top of page

Feminista Recommended: รักร้อนแรงแห่งดินแดนสังคมนิยม

รูปภาพนักเขียน: FeministaFeminista



ช่วงที่ผ่านมาสังคมไทยเริ่มพูดถึงแนวคิดแบบสังคมนิยมกันมากขึ้น รวมไปถึงการออกมาวิพากษ์ระบอบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในสื่อโซเชียลมีเดีย มีหนังสือเกี่ยวกับแนวคิดสังคมนิยมออกมาจำนวนมากในห้วงเวลาที่ผู้คนกำลังต้องการศึกษาแนวคิดสังคมนิยมนี้ และหนึ่งในหนังสือที่พูดถึงแนวคิดนี้ก็คือหนังสือที่มีชื่อว่า

รักร้อนแรงแห่งดินแดนสังคมนิยม ซึ่งเป็นหนังสือที่แปลมาจากหนังสือชื่อ “Why women have better sex under socialism : and other arguments for economics independence” เขียนโดย Kristen Ghodsee นักวิชาการภาควิชารัสเซียและยุโรปตะวันออกศึกษามหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย โดยที่ผ่านมาเธอมีผลงานเขียนต่อเนื่องเกี่ยวกับเรื่องเพศสภาพ ระบบสังคมนิยมและระบบหลังสังคมนิยมในยุโรปตะวันออก


หนังสือเล่มนี้นำเสนอข้อวิพากษ์เกี่ยวกับความรักความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคมที่อยู่ภายใต้ระบอบทุนนิยมกับระบอบสังคมนิยม โดยเน้นไปที่สองขั้วตรงข้ามของปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมายาวนาน คือการต่อสู้กันระหว่างระบอบทุนนิยมที่เชื่อในเรื่องของการแข่งขันเสรีของปัจเจกในระบบเศรษฐกิจและระบอบสังคมนิยมที่พยายามโค่นล้มการผูกขาดและกดขี่ของระบบทุนที่ทำร้ายคนในสังคมโดยเฉพาะชนชั้นแรงงานที่ถูกขูดรีดจากพวกนายทุนในนามของตลาดเสรี และโน้มน้าวให้ใช้ระบอบที่ทุกคนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต


โดยผู้เขียนเชื่อมโยงเน้นไปที่ระบอบเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อชีวิตรักของผู้คนโดยเธอวิพากษ์ว่าระบอบทุนนิยมนั้นทำให้ชีวิตรักของผู้หญิงและผู้ชายไม่ประสบความสำเร็จและผู้หญิงในระบอบทุนนิยมถูกกดขี่จากผู้ชายเพราะสาเหตุมาจากการอยู่ภายใต้อำนาจทางเศรษฐกิจที่เน้นภาวะพึ่งพา ตามบทบาททางเพศที่ถูกประกอบสร้างขึ้น โดยระบอบทุนนิยมนั้นให้ผู้ชายมีบทบาทในการทำงานนอกบ้าน ส่วนผู้หญิงมีหน้าที่ดูแลบ้าน และงานบ้านก็ไม่ถูกนับเป็นงานหรือมีค่าแรงตอบแทน ส่งผลให้ผู้หญิงอยู่ภายใต้ภาวะพึ่งพิงผู้ชายที่เป็นผู้นำครอบครัว นอกจากนี้เธอยังวิพากษ์สถาบันการแต่งงาน การทำให้ผู้หญิงเป็นสินค้าและบริการทางเพศ โดยอิงกับทฤษฏีของนักวิชาการคนสำคัญอย่าง Alexandra Kollontai ที่พยายามจะชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างชีวิตรักในระบอบทุนนิยมกับสังคมนิยม และพยายามปลดแอกผู้หญิงออกจากการถูกกดขี่และครอบงำทางเศรษฐกิจโดยผู้ชาย โดยหัวใจหลักสังคมนิยมคือการทำให้ผู้หญิงนั้นเป็นอิสระจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งงานเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์จากผู้ชายในรูปแบบของการจ่ายค่าเลี้ยงดู ค่าใช้จ่ายต่างๆ การค้าบริการทางเพศ การเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ต่างๆ แต่ทว่าความพยายามของเธอก็ไม่สำเร็จเพราะผู้นำชายในระบอบสังคมนิยมขณะนั้นไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เธอทำ รัฐที่ใช้ระบอบสังคมนิยมล้มต่างเหลวในหลายๆเรื่อง ดังตัวอย่างที่ Kristen เขียนไว้ในย่อหน้าข้างล่างนี้


“สตาลินผู้ซึ่งขึ้นสู่อำนาจเผด็จการช่วงปลายศตวรรษที่ 1920 ได้ตัดสินใจว่า คงจะง่ายกว่าถ้าย้อนกลับไปใช้ระบบที่ผู้หญิงเป็นคนตั้งท้องและเลี้ยงลูกแบบฟรีๆ ภายใต้การแต่งงานแบบเก่า ขณะเดียวกันก็บังคับให้พวกเธอทำงานนอกบ้านเพื่อช่วยสร้างกำลังทางอุตสาหกรรมโซเวียต”


“รัฐบาลสังคมนิยมห้ามไม่ให้ถกเถียงเรื่องการละเมิดทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว และการข่มขืน และแม้ว่าพวกเขาจะพยายามให้ผู้ชายมีส่วนร่วมในการทำงานบ้านและการเลี้ยงดูลูก แต่กระนั้นผู้ชายส่วนใหญ่ก็ยังต่อต้านการก้าวข้ามบทบาททางเพศ ผู้หญิงหลายคนรับภาระเป็นสองเท่า ต้องออกไปทำงานเป็นทางการตามคำสั่งข้างนอกและทำงานบ้านด้วย”


แม้จะไม่สามารถทำตามเป้าหมายได้สำเร็จ แต่แนวคิดของ Alexandra Kollontai ก็เป็นรากฐานให้กับนักเคลื่อนไหวเฟมินิสต์หลายๆคนที่พยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อปลดแอกผู้หญิงจากการถูกกดขี่ และความล้มเหลวในช่วงเวลานั้นก็ไม่ได้ทำให้นักสตรีนิยมหลายๆคนล้มเลิกแนวคิดที่จะทำให้ผู้หญิงมีอิสรภาพภายใต้ระบอบสังคมนิยม


กลับมาที่เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ Kristen อ้างอิงนักทฤษฏีทางเศรษฐศาสตร์และนักสังคมนิยมหลายๆคน ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเรื่องเศรษฐศาสตร์เซ็กส์ เช่น การอ้างอิงสถิติความพึงพอใจทางเพศของหญิงชายในประเทศที่ใช้ระบบสังคมนิยมกับทุนนิยม หรืองานศึกษาที่ว่าด้วยทัศนคติเกี่ยวกับเซ็กส์ของเด็กในโรงเรียนและแรงงานหนุ่มสาว ที่ฮังการี หรือเพศวิทยาที่ศึกษาเรื่องการถึงจุดสุดยอดของผู้หญิงในเชโกสโลวาเกีย และงานวิจัยในเยอรมันเรื่องการแบ่งงานบ้านกันทำระหว่างหญิงชาย เพื่อเน้นย้ำว่า ผู้หญิงและเพศหลากหลายจะปลดแอกตัวเองได้ก็ต่อเมื่ออยู่ภายใต้ระบอบเศรษฐกิจและสังคมแบบสังคมนิยม และมีรัฐเข้ามาดูแลเรื่องสวัสดิการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการช่วยเลี้ยงดูบุตร การประกันการจ้างงานของผู้หญิง การมีเงินสวัสดิการต่างๆให้ผู้หญิงและเด็ก เพื่อที่พวกเธอจะไม่ต้องพึ่งพาผู้ชาย


สังคมนิยมดูเหมือนจะเป็นทางออกที่สดใสของความเท่าเทียมทางเพศ แต่กระนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นก็มักจะมาจากความไม่ต้องการสูญเสียอำนาจของผู้ชาย เพราะจากผลสำรวจที่เธอยกมาก็พบว่าผู้ชายหลายคนรู้สึกว่าตัวเองสูญเสียสถานะนำทางเศรษฐกิจไปเพราะการเปลี่ยนไปใช้ระบอบสังคมนิยมที่ทำให้ผู้หญิงขึ้นมามีอำนาจทัดเทียมกันทางเศรษฐกิจ และไม่ต้องพึ่งพิงผู้ชายอีกต่อไป รวมไปถึงนโยบายของรัฐที่มีต่อการผลิตประชากรเพื่อแรงงานก็เป็นอุปสรรคหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงยังคงถูกกดขี่ทางเพศ


หนังสือเล่มนี้อธิบายปัญหาของระบอบทุนนิยมที่มีผลต่อการกดขี่ผู้หญิงหรือความรักความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชายได้ดี แต่สิ่งที่ผู้เขียนยังมีคำถามก็คือ การโฆษณาว่าระบอบสังคมนิยมจะทำให้ผู้หญิงปลดแอกจากการถูกกดขี่หรือเงื่อนไขทางเศรษฐกิจนั้นดูเหมือนจะเป็นการโฆษณาชวนเชื่อที่โอ่อ่าไปสักนิด เพราะในหนังสือเองก็กล่าวถึงความล้มเหลวในระบอบสังคมนิยมที่สุดท้ายแล้วไม่ได้ช่วยให้ชีวิตผู้หญิงหรือคนหลากหลายทางเพศได้มีชีวิตอย่างที่ตัวเองต้องการได้อย่างแท้จริง เพราะยังติดกรอบเรื่องความต้องการให้ผู้หญิงมีลูกให้กับการผลิตแรงงานภาคอุตสาหกรรมของประเทศนั้นๆ และยังมีเรื่องของวัฒนธรรมต่างๆที่เป็นปัจจัยให้ผู้หญิงเลือกไปทำงานบริการทางเพศ ทั้งๆที่มีสวัสดิการของรัฐอยู่แล้ว หรือคำถามที่ว่า ถ้าหากหญิงชายมีความรักกันโดยปราศจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ ทำไมอัตราการหย่าร้างในประเทศที่ใช้ระบอบสังคมนิยมถึงได้มีสูง อะไรที่เป็นปัจจัยให้ผู้หญิงและผู้ชายไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้ต่อไป ทั้งๆที่ปราศจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจแล้ว และคำถามคืออะไรที่การันตีได้ว่าการจีบผู้หญิงในชนชั้นเดียวกัน มีความเท่าเทียมกันทางหน้าที่การงานแล้วจะทำให้ความสัมพันธ์นั้นเป็นความสัมพันธ์ที่แท้จริงและจริงใจ ซึ่งตรงนี้หนังสือไม่ได้พูดถึงไว้


แต่อย่างไรก็ตาม Kristen ก็ยังย้ำว่า แม้ระบอบสังคมนิยมจะล้มเหลวในการพยายามจะแก้ไขเรื่องความเท่าเทียมทางเพศหลายๆเรื่อง แต่ระบอบทุนนิยมก็เลวร้ายกว่าอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งตรงนี้ผู้เขียนค่อนข้างเห็นด้วย ไม่มีอะไรเห็นแย้งกับ Kristen เลยเรื่องความเลวร้ายของระบอบทุนนิยม เพียงแต่ในฐานะนักอ่าน ก็คิดว่าการยกเรื่องตัวเลขสถิติทางเศรษฐศาสตร์แค่ด้านเดียวมาอธิบายเรื่องความรักความสัมพันธ์ของมนุษย์นั้นออกจะแห้งแล้งไปสักหน่อย และไม่ค่อยพูดถึงปัจจัยอื่นๆที่เป็นไปได้ในการทำให้ความรักความสัมพันธ์นั้นเท่าเทียมซึ่งไม่ได้มีแค่เรื่องเศรษฐกิจหรือตัวเลขการเงินเท่านั้น


หนังสือเล่มนี้ให้รายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับความล้มเหลวของระบอบทุนนิยมในการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ แต่ก็ยังมีจุดอ่อนตรงความพยายามที่จะอ้างถึงสรรพคุณที่ครอบจักรวาลของสังคมนิยมว่ามันจะสามารถทำให้ผู้หญิงและเพศหลากหลายมีความเท่าเทียมทางเพศได้เพียงเพราะการปลดล็อคเงื่อนไขเศรษฐกิจ ทั้งๆที่ในความเป็นจริงยังมีปัจจัยอื่นๆอีกมากมายที่จะทำให้ชีวิตรักหรือเซ็กส์นั้นร้อนแรงได้นอกเหนือจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ เช่น ปัจจัยทางวัฒนธรรมและความเชื่อ จารีต วิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ในแง่มุมอื่นๆที่ไม่ได้อิงกับระบบเศรษฐกิจ


แต่ถ้าหากถามว่านักสตรีนิยมหรือผู้ที่เคลื่อนไหวเรื่องความเท่าเทียมทางเพศควรอ่านหนังสือเล่มนี้ไหม ผู้เขียนเห็นว่าควรอ่าน เพื่อทำความเข้าใจถึงแนวคิดที่วิพากษ์ระบอบทุนนิยมกับการกดขี่ทางเพศและเพื่อสรรสร้างวิถีทางในการขับเคลื่อนเพื่อความเท่าเทียมทางเพศภายใต้ระบอบสังคมนิยมต่อไปโดยอาศัยบทเรียนที่ล้มเหลวและประสบความสำเร็จที่ผ่านมาเป็นฐานในการทำงานเพื่อความเปลี่ยนแปลง



รักร้อนแรงแห่งดินแดนสังคมนิยม

Kristen Ghodsee เขียน

เกศกนก วงษาภักดี แปล

สำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่าน








ดู 454 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page