"เฮ้อ ฉันอยากเป็นอิสระจากขน ไม่อยากคิดเรื่องขนอีกเลยแม้แต่เส้นเดียว ตอนนั้นฉันคิดแบบนั้นจริงๆ และในขณะที่ทั้งร่างหมดเรี่ยวหมดแรงนัั้น ฉันฝันว่าฉันกำจัดขนให้หมดร่างของตัวเอง ป้า...ทำไมฉันจะเป็นอิสระจากมันไม่ได้เหรอ ฉันไม่ต้องการขนหรอก พอแล้ว ไม่เอาแล้ว ชีวิตที่ต้องคิดถึงแต่เรื่องขนแบบนี้มันลำบากจะตายไป"
-ขัดเกลา หน้า 28-
"กฎหมายการว่าจ้างที่เท่าเทียมระหว่างชายและหญิงเกิดขึ้นเกือบจะพร้อมกับคดีกูลิโกะ โมรินางะ โดยกฎหมายบัญญัติไว้ว่า มีจุดประสงค์เพื่อการันตีโอกาสและการปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมระหว่างผู้หญิงและผู้ชายในที่ทำงาน แต่ในความเป็นจริงแล้วมันก็แค่ผักชีโรยหน้า พวกพนักงานผู้หญิงบ่นเรื่องพวกนี้ในห้องน้ำและในห้องล็อกเกอร์อยู่เสมอ"
-ชีวิตของคุณคุซุฮะ หน้า 113-
"สังคมนี้ช่างไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย พนักงานผู้ชายจำเป็นต้องแกล้งทำเป็นว่าตัวเองทำทุกอย่างได้หมด แม้จะเป็นสิ่งที่ตัวเองทำไม่ได้ ส่วนพนักงานผู้หญิงต้องแสร้งว่าทำอะไรไม่เป็น แม้ตัวเองจะทำได้ก็ตาม ตลอดเวลามีผู้หญิงมากมายขนาดไหนกันที่ต้องทำเหมือนตัวเองไม่มีพรสวรรค์ แล้วมีผู้ชายมากขนาดไหนที่ทำเหมือนว่าตัวเองมีพรสวรรค์"
-ชีวิตของคุณคุซุฮะ หน้า 114-
"เพื่อนของฉันทุกคนเคยเจอเหตุการณ์แบบเดียวกัน เรื่องพวกนี้เกิดขึ้นทุกวันราวกับเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว มันกลมกลืนเข้ากับชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคนจนเหมือนเป็นเรื่องปกติ"
-วันหยุดงาน หน้า 177-
"แต่ถ้าให้พูดจากใจจริงล่ะก็ ฉันเกลียดการที่กัมจังกับตัวฉันต้องจ้องเขม่นตาขวางใส่ผู้ชายแล้ว มันน่าเบื่อหน่ายไปหมด ที่จริงฉันอยากให้กัมจัง ตัวเอง และใครสักคนยิ้มแย้มให้กันอย่างมีความสุขตลอดเวลาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาส่วนตัว
-วันหยุดงาน หน้า 178-
"ต้นเอโนกิสงสารผู้หญิงในยุคนั้นมากเพราะพวกเธอไม่มีนมผง แม้ในยุคปัจจุบันความเชื่อฝังลึกในเรื่องการให้นมแม่ยังคงอยู่ และผู้หญิงทั้งหลายยังต้องทนทุกข์ในเรื่องนี้ไม่เปลี่ยน แต่ถ้าตอนนั้นมีนมผงล่ะก็ สถานการณ์คงจะดีกว่านี้แน่ เมื่อมีสิ่งทดแทนกันได้ให้อุ่นใจ เวลามีอะไรเกิดขึ้นผลลัพธ์ก็จะต่างออกไปมากทีเดียว ทางเลือกอื่นเป็นสิ่งสำคัญมาก พวกเธอต้องทุกข์ทรมานเพราะไร้ทางเลือกนี่ล่ะ"
-ต้นเอโนกิ หน้า 194-
บางส่วนจากหนังสือ "ไม่เชื่องแล้วไปไหน" วรรณกรรมแปลจากภาษาญี่ปุ่น ผลงานของนักเขียน มัตสึดะ อาโอโกะ และผลงานแปลของ เกวลิน ลิขิตวิทยาวุฒิ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อีกา EKA Publishing
หลังจากได้รับการติดต่อจากสำนักพิมพ์ให้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนกับทางผู้แปลและผู้เขียนหนังสือ ในหัวข้อที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของขบวนการเฟมินิสต์กับแวดวงวรรณกรรมของไทยและญี่ปุ่น ฉันตอบตกลงอย่างไม่ลังเล เมื่อได้รับหนังสือไม่เชื่องแล้วไปไหน ฉันอ่านรวดเดียวจบ และพบว่านี่คืองานวรรณกรรมเฟมินิสต์อีกเล่มที่ควรค่าแก่การแนะนำให้กับผู้อ่านที่สนใจประเด็นความเท่าเทียมทางเพศและแนวคิดเฟมินิสม์
ที่ผ่านมา มีนักอ่านหลายคนที่ส่งข้อความเข้ามาถามว่า ถ้าหากอยากรู้จักกับแนวคิดเฟมินิสม์ อยากรู้ว่าเฟมินิสต์เรียกร้องอะไร พูดเรื่องอะไร เฟมินิสต้าในฐานะแหล่งข้อมูลความรู้และร้านหนังสือเฟมินิสต์จะแนะนำเล่มไหนได้บ้าง โดยเฉพาะถ้าหากผู้อ่านไม่ถนัดอ่านงานแนววิชาการหรืองานที่มีข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ไม่สามารถย่อยได้ง่ายนัก หากเป็นงานประเภทวรรณกรรม งานชิ้นไหนที่พอจะทำให้เห็นภาพว่าเฟมินิสต์เรียกร้องอะไร
แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นคือหนังสือเล่มนี้
ย้อนกลับไปที่งานเสวนา วันที่ 31 มีนาคม 2566 ที่ร้านหนังสือก็องดิด ฉัน นักเขียนและนักแปล รวมไปถึงผู้ดำเนินรายการในวันนั้นและผู้เข้าฟัง ร่วมแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ เราคุยกันหลายประเด็น
หนึ่งในนั้นคือคำถามว่า จากเรื่องสั้นทั้งหมด 17 เรื่อง แต่ละคนชอบเรื่องไหนมากที่สุด สำหรับตัวฉันเองแล้ว จริงๆก็ชอบทุกเรื่อง เพราะว่าทุกเรื่องนั้นฉายให้เห็นเรื่องเล่าของผู้หญิงญี่ปุ่นที่เชื่อมโยงกับผู้หญิงทั่วโลก ในการต่อสู้กับจารีตเดิม โดยเฉพาะกับจารีตแบบชายเป็นใหญ่ที่กดทับผู้หญิงในทุกช่วงอายุและในทุกๆพื้นที่
แต่หากให้เลือกว่าชอบเรื่องไหนมากที่สุดในเล่ม ฉันเลือกตอน “วันหยุดงาน”
เพราะว่าฉันชอบตัวละครในเรื่องนี้ที่มีชื่อเรียกว่า "กัมจัง" ฉันรู้สึกว่า ถ้ากัมจังมีจริง ผู้หญิงทุกคนคงจะอยากมีกัมจังเอาไว้ใกล้ๆตัว เพราะผู้หญิงจำนวนมากไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหน ก็จะถูกคุกคามตลอดทั้งในบ้านและที่สาธารณะ (ถ้ามีกัมจังก็จะ) ไปได้ทุกที่อย่างปลอดภัย แต่เพราะว่าชีวิตจริงเราไม่มี (กัมจัง) เรื่องนี้สะท้อนว่าผู้หญิงไม่เคยรู้สึกปลอดภัย และเรามองหาสัตว์ประหลาดมาคุ้มครองดูแลชีวิตของเราอยู่เสมอ
พอบอกไปแบบนั้น คุณมัตสึดะก็พยักหน้ารับแล้วบอกกับ คุณโช ฟุกุโตมิ ล่ามภาษาไทย-ญีุ่ปุ่นในงานวันนั้นว่า
ผู้หญิงที่เขียนมาคุยกับเธอเรื่องหนังสือ ก็พูดถึง (กัมจัง) แบบนี้เหมือนกัน ทุกคนชอบตัวละครกัมจังมาก เพราะว่าในญี่ปุ่นเองก็มีผู้หญิงที่ต้องเผชิญกับ sexual harassment แบบเดียวกับในหนังสือเช่นเดียวกัน
ในขณะที่คุณเกวลิน นักแปล เลือกเรื่องที่ชอบที่สุดคือตอน "ชีวิตของคุซุฮะ" เพราะแสดงให้เห็นภาพชีวิตของผู้หญิงที่ต้องอยู่ในกรอบ เพราะส่วนตัวเธอเองก็อยู่ในครอบครัวคนจีน ซึ่งบอกว่าบางเรื่องผู้หญิงทำไม่ได้
เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า อะไรคือแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือเล่มนี้ของคุณมัตสึดะ เธอตอบว่า
จริงๆแล้วผลงานเล่มแรกไม่ได้ใช้เลนส์เฟมินิสม์ในการเขียน เพียงแต่เล่าถึงความประหลาดในสังคมญี่ปุ่นที่มันมีอยู่ แต่บรรณาธิการเล่มบอกว่านี่คือเรื่องเฟมินิสม์ เลยเพิ่งเข้าใจว่าแบบนี้คือมุมมองหรือเรื่องเล่าแบบเฟมินิสต์ ทางกองบ.ก.ก็ดีใจที่มีเรื่องราวแบบนี้ตีพิมพ์ เลยกลายเป็นแรงผลักดันในการเขียนงานเล่มต่อไป และเมื่อพูดถึงปัญหาที่เฟมินิสต์ต้องเผชิญ ก็ต้องพูดถึงเรื่องระบบ ซึ่งงานเขียนของญี่ปุ่นไม่ค่อยพูดเรื่องระบบเท่าไร แต่ตอนนี้ไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว โดยเฉพาะกับผู้หญิงอายุน้อยที่ลุกขึ้นมาวิพากษ์ระบบหรือจารีตเดิมๆ
สำหรับฉันแล้ว เมื่อถูกถามว่าประทับใจอะไรในหนังสือเล่มนี้ คำตอบก็คือ ในไทยเราจะไม่ค่อยเห็นงานแบบนี้ งานที่เป็นเรื่องเล่าของผู้หญิงที่มาจากประสบการณ์การถูกกดขี่ทางเพศ จะมีบ้างก็ประปราย ส่วนใหญ่เป็นงานแปล และนักเขียนไทยที่เขียนงานเกี่ยวกับเฟมินิสต์ก็ยังน้อยอยู่ แต่หนังสือเล่มนี้เผยให้เห็นถึงเรื่องเล่าที่ผู้หญิงต้องเผชิญกับการถูกกดทับ การถูกตีตราทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการที่ร่างกายของผู้หญิงมีขนมากเกินไป การที่ผู้หญิงที่เป็นแม่ถูกคาดหวังให้ต้องให้นมลูกให้ได้อย่างสมบูรณ์ การที่ผู้หญิงจะต้องเป็นภรรยาที่ดีและคอยสนับสนุนสามีให้ก้าวหน้าในอาชีพทำงาน การที่ผู้หญิงถูกแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศในรูปแบบต่างๆ การถูกคุกคามทางเพศ การเข้าถึงโอกาสในหน้าที่การงาน
เรื่องเล่าพวกนี้เป็นเรื่องเล่าร่วมสมัย และข้ามชาติข้ามพรมแดน เพราะไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใด ผู้หญิงจำนวนมากก็จะมีประสบการณ์ร่วมกัน แบบที่ฉันอยากจะมีกัมจังเป็นของตัวเอง เช่นเดียวกับที่ผู้หญิงญี่ปุ่นอยากจะได้กัมจังไว้ปกป้องคุ้มครองเพื่อที่เราจะได้ไม่ถูกคุกคามทางเพศหรือเดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างปลอดภัยจากผู้ชายที่ไม่สามารถควบคุมความต้องการทางเพศของตัวเองได้
นอกจากการรู้สึกร่วมไปกับตัวละครในเรื่องสั้นของหนังสือเล่มนี้แล้ว สิ่งที่ประทับใจมากๆอีกอย่าง คือเมื่ออ่านแล้วตัวฉันเองไม่ได้รู้สึกถึงความเศร้าแบบที่ไม่มีทางออก แต่ในทางกลับกัน หนังสือเล่มนี้สร้างพลังให้กับผู้อ่านที่มีประสบการณ์การถูกกดขี่ทางเพศอย่างฉันได้ค่อนข้างมาก เพราะในเรื่องสั้นแต่ละเรื่องผู้เขียนไม่ได้สร้างตัวละครในเรื่องให้ถูกต้อนจนมุมหรือโศกเศร้าอยู่ลำพัง แต่กลับสร้างให้ตัวละครสามารถตั้งคำถามกับจารีตเดิม ต่อสู้กับระบบที่ไม่เป็นธรรม รวมไปถึงการแก้แค้นและเอาคืนผ่านตัวละครผี สัตว์ประหลาดหรือสิ่งมีชีวิตที่ไม่อาจนิยามชื่อให้ได้ ไม่ว่าจะผ่านตัวละคร กัมจัง ผีนับจาน ตัวละครต้นเอโนกิ คุณคุซุฮะ
เมื่อถูกถามว่ามีวิธีการเลือกนิทานพื้นบ้านที่นำมาเขียนและตีความใหม่ในเล่มนี้อย่างไร คุณมัตสึดะเล่าว่า
เรื่องที่เลือกมาเป็นเรื่องที่ได้ยินตั้งแต่เด็ก ซึ่งเป็นเรื่องที่เล่าจากมุมมองของผู้ชาย ส่วนตัวไม่เข้าใจว่าทำไมผู้หญิงจึงเป็นแต่ตัวร้ายน่ารำคาญ และถูกแสดงให้เห็นมุมมองจากผู้ชาย จึงนำมาเล่าให้ตัวละครได้มีตอนจบที่มีความสุข และเลือกเรื่องที่คนญี่ปุ่นรู้จักกันดีอยู่แล้ว บางเรื่องต้องรีเสิร์ชข้อมูลเพิ่มเติม แต่บางเรื่องก็ไม่ได้ลงลึกมาก มีบางเรื่องที่เปลี่ยนจากตัวละครผู้หญิงขี้หึง ขี้อิจฉาในตำนาน นิสัยไม่ดี โดยที่ไม่ได้มองสาเหตุที่มาที่ไปที่ทำให้ตัวละครเป็นเช่นนั้น ให้มาเล่าเรื่องราวจากมุมมองของผู้หญิง โดยพูดถึงเรื่อง domestic violence (ความรุนแรงในความสัมพันธ์)
และคำถามสำคัญว่า ทำไมจึงสนใจประเด็นเฟมินิสม์
คุณเกวลิน แลกเปลี่ยนว่า เริ่มจากความไม่ชอบก่อน เลยอยากรู้ว่ามันเป็นยังไงกันแน่ พยายามทำความเข้าใจในเรื่องที่เกิดขึ้น แล้วก็ไม่เข้าใจว่าทำไมคนเราจึงให้เกียรติกันในฐานะมนุษย์เหมือนกันไม่ได้ ประสบการณ์การทำงานกับคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่คือกับผู้ชาย บางทีเวลาผู้หญิงทำอะไรที่ผู้ชายคิดว่าผู้หญิงทำไม่ได้ก็จะโดนห้าม หรือเคยเจอผู้ชายญี่ปุ่นวิจารณ์การแต่งตัวของผู้หญิงไทย (สังคมการทำงานกับคนญี่ปุ่น) ยังมีอคติทางเพศอยู่ แต่เริ่มมีการพูดเรื่อง sexual/power harassment ในที่ทำงานมากขึ้น กลายเป็นว่าผู้ชายเริ่มทำตัวไม่ถูก กลัวทำอะไรผิด (เข้าข่ายคุกคาม) จึงถือว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงแต่ก็ยังไม่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งคงเป็นเรื่องของ generation ด้วย
สำหรับตัวฉันเองแล้ว ถ้าหากถามว่าทำไมจึงสนใจประเด็นเฟมินิสม์กับงานวรรณกรรม คำตอบก็คือ
ณ ขณะนี้ ทุกอย่างกำลังเกิดความเปลี่ยนแปลงหลายเรื่อง ทั้งทางวัฒนธรรมและการเมือง มีงานเขียนแนวเฟมินิสต์ออกมามากขึ้น เช่น หนังสือเรื่อง คิมจียองเกิดปี 82 ก็เป็นงานเขียนที่ทรงพลัง หรืออย่างงานของนักเขียนไทยเล่มล่าสุด เรื่อง ลูกสาวจากดาววิปลาส ของจอมเทียน จันสมรัก ก็เป็นเรื่องเล่าของผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาเล่าเรื่องการถูกกดขี่และสภาพของสังคมชายเป็นใหญ่ที่ทำให้ชะตากรรมของผู้หญิงแต่ละคนต้องพบเจอกับเรื่องเลวร้ายต่างๆ รวมไปถึงงานวรรณกรรมของนักเขียนชาวไต้หวันที่พูดถึงการถูกล่วงละเมิดและการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ เรื่อง สวนสนุกแห่งการลงทัณฑ์ รักในฝันของฝางซือฉี ที่จนถึงตอนนี้ฉันก็ยังไม่กล้าเปิดอ่าน และ เสียงของเฟมินิสต์ในสังคมก็ดังขึ้นเรื่อยๆ แต่เสียงต่อต้านก็ดังขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน
นอกจากนี้ เฟมินิสต์ไม่เคยถูกฉายภาพที่ดีอยู่แล้ว แต่มักจะถูกทำให้เป็นผีปีศาจ เป็นความน่าเกลียด ทำลายความสงบสุขในสังคม ดังนั้นงานเขียนจึงมีความสำคัญมากในสังคมที่มีการกดขี่ งานเขียนเป็นสิ่งที่ใช้ในการต่อสู้ โต้กลับ เยียวยา เสริมพลัง ซึ่งหนังสือเล่มนี้ก็คือหนึ่งในนั้น
เมื่อก่อนมีเพียงงานวิชาการเฟมินิสต์ที่อยู่ในวงแคบ แต่ตอนนี้มีงานที่กว้างขึ้น มีนิยายแปล มีสื่อสิ่งพิมพ์ในรูปแบบต่างๆที่เข้าถึงง่าย แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นอุปสรรคสำหรับงานวรรณกรรมแนวเฟมินิสต์ คือ วงการวรรณกรรมทั้งหลายก็เต็มไปด้วยชายแท้เหยียดเพศ และการเขียนเรื่องผู้หญิงก็ไม่เท่ากับเป็นงานเขียนแบบเฟมินิสต์ รวมทั้งคำว่าเฟมินิสต์ก็ยังมี stigma ไม่มีใครอยากพูดว่าตัวเองเป็นเฟมินิสต์ การที่ผู้หญิงจะลุกขึ้นมาเขียนเรื่องราว trauma ของตัวเองไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ได้รับการสนับสนุน
หลังจากนั้นคุณมัตสึดะร่วมแลกเปลี่ยนด้วยว่า
งานเฟมินิสต์ในวงการวรรณกรรมญี่ปุ่นมีมาตั้งแต่อดีต แต่ไม่แมส ไม่ใ่ชกระแสหลัก ตอนนี้มีการนำกลับมาพิมพ์ใหม่มากขึ้น ข้อดีของวงการหนังสือญี่ปุ่นคือแม้จะมีคนอ่านน้อยแต่ก็ยังได้ตีพิมพ์ ในอดีตมีงานเขียนของผู้หญิงที่อ่านแล้วพบว่าเนื้อหามีการถ่ายทอดแบบเฟมินิสต์ แต่สังคมไม่ให้คุณค่า ดังนั้นก้าวต่อไปคือการ rediscover งานเขียนเก่าๆ ให้คนยุคนี้ได้อ่านกันมากขึ้น
นอกจากนี้ ตอนนี้สังคมญี่ปุ่นโดยทั่วไปจะคล้ายๆสังคมไทย คือเกิดการเปลี่ยนแปลงเพราะโซเชียลมีเดีย เพราะเป็นพื้นที่ที่ได้เจอคนที่แชร์ความรู้สึกแบบเดียวกัน ผู้หญิงทำงานมีความโดดเดี่ยว พยายามสู้ (กับสังคมเหยียดเพศ) เท่าที่จะทำได้ ก็ได้มาเจอกันในโซเชียล เป็นพื้นที่พูดคุยปรึกษาให้กำลังใจกัน
แต่ในแง่การเมืองญี่ปุ่นยังไม่เปลี่ยนมากนัก ยังถูกควบคุมโดยชายแก่อนุรักษ์นิยม มีผู้หญิงน้อย ทำงานยาก แต่ถึงอย่างนั้นเมื่อมีกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิ เสียงคัดค้านจะดังมากขึ้น ส่วนข้างบนยังไม่เปลี่ยน แต่ส่วนล่างเริ่มขยับแล้ว เพราะมีคอมมิวนิตี้ที่ empower กันและกัน และในระดับปัจเจกก็มีความกล้าที่จะส่งเสียงมากขึ้น
สิ่งที่คนญี่ปุ่นกำลังพูดถึงในตอนนี้คือเรื่อง care work is work สังคมต้องให้ความสำคัญร่วมกัน
คุณมัตสึดะยังได้ส่งท้ายความคิดเห็นของเธอเอาไว้ว่า
Personal is political คนญี่ปุ่นโดยทั่วไปคิดว่าชีวิตดีแล้วจึงไม่สนใจประเด็นความไม่เป็นธรรมทางเพศ ไม่คิดว่าต้องพูดถึง ที่ผ่านมาเป็นสังคมที่เกรงใจ ไม่พูดถึงปัญหาตรงๆ ซุกไว้ใต้พรม แต่ตอนนี้เริ่มเปลี่ยนไป คนเริ่มพูดกันมากขึ้น ในฐานะนักเขียนจึงอยากเล่าเรื่องแบบนี้ในสังคมในหลากหลายรูปแบบเพื่อนักอ่านที่หลากหลาย
เพราะเฟมินิสม์ยังถูกทำให้ดูน่ากลัว จึงจะพยายามถ่ายทอดให้เข้าใจง่าย เข้าถึงง่าย
จริงๆในวันงานเราพูดถึงการเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์ในญี่ปุ่นและในไทย รวมไปถึงความเคลื่อนไหวในแวดวงวรรณกรรมทั้งญี่ปุ่นและไทยอีกหลายเรื่อง บรรยากาศงานเป็นไปด้วยความสนุกสนานและได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากประสบการณ์การเขียนของคุณมัตซึดะ ผู้แปล รวมไปถึงผู้ดำเนินรายงาน คุณฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ที่ได้ถามคำถามและเสริมความคิดเห็นที่มีต่อหนังสือเล่มนี้ น่าเสียดายที่งานเสวนานี้เป็นงานปิดและไม่ได้มีถ่ายทอดให้ดูย้อนหลัง
บทความนี้จึงอยากจะแชร์ในมุมมองของคนทำงานเคลื่อนไหวเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ แนวคิดเฟมินิสม์ และในฐานะผู้แปลหนังสือเฟมินิสต์และคนทำสำนักพิมพ์เฟมินิสต์ ให้ผู้อ่านบางส่วนที่สนใจวรรรณกรรมเฟมินิสต์ได้รับทราบว่า หนังสือ ไม่เชื่องแล้วไปไหน ควรค่าแก่การอ่านอย่างไร และมุมมองของผู้เขียนที่มีต่อแนวคิดเฟมินิสต์เป็นอย่างไร
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับหนังสือที่พอจะรวบรวมมาได้ มีบางส่วนดังนี้
คุณเกวลิน นักแปล
-การใช้สรรพนามในเรื่องต้องเลือกใช้เป็นพิเศษ เพื่อให้เหมาะสมกับบริบท อย่างเช่นในเรื่องต้นอิโนกิ ใช้สรรพนาม 自分 (เป็นสรรพนามไม่มีเพศ) ซึ่งภาษาอังกฤษใช้ she แต่ส่วนตัวมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีเพศ เป็นธรรมชาติ จึงเลือกใช้สรรพนาม "มัน"
-คำว่าไม่เชื่องมาจากคำว่า wild สำนวนภาษาไทยมีคำว่า “ตายแล้วไปไหน” จึงนำมาปรับเป็นชื่อเรื่อง เอาคำว่าไม่เชื่องมาแทนคำว่าตาย
- ในเรื่องสั้นที่ตัวละครใช้สำเนียงคันไซ แปลรอบแรกใช้ภาษากลาง แล้วติดหมายเหตุเอาไว้ แต่ทางกองบ.ก.เสนอให้ใช้ภาษาถิ่น จึงมาลงตัวที่ภาษาถิ่นของภาคใต้ โดยตีความจากบุคลิกของคนท้องถิ่นคันไซที่มีความโผงผาง
คุณมัตซึดะ นักเขียน
- ในเรื่อง ฮินะจัง เป็นเรื่องที่ได้แรงบันดาลใจมาจากราคุโกะ (ศิลปะการเล่าเรื่องตลก) มีการจบเรื่องหลายแบบ ซึ่งค่อนข้างเหยียดเพศ (เหยียดเกย์) ส่วนตัวไม่ชอบ จึงหาวิธีเล่าแบบอื่น
- เรื่อง ผีช่วยเลี้ยงลูก เคยฟังตอนเด็กแล้วชอบ เลยเอามาใส่บริบทปัจจุบันเพื่อสะท้อนปัญหาครอบครัวญี่ปุ่น
- ผีผู้หญิงในภาพรวม (ในตำนานโบราณญี่ปุ่น) จะค่อนข้างดราม่าน้ำเน่า เลยอยากเล่าแบบใหม่ ให้มีความสนุก และเป็นไปในเชิงบวก
- ในเรื่อง ชีวิตของคุสึฮะ คือชีวิตผู้หญิงในกรอบแบบญี่ปุ่น 100% จึงเล่าเรื่องจากแนวคิดที่ว่า what if ถ้าหาก เธอไม่ถูกกรอบจำกัดแล้วจะเป็นอย่างไร
สำหรับผู้อ่านที่สนใจสั่งซื้อหนังสือ ไม่เชื่องแล้วไปไหน
สามารถสั่งซื้อโดยตรงได้ที่เพจของสำนักพิมพ์อีกา EKA Publishing
หรือหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านหนังสืออิสระที่มีวางขาย
และเร็วๆนี้จะมีงานพูดคุย (online talk) ระหว่าง สำนักพิมพ์ Feminista ร่วมกับ สำนักพิมพ์ ETC. Book ของประเทศญี่ปุ่น ผู้พิมพ์หนังสือ feminism is for everybody ที่เขียนโดย bell hooks และแปลเป็นฉบับภาษาญี่ปุ่น โดยมีคุณ มัตสึดะ อาโอโกะ ผู้เขียนหนังสือ ไม่เชื่องแล้วไปไหน เป็นผู้ดำเนินรายการ มีล่ามภาษาไทยญี่ปุ่น คุณ โช ฟุกุโตมิ ช่วยอำนวยความสะดวก ซึ่งงานนี้จะจัดขึ้นที่เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2023 เวลา 19.00 เป็นต้นไป รายละเอียดของงานสามารถอ่านได้ที่
https://feministaetcbooks.peatix.com/ งานจะพูดคุยกันเป็นภาษาญี่ปุ่น สำหรับใครที่ฟังภาษาญี่ปุ่นได้หรือมีเพื่อนอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น หากสนใจสามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ของงานค่ะ
Comments