แนวคิด Intersectionality หรือ อัตลักษณ์และอำนาจทับซ้อน คืออะไร?
ปัจจุบันการเคลื่อนไหวของขบวนการเฟมินิสต์ในประเทศไทย มีการพูดถึงแนวคิด Intersectioality หรือแนวคิดที่ว่าด้วยอัตลักษณ์และอำนาจทับซ้อนกันมากขึ้น แต่แนวคิดนี้มีการพูดถึงมาตั้งแต่สมัยการเคลื่อนไหวของกลุ่มเฟมินิสต์ในอเมริกาที่ถูกจัดให้เป็นเฟมินิสม์ยุคคลื่นลูกที่สอง แนวคิดนี้มีการพูดถึงครั้งแรกในงานของ Kimberly Crenshaw เฟมินิสต์ผิวดำชาวอเมริกัน ที่ต่อสู้เพื่อยุติการเหยียดเชื้อชาติและการเหยียดเพศ
ในบทความ "Mapping the Margins : Intersectionality, Identity Politics, and Violence Against Women of Color" คิมเบอร์ลี่พูดถึงลักษณะของการถูกกดขี่หรือการเลือกปฏิบัติ การควบคุม การกระทำที่เป็นการใช้อำนาจในรูปแบบต่างๆ อันเป็นผลมาจากอัตลักษณ์ทางสังคมที่หลากหลายและทับซ้อนกัน อัตลักษณ์ของคนๆนั้นมีที่มาจากสถานะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เพศ ชนชั้น ชาติพันธุ์ การศึกษา สภาพร่างกาย ศาสนา ความเชื่อทางการเมือง ฯลฯ แต่ละอัตลักษณ์ทางสังคมนี้เชื่อมโยงกันและส่งผลต่อการใช้อำนาจหรือกดขี่คนแต่ละคนแตกต่างกันไป
ในบริบทของประเทศอเมริกา ผู้หญิงผิวขาวออกมาเรียกร้องต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้หญิงในการทำงานนอกบ้าน แต่สำหรับผู้หญฺิงผิวดำ นอกจากถูกกดขี่ในฐานะของผู้หญิงแล้ว พวกเธอยังถูกกดขี่ในฐานะคนผิวดำอีกด้วย และเนื่องจากสถานะชนชั้นทางเศรษฐกิจของผู้หญิงผิวขาวและผิวดำที่ต่างกัน นั่นก็ทำให้ผู้หญิงผิวดำถูกกดขี่ในฐานะแรงงานรับใช้ในบ้านผู้หญิงผิวขาวอีกชั้นหนึ่ง และผู้ที่กดขี่ผู้หญิงผิวดำ ก็ไม่ได้มีแค่เฉพาะผู้ชายผิวดำที่เป็นสามี พ่อ หรือผู้ชายในสังคมของคนผิวดำเท่านั้น แต่เป็นผู้หญิงและผู้ชายผิวขาวที่กดขี่ผู้หญิงผิวดำด้วย โดยผ่านการกระทำในรูปแบบต่างๆ เช่น การใช้แรงงาน การข่มขืน การออกนโยบายที่เป็นโทษแก่ผู้หญิงผิวดำ เช่น การบังคับทำหมัน เป็นต้น ดังนั้นปัญหาของผู้หญิงผิวดำจึงไม่ใช่แค่เรื่องการถูกกดขี่ในฐานะผู้หญิงเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ กลุ่มเฟมินิสต์ผิวดำจึงออกมาวิพากษ์ขบวนเฟมินิสม์ของผู้หญิงผิวขาว ว่าละเลยการต่อสู้เพื่อยุติการเหยียดผิวและเรื่องชนชั้น แนวคิดเรื่องอำนาจและอัตลักษณ์ที่ทับซ้อนจึงถูกนำมาใช้วิเคราะห์ปัญหาและวิพากษ์ขบวนการเพื่อให้เกิดการต่อสู้เพื่อสิทธิของคนทุกอัตลักษณ์
ทำไมเราต้องทำความเข้าใจแนวคิดอัตลักษณ์และอำนาจทับซ้อน?
ความทับซ้อนของอัตลักษณ์เชื่อมโยงกันและส่งผลให้เกิดการกดขี่ที่ทับซ้อนกันจากอัตลักษณ์ดังกล่าว ยกตัวอย่างให้ชัดขึ้นอีกนิด เช่น "ผู้หญิงผิวดำนับถือศาสนาอิสลามคนหนึ่ง" ความเป็นเพศในสถานะผู้หญิง อาจทำให้เธอถูกควบคุมกดขี่จากระบอบชายเป็นใหญ่ ในขณะเดียวกัน ชาติพันธุ์ของเธอในฐานะแอฟริกันอเมริกัน ก็ทำให้เธอถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติและสีผิว และการนับถือศาสนาอิสลามก็ทำให้เธอถูกเลือกปฏิบัติจากกลุ่มคนที่เกลียดกลัวคนมุสลิมได้อีกเช่นกัน อัตลักษณ์ทางสังคมที่ผู้หญิงคนนี้มี อาจทำให้เธอถูกกดขี่ ควบคุม เลือกปฏิบัติ ด้วยเหตุจากปัจจัยทั้งเรื่องของเพศ เชื้อชาติ และศาสนา ดังนั้น ถ้าหากเราต้องการวิเคราะห์ว่าผู้หญิงคนนี้จะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการถูกกดขี่อย่างไร เราจะเห็นว่าผู้หญิงคนนี้มีมากกว่าหนึ่งอัตลักษณ์และอาจถูกกดขี่ได้หลายมิติ และถ้าเทียบกับการถูกกดขี่ของผู้หญิงผิวชาวชาวอเมริกันแล้ว ผู้หญิงสองคนอาจถูกกดขี่ในฐานะผู้หญิงจากระบอบชายเป็นใหญ่ได้เช่นกัน เช่น อาจถูกข่มขืนจากคนแปลกหน้า ถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัว หรือถูกจำกัดการเดินทางหรือทำงานนอกบ้าน แต่การมีชาติพันธุ์และการนับถือศาสนาที่ในสังคมนั้นถือเป็นกระแสรองหรือเป็นคนส่วนน้อย ก็ทำให้ผู้หญิงมุสลิมผิวดำถูกกดขี่จากอัตลักษณ์ของเธอแตกต่างไปจากผู้หญิงผิวขาว ซึ่งการเข้าใจปัญหาของอัตลักษณ์ที่ทับซ้อนนี้ไม่ใช่เพื่อแข่งกันว่าใครคนใดคนหนึ่งจะถูกกดขี่มากกว่ากัน แต่หากจำเป็นจะต้องวิเคราะห์ลักษณะของปัญหาที่แตกต่างกันเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการกดขี่จากอัตลักษณ์ที่ทับซ้อนที่แต่ละคนเผชิญ
ลักษณะสำคัญประการหนึ่งของแนวคิดอัตลักษณ์และอำนาจทับซ้อน คือความเข้าใจเรื่องของ อภิสิทธิ์ อันหมายถึงโอกาสและสถานะทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ที่คนๆหนึ่งมีเหนือกว่าคนอื่นๆ เช่น อภิสิทธิ์ทางชนชั้นของผู้ที่เกิดมาในวรรณะสูงในสังคมอินเดีย อภิสิทธิ์ของผู้ที่เกิดมาในตระกูลที่สืบเชื้อสายจากเจ้าผู้ปกครองที่ดิน อภิสิทธิ์ที่เกิดจากความร่ำรวยทางการเงิน อภิสิทธิ์ในฐานะเพศชายที่ถูกยกย่องในสังคมชายเป็นใหญ่ อภิสิทธิ์ในฐานะที่เป็นคนรักต่างเพศในสังคมที่ไม่ยอมรับความรักของคนรักเพศเดียวกัน อภิสิทธิ์ของคนที่นับถือศาสนาที่คนส่วนใหญ่ในสังคมนั้นๆนับถือ เป็นต้น
อภิสิทธิ์ที่แต่ละคนมีจึงเป็นตัวแปรสำคัญในการเข้าถึงโอกาสและอำนาจ ยิ่งมีอภิสิทธิ์น้อยเท่าไหร่ ก็มีแนวโน้มสูงว่าคนๆนั้นจะถูกกดขี่และถูกควบคุมได้มากกว่าคนที่มีอภิสิทธิ์ และผู้ที่มีอภิสิทธิ์ทางสังคมมากกว่าคนอื่น ก็อาจกลายเป็นผู้กดขี่ได้มากขึ้นเท่านั้น หรือในทางตรงกันข้าม ผู้ที่มีอภิสิทธิ์มาก ก็อาจใช้อภิสิทธิ์ที่มีอยู่เพื่อช่วยเหลือให้ผู้อื่นเข้าถึงโอกาสได้อย่างทัดเทียม หรืออาจแบ่งปันโอกาสที่ตนได้รับให้กับผู้ที่มีอภิสิทธิ์น้อยกว่าเพื่อเสริมอำนาจให้คนกลุ่มที่มีอำนาจน้อยก็ได้เช่นกัน
แนวคิดเรื่อง อัตลักษณ์และอำนาจทับซ้อนในสังคมไทย
หากเทียบกับบริบทของประเทศไทยเพื่อให้เห็นภาพของแนวคิด Intersectionality หรืออำนาจและอัตลักษณ์ที่ทับซ้อนมากขึ้น เราอาจพิจารณาถึงกรณี ผู้หญิงชาติพันธุ์กระเหรี่ยงไร้สัญชาติที่มีความหลากหลายทางเพศในจังหวัดเชียงใหม่ หากวิเคราะห์อัตลักษณ์ที่เป็นแหล่งอำนาจของผู้หญิงคนนี้แล้ว จะเห็นว่ามีความหลากหลายของอัตลักษณ์หลายประการ ประการแรก ในฐานะของผู้หญิง ซึ่งเป็นเพศที่มีสถานะรองในสังคมแบบชายเป็นใหญ่ ประการต่อมา ในฐานะของคนชนเผ่ากะเหรี่ยง ที่เป็นชาติพันธุ์ส่วนน้อยในประเทศไทย ประการต่อมา การเป็นคนไร้สัญชาติ ซึ่งแปลว่าผู้หญิงคนนี้ไม่ได้รับการรับรองในฐานะพลเมืองไทยและไม่มีบัตรประชาชน ประการสุดท้าย การเป็นผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นวิถีทางเพศที่ไม่ถูกยอมรับในสังคมชนเผ่า และยังไม่นับสถานะทางเศรษฐกิจที่เป็นผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นผลมาจากอัตลักษณ์ของการเป็นคนไร้สัญชาติชาวกะเหรี่ยงอีกด้วย
จากการวิเคราะห์อัตลักษณ์ซึ่งเป็นแหล่งอำนาจของผู้หญิงคนนี้ จะเห็นว่า เพศสภาพและเพศกำเนิด ชาติพันธุ์ สถานะพลเมือง วิถีทางเพศ ชนชั้นทางเศรษฐกิจของเธออยู่ในสถานะรองทั้งสิ้น หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่ถูกผลักออกไปจากศูนย์กลางของทุกอัตลักษณ์ หากวิเคราะห์ต่อว่า ด้วยอัตลักษณ์ที่ผู้หญิงชนเผ่ากะเหรี่ยงไร้สัญชาติและเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศคนนี้ใช้ชีวิตภายใต้สังคมไทย จะมีปัญหาอะไรบ้างที่เธอต้องเผชิญ
ปัญหาด้านที่ดินทำกิน อันเนื่องมาจากการไร้สัญชาติ ทำให้เป็นเจ้าของที่ดินทำกินไม่ได้ หรือถูกรัฐเข้ายึดครองที่ดินเพราะกฎหมายอุทยานแห่งชาติหรือป้องกันการบุกรุกทำลายป่า ตัวอย่างเช่น กะเหรี่ยงหมู่บ้านบางกลอยที่กำลังมีข้อพิพาทกับรัฐ ถูกไล่ที่และเผาบ้าน โดยอ้างกฎหมายที่ประกาศภายหลังการอยู่อาศัยของชุมชน
ปัญหาด้านการศึกษา เนื่องจากการไม่มีสัญชาติ อาจทำให้มีปัญหากับเอกสารการสมัครเรียน กว่าเด็กชนเผ่ากะเหรี่ยงจะได้เรียนในระดับสูง ต้องดำเนินเรื่องเอกสารหลายอย่าง ซึ่งทำให้บางครอบครัวขาดโอกาสเนื่องจากไม่มีเงินและเวลาหรือความรู้ในการเข้าไปทำเอกสารกับทางราชการ
ปัญหาด้านการเดินทาง เมื่อไม่มีบัตรประชาชนก็ไม่สามารถเดินทางข้ามประเทศหรือออกนอกพื้นที่ได้
ปัญหาด้านสังคม ถูกล้อเลียนเพราะพูดภาษาไทยไม่ชัด โดนกลั่นแกล้งในโรงเรียนเพราะเป็นกะเหรี่ยง
ปัญหาทางการเมือง ไม่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง หรือลงชื่อในการแก้กฎหมาย
ปัญหาทางเศรษฐกิจ เมื่อไม่มีบัตรประชาชนก็ทำงานที่ต้องใช้บัตรประชาชนไม่ได้ ถูกกดค่าแรงเพราะไม่มีทักษะและเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ไม่มีสวัสดิการคุ้มครองเหมือนแรงงานไทย ถูกนายจ้างเลือกปฏิบัติในฐานะแรงงานต่างด้าว
ปัญหาเรื่องเพศ ถูกสังคมรังเกียจเพราะเป็นคนที่รักเพศเดียวกัน อาจถูกขับไล่จากชุมชน เสี่ยงต่อการถูกบังคับแต่งงาน ใช้ความรุนแรงจากสามี พ่อ และผู้ชายในสังคมชนเผ่า
ปัญหากระบวนการยุติธรรม เข้าไม่ถึงการช่วยเหลือทางกฎหมาย เพราะไม่ได้รับการศึกษา อ่านหนังสือไม่ออก และอคติจากเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ต้องการทำคดีให้
จากทั้งหมดที่ไล่เรียงมาจะเห็นว่า ผู้หญิงคนนี้ไม่ได้ถูกกดขี่แค่เพราะเธอเป็นผู้หญิงเท่านั้น แต่เพราะอัตลักษณ์ที่ทับซ้อนกันก็ทำให้เธอถูกกดขี่ ควบคุม เลือกปฏิบัติในหลายๆมิติ ทั้งจากคนในสังคมเดียวกันหรือคนที่อยู่นอกชุมชน จากนโยบายรัฐและกฎหมาย ดังนั้นในการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม เราจึงไม่สามารถเรียกร้องแค่เรื่องของมิติความรุนแรงทางเพศมิติเดียว หรือไม่ควรต่อสู้แค่ปลดล็อคเรื่องสถานะทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ควรนำสถานะทางสังคมอื่นๆของเธอเข้าไปประกอบด้วย
อีกตัวอย่างหนึ่ง กรณีแรงงานข้ามชาติหญิงชาวพม่าที่ถูกตำรวจข่มขืนในโรงพัก เป็นตัวอย่างล่าสุดที่เกิดขึ้นและชี้ให้เห็นว่า ผู้หญิงชาวพม่าคนนี้นอกจากจะถูกข่มขืนจากผู้ชายในสังคมแบบชายเป็นใหญ่แล้ว การที่เธอเป็นชาวพม่าที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย ทำให้เธอตกอยู่ภายใต้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สิ่งที่ตำรวจกระทำต่อเธออาจไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของการใช้อำนาจทางเพศที่เพศชายกระทำต่อเพศหญิงเท่านั้น แต่อาจหมายถึงการใช้อำนาจเพราะแนวคิดเรื่องความเป็นชาติที่เหนือกว่าอีกด้วย การที่สื่อไม่นำเสนอข่าวของเธอเท่ากับกรณีการข่มขืนของผู้หญิงไทยที่มีการศึกษาหรือนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอีกหลายๆกรณีนั้น เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า สถานะทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเชื้อชาติและชนชั้นทางเศรษฐกิจนั้นมีผลต่อการติดตามคดีและการส่งเสียงของผู้คนในสังคมด้วยเช่นกัน
หากลองเปลี่ยนเรื่องราวจากผู้หญิงในกลุ่มที่ถูกผลักให้เป็นชายขอบ มาเป็นเรื่องใกล้ตัวขึ้นอีกนิดเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า กรณีดาราดังที่ติดเชื้อโควิดกับแรงงานข้ามชาติที่จังหวัดสมุทรสาคร ก็สามารถใช้มุมมองแบบ Intersectionality วิเคราะห์ได้เช่นกัน เมื่อพิจารณาจากสถานะทางสังคมของดาราชื่อดัง การมีอภิสิทธิ์ทางสังคมทำให้พวกเขาไม่ต้องถูกล้อมรั้วลวดหนามหรือกักบริเวณเหมือนแรงงานข้ามชาติในจังหวัดสมุทรสาคร พวกเขาสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้โดยอิสระ จนกระทั่งเกิดการติดเชื้อและแพร่กระจายไปยังกลุ่มต่างๆ
ปฏิกิริยาต่อมาคือความแตกต่างของรัฐบาลที่มีต่อคนสองกลุ่ม ทั้งการกล่าวโทษและการออกมาปกป้อง นอกจากนี้ในขณะที่การกักตัวของแรงงานข้ามชาติเป็นไปอย่างยากลำบาก พวกเขาไม่มีงานทำ และต้องกักตัวรวมกันในบริเวณจำกัด ในขณะที่ดาราดังสามารถอยู่บ้าน สั่งอาหารมาทานได้ และนั่นทำให้เกิดกรณีการกักตัวไม่ครบกำหนดของดาราดังท่านหนึ่งจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ นอกจากนี้การมีสถานะพลเมืองไทยก็ทำให้ได้รับการปฏิบัติอย่างดี ในขณะที่แรงงานข้ามชาติกลับถูกมองอย่างอคติว่าเป็นตัวแพร่เชื้อ อย่างไรก็ดี แม้ว่าดาราดังจะถูกปฏิบัติจากรัฐบาลในลักษณะที่เป็นมิตร แต่การมีเพศวิถีที่แตกต่างของเขาก็ทำให้การติดเชื้อในครั้งนี้กลายเป็นเรื่องของการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันและเกิดอคติเหมารวมกับกลุ่มผู้ชายที่รักเพศเดียวกันในสังคมไทยไปด้วย
จะเห็นว่า แหล่งอำนาจซึ่งนำมาสู่ความมีอภิสิทธิ์ทางสังคมในรูปแบบต่างๆ อาจทำให้คนๆหนึ่งถูกกดขี่ ควบคุม หรือถูกเลือกปฏิบัติได้ในหลายมิติ และถ้าหากเราใช้มุมมองเรื่องของอำนาจทับซ้อนนี้มาวิเคราะห์ปัญหาความไม่เป็นธรรมต่างๆในสังคม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม ก็จะทำให้เราสามารถมองเห็นการกดขี่ที่ทับซ้อน ปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขที่แตกต่างกัน และจะทำให้เราร่วมมือกันต่อสู้เรียกร้องสิทธิให้กับคนแต่ละกลุ่มไปพร้อมๆกัน และไม่ละเลยปัญหาของใครคนใดคนหนึ่งในสังคมไป พร้อมกันนั้นหากเราเข้าใจแนวคิดเรื่องอำนาจและอัตลักษณ์ที่ทับซ้อน ขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆก็จะไม่แยกกันเพราะมองว่าปัญหาใครปัญหามันหรือปัญหาของแต่ละกลุ่มเป็นคนละเรื่องกัน แต่แนวคิดเรื่องอำนาจและอัตลักษณ์ทับซ้อนจะทำให้เรามองเห็นความสำคัญของทุกประเด็นและเห็นความเชื่อมโยงที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของระบบทางสังคมทั้งหมด
การเข้าใจที่มาของอำนาจที่แต่ละคนมี จะทำให้เราเห็นความซับซ้อนของการถูกใช้อำนาจที่ต่างกัน และการเคลื่อนไหวเพื่อยุติการกดขี่ของแต่ละกลุ่มจะเป็นไปอย่างครอบคลุมทุกประเด็นทุกปัญหา ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องทำความเข้าใจเรื่องอำนาจทับซ้อนและนำมาวิเคราะห์ในการทำงานและพัฒนาขบวนการเคลื่อนไหวให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยทำความเข้าใจความแตกต่างหลากหลายที่แต่ละคนมีให้ได้มากที่สุด
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
Winker, G., & Degele, N. (2011). Intersectionality as multi-level analysis: Dealing with social inequality. European Journal of Women’s Studies, 18(1), 51–66. https://doi.org/10.1177/1350506810386084
Crenshaw, K. (1991). Mapping the Margins: Intersectionality, Identity Politics, and Violence against Women of Color. Stanford Law Review, 43(6), 1241-1299. http://doi.org/10.2307/1229039
Intersectional Feminism 101: Why It’s Important And What We Must Remember https://feminisminindia.com/2017/02/13/indian-intersectional-feminism-101/
Lessons In Intersectional Feminism From bell hooks https://feminisminindia.com/2021/01/06/bell-hooks-indian-feminism/
Intersectionality Is Key For A Strong Feminist Movement https://feminisminindia.com/2020/10/30/intersectionality-key-strong-feminist-movement/
Feminist icon Judith Butler on JK Rowling, trans rights, feminism and intersectionality
Comments