top of page

Feminista Recommended : รู้จักกับ Zubaan Books และผู้บุกเบิกวงการหนังสือเฟมินิสต์ในอินเดีย

รูปภาพนักเขียน: FeministaFeminista



หากใครติดตามวงการสื่อสิ่งพิมพ์งานวิชาการและการเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์ในอินเดีย ชื่อของ Zubaan Books ย่อมปรากฎขึ้นในบทสนทนาและในห้วงความคิด เฟมินิสต้าชวนมาทำความรู้จักกับสำนักพิมพ์ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับการก่อตั้งสำนักพิมพ์เฟมินิสต้ากันค่ะ


Zubaan Books เริ่มต้นมาจากการทำงานของเฟมินิสต์ชาวอินเดียสองคน คือ Urvashi Butalia กับ Ritu Menon โดยในตอนแรกทั้งสองคนใช้ชื่อสำนักพิมพ์ว่า Kali for Women ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นสำนักพิมพ์เฟมินิสต์แห่งแรกของอินเดีย เริ่มก่อตั้งเมื่อ ปี 1984 ในเมืองนิวเดลีด้วยเงินทุนจำนวนไม่มากนัก โดย Butalia กับ Menon ตั้งใจจะพิมพ์งานที่เขียนโดยผู้หญิง หรือเกี่ยวข้องกับผู้หญิง ในช่วงเวลาที่กระแสการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิผู้หญิงกำลังเข้มข้นราวๆปี 1980


งานช่วงแรกๆที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ และมีภาษาฮินดี้บ้างเล็กน้อย เป้าหมายหลักคือการนำเรื่องราวของผู้หญิงที่มักไม่ได้รับความสนใจหรือถูกเพิกเฉย มาจัดพิมพ์เผยแพร่ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของงานวิชาการหรืองานที่มีลักษณะเป็นวรรณกรรม เรื่องเล่าต่างๆ


ในช่วงแรกๆของการตีพิมพ์งาน เนื่องจากจัดพิมพ์ออกมาเป็นภาษาอังกฤษ และมีสำนักงานอยู่ที่เมืองหลวง ทำให้สำนักพิมพ์ถูกมองว่ามีลักษณะของความเป็นชนชั้นนำ ทั้งในแง่การใช้ภาษา ถิ่นที่อยู่ และสถานะทางสังคม แต่หลังจากพิมพ์งาน Shareer ki Jankari (‘About the Body’) ในปี 1989 ซึ่งเป็นหนังสือที่ว่าด้วยเซ็กส์และร่างกายของผู้หญิง เรื่องเลือดประจำเดือนที่นับว่าเป็นเรื่องต้องห้ามของอินเดียในการพูดถึง เขียนโดยผู้หญิง 75 คนในหมู่บ้านแห่งหนึ่งจากรัฐราชาสถาน และมีการจำหน่ายในราคาพิเศษ การตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ได้ทำให้ช่องว่างหรือกำแพงของความเป็นชนชั้นนั้นถูกทำลายลง ความพยายามในการที่จะนำเสียงของผู้หญิงชายขอบออกมาสู่สังคมกระแสหลัก ในโลกของงานวิชาการและวงการสิ่งพิมพ์ก็ดูจะประสบความสำเร็จมากขึ้น



หลังจากทำงานกันมาได้ระยะหนึ่ง ในปี 2003 ทั้งสองคนก็แยกกันทำงาน โดย Butalia มาก่อตั้ง สำนักพิมพ์ Zubaan Books ส่วน Menon ก่อตั้งสำนักพิมพ์ Women Unlimited


สำหรับชื่อ Zubaan เป็นภาษาฮินดี้ แปลว่า ลิ้น และในขณะเดียวกันก็มีความหมายอื่นๆด้วย เช่น เสียง ภาษา การพูด การสนทนา โดยงานส่วนใหญ่ที่สำนักพิมพ์จัดทำออกมา มีทั้งงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศในแง่มุมต่างๆ อัตชีวประวัติของบุคคล นวนิยายที่เขียนโดยผู้หญิง เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะมีเสียงของผู้หญิงชายขอบแล้ว ยังมีการพิมพ์งานของกลุ่มเควียร์ และมีการแตกไลน์การทำงานออกมาเป็น Young Zubaan ที่เน้นการตีพิมพ์งานสำหรับเด็กหรือเยาวชน เช่น คู่มือการคุยเรื่องเพศกับเด็กหรือครอบครัวของเด็ก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนิยายภาพที่บอกเล่าเรื่องราวการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้หญิงที่ต่อสู้เรื่องสิทธิผู้หญิงในอินเดียออกมาอีกหลายเล่ม เช่น Drawing the line : Indian Women Fight Back




สำหรับความทรงจำของผู้เขียนที่มีต่อสำนักพิมพ์ Zubaan สมัยเรียนต่อปริญญาโท สาขา Gender Studies ที่อินเดีย ได้มีโอกาสอ่านหนังสือจากสำนักพิมพ์ Zubaan มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นหนังสือที่ใช้ในการเรียนการสอนที่อาจารย์กำหนดให้อ่านในชั้นเรียนแต่ละวิชา อย่างเช่น "Feminist Research Methodology" ที่ใช้ในการทำความเข้าใจการทำวิจัยแบบเฟมินิสต์ หรือ "Queer Activism" ที่นำมาใช้อ้างอิงในการทำบทความวิจัยว่าด้วยเรื่องขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่ม LGBT ในอินเดีย และเล่มที่ผู้เขียนชอบมากเป็นพิเศษคือ "Picture This !" หนังสือภาพที่ว่าด้วยเรื่องประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของผู้หญิงในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่อินเดียโดยศิลปินที่วาดภาพในเล่มคือศิลปินหญิงที่มีพื้นเพมาจากหมู่บ้านที่ว่านั้นเอง




นอกจากนี้ Zubaan ยังมีหนังสืออีกหลายเล่มที่น่าอ่านทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดเฟมินิสม์ในบริบทของประเทศอินเดียและครอบคลุมถึงเอเชียใต้ ทั้งในรูปแบบหนังสือเล่มหรือ E-Books


หนังสือของสำนักพิมพ์ Zubaan ทำให้ผู้เขียนมีแรงบันดาลใจที่จะก่อตั้งสำนักพิมพ์งานเฟมินิสต์ของตัวเองเมื่อเรียนจบกลับมาที่ประเทศไทย และเป็นตัวอย่างของการทำงานที่ตั้งใจว่าจะทำต่อไปในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์งานของนักเขียนหญิงจากกลุ่มชายขอบ ชาติพันธุ์ หรืองานเขียนของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และงานวิชาการเกี่ยวกับแนวคิดเฟมินิสม์ทุกแขนง


สำหรับคนที่สนใจทำความรู้จักกับสำนักพิมพ์ Zubaan หรือหนังสือของสำนักพิมพ์ เข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์กันได้ที่ https://zubaanbooks.com/


ทำความรู้จักกับ Urvashi Butalia และ Ritu Menon ได้ที่


อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับสำนักพิมพ์เฟมินิสต์ในอินเดียได้ที่




ดู 109 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page