top of page

Feminista Recommended : ชวนอ่าน การปรึกษาแนวสตรีนิยม เพื่อฟื้นฟูอำนาจ ศักยภาพและสร้างความเป็นธรรม

รูปภาพนักเขียน: FeministaFeminista


“รูปแบบความรุนแรงที่ผู้หญิงประสบมากที่สุด คือ ความรุนแรงจากคู่รักหรือสามี เพราะสถาบันครอบครัวและสถาบันอื่น ๆ ในสังคม เช่น วัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา สื่อ และกระบวนการยุติธรรม ล้วนสนับสนุนและยอมรับให้ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องปกติหรือเป็นเรื่องโรแมนติก แต่เราทุกคนสามารถหยุดยั้ง ท้าทาย และร่วมกันสร้างความเข้าใจใหม่ได้ เพื่อสร้างครอบครัวที่ปลอดภัย เท่าเทียมและเป็นสุข”


หนึ่งในประโยคจากหนังสือที่มีชื่อว่า “การปรึกษาแนวสตรีนิยม เพื่อฟื้นฟูอำนาจ ศักยภาพ และสร้างความเป็นธรรม” ที่เขียนโดยคุณอวยพร เขื่อนแก้ว นักฝึกอบรมและผู้ร่วมก่อตั้ง ศูนย์ผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความเป็นธรรม ที่ทำงานผ่านการเรียนรู้หลากหลายแง่มุม ทั้งกระบวนการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตามแนวเควกเกอร์ แนวคิดและวิถีปฏิบัติสตรีนิยม การปรึกษาแนวสตรีนิยมเพื่อฟื้นฟูอำนาจและศักยภาพ และการพัฒนาจิตวิญญาณแนวพุทธธรรมเพื่อรับใช้สังคม


คุณอวยพรเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้น เพื่อให้ผู้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการปรึกษาแนวสตรีนิยม ซึ่งมีจำนวนกว่า 2,000 คน ได้ใช้หนังสือเล่มนี้เพื่อเป็นคู่มือในการทบทวนตรวจสอบการทำงานของตนเอง และเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และทักษะการปรึกษาแนวใหม่นี้ ให้แก่บุคลากรทั้งจากภาครัฐ องค์กรภาคประชาสังคม และผู้นำชุมชนที่ทำงานช่วยเหลือผู้ประสบความรุนแรงฐานเพศ ที่ไม่เคยผ่านการอบรมหลักสูตรนี้มาก่อน ซึ่งผู้เขียนเองเป็นหนึ่งในคนที่ไม่เคยผ่านการอบรมหลักสูตรดังกล่าวมาก่อน ผู้เขียนเป็นนักศึกษาจบใหม่คนหนึ่งที่มีความสนใจทางด้านจิตวิทยาและสิทธิความหลากหลายทางเพศ แต่ผู้เขียนอยากเชิญชวนทุกคนให้เปิดใจ และลองอ่านหนังสือเล่มนี้ เพราะสำหรับผู้เขียนแล้ว หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่เมื่ออ่านแล้ว เราจะได้รับความรู้ใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับต้นตอของปัญหาในสังคมไทยและความรุนแรงต่าง ๆ ซึ่งคุ้มค่าแก่การอ่านอย่างแน่นอน


หนังสือมีการใช้คำศัพท์เฉพาะทางด้านสังคมศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ แต่สามารถทำความเข้าใจได้ เนื้อหามีการให้ความหมายของคำศัพท์แต่ละคำ เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจ และมีการยกตัวอย่างประกอบเพิ่มเติมที่เชื่อมโยงกับบริบทในสังคม ซึ่งผู้อ่านจะต้องวิเคราะห์หรือมองภาพและคิดตามไปด้วย โดยโยงเข้ากับชีวิตของตนเอง คนรอบข้าง หรือตัวอย่างความรุนแรงฐานเพศในสื่อต่าง ๆ การอ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้ผู้เขียนได้เรียนรู้และทำความเข้าใจเรื่องอำนาจ เพศภาวะและเพศวิถี ความรุนแรงรูปแบบต่าง ๆ ในสังคมไทย ยกตัวอย่างเช่น กรอบวิเคราะห์เรื่องอำนาจ (Power Analysis) กรอบวิเคราะห์เรื่องเพศภาวะและเพศวิถี (Gender and Sexuality Analysis) ความรุนแรงทางเพศและเพศวิถี (Gender and Sexuality-Based Violence) ความรุนแรงในครอบครัว อาการเจ็บป่วยที่เกิดจากความรุนแรงบนฐานเพศ (Trauma Symptoms of Gender and Sexuality-Based Violence) และความรู้เรื่องอัตลักษณ์ (Identity) เป็นต้น


โดยบทที่กล่าวถึงเรื่องกรอบวิเคราะห์เพศภาวะและเพศวิถี ทำให้ผู้เขียนเข้าใจปัญหาในสังคมไทยที่ใช้ระบบสังคมแบบชายเป็นใหญ่ ที่กำหนดกรอบความเป็นเพศของผู้ชายและผู้หญิงเอาไว้ และกำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ พื้นที่ อำนาจ สถานภาพ อิสรภาพ ความคาดหวัง พฤติกรรม การแต่งกาย และการให้ความหมายและคุณค่าความเป็นเพศและร่างกายของเพศชายหญิงที่แตกต่างกัน ผ่านสถาบันต่าง ๆ ในสังคม เช่น สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา เป็นต้น ซึ่งกรอบความเป็นเพศของผู้หญิงในสังคมไทยได้ส่งผลกระทบทางด้านลบกับผู้เขียนหลายด้าน เพราะในสังคมไทยกำหนดกรอบความเป็นผู้หญิงไว้ว่า ผู้หญิงจะต้องอ่อนหวาน เรียบร้อยทั้งการแต่งตัวและพฤติกรรมการแสดงออก และถูกมองว่าเป็นเพศที่อ่อนแอ มีอารมณ์อ่อนไหว ดูแลตนเองไม่ได้ ต้องพึ่งพิงผู้ชาย ผู้หญิงจึงควรให้ความสำคัญกับการแต่งงานกับผู้ชายและมีลูก ผู้หญิงมีหน้าที่เป็นผู้ตาม ต้องเชื่อฟัง เคารพ ให้เกียรติ และเอาอกเอาใจสามีหรือคนในบ้าน ผู้หญิงมีหน้าที่ต้องทำงานบ้าน ทำอาหาร ฯลฯ


สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้เขียนเข้าใจถึงต้นตอของปัญหาที่สร้างบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบบางอย่างให้กับผู้เขียนที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ผู้เขียนมักถูกคาดหวังให้รับผิดชอบเรื่องการทำงานบ้าน การทำอาหาร และต้องดูแลคนอื่น ๆ ในครอบครัว เนื่องจากผู้เขียนเป็นพี่สาวคนโตในบ้าน ในขณะที่พี่น้องของผู้เขียนที่เป็นผู้ชาย ไม่จำเป็นต้องทำงานบ้านหรือทำอาหาร แต่ในขณะเดียวกันก็ถูกพ่อแม่คาดหวังให้ตั้งใจเรียน ต้องเรียนให้สูง ต้องมีความเข้มแข็ง อดทน มีความเป็นผู้นำ พึ่งพาตนเองได้ ต้องไม่แสดงความอ่อนแอ พี่น้องของผู้เขียนที่เป็นผู้ชายจึงมักมีเวลาว่างไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับเพื่อนในวันหยุดเรียน และมีสังคมเพื่อนฝูงนอกบ้านมากกว่าตัวผู้เขียน ซึ่งกรอบความเป็นเพศของผู้ชายและผู้หญิงในสังคมไทย นอกจากจะส่งผลเสียต่อชีวิตผู้หญิงแล้ว ยังส่งผลเสียต่อชีวิตของผู้ชายด้วย การกำหนดความเป็นเพศของผู้ชายไว้ว่าจะต้องเข้มแข็ง ต้องไม่แสดงออกถึงอาการที่วัฒนธรรมเห็นว่าเป็นความอ่อนแอ เช่น การร้องไห้ กลัว แสดงความไม่มั่นใจให้ผู้อื่นเห็น เป็นต้น ซึ่งการถูกหล่อหลอมเช่นนี้อาจส่งผลให้ผู้ชายตัดขาดหรือไม่สามารถแสดงออกซึ่งความรู้สึก อาจทำให้เกิดการเก็บกดและส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตได้


อีกปัญหาจากกรอบความเป็นเพศของผู้หญิงในสังคมไทยที่ผู้เขียนต้องเจอคือ สังคมไทยกำหนดให้การแต่งกายของผู้หญิงที่ดูเรียบร้อยและสุภาพไว้ว่าจะต้องใส่กระโปรง แต่ตัวผู้เขียนเองเป็นผู้หญิงที่ไม่ชอบการใส่กระโปรง เพราะรู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว และชอบใส่กางเกงขายาวมากกว่า แต่เรามักจะเห็นกฎและข้อบังคับต่าง ๆ ที่สถาบันต่าง ๆ ในสังคมไทยได้กำหนดให้ผู้หญิงต้องใส่กระโปรงเท่านั้น เช่น สถาบันการศึกษา ที่กำหนดให้นักเรียนหรือนักศึกษาหญิงต้องใส่กระโปรง หรือเมื่อเข้าสู่วัยทำงาน บริษัทเอกชนหรือหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ก็กำหนดให้เครื่องแบบการแต่งกายของผู้หญิงต้องใส่กระโปรงเท่านั้น จึงจะดูสุภาพและเรียบร้อย ซึ่งในบางที่อาจกำหนดรายละเอียดมากกว่านั้นคือ ต้องใส่กระโปรงทรงเอ หรือทรงกระสอบเท่านั้น เป็นต้น ซึ่งปัญหาตรงนี้ทำให้ผู้เขียนเองก็ยังไม่เข้าใจว่าการใส่กระโปรง ดูเรียบร้อยมากกว่าการใส่กางเกงขายาวตรงไหน ? ผู้เขียนรู้สึกว่าการที่สังคมไทยสร้างบรรทัดฐานเช่นนี้ ถือเป็นการละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตัวผู้เขียน ที่บังคับให้ผู้เขียนจะต้องแต่งกายตามรูปแบบที่กำหนดเท่านั้น ปัญหานี้ส่งผลกระทบกับการเลือกงานของตัวผู้เขียนด้วย เพราะผู้เขียนจะเลือกงานที่ทางบริษัทหรือผู้จ้างไม่ได้กำหนดกฎระเบียบไว้ว่าผู้หญิงจะต้องใส่กระโปรงมาทำงานเท่านั้น หรือเป็นบริษัทที่มีความยืดหยุ่นในการแต่งกายของพนักงาน


สำหรับบทที่ผู้เขียนรู้สึกประทับใจที่สุดในหนังสือ จะเป็นเรื่อง “การปรึกษาแนวสตรีนิยมเพื่อฟื้นฟูอำนาจ ศักยภาพ และสร้างความเป็นธรรม” ตามชื่อของหนังสือ ในบทนี้ทำให้ผู้เขียนรู้ว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดของการให้คำปรึกษาผู้อื่น ไม่ใช่การให้คำแนะนำแก่ผู้ที่มาปรึกษา แต่เป็นการใช้ทักษะ “การฟัง” ด้วยหัวใจ ฟังอย่างลึกซึ้ง และมีความกรุณา เพราะสิ่งที่คนมีความทุกข์ต้องการมากที่สุดไม่ใช่คำพูดปลอบใจหรือคำแนะนำ แต่คือการที่มีใครสักคนรับฟังความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับเขาอย่างตั้งใจและไม่ตัดสิน และในบทนี้ได้พูดถึงการสะท้อนกลับหรือการเป็นกระจกให้แก่ผู้ที่มาปรึกษา ซึ่งจะทำให้ผู้ที่มาปรึกษาได้ทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้ทบทวนความคิด ความรู้สึก วิธีการแก้ไขปัญหา และได้เห็นมุมมองหรือแง่คิดที่ตนเองไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งการเห็นมุมมองใหม่ ๆ จะเป็นประโยชน์อย่างมากแก่ผู้ที่มาปรึกษาให้สามารถเข้าใจปัญหาและเข้าใจตนเอง นอกจากทักษะการฟังและการสะท้อนกลับแล้ว ยังมีทักษะการบอกจุดแข็ง และทักษะการตั้งคำถาม เพื่อทำให้ผู้ที่มาปรึกษาได้มีพลังอำนาจที่เกิดมาจากภายใน และพลังนี้จะเป็นตัวผลักดันให้ผู้ที่มาปรึกษาตัดสินใจหาทางออกจากปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ได้ด้วยตนเอง และอีกประเด็นสำคัญที่หนังสือเล่มนี้ได้ให้ความรู้ไว้คือ วิธีการดูแลตนเองในฐานะของการเป็นผู้ให้คำปรึกษา เพื่อป้องกันหรือลดผลกระทบจากการเจ็บป่วย ความเครียด ความขัดแย้ง และภาวะหมดไฟในการทำงานหรือในการให้คำปรึกษา

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่รวบรวมความรู้ หลักการ ชุดทักษะการฟื้นฟูอำนาจและศักยภาพที่ช่วยทั้งการเยียวยาบาดแผลทางใจ ฟื้นฟูความมั่นใจ คุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แนวทางสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้ที่ถูกกระทำ และคุณสมบัติของผู้ให้การปรึกษาที่สามารถให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ประสบปัญหาความรุนแรงได้ รวมถึงวิธีการดูแลสุขภาวะของผู้ให้การปรึกษา นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาเรื่องพัฒนาการของศาสตร์ทางจิตวิทยาและจิตวิทยาแนวสตรีนิยม และความเป็นธรรมทางสังคม ที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจประวัติศาสตร์และพัฒนาการของจิตวิทยาสตรีนิยมได้ง่ายยิ่งขึ้น


จากหนังสือเล่มนี้ ทำให้ผู้เขียนทำการสรุปได้ว่า “การปรึกษาแนวสตรีนิยม เป็นการปรึกษาที่ผนวกเอาบริบททางสังคม อัตลักษณ์ทางสังคม และอิทธิพลของความมีอภิสิทธิ์และการกดขี่ มาใช้เป็นกรอบคิดหรือฐานในการทำความเข้าใจปัญหาของผู้รับบริการ” และการปรึกษาแนวสตรีนิยม ให้คุณค่าแก่ข้อมูลที่เป็นประสบการณ์จากชีวิตจริงของผู้คนที่ประสบกับความรุนแรง ความไม่เป็นธรรมทางสังคมและการเมือง ซึ่งจุดเด่นของการปรึกษาแนวสตรีนิยม คือ “มีหลักการสำคัญที่ให้คุณค่ากับประสบการณ์ชีวิตของผู้คนว่าเป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญมาก ในขณะที่การปรึกษาแนวอื่น ๆ มักให้คุณค่ากับความรู้ทางวิชาการที่นักจิตวิทยาได้เรียนรู้มา” และนักจิตวิทยาแนวสตรีนิยมมองว่าพฤติกรรมของคนเราไม่ได้เกิดขึ้นหรือดำรงอยู่จากปัจจัยภายในตัวบุคคลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสังคมและสิ่งแวดล้อมของบุคคลนั้นด้วย


สำหรับใครที่มีความสนใจประเด็นทางด้านการปรึกษา จิตวิทยา และสตรีนิยม หนังสือเล่มนี้ถือเป็นหนึ่งในหนังสือที่พลาดไม่ได้ ต้องมีติดตัวไว้สักเล่ม และสำหรับบุคคลทั่วไปที่อยากได้ข้อมูลหรือความรู้เกี่ยวกับการปรึกษาแนวสตรีนิยม หรือต้องการทำความเข้าใจสาเหตุของปัญหาต่าง ๆ ในสังคมไทย เช่น ความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงและความเจ็บป่วยที่เกิดบนฐานของเพศ ระบบสังคมแบบชายเป็นใหญ่ เป็นต้น ก็สามารถอ่านทำความเข้าใจได้ และความรู้ในหนังสือเล่มนี้ทำให้เราสามารถนำความรู้ไปช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ประสบปัญหาความรุนแรงได้


นอกจากหนังสือเล่มนี้จะทำให้เราได้รับความรู้ต่าง ๆ อย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าใครก็ตามที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ จะเกิดการตระหนักถึงการกระทำของตัวเอง ทำให้เราได้ทบทวนตัวเองว่าเราเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อและสร้างความรุนแรงหรือไม่ และทำให้เราเกิดการเคารพหรือให้เกียรติผู้อื่นมากยิ่งขึ้น


*ผู้สนใจสามารถสั่งซื้อได้ที่ http://www.feminista.in.th/product-page/feminist-counseling





ดู 454 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comments


bottom of page