top of page
รูปภาพนักเขียนFeminista

Feminista Recommended: แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน




“ฉันได้เรียนรู้ว่า อย่างหนึ่งที่เอาเราถึงตายได้ไม่ใช่กำปั้น หากแต่คือสายตา สิ่งที่คนอื่นเห็นและวิธีการที่พวกเขามอง ทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้อง กับเรื่องของอำนาจ”



ขออภัยที่อาจจะเปิดประโยคในบทแนะนำหนังสือนี้ด้วยความมืดหม่นไปสักหน่อย แต่เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้เป็นครั้งแรก ประโยคนี้เป็นประโยคแรกที่ติดอยู่ในใจเรา เราชอบประโยคนี้มาก เพราะมันจริงอย่างถึงที่สุด การถูกจ้องมองด้วยวิธีการบ้างอย่าง มันทำให้รู้สึกถึงการใช้อำนาจผ่านทางสายตาได้จริงๆ ช่วงที่เราเคยเรียนอยู่ที่อินเดียจะรู้สึกได้อย่างเข้มข้น เพราะสายตาที่จ้องมาอย่างไม่ลดละ มันทำให้เราตกอยู่ในสภาวะของความกลัว จนมันส่งผลให้ไม่กล้าแสดงออกอะไรที่จะทำให้เป็นเป้าสายตามากเกินไป เพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย เราไม่รู้ว่าสิ่งที่ถูกทำให้เป็นที่จับจ้องนั้นเป็นเพราะเราเป็นผู้หญิงที่พลัดหลงเข้าไปอยู่ในสังคมที่โคตรจะชายเป็นใหญ่ หรือเป็นเพราะเราเป็นผู้หญิงต่างเชื้อชาติที่พวกเขาให้ความสนใจ หรือเพราะเรามีคนรักเป็นเพศเดียวกัน พวกเขาเลยต่อต้าน แต่การจ้องมองทั้งหมดที่เราได้รับ ก็ล้วนแล้วแต่ทำให้เรา "ไม่เป็นตัวของตัวเอง" เราพยายามทำตัวให้ไม่เป็นจุดสนใจ ขยับตัวออกมาเป็นฝ่ายสังเกตการณ์มากกว่าจะเป็นคนยกมือพูดในห้องประชุมหรือออกไปปาร์ตี้กับผู้คนจำนวนมาก ก็เพื่อที่จะสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ตัวเอง แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะ ไม่มีทางที่เราจะหนีจากสายตาจ้องมองเหล่านั้นได้



“กลายเป็นว่าสิ่งที่ผู้คนสนใจ คือมุมมองและทัศนคติจากภายนอกที่มีต่อเรา แทนที่จะเป็นเรื่องราวประสบการณ์ของเราเองในฐานะปัจเจก ตัวตนของเราถูกลดทอนเหลือเป็นเพียงหัวข้อในการแสดงความคิดเห็น ราวกับว่าเพศสภาพของพวกเราเป็น ‘ประเด็น’ ที่มีไว้เพื่อถกเถียง แทนที่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ ‘ตัวตน’ ของพวกเราเอง”


หลายครั้งหลายคราที่เวลาเราเข้าไปอยู่ในปริมณฑลของการถกเถียงโต้แย้ง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่อันทรงภูมิอย่างแวดวงวิชาการหรือพื้นที่ที่ดูราวกับจะเปิดกว้างอย่างพื้นที่ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง หัวข้อถกเถียงหรือสนทนาประจำวันของคนหลายคนคือเรื่องเพศ ซึ่งหัวข้อบางเรื่องก็ทำให้เราต้องเบือนหน้าหนี อาทิเช่น ทำไมผู้หญิงจึงรู้สึกแตกสลายเมื่อถูกข่มขืน ทำไมไม่รื้อถอนเรื่องความเจ็บปวดที่ถูกประกอบสร้างขึ้นมา ทำไมคนที่มีความหลากหลายทางเพศต้องโวยวายเรื่องการถูกเรียกขานนามที่ไม่ตรงกับเพศสภาพ ทำไมต้องเจ็บปวดกับการถูกล้อเลียนเพราะเป็นตุ๊ดหรือกะเทย ที่ต้องเบือนหน้าหนีไม่ใช่เพราะเราทนฟังเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ แต่เพราะบางคำถามในพื้นที่นั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อที่จะช่วยเหลือเราให้พ้นจากความทุกข์ทรมานที่เผชิญ ไม่ได้เป็นความต้องการจะเข้าใจในประสบการณ์ของเรา แต่เป็นการโต้แย้งถกเถียงเพียงเพื่อที่จะให้เรายอมรับว่าเราคิดผิดและเราควรเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไรเพื่อให้พวกเขาได้สนุกสนานกับการล้อเลียนเรื่องเพศและสบายใจมากขึ้นกับคำว่าถูกข่มขืน...


“เพศทวิลักษณ์น่ะก็เหมือนแขกในงานเลี้ยงที่มาถึงก่อนคุณจะทันได้ตั้งโต๊ะอาหาร ก่อนทารกจะคลอด

บรรดาญาติสนิทมิตรสหายผู้หวังดีทั้งหลายจะมาถามก่อนเลยว่า “เป็นเด็กผู้ชายหรือเด็กผู้หญิงล่ะจ๊ะเนี่ย?” ราวกับว่าเด็กทารกในท้องนั้นจะมีเลือดเนื้อขึ้นมาจริงๆ ก็ต่อเมื่อพวกเขารู้ว่าเด็กเป็นเพศอะไร ทั้งที่จริงๆ แล้วมีตั้งอีกหลายคำถามสำคัญที่น่าถามกว่าตั้งเยอะ ไม่ว่าจะเป็น “ลูกน้อยของเธอสบายดีมั้ย?” “ฉันพอจะช่วยอะไรได้บ้างหรือเปล่า?” ไม่ก็ “ทำไมเลี้ยงเด็กคนหนึ่งถึงใช้เงินเยอะขนาดนี้นะ?” หรือแม้แต่ “ฉันช่วยบริจาคสมทบทุนค่าเลี้ยงได้บ้างมั้ย?”


สำหรับย่อหน้านี้ แม้ว่าเราไม่เคยมีประสบการณ์ในการถูกถามเรื่องเพศของเด็กในท้อง แต่รอบตัวเรา เพื่อนของเรา คนที่เรารู้จัก คู่ที่มีความรักแบบiรักต่างเพศ มักจะถูกถามอยู่เสมอว่าลูกในท้องนั้นเป็นเพศอะไร เราสังเกตเห็นว่าบางคู่ก็ไม่ได้อยากตอบ แต่ก็ต้องตอบเพราะถูกถามซ้ำแล้วซ้ำเล่า บางคนพอคลอดออกมาแล้วเป็นเด็กผู้หญิงก็จะถูกถามต่อว่าแล้วเมื่อไหร่จะมีลูกชาย สังคมคาดหวังว่าต้องรู้เพศของลูกตั้งแต่อยู่ในท้อง แล้วก็จะชอบซื้อของขวัญให้ตามเพศของเด็ก


คำถามที่ดูธรรมดาสามัญนั้นหล่อหลอมสังคมได้อย่างแนบเนียนและฝังลึก เพราะสุดท้ายครอบครัวก็จะรู้สึกว่าต้องทำตามกรอบของสังคมไป ถ้าฉีกจากนั้นแล้วก็ต้องมานั่งอธิบายคนรอบตัวว่าทำไมถึงไม่ไปตรวจดูเพศลูก ทำไมซื้อสีฟ้าให้เด็กผู้หญิง เพราะงั้นมันคงง่ายกว่าที่จะทำตามบรรทัดฐานทางเพศที่สังคมกำหนดมาแล้ว



ความรู้สึกหลังการอ่าน


ครั้งหนึ่งในงานศพของญาติคนหนึ่ง ตอนอายุ 18 ปี เราเคยบอกกับแม่ว่า เราจะไม่แต่งงาน ไม่รู้ว่าทำไมถึงพูดไปแบบนั้นในช่วงเวลาขณะนั้น แต่แล้วแม่ก็ตะคอกกลับมาทันทีว่า


"ถ้ามึงไม่มีผัวแล้วจะมีเมียหรือไง"


เราน้ำตาไหล เอามือปาดน้ำตา แล้วนั่งฟังพระสวดต่อไป ไม่ได้พูดอะไรต่อ เราไม่เคยเข้าใจว่าทำไมมันถึงเป็นเรื่องใหญ่สำหรับแม่ เราแค่รู้สึกว่าเราไม่ได้อยากแต่งงาน ในที่นี้เราหมายถึงเราไม่อยากมีครอบครัวเหมือนที่คนในสังคมเชื่อกันว่าโตขึ้นต้องแต่งงาน มีลูก และเราก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีความรักกับผู้หญิงเท่านั้น แต่สำหรับแม่ เขาคิดว่าเราไม่แต่งงานเพราะไม่ชอบผู้ชาย แต่จะไปมีแฟนเป็นผู้หญิงแทน ซึ่งแม่คงคิดว่า การแต่งงานสำหรับผู้หญิงแปลว่าต้องคู่กับผู้ชายเท่านั้น ถ้าบอกว่าไม่แต่งงานก็แปลว่า ไม่ชอบผู้ชาย ทั้งๆที่มันไม่ได้บ่งบอกอะไรแบบนั้นเลย ตอนนั้นเราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเราถึงโกรธ เสียใจ ที่ถูกด่า แค่เพราะเราบอกว่า จะไม่แต่งงาน


พอได้มาอ่านงานเล่มนี้แล้วมันทำให้ย้อนคิดถึงเรื่องปฏิกิริยาจากสังคมที่เราได้รับ เวลาเราแสดงออกหรือบอกว่าจะทำหรือไม่ทำอะไรตามบรรทัดฐานทางเพศที่สังคมกำหนด มันมีแรงกระแทกมาจากหลากหลายทิศทาง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน สังคมข้างนอกอย่างที่ทำงาน สถานที่ต่างๆที่เรามีปฏิสัมพันธ์ด้วย เราจำได้ว่า ตอนที่บอกเพื่อนครั้งแรกว่าชอบผู้หญิงได้ด้วยนอกจากชอบผู้ชายแล้ว เพื่อนของเราก็เหมือนจะห้าม ไม่สนับสนุน ไม่ชอบใจ แล้วก็คิดว่าเราแค่สับสนไปเอง การถูกตั้งคำถามหรือถูกมองว่าเป็นตัวประหลาด เป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่อยากบอกกับเพื่อนหรือคนรอบตัวว่าเพศวิถีของตัวเองคืออะไร เราไม่อยากโดนแรงต้านซึ่งมาจากคนใกล้ตัวเราเอง เพราะมันเจ็บปวดยิ่งกว่าโดนคนอื่นที่เราไม่รู้จักต่อต้านเสียอีก


พอได้อ่านสิ่งที่อลกเขียน มันทำให้เราแน่ใจในหลายๆเรื่อง ที่ผ่านมาเราคิดเกี่ยวกับเรื่องเพศของตัวเองมาตั้งแต่เด็กๆ สมัยเด็กๆเราไม่ชอบใส่ชุดที่ซื้อให้เด็กผู้หญิงใส่กัน พวกชุดสีชมพูพองๆอะไรแบบนั้น เราไม่ชอบเล่นตุ๊กตาบาร์บี้ และเราชอบแต่งตัวแบบที่พวกเด็กผู้ชายเค้าได้ใส่กัน ชอบเล่นอะไรแบบผาดโผน เตะบอล ขี่จักรยานแข่งกัน แต่เราไม่รู้ว่าความรู้สึกที่มีต่อเรื่องเพศที่เราตั้งคำถามกับมันแบบนั้นคืออะไร มาจากไหน เรารู้แค่ว่าเราไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้หญิง แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นเด็กผู้ชายเหมือนกัน เราไม่ได้มีสำนึกทางเพศว่าตัวเองเป็นเพศอะไร แต่พอเติบโตขึ้นมา เราถูกบังคับให้ต้องเลือกเพศ ไม่ว่าจะเป็นการใส่กระโปรงไปเรียน การต้องใช้คำนำหน้าว่าเด็กหญิง นางสาว ต้องกรอกแบบฟอร์มต่างๆว่าเป็นผู้หญิง ซึ่งเราก็ทำตามที่สังคมบอกไป เพราะไม่รู้จะปฏิเสธบรรทัดฐานนี้ยังไง


มีช่วงที่เรารู้สึกว่าเราพยายามจะเป็นผู้หญิงที่ถูกต้องให้ได้ คือช่วงวัยรุ่น ที่สังคมบอกว่าผู้หญิงต้องรักกับผู้ชาย ผู้หญิงที่แสดงออกแมนๆจะโดนล้อว่าเป็นทอม เราไม่ได้อยากโดนล้อ ถ้าเป็นช่วงที่เด็กมากๆอาจจะไม่ได้รู้สึกแย่เท่าไหร่ แต่พอเป็นวัยรุ่นช่วงอายุ 15-16 ความกดดันทางสังคมมันหนักมากว่าเราต้องเป็นเพศอะไรสักอย่าง เราเลยพยายามแสดงออกว่าเป็นผู้หญิงด้วยการแต่งตัวแบบที่เรียกกันว่า สาวมาก เช่น การใส่เสื้อสายเดี่ยว แต่งหน้าทำผม และมีแฟนเป็นผู้ชายเพื่อยืนยันว่าเราเป็นผู้หญิง"ปกติ" เหมือนคนอื่น จนกระทั่งวันหนึ่ง เราเริ่มรู้สึกว่ามันไม่ใช่ เราไม่ได้อยากแต่งตัวแบบผู้หญิงตามที่สังคมกำหนด เราไม่ชอบใส่กระโปรง พอถึงจุดนึงเราก็ปฏิเสธการแต่งตัวแบบที่สังคมคาดหวังได้ แล้วสุดท้ายเพศวิถีของเราก็ลื่นไหลไปเรื่อยๆ เริ่มจากรักเพศตรงข้าม ไปสู่การรักเพศเดียวกัน จากรักเพศเดียวกันก็เป็นรักได้ทั้งสองเพศ แล้วจนกระทั่งมาถึงจุดที่เรารักคนได้ทุกแบบโดยไม่ขึ้นอยู่กับเพศสภาพหรือเพศกำเนิดของเขา (Pansexual) เรามาชัดเจนกับตัวเองว่าเรามีเพศวิถีแบบไหนก็ตอนที่อายุปลายยี่สิบแล้ว


เรื่องเพศวิถีอาจทำงานกับตัวเองได้เพราะเป็นเรื่องที่เราไม่ได้แสดงออกให้ใครเห็นตลอดเวลา แต่พอเป็นเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ เราเริ่มมีคำถามกับตัวเองมากขึ้นตอนที่ได้รู้จักกับเพื่อนที่เป็นนอนไบนารี่ชาวอินเดีย เราจำได้ว่าตอนที่เห็นลักษณะภายนอกของเค้า เราไม่รู้ว่าเค้านิยามตัวเองว่าอะไร เค้าแสดงออกเหมือนผู้หญิงคนหนึ่งตามความเข้าใจของเรา จนกระทั่งเค้าบอกว่าเค้าเป็นทรานเจนเดอร์-นอนไบนารี่ มันเลยทำให้เราตั้งคำถามทบทวนกับตัวเองว่า หรือจริงๆการที่เราไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นหญิงหรือชาย มันคือสิ่งนี้ เราแค่เคยชินและปลอดภัยกับการบอกว่าเราเป็นผู้หญิงเพื่อให้สังคมไม่ต้องตั้งคำถาม เพราะชีวิตมันจะง่ายกว่าหรือเปล่า และเมื่อเรากลับมาใช้ชีวิตที่เมืองไทย เราได้รู้จักกับชุมชนนอนไบนารี่ ได้เจอนักกิจกรรมที่ทำงานเรื่องนี้โดยตรง มันทำให้เราตั้งคำถามกับตัวเองมากขึ้นทุกวัน จนถึงตอนนี้เราคิดว่ามันชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆว่าเรามีปัญหากับการระบุว่าตัวเองเป็นผู้หญิงในแบบฟอร์มเอกสารต่างๆ จนตอนหลังเรามักจะระบุไปว่าเป็นนอนไบนารี่ แต่ยังไม่เคยประกาศออกไปว่าตัวเองได้เปลี่ยนการให้คำนิยามเป็นแบบอื่น เพราะคนก็จะเข้าใจว่าเราเป็นหญิงรักหญิงอย่างที่เคยรู้จักเรามาจากการเห็นเรามีแฟนเป็นผู้หญิง ซึ่งเอาเข้าจริงๆมันไม่เกี่ยวกับสำนึกของเราเลย เพราะสุดท้ายแล้วเรายังรู้สึก เอ๊ะ กับตัวเองตลอดว่าเรามีสำนึกของความเป็นผู้หญิงจริงๆหรือสังคมบอกว่าเราเป็นเพศนี้


เพราะในพาร์ทนึงเราก็ถูกกดขี่ในฐานะที่เราถูกบอกว่าเป็นผู้หญิง แน่นอนว่าเราจะรู้สึกกับสิ่งที่ผู้หญิงเผชิญมากๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถูกข่มขืนล่วงละเมิดทางเพศ การถูกคาดหวังจากสังคมว่าต้องเป็นผู้หญิงแบบไหน เพราะฉะนั้นงานเขียนของเราหรือเสียงที่เราสื่อสารออกไปมันก็จะเป็นประสบการณ์ในฐานะผู้หญิง มากกว่าจะเป็นสำนึกแบบนอนไบนารี่ เพราะเราไม่ได้ประกาศตัว และถ้าประกาศตัวออกไป เราคิดว่าประสบการณ์ในฐานะการถูกกดขี่หรือเลือกปฏิบัติเพราะการเป็นนอนไบนารี่ก็น่าจะทับซ้อนมากไปอีก ซึ่งถึงตรงจุดนี้ก็เลยเป็นความรู้สึกไม่มั่นใจว่าการระบุว่าตัวเองเป็นนอนไบนารี่กับสังคมไทยจะโดนต่อต้านขนาดไหน จะยุ่งยากในการใช้ชีวิตขนาดไหน คงเป็นความรู้สึกเดียวกับที่อลกต้องเจอในช่วงเวลาที่เค้ากำลังทบทวนตัวเอง



สิ่งที่คิดเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้


เราคิดว่าทุกคนควรได้อ่าน อลกอธิบายได้เข้าใจง่ายและเห็นภาพมากๆ เราคิดว่าคนทั่วไปจะเข้าใจสิ่งที่อลกสื่อได้ไม่ยากเกินไปนัก เว้นแต่จะเป็นนักต่อต้านความเท่าเทียมทางเพศตัวยง สำหรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศและต้องต่อสู้กับบรรทัดฐานทางเพศอย่างกลุ่ม LGBTIQN จะเข้าใจเรื่องนี้อย่างถึงที่สุด เพราะน่าจะมีชุดประสบการณ์ร่วมกันหลายอย่าง โดยเฉพาะคนที่มีอัตลักษณ์ที่ต่างออกไปจากบรรทัดฐานที่สังคมกำหนดอย่างเห็นได้ชัดจากภายนอก เช่น คนข้ามเพศ หรือนอนไบนารี่ที่มีการแสดงออกทางเพศไม่ตรงกับเพศกำเนิด ซึ่งปกติเวลาคนมองภายนอกปราดเดียวก็จะตัดสินกันง่ายมาก ความแตกต่างตรงนี้จะกลายเป็นจุดที่ทำให้ถูกกลั่นแกล้งล้อเลียนได้ง่ายที่สุดและนั่นเป็นจุดสำคัญที่ทำให้คนจำนวนมากไม่กล้าที่จะเป็นตัวของตัวเอง ตัวเราเองก็เป็นหนึ่งในคนกลุ่มนั้นเช่นกัน การต้องเป็นในสิ่งที่เราไม่ได้อยากเป็น ไมไ่ด้ทำในสิ่งที่อยากทำ เพราะกลัวสังคมจะตัดสิน ประณาม กลั่นแกล้ง ดูถูกเหยียดหยาม นั่นเป็นสิ่งที่เจ็บปวดที่สุดในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ควรจะเกิดมามีเสรีภาพในการใช้ชีวิตอย่างที่ต้องการแต่ไม่สามารถทำได้อย่างที่ใจคิด


เราคิดว่าถ้าใครมีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ถ้าไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องพูดถึงการทำลายทวิลักษณ์ทางเพศ หนังสือเล่มนี้น่าจะทำให้เข้าใจมากขึ้น ส่วนใครที่ยังอยู่ระหว่างการทบทวนตั้งคำถามกับเพศสภาพหรือชุดประสบการณ์ที่เกี่ยวโยงกับเรื่องเพศของตัวเอง ก็น่าจะทำให้ชัดเจนกับตัวเองมากขึ้นว่าถึงที่สุดแล้ว อะไรที่กีดกั้นไม่ให้เราเป็นในสิ่งที่ตัวเองต้องการ แล้วก็หวังว่ามันจะทำให้ผู้อ่านได้ผลิบานและสลัดทิ้งซึ่งขั้วตรงข้ามแบบชายหญิงที่จำกัดกั้นเราออกจากสิ่งที่อยากเป็น


อย่างไรก็ดี เราคิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องจิตนาการส่วนตัวของปัจเจกเท่านั้นที่ขวางกั้นไม่ให้เราเป็นอย่างที่เราต้องการ แต่ตราบใดที่คนในสังคมไม่ได้เปิดกว้างหรือยอมรับความหลากหลายได้มากพอที่คนๆนั้นจะกล้าเปิดตัวเองออกไป การจะเป็นตัวของตัวเองก็จะยากมากขึ้น เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่เราต้องเผชิญไม่ใช่แค่การต่อสู้กับความกลัวของตัวเอง แต่เป็นแรงต่อต้านจากสังคม ซึ่งถ้าเราไม่มีอำนาจภายในตัวเองมากพอ แรงเสียดทานนั้นอาจทำให้เราเจอกับปัญหารอบด้านจนรับมือไม่ไหวก็ได้


อลก อาจจะโชคดีที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ค่อนข้างเสรี บริบทของเขาอาจจะต่างจากบริบทของสังคมอื่น ถ้าเทียบกับการเป็นเควียร์หรือนอนไบนารี่ที่อินเดีย หรือในสังคมไทยที่ไม่ได้เป็นเมืองใหญ่ การเป็นตัวของตัวเองได้แบบนี้ส่วนหนึ่งก็มาจากพื้นเพในสังคมนั้นๆด้วย แต่ถ้าเปลี่ยนบริบทสังคม การจะก้าวออกมาอย่างแตกต่างก็คงไม่ง่ายเหมือนกัน ซึ่งนั่นก็จะกลับมาสู่จุดที่ว่าทำไมเราต้องมีหนังสือแปลดีๆแบบนี้ออกมาเยอะๆ เพราะอย่างน้อยเราคิดว่ามันจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงสังคมทีละเล็กละน้อยจนวันนึงเราจะไปถึงจุุดที่ทุกคนไม่ต้องกังวลกับการเป็นตัวของตัวเองอีกต่อไป


สุดท้ายนี้เราคิดว่า งานเล่มนี้เป็นหนังสือเล่มบางๆที่ทรงพลังมาก และหวังว่าจะถูกส่งต่อไปให้ผู้คนได้อ่านกันเยอะๆ ใครที่กำลังสนใจเรื่องของการขจัดเพศทวิลักษณ์และการสะท้อนทบทวนตัวเองในเรื่องอัตลักษณ์และสำนึกทางเพศ หรือใครก็ตามที่กำลังเลี้ยงดูลูกให้เติบโตมาเป็นคนที่มีพลังภายในตัวเองและรู้ใจตัวเอง หรือเพื่อที่จะเข้าใจลูกหลานของคุณ เราอยากแนะนำหนังสือเล่มนี้ไว้เป็นทางเลือกในการอ่านสำหรับคุณค่ะ


"แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน"

อลก เวด เมนอน เขียน

มุกดาภา ยั่งยืนภราดร แปล

สำนักพิมพ์ ซอย -Soi Press








ดู 705 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page