนั้น แต่เราก็ส่งเสียงไปกับกลุ่มที่เค้าทำว่าให้รัฐบาลช่วยพิจารณาด้วยว่าควรจะมีสวัสดิการนี้ ในขณะเดียวกันเราก็เห็นว่าทั่วโลก จะมีกลุ่มเฟมินิสต์ อย่าง นิวซีแลนด์ ที่เค้าบอกว่าจะทำให้ผ้าอนามัยฟรีในโรงเรียนมันเกิดขึ้น เค้าก็ตั้งเป้าเลยว่ากี่ปี
รวงแจกผ้าอนามัยให้กับผู้หญิงในช่วงโควิด 19 แพร่ระบาด
มันมีโมเม้นนึงที่เราไปในพื้นที่ คือเราไม่ได้อยากไปแจกผ้าอนามัยอย่างเดียว เราอยากคุยกับทุกคน และมันมีการรวมกลุ่มที่เป็นเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุที่ไม่มีเมนส์แล้ว ซึ่งก็มีคนบอกว่าอยากใช้มูนคัพ มันไปไกลมากกว่าผ้าอนามัยซักได้ คือมันทำให้เกิดพื้นที่ปลอดภัย ได้คุยกัน แล้วก็เชื่อมโยงกันหลายเรื่อง เราก็ทึ่งมากว่าพอมันมีพื้นที่ปลอดภัย มีการพูดถึงเรื่องที่ไม่มีใครพูดถึง แต่เค้าอยากรู้หรือเค้าอยากได้อุปกรณ์นี้ แล้วไม่เคยมีข้อมูล มันทำให้เราชัดละว่าเราต้องทำเรื่องนี้ ไม่แน่วันนึงเราอาจจะทำมูนคัพก็ได้ มูนคัพฟรีอะไรแบบนี้ ซึ่งถ้าทำแล้วมันเวิร์ค เราก็แจกไปได้ ใช้ได้เป็นสิบปียี่สิบปี มันยั่งยืนน่ะ
เฟมินิสต้า : ถ้าฟังแบบนี้ การทำงานของรวงมันก็จะมีทั้งบนพื้นที่ออนไลน์ คือเปิดพื้นที่ให้เด็กๆได้เข้าไปเล่าเรื่องหรือแชร์ประสบการณ์ทางเพจหิ่งห้อยน้อย และมีทั้งการทำงานออฟไลน์ คือเข้าไปแจกผ้าอนามัยในพื้นที่ต่างๆ พอเป็นแบบนี้คนก็จะเข้าใจได้ว่า เฟมินิสต์แบบรวงทำงานจริงๆนะ ไม่มีข้อกังขา คนก็เข้าใจว่ารวงเป็นเฟมินิสต์แน่ๆจากงานที่ทำ
รวงคิดยังไงกับกรณีเฟมทวิต หรือเฟมินิสต์รุ่นใหม่ๆที่เค้าเคลื่อนไหวออนไลน์ รวงคิดว่าเค้าเป็นเฟมินิสต์มั้ย ถ้าเค้าไม่ได้ทำงานข้างนอก ไม่ได้ไปทำงานในพื้นที่แบบรวง
เราก็คิดว่าเค้าเป็นเฟมินิสต์นะ เพราะเค้าก็ส่งเสียงเพื่อให้มันมีความเท่าเทียม แม้ว่าจะทำงานบนพื้นที่ไหนก็ตาม
เฟมินิสต้า : แต่ก็จะมีคนบอกว่าพวกนี้ชอบเรียกร้องโอเวอร์ ไม่สุภาพ เกรี้ยวกราด
เราคิดว่าเฟมินิสต์เกี่ยวข้องกับความรู้สึกนะ ถ้าเราถูกกดทับมากๆ เราก็เกรี้ยวกราดได้ คือตอนนี้อีกอย่างนึงก็คือการที่เราเป็นเฟมินิสต์เนี่ย เราก็ยืนยันกับตัวเองว่าเราจะเป็นผู้สนับสนุนให้คนแสดงความรู้สึก เพราะหลังจากที่มันเกรี้ยวกราดหรือแสดงออกไปแล้ว มันก็จะมีการจัดการหลังจากนั้น คือถ้าคนมันไม่เจ็บมันก็ไม่ร้องใช่ปะ คนที่มันเจ็บและมันไม่ร้อง มันประหลาด มันเป็นธรรมชาติมาก เราว่าผู้หญิงพอเจ็บแล้วร้องเนี่ย มันก็จะถูกตัดพวก Toxic Masculine ทิ้งไปน่ะ การที่เจ็บแล้วเข้มแข็งมันไม่ใช่น่ะ
เราคิดว่าถ้าเค้าเรียกร้อง ถ้าเค้ากรีดร้อง เราก็ต้องฟัง เพราะนี่เค้ากำลังจะสื่อสารบางอย่าง แล้วเค้าก็ไม่ปิดบังมันด้วย แต่ว่ามันก็จะมีอีกมุมนึงเนอะ ที่คนทั่วไปที่อยู่ในสังคม Masculine ไม่ชอบ ก็คือเค้าอยากได้อะไรที่สุภาพ นุ่มนวล สื่อสารอย่างสันติ ซึ่งคำว่าสันติมันมีหลายระดับนะ ที่ปราศจากความรุนแรงมันก็มีหลายระดับ
เราคิดว่าการปรากฎอยู่ก็เห็นชัดว่าเค้ามีเรื่องจะพูด และถ้าเราไม่มีอคติ เราก็ฟังมันได้ แล้วเราก็คิดว่าพอมันไม่มีอคติแล้ว มันก็จะสื่อสารกันได้มากขึ้นหรือเราเข้าใจเค้ามากขึ้น
เราไม่สามารถจะไปบอกม็อบว่าเลิกใช้ความรุนแรงเถอะ เพราะว่าเค้าถูกกดมา เค้าอยากแสดงออกน่ะ แต่หลังจากนั้นอีกสักพักเราอาจจะสื่อสารกับเค้าว่า เออ หลังจากนี้เรามาคุยกับเรื่องความรู้สึกมั้ย ให้มันเข้าใจกันมากขึ้น เพราะถ้ามันตะโกนออกไป เสียงมันดังเยอะแล้ว คนฟังก็อาจจะไม่ได้ยินมันชัดอะไรแบบนี้ เรามองในแง่ความรู้สึกนะ
แต่เฟมินิสต์ที่เป็นเฟมทวิต เราก็ถือว่าเป็นเฟมินิสต์นะ แล้วเราก็เห็นเค้าทำงานจริงจังบนพื้นที่ เพราะถ้าจะให้เค้าไปเรียกร้องบนถนนบางทีมันไม่มีพื้นที่ไง พื้นที่ออนไลน์มันจึงเป็นพื้นที่ในการเรียกร้อง เราเองก็ยังใช้พื้นที่ออนไลน์ทำงานเลย เพราะถ้าพูดข้างนอกคนก็เกลียด หมั่นไส้ ขนาดอยู่บนออนไลน์คนยังเกลียดเลย เราก็รู้สึกว่ามันไม่ค่อยแฟร์เหมือนกันที่จะกดกลุ่มที่เค้ามีความเจ็บปวดอยู่แล้วและไม่ให้เค้าแสดงออกน่ะ
เฟมินิสต้า : เชื่อมโยงกับเรื่องการออกไปเคลื่อนไหวประชาธิปไตย ที่รวงก็เพิ่งเข้าร่วมมาด้วย เฟมทวิตบางส่วนก็ไปร่วมด้วย แล้วก็ถูกคุกคามทางเพศในเพจการเมืองทั้งจากฝ่ายประชาธิปไตยด้วยและฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย
ผู้หญิงที่จะไปเข้าร่วมกับขบวนการประชาธิปไตย จะต้องฟันฝ่าอะไรหลายอย่างกว่าจะไปถึงตรงนั้น ทั้งการออกจากบ้านไปร่วมม็อบ พ่อแม่ก็เป็นห่วง พอมาอยู่ในขบวนก็ต้องมาเจอผู้ชายที่ไม่เข้าใจเรื่องเพศอีก เช่นการใส่สายเดี่ยวไปที่ชุมนุม ก็ไปว่าเค้าแต่งตัวไม่เรียบร้อย แล้วก็อาจจะถูกดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่รัฐด้วย
ทีนี้ความเชื่อมโยงเรื่องสิทธิทางเพศของกลุ่มเฟมินิสต์กับประชาธิปไตยมันเกี่ยวข้องกันยังไง ทำไมเราต้องไปร่วมกับขบวนการประชาธิปไตยด้วย
เพราะเราเชื่อในหลักการประชาธิปไตย เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะเปล่งเสียงของตัวเอง การปรากฎตัวของเฟมทวิตก็เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการประชาธิปไตยเหมือนกัน แล้วเค้าก็มีสิทธิที่จะแสดงออกเหมือนที่เรามีสิทธิที่จะโกนหัว เจาะจมูก หรือทำอะไรกับเนื้อตัวร่างกายเราก็ได้ แต่ว่าอคติที่มันเกิดขึ้นจากภาพฝังหัวมันยากเหลือเกินที่จะหยุดมันน่ะ เราคิดว่าเราก็ต้องสนับสนุนเฟมทวิตเหมือนกัน ในแง่ที่ต้องออกมาพูดว่า เค้าเองก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมนี้ ที่ปรารถนาดีที่จะให้ความเท่าเทียมมันปรากฎอยู่ในสังคมเหมือนกัน
เราไม่ได้พูดสวยๆนะ เพราะเราเองก็ไปแสดงธงสีรุ้ง ไปอยู่กับกลุ่มสีรุ้งของเราเหมือนกัน ไปสนับสนุนกลุ่มทำแท้งปลอดภัย มันก็ต้องสนับสนุนซึ่งกันและกันในเวลาแบบนี้ เราคิดว่ามันเป็นปัญหาของคนที่มีอคติ เฟมทวิตเค้าไม่ได้มีปัญหา เราคิดว่ามันเป็นปัญหาของอคติที่ฝังแน่นของคนในสังคมและไม่ยอมเปิดเอง หรือว่าพวกที่อ้างว่าประชาธิปไตยคือคุณจะพูดได้ยังไงว่าตัวเองดีกว่าอีกฝ่าย คุณดีมากพอแล้วหรอ มันไม่เกี่ยวกับการแต่งกายหรือการแสดงออก สำหรับเรานะ เค้าก็ชูป้ายที่เค้ารู้สึกเหมือนกันกับคุณ คุณจะบอกว่าเสียงของคุณสมควรได้รับการได้ยินมากกว่ามันไม่ใช่น่ะ เราก็ต้องฟังกัน
รวงและเพื่อนในม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล
เรื่องสมรสเท่าเทียมเหมือนกันนะ ที่ผ่านมามันก็มีฝ่ายประชาธิปไตยออกมาพูดหลายคนว่า จะมาเรียกร้องการแต่งงานอะไรตอนนี้ ประชาธิปไตยยังไม่มีเลย รวงคิดยังไงกับการมองแบบนี้ ว่าต้องเรียกร้องประชาธิไตยก่อน สิทธิต่างๆจะตามมาเอง
คือเราคิดว่ามันนอนเซ้นส์น่ะ ประชาธิปไตยมันต้องฟังหลายๆเสียงนะ มันไม่ใช่ว่ามันมีเวลา คือถ้าเรารู้สึกเราก็ต้องทำนั่นคือหลักไม่ใช่หรอ ถ้าเพื่อนเดือดร้อน เพื่อนเจ็บ เพื่อนก็ร้องขึ้นมา แล้วมึงจะบอกว่ากูไม่ว่าง กูต้องทำอันนี้ก่อน มันก็ไม่ใช่ปะ มันก็ต้องทำไปพร้อมๆกัน แม้ว่ามันจะยากลำบาก
เราคิดว่าม็อบเนี่ย การไปม็อบหรือการทำร่างกฎหมาย มันก็ทำไปพร้อมๆกันได้ แล้วคนที่ไม่ทำ คนที่ไม่รับฟังปัญหา ทำอะไรในประชาธิปไตย เราก็อยากโยนคำถามไปเหมือนกันว่า นี่เราทำงานเด็ก เราก็ต้องทำสมรสเท่าเทียมเหมือนกัน เราก็ต้องไปม็อบเหมือนกัน กูก็ทำอยู่ คนบางคนอาจจะไม่กล้าไปอยู่ตรงนั้น แต่ว่าพอพูดถึงความจริงว่าสิ่งที่คุณอยากเห็นคืออะไร ถ้าคุณอยากเห็นแล้วคุณไม่ทำ คุณให้คนอื่นทำคุณก็เอาเปรียบ
ช่วงที่ผ่านมามีวาทกรรมจากฝ่ายประชาธิปไตยเยอะ เช่น ประชาธิปไตยมาก่อน สิทธิต่างๆจะมาเอง หรือว่า กลุ่ม LGBT ไม่เรียกร้องประชาธิปไตย เราเลยอยากฟังเสียงของคนที่ทำงานสิทธิเด็ก เรื่องประจำเดือน เรื่องทำแท้ง เรื่องสมรสเท่าเทียม แล้วยังไปม็อบอีก ทำไมต้องทำขนาดนี้อะ ทำไมไม่ทำเรื่องสิทธิเด็กอย่างเดียวล่ะ
เพราะมันเกี่ยวกันหมด มันคือความไม่เท่าเทียมทางเพศ มันชัด ซึ่งบางทีถ้าคุณมีพริวิลเลจมันอาจจะไม่ชัดก็ได้ แต่สำหรับเราเราเคยผ่านการกดทับมา เราก็เชื่อว่าการที่ให้ข้อมูลคน การแสดงออกไป หรือการเปลี่ยนแปลงมันมีความจำเป็น คือไม่ใช่ว่าเราเคลื่อนไหวผ้าอนามัยซักได้หรือสวัสดิการผ้าอนามัยได้ด้วยตัวเองนะ มันต้องเคลื่อนไปพร้อมๆกัน ถ้าเกิดคุณไม่เข้าใจเรื่องการเคลื่อนไปพร้อมๆกัน คุณก็เรียกร้องประชาธิปไตยคนเดียวนะ แล้วมันเป็นประชาธิปไตยหรอ ในสภายังมีหลายคนเลย มีหลายประเด็นที่เค้าตั้งใจ ยังมีเรื่องกฎหมายสุราพื้นบ้าน สิ่งแวดล้อม มีหลายการเปลี่ยนแปลง ก็ฟังเค้าบ้าง เปิดใจบ้าง หรือถ้าไม่อยากฟังก็ต้องทนเพราะว่านี่คือความจริง คนที่เค้าถูกกดเค้าก็ทนมาตั้งนานแล้ว เค้าก็อยากมาปล่อยสิ่งที่เค้าอัดอั้นไว้บ้าง
รวงเข้าร่วมงานไพรเ์ที่เชียงใหม่ ปี 2020
ถ้าอย่างนั้นสำหรับรวง ในช่วงที่เรากำลังเรียกร้องประชาธิปไตยกันอยู่ รวงสนับสนุนสมรสเท่าเทียมด้วยใช่มั้ย แล้วทำไมเราต้องสนับสนุนสมรสเท่าเทียมล่ะ อยู่กันไปเงียบๆก็ได้
ส่วนตัวเราเนี่ยอาจจะไม่ได้อยู่ในระบบที่เราต้องแต่งงาน เราไม่ได้เชื่อมั่นในการสมรส สำหรับเราการสมรสมันคือการควบคุมประชากร แต่มันก็จะมีประชากรจำนวนนึงที่เค้าอยากจะมีลูก เค้าอยากจะมีครอบครัว แล้วครอบครัวของชายชายหญิงหญิง หรือครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือครอบครัวที่มันมีคนมากกว่าหนึ่งคน เค้าก็มีสิทธิมั้ยที่จะได้รับการยกว่ามันเป็นครอบครัวน่ะ ก็คนมันรักกันน่ะ ความรักในคนสองคน หรือว่าความรักในแบบคนที่อยากจะดูแลเด็กมันก็ควรจะมีมั้ย
ซึ่งตรงนั้นมันก็เป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ใช่มั้ย คือถ้าเกิดคุณอยากมีความรัก แล้วคุณได้รับง่ายกว่า แล้วอีกคนนึงมีความรักไม่ได้ แล้วมันแฟร์หรอ แล้วเราก็เป็นพวกที่ต้องใส่ซองไปงานแต่งงานตลอด แล้วเราก็รู้สึกว่าตัวเราไม่ไ่ด้มีงานแต่งงานหรอก ก็ไม่เห็นมีใครมาถามว่าเรารู้สึกยังไง เราก็ยินดีกับคนร้อยคน แล้วมีใครยินดีกับการที่เราเป็น LGBT มั้ย ไม่มีเลย มีแต่อยากเปลี่ยนให้เป็นหญิงแท้ ซึ่งสำหรับเรามันไม่ใช่ คุณแค่มีพรีวิลเลจแล้วก็มองข้ามมันไป สมรสเท่าเทียมก็เลยกลายเป็นแน่นอนว่าเราต้องสนับสนุนอยู่แล้ว
แม้ว่ารวงจะไม่ได้อยากแต่งงาน ไม่ได้เชื่อในเรื่องชีวิตคู่ แต่ก็ยังสนับสนุนอยู่ เพราะอะไรล่ะ?
เพราะเราก็คิดว่ามันสวยงาม และมนุษย์คนนึง หรือคนสองคน สามคน สี่คน ห้าคน หรือพหุรักสมควรที่จะได้รับสิทธิ นี่ยังไม่พูดถึงกลุ่มนอนไบนารี่อีกนะ ที่มันเกี่ยวข้องกับสมรสเท่าเทียม ยังมีกล่องอีกมากมายที่เราต้องแหกมันไป ต้องพังทลายมันไปแล้วเปลี่ยนเป็นอันอื่นที่คนทุกคนรู้สึกและได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียม
คือมันก็มีประเด็นว่ากฎหมายยังไม่ครอบคลุมบางกลุ่มเหมือนกัน และถ้ามีคนบอกว่าไปทำกฎหมายให้ครอบคลุม Polyamory มาก่อนสิ แล้วค่อยมาผลักดัน รวงคิดว่ายังไง
เราคิดว่าก็เหมือนเห็นน้ำบ่อหน้าน่ะ คือเราจะกินน้ำนี้ก่อน คือเราไม่ได้อยากกินน้ำเดียวกันกับคุณน่ะ แล้วคุณจะมาบอกว่าคุณมีเสียงมากพอที่จะกินน้ำบ่อนี้หรอ ในขณะที่เพื่อนเค้าก็มีหลายอย่างที่เค้าอยากจะกิน เราก็คิดว่ามันไม่แฟร์ที่ใช้ความต้องการของตัวเองมาตัดสิน แล้วที่สำคัญสิ่งที่เค้าทำก็ไม่ได้ฟังประชาชนเท่าไหร่ หลากหลายแค่ไหน
สำหรับเรามันอาจจะต้องมีม็อคอัพอันนึง แล้วก็มีเป้าหมายอันนึง แล้วก็มีรายละเอียด มีดราฟต์หนึ่ง ดราฟ์สอง ดราฟต์สาม เหมือนนักเขียนที่มีการอีดิทงาน คือเราก็สามารถอีดิทกฎหมายให้มันดีขึ้นได้ ถ้ากฎหมายตัวไหนที่ออกไปไม่ดี คนเขียนกฎหมายก็ออกมาขอโทษได้เหมือนกัน ซึ่งพอขอโทษมันก็เข้าถึง ซึ่งมันก็ทัชคน เพราะว่ามันเป็นระยะเวลานึง แล้วมันก็เปลี่ยนไปได้ เพราะฉะนั้นมันก็เลยมีความหวังน่ะ แต่ถ้าคิดว่าไม่ได้แล้วล่ะ ไม่ทำ ก็อยู่เหมือนเดิม ก็หมดหวังนะ
อยากให้รวงพูดถึงความเชื่อมโยงของเรื่องสิทธิเด็ก สิทธิความเท่าเทียมทางเพศ เรื่องประชาธิปไตย สามอย่างนี้ที่รวงได้เข้าไปเกี่ยวข้อง มันสัมพันธ์กันยังไง?
เราก็พูดถึงเรื่องทาบูด้วยเนอะว่ามันคืออะไร คือถ้าเกิดเชื่อว่าทุกคนมีเสียงเท่ากัน ทุกคนก็จะถูกยกขึ้นมาในระนาบเดียวกันแล้วก็ฟังกัน ภาษาที่ใช้มันอาจจะไม่เหมือนกัน หรือความต้องการที่จะใช้ไม่เหมือนกัน เพราะแต่ละคนก็อยู่ในจุดที่มีประสบการณ์หรือเบื้องหลังไม่เหมือนกัน แต่เมื่อมันยกมาแล้วน่ะแล้วก็เปิดโอกาสให้ทุกคนได้พูดเท่ากันมันก็คือประชาธิปไตย คือเด็กเป็นประชากรที่อยู่ในโครงสร้างที่ถูกกดไว้ด้วยอำนาจ จากการที่เค้าขาดประสบการณ์ ดังนั้นผู้ใหญ่ที่มันมีอำนาจมาก การสั่งสมอำนาจที่มากกว่า มักจะมองเด็กว่าเป็นคนไม่มีอำนาจ แล้วก็ไม่ได้ใช้หลักของความเท่าเทียมมามองเด็ก แต่มองเด็กด้วยการด้อยอำนาจ การที่จะยกเด็กขึ้นมาเพื่อให้มีอำนาจเท่าๆกันมันก็เลยยาก
แต่ว่าถ้าเป็นเฟมินิสต์เนี่ย เฟมินิสต์ก็ต้องฟังเด็ก ฟังคนที่มีอำนาจน้อยด้วย ฟัง LGBTด้วย คนที่เป็นผู้พิการ กลุ่มที่ทำให้เป็นชายขอบด้วย เพื่อทำให้ระนาบมันเท่ากัน ก็ให้มองว่าเด็กก็คือคน ผู้ใหญ่ก็คือคน LGBT ก็คือคน กลุ่มชาติพันธุ์ก็คือคน ถ้าเรามองทุกคนเท่ากันแล้วมันก็เป็นประชาธิปไตย
รวงได้มีโอกาสไปเป็นวิทยากรในชั้นเรียนของนักศึกษาบางครั้ง
เพื่อพูดเรื่องความสำคัญเรื่องเด็กและสุขภาพจิต
รวงออกแบบกิจกรรมที่ทำให้คนทั่วไปเปิดบทสนทนาที่เกี่ยวกับทาบูผ่านเกมบันไดงู
สุดท้ายแล้ว รวงคิดว่าในสังคมไทย แนวคิดเฟมินิสต์ยังจำเป็นมั้ย?
แน่นอนค่ะ มันจำเป็นมาก เราไม่เท่าเทียมกันตั้งแต่ระบบการปกครองแล้ว หรือระบบโรงเรียน ระบบการศึกษา สวัสดิการ การเมือง ระบบรัฐสภา ผู้หญิงที่ออกมาพูดในรัฐสภาก็ยังถูกมองว่าเป็นตัวตลก ถูกมองว่าเป็นตัวมีปัญหา กลุ่มชาติพันธุ์ก็จะถูกมองว่า มึงเป็นใคร มาพูดได้ไง มาเป็นผู้อาศัย ซึ่งมันใช่หรอ เพราะทุกคนใช้โลกเดียวกัน
แล้วถ้าเฟมินิสต์ไม่เอามาจับ ไม่เอามาทำให้เท่ากัน เราก็จะมีคนที่อยู่ข้างบน อยู่บนยอดแค่กลุ่มนึง แล้วคนทั้งหลายก็ลดหลั่นกันมา มันดีหรอ เราก็แค่อยากถามว่า มันดีหรอ ที่มีคนที่คุณต้องเงยหน้าไปคุย คนที่คุณต้องก้มหน้าไปคุย ทำไมไม่คุยแบบเสมอหน้ากัน ไม่ต้องหนักหัวหนักคอด้วย ก็คุยเท่ากัน หรือแบกเท่าๆกัน มีความสุขเท่าๆกัน เต้นด้วยกันในพื้นที่เท่าๆกัน มันน่าจะมีความสุขมากกว่ามั้ย เราก็ยังเชื่อว่าเฟมินิสม์มันก็จะช่วยได้ เพราะมันไม่เกี่ยวกับว่าคุณจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง คุณจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เราคิดว่าอันนี้มันคือความเท่ากันที่คนสามารถเท่าเทียมกันได้ ทำได้น่ะ อันนี้คือความคิดเรานะ...
ติดตามการทำงานของรวงได้ที่
เว็บไซต์ หิ่งห้อยน้อย : https://www.hinghoynoy.com/
เฟซบุคเพจ : https://www.facebook.com/hinghoynoyclub
อ่านบทสัมภาษณ์เพิ่มเติม http://thethaiact.com/article/read.php?on=10096
Commenti