สำหรับช่วง Feminista Interview หรือบทสัมภาษณ์เฟมินิสต์ โดย เฟมินิสต้า พาไปพูดคุยกับ "หนูนา อัจนา วะจิดี" สาวมุสลิมจากจังหวัดกระบี่ที่เคยไปใช้ชีวิตในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างปัตตานีอยู่หลายปี เธอมีผลงานเกี่ยวกับสิทธิผู้หญิง การต่อต้านความรุนแรงในครอบครัว กิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ ออกมาอยู่เรื่อย ๆ มุมมองของผู้หญิงมุสลิมกับเรื่องเฟมินิสต์ จะเป็นอย่างไรบ้าง ชวนมาทำความรู้จักกันในบทสัมภาษณ์ของเธอชิ้นนี้ค่ะ
หนูนาเคยได้ยินคำว่าเฟมินิสต์มั้ยคะ หรือรู้จักคำนี้จากไหนบ้าง
ได้ยินคำนี้มานานแล้วนะคะ แต่ก่อน รู้สึกว่า คนทั่วไปมักรู้สึกกับคำว่า “เฟมินิสต์” ว่าคือ คนที่สุดโต่งหรือหัวรุนแรงประมาณนึง แบบว่า อยู่ดี ๆ ไม่ได้หรอ ต้องลุกขึ้นมาเรียกร้อง สังคมมันก็โอเคอยู่แล้วนะ ทำไมต้องบอกว่าฉันไม่ยอม พอเราโตขึ้นแล้วได้มองย้อนกลับไป ก็ คิดอยู่เหมือนกันว่า เราอาจเป็นเฟมินิสต์ตั้งแต่เด็ก ๆ เลยก็ได้มั้ง โดยเฉพาะเวลาเจออะไรบางอย่างแล้วตั้งคำถามว่าทำไม หรือรู้สึกว่ามันไม่แฟร์
เราเกิดห่างจากพี่ชายที่คลอดก่อนเราเกือบยี่สิบปี หนูนาเป็นลูกคนสุดท้องที่คนในครอบครัวเป็นผู้ใหญ่หมดแล้วกว่าเราจะคลอด อารมณ์ประมาณว่าอายุของพี่ ๆ สามารถเป็นพ่อแม่เราได้เลย ที่บ้านเป็นครอบครัวใหญ่ที่มีครอบครัวของพี่ชายอาศัยในชายคาเดียวกัน เราเห็นภาพพี่สะใภ้ที่ต้องเตรียมอาหารให้พี่ชายทาน ถ้าไม่ได้ทานข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากันแล้วเราเข้าไปในครัวก่อน พี่สะใภ้ก็มักจะบอกว่า ให้เราทานให้ดี ๆ นะ เค้าจะได้ไม่ต้องเหนื่อยจัดสำรับใหม่ให้ดูงามตาไว้ให้สามีเขาอีก เราก็โอเค ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าวันไหน พี่ชายเราได้เข้าไปทานก่อนคือ เอ้า... ทำไมไม่เหลืออะไรอร่อย ๆ ไว้เผื่อเราแล้ว หรือแบบอ้าว... ทำไมมันเละเทะอย่างนี้ เราก็ตั้งคำถามในใจว่าทำไม ผู้ชายต้องมีสิทธิพิเศษอะไรตรงนั้นด้วยนะ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ได้ทำให้พี่ชายกับเราเกลียดกันหรอกนะ เหมือนเป็นคำถามในใจเฉย ๆ
หรืออย่างตอนที่เราย้ายกลับมาอยู่กระบี่แล้ว ซึ่งเป็นตอนหลานชายของเราอยู่ประถมปลาย ตอนนั่งทานอาหารอยู่ แล้วหลายชายเดินเข้ามา พี่สาวก็มักจะบอกให้เราซึ่งทานข้าวอยู่ไปตักข้าวให้หลาน เราก็เป็นงงว่าทำไมถึงตักเองไม่ได้ล่ะ ไม่ใช่เด็กอนุบาลที่เอื้อมมือไปตักข้าวไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่หลานเค้าก็บอกว่า เดี๋ยวเค้าตักเองได้ ไม่เป็นไร ถ้าเป็นตอนกับพี่ชายเรา ตอนนั้นยังเป็นแค่คำถามในใจ แต่พอเป็นหลาน เรารู้สึกไม่โอเคที่ผู้หญิงเองก็มีส่วนในการสนับสนุนความไม่เท่าเทียม และเราก็เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ มันสามารถซึมซับจนเกิดความเคยชินว่าผู้หญิงต้องมีหน้าที่ในครัว ต้องทรีตผู้ชาย แล้วก็เป็นผู้หญิงเองนั่นแหละ ที่เหนื่อยเอง ทั้ง ๆ ที่ เราช่วยกันคนละไม้คนละมือได้นะ แต่มันก็พูดยาก กระทั่งในสเกลของครอบครัวด้วยแล้ว ไม่รู้จะอธิบายยังไง เพราะที่บ้านอาจจะบอกว่า แค่เธอตักข้าวให้หลานมันก็จบแล้วไหม ทำไมต้องเรื่องใหญ่ ทำไมต้องโยงใยอนาคต ส่วนตัว เราแค่รู้สึกว่า สิ่งที่เป็นความเคยชินเล็ก ๆ เหล่านี้ ส่งผลต่อการพัฒนาไปเป็นพฤติกรรมในคนรุ่นต่อ ๆ ไปด้วย
คิดว่าการไม่ได้ทำ หรือไม่ได้เป็นในสิ่งที่สังคมคาดหวัง หรือต่างจากผู้หญิงมุสลิมคนอื่น ส่งผลยังไงกับชีวิตเราบ้าง
สิ่งที่ลำบากใจคือ เรามักถูกตัดสินจากทางสายตาจากการมองผ่านเราแค่แว่บเดียว รู้สึกได้เลยว่า สายตาที่หลายคนมองมายังเรามีคำถามในนั้น แล้วไม่ใช่การมองอย่างชื่นชมด้วย
อย่างสมัยเรียนมหาวิทยาลัย หนูนาเข้าเรียนมหาวิทยาลัยปี 49 ซึ่งเพื่อน ๆ ส่วนใหญ่ก็มาจากคนในพื้นที่ คนต่างพื้นที่ที่มาเรียนก็น้อยลง จากเหตุการณ์ความไม่สงบ นอกจากนี้ เรามักเป็นคนส่วนน้อยจากบรรดาเพื่อน ๆ โดยเฉพาะผู้หญิงมุสลิมที่กล้ายกมือถามในคลาส หรือไม่เห็นด้วยกับรุ่นพี่ในสาขาวิชา ชอบแสดงความคิดเห็นพร้อมลงรายละเอียดที่เป็นเหตุเป็นผล สมัยก่อน ใครที่ทำตัวมั่นมาก ๆ ก็จะมีฉายาว่า “แรง” แน่นอนว่าเราได้ฉายานั้น เราเข้าใจแหละว่า เพื่อน ๆ หลายคนซึ่งจบมัธยมจากโรงเรียนสอนศาสนา อาจไม่ชินกับการยกมือตั้งคำถาม ขณะที่สำหรับเรามันเป็นเรื่องปกติ และไม่ได้ผิดหลักการทางศาสนาตรงไหน คนอื่นก็มักจะมองว่าเราไม่สำรวม หรือมองมาแบบ เอาอีกละ หนูนายกมืออีกละ ท้าทายอีกละ อะไรอย่างนี้เป็นต้น
หลายคนมองว่า ผู้หญิงในสามจังหวัดถูกกดขี่ ถูกห้ามไม่ให้ทำอะไรนอกกรอบ ต้องคลุมผมเสมอ ในฐานะที่เป็นผู้หญิงมุสลิมที่เกิดและโตที่กระบี่ รู้สึกยังไงกับคำกล่าวนี้ เพราะผู้หญิงมุสลิมหลายคนในกระบี่เองก็ไม่ได้คลุมผม
ส่วนตัวเรานับถือคนที่แต่งกายมิดชิด สวมฮิญาบด้วยศรัทธาและทางเลือกจากใจของเค้าเองนะคะ ความเข้มข้นตรงนี้ ไม่แน่ใจเหมือนกันว่ามาจากการได้รับการศึกษาในเรื่องศาสนามาตั้งแต่เด็ก หรือมีส่วนจากความเข้มข้นของวัฒนธรรมในพื้นที่ด้วยไหม เพราะเคยเจอเหมือนกันที่เพื่อนมุสลิมที่ไม่ได้คลุมผมในสามจังหวัด จะถูกตั้งคำถามด้วยความกดดัน หรือถูกขับออกจากกลุ่มกลาย ๆ และในฐานะคนกระบี่ ก็เคยเจอเด็กจากสามจังหวัดที่สะบัดผ้าคลุมทิ้งเมื่อออกนอกพื้นที่ ทั้งที่หลายคนมาจากครอบครัวที่เข้มข้นและเข้มงวดเรื่องศาสนามาก ๆ ด้วยซ้ำ หนูนาเองเริ่มสวมฮิญาบตอนเข้าม.1 และเรียนโรงเรียนสามัญที่มีทั้งชายหญิง จะว่าไปสมัยเด็ก ๆ ใจก็ยังไม่ค่อยพร้อมเท่าไหร่หรอกนะ แต่พอได้สวมฮิญาบจนติดเป็นนิสัย ก็รู้สึกว่าดีจัง ที่ได้เริ่มสวมตั้งแต่ตอนนั้น
สำหรับเราเอง การสวมหรือไม่สวมฮิญาบควรเป็น choice ที่ปัจเจกควรได้เลือกด้วยตนเอง และฮิญาบไม่ใช่ทั้งหมดที่บ่งบอกได้ว่าใครเคร่งหรือไม่ มันเป็นสายสัมพันธ์ที่เรายึดโยงกับพระเจ้ามากกว่า เราเองก็ไม่มีสิทธิไปตัดสินว่า คนที่ไม่สวมฮิญาบคือคนนอกรีตด้วยเช่นกัน ถ้าผู้ชายจะหาว่า ผู้หญิงที่ไม่สวมฮิญาบคือความโป๊ ศาสนาเองก็สอนไม่ใช่หรือว่า ให้ผู้ชายลดสายตาลงต่ำหรือหันมองไปทางอื่นเสีย
เราเองก็ขอบคุณพื้นที่ปัตตานีที่ทำให้เราได้อยู่ในบริบทสังคมมุสลิมด้วย ต่อให้ถูกมองว่าผู้หญิงแก่นหรือขวางโลกอยู่บ่อยครั้งก็เถอะ ความอยู่นานของเราทำให้หลายปีถัดมา เราเห็นผู้หญิงที่กล้าแสดงออก กล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น จะอยู่ในทางที่ถูกที่ควรหรือไม่นั้น ถือเป็นการสั่งสมประสบการณ์และเป็นสิ่งที่แต่ละคนได้เรียนรู้นะ หนูนามองว่าโดยรวมก็ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี 3-5 ปี ก่อนย้ายกลับมากระบี่ หนูนาได้ทำงานกับผู้ชายหลายคนที่มีทัศนคติเปิดกว้าง ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้หญิงมากขึ้น และยอมรับให้ผู้หญิงเป็นผู้นำได้จากความสามารถของพวกเธอด้วย
การที่เราเป็นผู้หญิงโสด ยังไม่แต่งงาน ดูแลตัวเองได้ และเก็บเงินสร้างบ้านได้ ฟีดแบคของคนรอบตัวเป็นยังไงบ้างคะ
คนส่วนใหญ่ชื่นชมและให้กำลังใจนะ แต่กับที่บ้านนี่ คนละแบบไปเลย จริง ๆ การสร้างบ้านไม่เหนื่อยเท่าการต่อสู้กับความคิดของที่บ้านนะคะ คือ เราแพลนเรื่องการสร้างสเปซของตัวเองมานานแล้ว แต่ก็คิดว่า รอสักอายุสามสิบค่อยเริ่มละกัน แต่พอย้ายกลับมาอยู่บ้านแล้วเราทำงานของเราไม่ได้เลย ไม่มีสมาธิ เพราะที่บ้านเป็นโรงเรียนสอนศาสนาแบบดั้งเดิมที่มีเด็กมาอยู่ประจำ มีคนมารับเด็กปอเนาะไปทำพิธีทางศาสนาบ่อย ทั้งเวลาคนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ขึ้นบ้านใหม่ ซึ่งตรงนี้เข้าใจแหละว่ามันกำหนดเวลาไม่ได้ ทำให้มีคนมาที่บ้านตลอดเหมือนเซเว่นอีเลฟเว่น จะแปลงานก็ไม่มีความต่อเนื่องของสมาธิ จะสอนพิเศษเดี๋ยวก็มีคนเข้าออกอยู่ตลอดเวลา ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เลยทำให้ตัดสินใจสร้างพื้นที่ของตัวเองไว้อยู่เองและไว้ต่อยอดเพื่ออนาคตด้วยเลยละกัน เพื่อสุขภาพจิตที่ดีและความก้าวหน้าในการงานด้วย
สมาชิกในครอบครัวโดยเฉพาะคุณแม่ ไม่เห็นด้วยกับการสร้างบ้านของเรา แม่เราอายุมากแล้ว เป็นคนในยุคเบบี้บูมเมอร์ เกิดมาแกก็คงยังไม่เคยเห็นผู้หญิงโสดคนไหน จู่ ๆ จะลุกขึ้นมาสร้างบ้านเอง คุมงานเอง ทั้งที่ยังไม่ได้ออกเรือนเป็นฝั่งเป็นฝา เราเจอทั้งเรื่องแรงกดดันจากคนรอบข้างเรื่องการแต่งงาน ถูกตั้งคำถามทั้งทางตรงและทางอ้อมถึงความสามารถของผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งว่าจะทำบ้านได้จริง ๆ หรือ จะจัดการกับปัญหานานาสารพันที่ต้องเจอกับผู้รับเหมาและงานสร้างบ้านที่ละเอียดยิบย่อยได้หรือเปล่า ถ้าทำเสร็จขึ้นมาจริง ๆ จะอยู่คนเดียวได้อย่างที่พูดหรือเปล่า เหมือนเป็นสงครามร้อนและเย็นที่ต้องเผชิญในบ้านด้วย บางทีก็มีบรรดาเพื่อนบ้านผู้หวังดีที่คอยมาสุมไฟ ด้วยการบอกว่า ไม่มีผัวริจะสร้างบ้านบ้างล่ะ สร้างบ้านเสร็จให้ติดป้ายหน้าบ้านด้วยว่ายังโสดบ้างล่ะ เอาจริง ๆ เลยคือ เราไม่ได้เข็มแข็งมากนะ แต่ไม่มีทางเลือก ต้องเข้มแข็งเสมอ เจอเรื่องเครียดอะไรก็แก้เองเป็นส่วนใหญ่ ไม่กล้าเล่าใครโดยเฉพาะคนในบ้าน เพราะไม่อยากถูกซ้ำเติม ระหว่างสร้างบ้านก็จิตตกบ่อยมาก น้ำตาเท่ามหาสมุทร แต่เลือกลงไพ่แล้วก็ต้องสู้ให้สุดใจ แค่นั้นเลย
นอกจากเรื่อง generation gap แล้ว เรายังถือเป็นลูกสาวคนสุดท้องที่ไปโตไกลบ้าน แม่ไม่เคยเห็นศักยภาพของเราเลยขณะที่คนปัตตานีเห็น เค้าเองคงรู้สึกว่าการทำบ้าน มันต้องมาคู่กับการแต่งงาน มีครอบครัวก่อน ค่อยสร้างบ้าน อะไรอย่างนี้ แต่ในความรู้สึกของเรา คิดว่าทำไมเราจะมีบ้านไม่ได้ ถึงเราจะยังไม่มีครอบครัว ถ้าวันหนึ่งบ้านเราเสร็จ เราได้เจอคนที่มีแนวคิดคล้าย ๆ กัน หรือเค้าสามารถซัพพอร์ตในส่วนที่เราทำไม่ได้ มันช่วยเหลือกันและกันได้ มันก็โอเค เราไม่ได้มองความเป็นสามีภรรยาในมิติที่ว่า สามีต้องเป็นหัวหน้าครอบครัว ต้องออกไปทำงานข้างนอก ผู้หญิงต้องอยู่ที่บ้าน เราไม่ได้มองแบบนั้น เรารู้สึกว่า สามีกับภรรยาคืออาภรณ์ของกันและกันตามตัวบทอัลกุรอ่าน แล้วเราก็รู้สึกว่ามันควรสนับสนุนซึ่งกันและกัน ท่านศาสดาแต่งงานกับท่านหญิงคอดียะห์ครั้งแรก ท่านหญิงก็มีฐานะดีกว่า ท่านศาสดาก็ช่วยซัพพอร์ตในเรื่องการนำคาราวานสินค้าให้ ในอีกด้านของสังคมอาหรับสมัยนั้นที่ทารกเพศหญิงถูกฝังถูกเผาทั้งเป็น ผู้หญิงที่เป็นเชลยสงครามถูกข่มขืน ท่านศาสดาก็ต่อสู้เพื่อสิทธิผู้หญิงมามากด้วยเหมือนกัน ซึ่งถ้าเป็นงี้ Can we Say Muhammad is a feminist?
ภาพบ้านที่หนูนาคุมการก่อสร้างด้วยตัวเอง พร้อมตั้งชื่อว่า In Between ที่บ้านเกิด จังหวัดกระบี่
ทราบว่าหนูนาทำแคมเปญเกี่ยวกับความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กด้วย มีอะไรน่าสนใจอยากเล่าให้พวกเราฟังบ้าง
เราทำแคมเปญต้านความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดกับผู้หญิงและเด็กในหัวข้อ Break the silence ที่สนใจประเด็นนี้เพราะเสียงของผู้หญิงในสังคมมันไม่ถูกได้ยิน ทางทีมดูแลโครงการใหญ่ วางจุดประสงค์ไว้ถึงขั้นที่ผู้หญิงจะกล้าลุกขึ้นมาพูดถึงประสบการณ์ที่เค้าไม่โอเค พร้อม #BreaktheSilence คล้าย ๆ #metoo อะไรอย่างนั้น แต่ลึก ๆ เรามองไว้แค่ให้งานของเราเป็นสื่อกลางในการเปิดพื้นที่ให้คนกล้าออกมาพูดถึงความรุนแรงเหล่านี้แค่นั้นเลย
แคมเปญที่ทำเป็นวิดีโอซีรีส์ 5 ตอนที่พูดถึงรูปแบบความรุนแรง 5 รูปแบบที่ผู้หญิงและเด็กในพื้นที่ชายแดนใต้มักพบเจอ เช่น การแต่งงานเด็ก การทำร้ายร่างกาย การแต่งงานใหม่ซ้ำซ้อนของหญิงหม้ายในสถานะที่ถูกมองว่าไร้ค่า ลูกสาวที่ขาดสิทธิและเสียงในครอบครัว โดยทั้ง 4 ตอนนี้ มีงานวิจัยรองรับหมด ยกเว้นตอนสุดท้ายที่เราอยากหยิบยกถึงสิ่งที่ผู้หญิงโสดหลายคนต้องเผชิญ ในแง่ของการถูกตั้งคำถามเรื่องการสละโสด ประเด็นนี้ เราว่ามันน่าสนุกดีที่จะหยิบมาเป็นประเด็นพูดคุย เพราะคนตั้งคำถามและสร้างความรุนแรงทางวาจาหลายคน ไม่รู้สึกว่ามันคือความรุนแรง (ชิ้นสุดท้ายยอดแชร์เยอะมาก ๆ คงโดนใจใครหลายคน)
ตอนปล่อยวิดีโอแต่ละตอนออกมา มันยิ่งประจักษ์ชัดเลยว่า ทำไมผู้หญิงถึงไม่กล้าทำลายความเงียบ ไม่กล้าพูดออกมา มีคอมเมนต์หลากหลาย เช่น เรื่องการแต่งงานเด็กซึ่งมีปัญหามากในพื้นที่สามจังหวัด ก็จะมีคอมเมนต์ในเชิงว่า ศาสดาแต่งกับท่านหญิงอาอีชะ ตอนเธอแค่เก้าขวบ แต่เดี๋ยวค่ะ ไปดูบริบทในยุคนั้นก่อนไหม ในยุคนั้นที่คนทำสงครามกัน ผู้หญิงหลายคนก็ไร้ที่พึ่ง ขาดเสาหลักในครอบครัว ตัวบทของศาสนาเน้นย้ำเสมอเรื่องที่ให้เราพินิจพิจารณา จะเอาบริบทสมัยก่อนมาเป็นข้ออ้างเพื่อให้แต่งงานกับเด็กในยุคนี้ มันก็ไม่ใช่ การทำตามหลักการหรือแบบอย่างของศาสดา ก็ต้องควบคู่ไปกับบริบททางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมด้วย
ภาพจากหนึ่งในคลิปวีดีโอแคมเปญ Break the Silence ที่หนูนามีส่วมร่วมในโครงการ
ดูวิดีโอได้ที่นี่ -->https://web.facebook.com/yindeeduaykan/videos/533380767184854/
นอกจากนี้ การที่ผู้หญิงลุกขึ้นมาเล่าเรื่องความรุนแรง ก็มีหลายเสียงที่บอกว่าไม่เห็นด้วย เพราะผู้หญิงจะมาพูดเรื่องไม่ดีของสามีไม่ได้ แบบนั้นไม่ให้เกียรติสามีนะ ผู้หญิงต้องตออัต (เชื่อฟัง) สามีนะ บางคนก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องจริง ถึงกับไปถามนักแสดงว่าเป็นเรื่องจริงของเค้าหรือเปล่า เรื่องตอนหนึ่ง พูดถึงการที่ผู้หญิงไปปรึกษาแม่ แม่ของเธอก็แนะนำว่า ผู้หญิงที่ทำตามที่สามีต้องการจะได้ขึ้นสวรรค์ แต่ตัวละครมีความคลางแคลงและตั้งคำถามเรื่องการเชื่อฟังตรงนี้ ก็มีคอมเมนต์ว่า เพจนี้เป็นของมุสลิมหรือเปล่า ทำไมไปตั้งคำถามต่อคำสั่งใช้ของพระเจ้า คนทำเพจนี้ตกศาสนาแล้วนะ หรือไปโดนล้างสมองมาแล้วใช่ไหม
ส่วนตัวเราแฮปปี้กับการมอนิเตอร์มาก เพราะหลังจากคอมเมนต์แง่ลบเหล่านั้น จะมีคอมเมนต์ในอีกแง่มาตั้งคำถามตอบกลับไป เช่น เพราะผู้หญิงในพื้นที่ไม่อาจพูดถึงความรุนแรงที่ตนพบเจอ คนที่ทำความรุนแรงต่อผู้หญิงจึงรอดมาได้เสมอ ดังเช่นกรณีของอาจารย์สอนภาษากับลูกศิษย์สาวที่เป็นข่าวครึกโครมช่วงนึง ซึ่งเราก็เปิดพื้นที่ให้คนแสดงความเห็นถกเถียงกันเอง เพราะคือสื่อกลางที่ทำให้ประเด็นได้ break the silence แล้ว
จริง ๆ มีตัวบทของอัลกุรอ่าน และวัตรปฏิบัติของศาสดาอย่างอย่างที่สามารถหยิบยกขึ้นมาเพื่อปกป้องสิทธิของผู้หญิงได้ แสดงถึงความเท่าเทียม รวมถึงการช่วยเหลือพึ่งพิงกันและกันในครอบครัวได้มากมาย แต่เมื่อผู้รู้ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย เรามองว่าก็มีส่วนที่ทำให้หลายอย่างไม่ถูกหยิบยกขึ้นมา
อีกประเด็นที่เราสนใจ คือประเด็นของการอบรมก่อนแต่งงานในพื้นที่ หลายคนที่ไปเป็นอบรมเล่าให้เราฟังว่า ผู้อบรมมักเน้นย้ำเรื่องการที่ภรรยาต้องเชื่อฟังสามี ไปจนถึงเรื่องตลกในมุ้ง เราเห็นด้วยว่า การแต่งงานคือสิ่งที่ศาสนาสนับสนุน แต่พร้อมกันนั้น เราอยากให้เกิดการตระหนักว่า การแต่งงานมันไม่ได้โรแมนติกไปเสียทั้งหมด และไม่เห็นด้วยที่มันถูกโรแมนติไซส์ให้เห็นแต่ความสวยงาม ต่อให้เธอถูกสามีชกหรือถูกซ้อมจนหน้าแหก แล้วบอกให้เธอต้องอดทนเพื่อโลกหน้าที่มีสรวงสวรรค์หรือ
ในการอบรมควรบอกด้วยว่า สิ่งใดบ้างที่สามีไม่ควรทำต่อภรรยา ไม่ใช่บอกแค่ว่าหน้าที่ของภรรยาต่อสามีคืออะไรแล้วทำให้ผู้ชายถูกเทิดทูนขึ้นไปอีก บอกให้ผู้หญิงรู้ด้วยว่า ถ้าเธอเจอความรุนแรงในครอบครัว เธอจะหันหน้าไปพึ่งใครได้บ้าง เธอสามารถปรึกษาคณะกรรมการศาสนาได้ หรือปรึกษาศูนย์ให้คำปรึกษาสตรีที่จังหวัดนราธิวาสได้โดยไม่ต้องขออนุญาตสามี เป็นต้น มันเป็นสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายของเธอ ต้องตระหนักรู้ว่าสิทธิของตัวเองคืออะไร
หนูนาว่าผู้หญิงมุสลิมควรจะรู้อะไรอีกบ้างนอกจากการแต่งงาน สิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายตัวเอง
จริง ๆ ไม่ใช่แค่ผู้หญิงมุสลิม คิดว่าผู้หญิงทุกคนโดยทั่วไปเลย ต้องเห็นคุณค่าในตัวเอง ถ้าเห็นคุณค่าในตัวเองมากพอ เราก็ไม่จำเป็นจะต้องคิดว่าเมื่อไหร่เนื้อคู่ของเราจะเดินทางมา และต่อให้มีคนที่จะคู่กันได้หรือไม่เจอใครคนนั้น คุณค่าของเราก็ไม่ได้ลดลงไปไหน เป็นโสดก็มีคุณค่าในตัวเองได้ คุณค่าของผู้หญิงไม่ควรที่จะต้องเป็นแม่หรือต้องเป็นเมีย เป็นผู้หญิงก็คือเป็นผู้หญิง เรารู้สึกขอบคุณพระเจ้าที่ทำให้เรายังโสด เพราะถ้าไม่โสดจนถึงตอนนี้ คงไม่ได้ทำโปรเจคดี ๆ ในชีวิตเยอะมากขนาดนี้ ทั้งเกี่ยวกับเยาวชน การศึกษา วรรณกรรม รวมไปถึงโปรเจคเพื่อเด็กและผู้หญิง เพราะถ้าเราได้เป็นแม่หรือภรรยาแล้ว ก็จะกลายเป็นเราในอีกโหมดนึงเลย เราเชื่อว่า มันมีฮิกมะห์ (วิทยปัญญา) บางอย่างในความโสดอย่างมีคุณภาพของเราด้วยเช่นกัน
และถ้าผู้หญิงเห็นคุณค่าในตัวเอง เกิดผู้ชายไปมีคนอื่นหรือมีภรรยาอีกคน ซึ่งส่วนตัวเราไม่ได้แอนตี้นะคะ แต่เรารู้สึกว่ามันยากมากที่จะทำให้เท่าเทียม มันไม่ใช่แค่ว่าศาสนาอนุญาตให้มีหลายคนได้ แต่มันมีเงื่อนไขว่าต้องทำให้เท่าเทียมด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้าผู้หญิงเห็นคุณค่าในตัวเองมากพอ ไม่ต้องไปตามราวีรังควาญ แล้วถ้ารู้สึกว่ามันเกินเลยแล้ว มาคุยกันได้ไหม ถ้าจะอยู่กับฉันพร้อมกับเค้า เธอทำให้เท่าเทียมได้ไหม ถ้าทำไม่ได้ ก็เป็นบาปของเธอ ถ้าฉันรับได้ฉันก็อยู่ของฉันไป แต่ถ้ายอมรับไม่ได้แล้ว เราจะเลิกกันดีไหม เธอหย่ากับฉันเลยดีไหม ฉันก็อาจจะเป็นม่าย มันก็ไม่ได้ดีกับฉันหรอก แต่มันก็ดีกว่าอยู่แบบนั้น เพราะเรารู้สึกว่า ผู้หญิงต้องดูแลตัวเองให้ได้ และมีอิสระในชีวิตของตัวเองได้มากพอ เพราะเราไม่สามารถพูดได้เลยว่าต่อให้เราแต่งงานแล้วเราจะสามารถอยู่กับคน ๆ เดียวไปตลอดชีวิต ไม่รู้ว่าเราจะต้องเลิกรากับเค้าเมื่อไหร่ เลิกกันแล้วเราดูแลตัวเองได้หรือเปล่า ดูแลลูกได้หรือเปล่า ถ้าเราเลิกแล้วเราอาจจะต้องดูแลลูกเองคนเดียวรึเปล่า ต่อให้ศาสนาบอกว่า สามีต้องส่งลูกภรรยาต่อไปอีกกี่เดือน แต่ร้อยเปอร์เซ็นต์ของงานวิจัยที่ทำในสามจังหวัด หลังผู้หญิงหย่าร้าง ผู้ชายไม่จ่ายค่าเลี้ยงดูหลังจากนั้นค่ะ ดังนั้น ถ้าจะยกเรื่องข้อกำหนดในศาสนามา ก็ต้องยกมาทั้งหมดและบังคับใช้ทั้งหมด
หนูนากับเด็กๆที่เธอทำงานสอนในรูปแบบต่างๆ ทั้งภาษาอังกฤษและศิลปะ
แล้วหนูนาคิดว่า แนวคิดเรื่องความเป็นธรรมทางเพศ มันไปด้วยกันได้กับเรื่องของศาสนาไหมคะ
ส่วนตัว เราเองก็ยังแอบรู้สึกว่าผู้หญิงกับผู้ชาย ไม่ได้เท่าเทียมกันหมดจด แล้วก็ไม่แน่ใจด้วยว่าความเท่าเทียมทางเพศจะไปด้วยกันกับศาสนาได้รึเปล่า แต่ถ้าความเป็นธรรมทางเพศเราว่าไปด้วยกันได้นะ เพราะเราเชื่อว่า หลายบัญญัติมันมีการปกป้องผู้หญิง แม้ว่าเราจะไม่ได้มีความสามารถในการตีความตัวบทศาสนามากขนาดนั้นก็ตามที หรือต่อให้มีความสามารถ เราก็ยังเห็นผู้รู้หลายท่านตีความออกมาไม่เหมือนกันอยู่ดี เราเลยพยายามใช้เรื่องของมนุษยธรรมและความเมตตาเป็นหลัก ท่านศาสดาเองก็ปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเมตตา ทุกตัวบทอัลกุรอ่านก็เริ่มด้วยความเมตตากรุณาของพระเจ้า แค่นั้นเลย
เราสนใจประเด็น LGBTQ นะ เท่าที่ศึกษามา ศาสนายอมรับแค่ชายและหญิง และอิสลามอาจไม่มีความเท่าเทียมต่อ LGBTQ นะ แต่ขณะเดียวกัน เราก็ต้องให้ความเป็นธรรมต่อเค้าไหม ไม่ใช่เรากีดกันเค้าออกไปหรือกดเค้าด้วยคำพูดประหนึ่งว่าเค้าไม่ใช่มนุษย์ หรือบังคับให้เค้าแต่งงาน หรือพยายามจะรักษาเค้าให้หายจากการเป็น LGBT ด้วยวิธีการใดๆก็แล้วแต่ ในทางกลับกัน หากเค้าเปลี่ยนรสนิยมไม่ได้ แล้วพยายามทำส่วนที่เหลือในชีวิตให้เป็นไปตามครรลองของศาสนามากที่สุดเท่าที่เค้าจะทำได้ล่ะ มันก็ดีต่อเค้ามั้ยและดีต่อเราด้วย แล้วถึงวันตัดสินพิพากษาก็เป็นหน้าที่ของพระเจ้าไม่ใช่หรอ บางทีการที่เราไปอธรรมต่อเค้าด้วยวิธีการใด ๆ ก็ตามแต่ เรามีความผิดบาปกว่าเค้าอีกไหมนะ
เราแอบรู้สึกเห็นด้วยกับเรื่องการสมรสเท่าเทียม มันน่าสนใจตรงที่สามารถแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียม หรือสิทธิหลายๆอย่างที่คู่สมรสเจอ เช่น เรื่องเราอยู่กินด้วยกันมากับคู่ชีวิตของเรา แล้วอยู่มาวันนึง เราเซ็นอะไรรับรองไม่ได้เลย ทั้งๆที่คนๆนี้กำลังจะตายไปต่อหน้าแล้ว และเผลอๆคู่ชีวิตของเราถูกตัดขาดจากครอบครัวของเค้าอีก หรือคบกันมาสั่งสมสมบัติกันมา โดนฮุบไปหมด ซึ่งเรารู้สึกว่าอันนี้ไม่แฟร์
เราไม่เห็นด้วยเมื่อทราบว่าเพื่อนหรือรุ่นพี่ผู้ชายที่เรารู้จักและทราบว่าเขาเป็นกะเทยหรือ LGBT ต้องไปแต่งงานกับผู้หญิงเพื่อให้ครอบครัวยอมรับ เพื่อให้ครอบครัวสบายใจ เพราะเรารู้สึกว่ามันเป็นการสร้างวงจรของความรุนแรงในครอบครัว ผู้หญิงที่สามีไม่มีอารมณ์ที่จะมีเพศสัมพันธ์ด้วย หรือมีด้วยแค่เพราะให้เธอมีลูกมีหลานให้พ่อแม่สบายใจ มันก็ไม่แฮปปี้ทั้งสองฝ่ายไหม เรายังคิดด้วยซ้ำไปว่า ถ้าพระเจ้ากำหนดให้ใครคนใดคนหนึ่งเป็น LGBTQ และขณะเดียวกันพระเจ้าไม่ยอมรับ มันคือบททดสอบที่ยิ่งใหญ่สำหรับคน ๆ นึงเลยนะคะ
เอาจริง ๆ ก็ไม่รู้หรอกนะคะว่า ความคิดของเราแบบนี้ตกขอบหรือหมิ่นเหม่ต่อเรื่องศาสนาหรือเปล่า แต่เราไม่ได้มองสมรสเท่าเทียมในแง่ของการเปิดโอกาสให้สังคมเรามีหญิงรักหญิงหรือชายรักชายกล้าออกมาเปิดตัว หรือสังคมสร้างพื้นที่ให้พวกเค้ามากเกินไป อะไรเทือกนี้ เพราะนั่นเป็นเรื่องในมุ้งของเค้า เค้าต้องไปตอบคำถามกับพระเจ้า ไม่ใช่เรื่องของเรา แต่ในตอนที่เราอยู่ด้วยกันในสังคม เราอยู่ด้วยกันโดยที่ไม่ได้มองว่าเค้ามีศักดิ์ศรีต่ำกว่ามนุษย์คนหนึ่งรึเปล่า ทุกคนมีความเป็นมนุษย์รึเปล่า เราไม่อธรรมต่อกันได้หรือเปล่า แค่นั้นเลย
หนูนาในบทบาทพิธีกรงานกิจกรรมต่างๆ
อยากฝากบอกอะไรกับสังคมเรื่องความเป็นธรรมทางเพศกับศาสนามั้ยคะ
สิ่งที่อยากจะบอกคือ ประชากรของมุสลิมไม่ใช่ประชากรหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ของโลกใบนี้ ดังนั้นเราไม่สามารถเอาสิ่งที่เรานับถือ เชื่อหรือศรัทธาไปใช้กับคนทุกคนบนโลก ตราบใดที่เรายังปฏิบัติอยู่ในศีลธรรมของศาสนาและเราสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่น ๆ บนโลกได้บนความแตกต่าง เราก็ทำเท่าที่เราทำได้ไปมันก็โอเคไหม เราควรเคารพความแตกต่างของคนอื่นด้วย ต่อให้เราไม่คิด ไม่เชื่อ หรือศรัทธาแบบเดียวกับพวกเขาก็ตาม
จริง ๆ เราก็อยากจะบอกว่า สเปซของเราที่ตั้งชื่อว่า in-between ก็มีความหมายลึกซึ้งนะ เราเป็นผู้หญิงมุสลิมที่ก๋ากั่นมั่นใจ มีเพื่อนและทำงานกับคนหลากหลายศาสนา ไม่มีศาสนา และระบุเพศของตัวเองแตกต่างกันไป ใครถามว่าทำงานอะไรก็บอกไม่ถูก เพราะมันก้ำกึ่งไปหมด เราเองก็แอบหวังว่า พื้นที่ของเราจะสามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยของคนที่เป็น in-betweener ด้วยกัน เพราะว่ากันตามจริงแต่ละคนก็มีความต่าง ความก้ำกึ่ง ไม่มีใครสุดในด้านไหนไปหมดทุกด้านหรอก ว่างั้นไหม
Comentarios