จากกรณีข่าวการฟ้องร้องเรื่องสิทธิในการปกครองบุตรระหว่าง ไมค์ พิรัชต์ และซาร่า คาซิงกินี่ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์และการตั้งคำถามจากสังคมในหลายแง่มุม อาทิเช่น ทำไมแม่ไม่ให้พ่อเจอลูก ทำไมฝ่ายชายตอนท้องไม่รับเป็นลูกตั้งแต่แรก ทำไมไมค์ถึงต้องจ่ายเงินหลักสิบล้าน ทำไมสิทธิในการปกครองเด็กถึงเป็นของแม่ตั้งแต่เด็กคลอด หรือการที่มีข่าวว่าฝ่ายหญิงมีคู่ใหม่ มีลูกอีกคน หรือการที่ฝ่ายหญิงมีข่าวว่าไปเที่ยวปาร์ตี้ไม่สนใจดูแลลูก ไม่เหมาะสมกับการเป็นแม่ รวมถึงมีการแบ่งทีมเชียร์ จนเกิดเป็นแฮชแท็กติดเทรนด์ในทวิตเตอร์
เฟมินิสต้าอยากชวนให้สังคมร่วมกันมองให้ไกลกว่าพฤติกรรมเชิงปัจเจกบุคคล ว่าใครทำอะไรดีเลวกว่ากัน แต่มาร่วมกันตระหนักว่าเบื้องหลังการกระทำเหล่านี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร และสังคมจะมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดเรื่องครอบครัว รวมถึงปกป้องคุ้มครองเด็กจากความขัดแย้งระหว่างพ่อกับแม่ได้อย่างไร
ปิตาธิปไตยกับการหล่อหลอมบทบาททางเพศ
"ปิตาธิปไตย" หรือ "Patriarchy" คือระบบวิธีคิดทางสังคมรูปแบบหนึ่ง ซึ่งถูกปลูกฝังมาอย่างยาวนานในสังคมไทย เป็นระบบที่ทำให้คนในสังคมเชื่อว่า ผู้ชายหรือเพศชายโดยกำเนิด มีสถานะที่สูงกว่าผู้หญิงในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะทางเศรษฐกิจ สังคมหรือการเมือง และจากวิธีคิดดังกล่าว สังคมจึงให้อภิสิทธิ์หรืออำนาจกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ในการกระทำใดๆ โดยเฉพาะกับเรื่องเพศ เช่น การแสดงออกทางเพศ การมีความรักความสัมพันธ์หรือเลือกคู่ครอง ตัวอย่างเช่น ผู้ชายสามารถพูดเรื่องเพศได้อย่างเปิดเผย ผู้ชายมีเมียมากกว่าหนึ่งคนได้ ผู้ชายไม่ถูกผูกติดกับแนวคิดเรื่องความบริสุทธิ์ทางเพศ ไม่ผ่านมือใครมาก่อน แต่อีกแง่หนึ่ง ความเป็นชายที่ถูกกำหนดตามบทบาทหน้าที่ ก็กลายเป็นการกดทับให้ผู้ชายหลายคนประสบกับปัญหาในการใช้ชีวิต เช่น ความรู้สึกล้มเหลวเมื่อเป็นผู้นำครอบครัวไม่ได้ การถูกล้อเลียนว่าไม่แมน การไม่ได้รับสิทธิในการเลี้ยงลูกเท่ากับฝ่ายหญิง เป็นต้น
ในขณะที่ผู้หญิง มักถูกบอกสอนให้ต้องระมัดระวังเรื่องการแสดงออกทางเพศ หรือการเลือกคู่ครอง เช่น แนวคิดเรื่องรักนวลสงวนตัว ไม่ผ่านมือชาย ไม่ท้องก่อนแต่ง ซึ่งส่งผลให้ผู้หญิงที่ไม่สามารถปฏิบัติตามบรรทัดฐานทางเพศนี้ได้ ถูกตีตราว่าเป็นผู้หญิงที่ไม่ดี ไม่เหมาะกับการเป็นแม่ของลูก หรือภรรยา หรือความเชื่อที่ว่าแม่ที่ดีต้องอยู่บ้านเลี้ยงลูก ไม่ออกไปเที่ยวเตร่ ก็ส่งผลให้ผู้หญิงที่ไม่ได้ปฏิบัติตามบรรทัดฐานนี้ ถูกตีตราหรือประณามว่าเป็นแม่ที่บกพร่องในหน้าที่
แนวคิดแบบปิตาธิปไตยนั้น ถูกหล่อหลอมในสังคมไทยตั้งแต่เด็กจนเติบโต ทั้งจากในโรงเรียน ครอบครัว สื่อ ศาสนา วัฒนธรรม นโยบายและกฎหมาย ทำให้สังคมไทยมีบรรทัดฐานทางเพศที่ค่อนข้างแข็งทื่อตายตัว แบ่งเป็นสองขั้วตรงข้ามชัดเจน และหากคนในสังคมไม่ทำตามบรรทัดฐานทางเพศเหล่านั้น ก็จะถูกประณาม ถูกลงโทษ ถูกเลือกปฏิบัติ ถูกใช้ความรุนแรง ในรูปแบบต่างๆ เช่น การลงโทษด้วยการข่มขืน การประณามผู้หญิงที่ทำตัวไม่สมกับเป็นแม่ การกีดกันไม่ให้เลี้ยงดูลูกของพ่อ การถูกบีบบังคับให้ต้องจ่ายค่าเลี้ยงดู เป็นต้น แนวคิดแบบปิตาธิปไตยฝังรากลึกเพราะคนในสังคมอยู่กับวิธีคิดแบบนี้มายาวนาน หลายครั้งจึงไม่รู้ตัวว่ากำลังส่งต่อแนวคิดระบบเพศที่กดทับคนทุกเพศหรือสนับสนุนแนวคิดเหยียดเพศต่างๆให้ยังคงอยู่ต่อไป
ทีมไมค์ ทีมซาร่า และการขยายความขัดแย้งของคนในสังคม
กรณีของไมค์กับซาร่า หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ทั้งคู่ตกเป็นข่าวดัง เมื่อซาร่าตั้งท้องและมีการตรวจดีเอ็นเอ เพื่อยืนยันว่าเด็กเป็นลูกของไมค์จริงตามที่ครอบครัวไมค์ร้องขอ ตอนนั้นกระแสข่าวมีทั้งที่เป็นลบต่อฝ่ายหญิง คือเรื่องท้องก่อนแต่ง เรื่องการมีคู่ครองหลายคน ในขณะที่ฝ่ายชายเองก็ถูกประณามว่าไม่รับผิดชอบ จนเป็นที่มาของการขอตรวจดีเอ็นเอ ซึ่งแม้ทั้งคู่จะไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันในฐานะสามีภรรยา แต่ก็ถือว่าเป็นพ่อและแม่ของเด็ก โดยซาร่าเลี้ยงลูกเองเป็นหลัก โดยมีหลักฐานว่าไมค์เป็นคนจ่ายเงินเลี้ยงดูทุกอย่าง และก่อนหน้าที่จะมีข่าวฟ้องร้องสิทธิในการปกครอง ไมค์มีโอกาสได้เจอลูกเป็นครั้งคราวตามที่มีสื่อเสนอภาพข่าวและคลิปออกมา
ตัดกลับมาที่สถานการณ์ปัจจุบัน คนในสังคมให้ความสนใจกับเรื่องของครอบครัวนี้ โดยมีสื่อเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา เช่น การนำเสนอข่าวจากฝ่ายหญิงที่ออกมาบอกเรื่องของหมายศาล การไปออกรายการเล่ารายละเอียดของครอบครัว หรือการที่สื่อไปนำรูปของฝ่ายหญิงในขณะที่อยู่กับผู้ชายคนหนึ่งมาเปิดเผย หรือภาพที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าฝ่ายหญิงตั้งท้องลูกของแฟนคนใหม่ รวมไปถึงการนำเสนอภาพของฝ่ายชายร้องไห้และรู้สึกผิดที่ไม่สามารถทำหน้าที่พ่อได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งการนำเสนอเรื่องราวจากทั้งสองฝั่ง ทำให้คนในสังคมจำนวนหนึ่งมุ่งไปที่พฤติกรรมเชิงปัจเจกบุคคล เช่น การมองว่าซาร่าไม่เหมาะจะเป็นแม่ เพราะมีพฤติกรรมชอบปาร์ตี้ มีผู้ชายคนใหม่ หรือการที่ไมค์ถูกมองว่าเป็นพ่อที่เอาแต่จ่ายเงิน แต่ไม่มีสิทธิในการเลี้ยงลูกเท่ากับฝ่ายหญิง เพราะเชื่อกันว่าแม่มีสิทธิในตัวลูกมากกว่า ซึ่งวิธีการมองแบบนี้เอง ที่เป็นผลมาจากการหล่อหลอมบทบาททางเพศในสังคมปิตาธิปไตยและส่งผลต่อการทำหน้าที่ในฐานะพ่อและแม่ และอาจส่งผลกระทบต่อตัวเด็กในระยะยาว
เรามองเห็นอะไรบ้างในปัญหาความขัดแย้งนี้?
-แนวคิดเรื่อง Breadwinner หรือผู้นำครอบครัว
แนวคิดเรื่องผู้นำครอบครัวในสังคมปิตาธิปไตย มักคาดหวังให้ผู้ชายเป็นฝ่ายออกจากบ้านไปหาเงินเพื่อส่งเสียเลี้ยงดูครอบครัว อันดับแรกเราต้องมองให้เห็นว่า การที่ผู้หญิงคาดหวังให้ผู้ชายเป็นฝ่ายหาเงินเลี้ยงดูแต่เพียงฝ่ายเดียว ส่งผลในทางที่เป็นโทษต่อครอบครัวอย่างไร กรณีไมค์กับซาร่าเห็นได้ชัดว่า ไมค์เป็นผู้รับภาระออกค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาล ซึ่งต่อมาไมค์ไม่สามารถที่จะจ่ายให้ได้ จึงทำให้เกิดความผิดหวังจากฝ่ายหญิง และกดดันให้ไมค์ต้องจ่ายให้ได้ตามที่ต้องการ ถ้าไม่จ่ายก็จะไม่ให้สิทธิในการเจอลูก ซึ่งเป็นการผูกขาดสิทธิของความเป็นพ่อเข้ากับตัวเงิน และความล้มเหลวในการเป็นผู้นำครอบครัว การคาดหวังให้ผู้ชายเป็นฝ่ายแบกรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด ส่งผลให้ผู้ชายจำนวนมากในสังคมรู้สึกกดดัน เครียด และอาจนำไปสู่การแก้ปัญหาด้วยการฆ่าตัวตายหรือฆ่ายกครัวเพื่อจบปัญหาหรือเพื่อรักษาเกียรติของการเป็นผู้นำครอบครัว
ส่วนผลกระทบต่อฝ่ายหญิงจากวิธีคิดผู้นำครอบครัวคือผู้ชายเท่านั้น คือการที่ผู้หญิงไม่สามารถที่จะมีอิสระทางการเงินด้วยตัวเอง เมื่อต้องอยู่ภายใต้การเลี้ยงดูของฝ่ายชาย หากฝ่ายชายไม่สามารถหาเงินมาได้ ก็อาจทำให้ครอบครัวตกอยู่ในสถานการณ์ที่ตึงเครียด และหากฝ่ายชายทิ้งครอบครัวไป ผู้หญิงก็จะไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องออกไปทำงานหาเลี้ยงลูก หรือกรณีที่ฝ่ายชายมีผู้หญิงอื่น ก็จะไม่สามารถปฏิเสธได้ เพราะตกอยู่ภายใต้การควบคุมทางเศรษฐกิจ ทำให้ต้องยอมรับความสัมพันธ์ซ้อนของฝ่ายชายแม้ไม่ได้เต็มใจก็ตาม
-แนวคิดเรื่องแม่ที่ดี หรือความเป็นแม่ แนวคิดนี้เป็นผลมาจากระบบคิดแบบปิตาธิปไตยที่มองว่า ผู้หญิงที่เหมาะสมในการเป็นแม่ ต้องรักลูกที่สุด ต้องดูแลลูกด้วยตัวเอง ไม่ควรให้คนอื่นดูแล ต้องไม่มีผู้ชายคนอื่นระหว่างที่มีลูกเล็ก หรือต้องไม่ไปเที่ยวกลางคืน กินเหล้าสูบบุหรี่ ซึ่งกลับกันหากเป็นฝ่ายผู้ชายในฐานะพ่อทำ สังคมจะไม่รู้สึกต่อต้านเท่ากับฝ่ายผู้หญิงในฐานะแม่เด็กทำ แม้จะเป็นการกระทำในรูปแบบเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น สามีของดาราสาวที่เพิ่งมีข่าวเรื่องเมียน้อยกับเงินแปดหลัก สังคมรับรู้โดยทั่วไปว่าเจ้าตัวชอบปาร์ตี้ดื่มเหล้ามีผู้หญิงหลายคนแม้ว่าจะมีครอบครัวแล้วก็ตาม แต่สังคมไม่ตั้งคำถามกับพฤติกรรมนี้เพราะมองว่าเป็นเรื่องปกติของผู้ชาย และสามารถใช้เงินแก้ปัญหาได้จนเรื่องยุติ แต่ในทางกลับกัน หากดาราสาวกระทำแบบนี้บ้าง จะถูกตั้งคำถามอย่างหนักต่อความเป็นแม่ที่ดี กรณีซาร่า คนจำนวนมากพุ่งไปที่พฤติกรรมการปาร์ตี้ ดื่มเหล้า มีผู้ชายใหม่ ซึ่งเป็นการตีตราผู้หญิงที่เป็นแม่ ว่าไม่สามารถมีชีวิตในรูปแบบอื่นได้ นอกจากการอยู่บ้าน เลี้ยงลูก และไม่ไปเที่ยวกลางคืนกับผู้ชายอื่น ซึ่งการตีตราแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับดาราสาวที่เลิกรากับสส.ของพรรคการเมืองหนึ่ง ในตอนนั้นกระแสสังคมพยายามขุดคุ้ยพฤติกรรมของดาราสาวมากกว่าจะให้ความสนใจประเด็นเรื่องความรุนแรงในครอบครัวหรือการคุ้มครองเด็กจากความขัดแย้งของผู้ปกครอง
-แนวคิดเรื่องการคุ้มครองเด็กจากความขัดแย้งของครอบครัว
เวลาเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายพ่อและแม่ สังคมมักมุ่งไปที่การด่าทอโจมตีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อเด็กที่จะเติบโตมาท่ามกลางข่าวสารที่ผู้ใหญ่ทะเลาะเบาะแว้งกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเอาเด็กเป็นตัวประกันในการเรียกร้องหรือกำหนดเงื่อนไขในการหย่า การจ่ายค่าเลี้ยงดู กรณีนี้ก็มีประเด็นเรื่องการฟ้องขอสิทธิในการปกครองร่วม ซึ่งฝ่ายแม่ถือสิทธิในการปกครองตั้งแต่เกิด เนื่องจากฝ่ายพ่อไม่ได้เซ็นรับรองบุตรตั้งแต่ต้น ทำให้สิทธิทางกฎหมายไม่สมบูรณ์ การที่ฝ่ายหญิงนำเรื่องค่าใช้จ่ายมาต่อรองกับฝ่ายชายและเป็นฝ่ายตัดสินใจว่าจะให้เด็กได้เจอพ่อหรือไม่ ถือว่าไม่ยุติธรรมกับฝ่ายชายในฐานะพ่อ และไม่เป็นผลดีต่อเด็กที่จะต้องมีความสัมพันธ์กับฝ่ายชายในฐานะพ่อกับลูก นอกจากนี้การที่ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับแม่เป็นไปในทางที่บาดหมาง ยังอาจส่งผลต่อเด็กในอนาคตด้วย
เพราะเด็กจะต้องเติบโตและเรียนรู้ความจริงว่าพ่อกับแม่ไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้ในฐานะภรรยากับสามี แต่ต้องไม่ให้เด็กรู้สึกว่าพ่อกับแม่เกลียดกันจนไม่สามารถพูดคุยกันได้ตามปกติ ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่คนในสังคมต้องระมัดระวังและตระหนักว่าเรามีส่วนร่วมในความขัดแย้งนี้และอาจจะขยายความขัดแย้งให้กับครอบครัวเด็กโดยไม่รู้ตัว เช่น การไปรุมด่าแม่ของเด็ก การนำเสนอภาพข่าวซ้ำๆที่ทำให้คนแบ่งเป็นฝ่าย เพราะถึงที่สุดแล้ว เด็กจะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับทั้งพ่อและแม่ และบรรยากาศที่เป็นพิษระหว่างพ่อกับแม่ย่อมส่งผลต่อสภาพจิตใจของเด็ก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอเรื่องราวของครอบครัวในรายการต่างๆที่จะมีผลต่อความรู้สึกของเด็กในอนาคตเมื่อเขาเติบโตขึ้น คำด่าทอต่อพ่อและแม่ของเขาบนอินเตอร์เน็ตที่คนในสังคมทิ้งเอาไว้ในโลกออนไลน์ก็ย่อมมีผลต่อความรู้สึกนึกคิดของเด็กเช่นกัน ดังนั้นหากเรานึกถึงเด็กในกรณีนี้ให้มากที่สุด สังคมควรช่วยกันทำให้บรรยากาศการพูดคุยระหว่างพ่อกับแม่เกิดขึ้นได้อย่างราบรื่นมากกว่าจะทำให้เกิดการแบ่งทีมแบ่งฝ่าย และต้องไม่ร่วมกันสร้างความขัดแย้งบาดหมางเพิ่มขึ้นด้วยการส่งต่อข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงหรือถ้อยคำแห่งความเกลียดชัง
ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเด็กอยู่ตรงไหน?
ในทางกฎหมาย เมื่อเกิดการฟ้องร้องสิทธิในการปกครองเด็ก เป็นเรื่องที่ต้องไปตกลงไกล่เกลี่ยกันระหว่างพ่อและแม่ ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก โดยมีเด็กเป็นศูนย์กลาง ทั้งในเรื่องของบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่เด็กจะเติบโต การตกลงเรื่องค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผลและรับผิดชอบร่วมระหว่างพ่อและแม่ตามกำลังของแต่ละคนที่สามารถทำได้ และต้องไม่มีการกีดกันไม่ให้พ่อหรือแม่ได้ใช้เวลาอยู่กับลูกตามสมควร ซึ่งตรงนี้กฎหมายคุ้มครองเด็กและครอบครัวมีระบุแนวทางปฏิบัติเอาไว้อยู่แล้ว เป็นเรื่องของการพิจารณาตามความเหมาะสมและตามข้อเท็จจริง
สำหรับคนในสังคมที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับครอบครัว ขอเสนอว่าเราอาจจะต้องกลับมาทบทวนว่าตัวเองมีส่วนร่วมในการสร้างความขัดแย้งด้วยหรือไม่ และถ้าใช่ เราจะช่วยลดความขัดแย้งนี้ได้อย่างไร และเราจะเปลี่ยนแปลงวิธีคิดเรื่องความเป็นครอบครัว หรือความรับผิดชอบร่วมกันในฐานะพ่อและแม่ได้อย่างไร แม้ว่าจะไม่ได้มีความสัมพันธ์แบบสามีภรรยากันแล้วก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ฟ้องร้องแย่งสิทธิการเลี้ยงลูก การกีดกันไม่ให้เจอลูก หรือการเรียกค่าเลี้ยงดูที่เกินกำลังของแต่ละฝ่าย หากเกิดขึ้นกับตัวเราเองหรือกับคนรอบข้าง
เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพของเด็ก โดยผู้ใหญ่ในฐานะพ่อและแม่ และคนรอบข้างในสังคมต้องช่วยกันออกแบบให้เกิดประโยชน์กับตัวเด็กมากที่สุด และลดความขัดแย้งให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และต้องไม่ร่วมกันสร้างบรรยากาศแห่งความเกลียดชัง หรือส่งต่อแนวคิดเหยียดเพศ การหล่อหลอมอคติทางเพศต่อทุกๆฝ่าย
มาร่วมกันมองให้ไกลกว่าพฤติกรรมของปัจเจกบุคคล และร่วมกันเปลี่ยนแปลงวิธีคิดเรื่องบทบาททางเพศที่กดทับผู้หญิง ผู้ชายและคนทุกเพศ เปลี่ยนแปลงวิธีคิดเรื่องครอบครัว โดยเฉพาะความเป็นผู้ปกครองร่วมที่เอื้อต่อคุณภาพชีวิตของเด็กและเสริมสร้างบรรยากาศที่ไม่เป็นพิษระหว่างผู้ปกครองเพื่อประโยชน์ของตัวเด็กในอนาคตให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้นอกจากครอบครัวที่รู้จักกันทั่วไปว่ามีพ่อ แม่ ลูก แล้ว ยังมีครอบครัวในรูปแบบอื่นๆอีกมากมาย เช่น ครอบครัวที่มีแม่สองคน มีพ่อสองคน หรือมีคนหลายๆคนร่วมกันเลี้ยงเด็กหนึ่งคน ครอบครัวแม่หรือพ่อเลี้ยงเดี่ยว เป็นต้น
Comments