top of page

Feminista Review:รีวิวคอร์ส The Sexuality, Gender and Rights Institute Exploring Theory and Practice

รูปภาพนักเขียน: FeministaFeminista


ผู้เข้าร่วมคอร์สทั้งหมดกว่า 45 ประเทศ


ช่วง Feminista Review วันนี้จะพามารู้จักกับคอร์สเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับเพศวิถี ความเป็นเพศ และสิทธิทางเพศ จากองค์กรด้านสิทธิทางเพศ ที่ชื่อคอร์สว่า The Sexuality, Gender and Rights Institute: Exploring Theory and Practice จัดโดย Creative Resource Empowerment and Action หรือเรียกย่อๆว่า CREA ค่ะ องค์กรนี้ตั้งอยู่ที่อินเดียนะคะ


ช่วงปี 2015 หรือหรือราวห้าปีก่อน เรามีโอกาสได้ไปเรียนคอร์สนี้ที่จัดขึ้นในประเทศตุรกี เมืองอิสตันบูล ตัวคอร์สจะเป็นลักษณะของการเปิดรับสมัครแบบมีทุนค่าเรียนให้และแบบจ่ายเงินเอง รับสมัครคนทำงานด้านสิทธิทางเพศจากทั่วโลก ไม่เกินสี่สิบห้าคน


ตอนที่สมัครไป เราไม่มีเงินค่าสมัครค่ะ เลยสมัครแบบขอรับทุนเต็มจำนวน ค่าสมัครตอนนั้นอยู่ที่ราวๆ 1250 เหรียญ หรือราวๆสี่หมื่นกว่าบาท ไม่รวมค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับและค่าใช้จ่ายส่วนตัวอื่นๆระหว่างอยู่ที่นั่นทั้งหมด 7 วัน

ผลการสมัครตอบรับมาว่าเราได้รับทุนครึ่งจำนวน ทำให้เราต้องหาเงินที่เหลือมาจ่าย ซึ่งถ้ารวมกับค่าเครื่องบินและค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ เราไม่มีทางหาได้แน่นอน เลยตัดสินใจเปิดระดมทุนในเบื้องต้น และได้รับทุนสนับสนุนจากเพื่อนๆนักกิจกรรมและนักวิชาการมาจำนวนหนึ่ง รวมถึงการเขียนขอทุนจาก UNDP ซึ่งทำงานด้านการพัฒนาบุคลากรที่ทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชน และเราได้รับทุนมาในนาทีสุดท้าย ทำให้สามารถซื้อตั๋วเครื่องบิน มีค่าอาหารระหว่างทาง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ


รายละเอียดในการขอทุนหรือเขียนใบสมัคร จะไม่ขอพูดถึงในบทความนี้ แต่อยากเล่าคร่าวๆว่า คอร์สนี้สอนอะไรเราบ้าง และเราได้เรียนรู้อะไรจากคอร์สนี้บ้างค่ะ สำหรับผู้ที่สนใจคอร์สอบรมแนวนี้เอาไว้เป็นแนวทางสมัครเรียนในอนาคตได้


ก่อนอื่นเลย เมื่อกำหนดวันเดินทาง ยืนยันตอบรับการเข้าร่วมทั้งหมดแล้ว ทางผู้จัดเค้าส่งเปเปอร์หรือบทความที่จะต้องใช้ในการเรียนครั้งนี้มาให้อ่านก่อนล่วงหน้าค่ะ รวมๆแล้วทั้งหมดประมาณ 68 ชิ้น ซึ่งตัวเราเองไม่เคยอ่านงานวิชาการภาษาอังกฤษมาก่อนเลย ทำให้ต้องพยายามอ่านงานบางส่วนอย่างยากลำบาก และไม่สามารถอ่านจนครบทั้งหมดได้ค่ะ แต่เปเปอร์ทุกอันที่ส่งมาให้นั้นน่าสนใจมากๆ (สามารถขอลิสต์ได้ทางอีเมล์เฟมินิสต้าค่ะ)


เมื่อไปถึงตุรกี มีผู้เข้าร่วมคอร์สที่มาจากหลากหลายองค์กรค่ะ ทั้งองค์กรที่ทำงานด้านความหลากหลายทางเพศ องค์กรด้านผู้ทำงานบริการทางเพศ องค์กรเด็ก องค์กรผู้หญิง องค์กรที่ทำงานเรื่องผู้พิการ ผู้ลี้ภัย ทำให้แต่ละคนมีประสบการณ์การทำงานที่แตกต่างหลากหลายมาแลกเปลี่ยนในคลาส ส่วนตัวเราเองด้วยข้อจำกัดทางภาษา เลยไม่ค่อยกล้าแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆในห้องมากนักค่ะ และทุกคนก็ดูเก่งภาษาอังกฤษกันมากๆ ในขณะที่เราได้แต่นั่งฟังคนอื่นพูดและจดสิ่งที่ได้เรียนรู้ในแต่ละคลาสเท่าที่จะทำได้


รูปแบบคอร์สของที่นี่ จะเป็นลักษณะของการเชิญคนมาบรรยายค่ะ ไม่ว่าจะเป็นศาตราจารย์ทางด้าน Gender Studies จากมหาวิทยาลัยในอเมริกาหรือมหาวิทยาลัยในอินเดียและจีน หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิทางเพศจากองค์กรต่างๆทั่วโลก หัวข้อที่บรรยาย เช่น


-ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน

-วิธีคิดเกี่ยวกับเรื่องเพศวิถี แนวคิดของ เกล รูบินและ ลำดับชั้นทางเพศ (Sexual Hierarchy)

-สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ เช่น การทำแท้ง การคุมกำเนิด

-แนวคิดยุคหลังอาณานิคมและเพศวิถี

-ความรุนแรงที่กระทำต่อผู้หญิง

-ชาติและชาตินิยม

-การให้ความยินยอม (ในเรื่องเพศ) Consent

-“Desire” ความปรารถนาทาเพศ ในโลกอนาคต

-การค้ามนุษย์, การบังคับค้าประเวณี, การทำงานบริการทางเพศ สิทธิของผู้ให้บริการทางเพศ

-การทำงานบริการทางเพศในจีน เพศวิถีในสังคมจีน

-การเมืองเรื่องเพศวิถีในแอฟริกาใต้

-สิทธิของ intersex และ คนข้ามเพศ

-เพศสถานะและเพศวิถีในสื่อใหม่

-เพศวิถีกับผู้พิการ

-ภาพโป๊กับการเซ็นเซอร์

-เด็กและภาพแทนของเด็ก ภาพโป๊เด็ก ประสบการทางเพศของเด็ก

-ISIS กับแนวคิดเรื่องความรุนแรงที่กระทำต่อคนรักเพศเดียวกัน




นอกจากการบรรยายตัวทฤษฏีแล้ว ก็จะมีส่วนของภาคปฏิบัติที่เป็นลักษณะของกิจกรรม เช่น การออกแบบแคมเปญเรื่องสิทธิทางเพศในประเด็นต่างๆ การเรียนรู้เรื่องอำนาจ ผ่านกิจกรรม Power Walk การวิเคราะห์ภาพยนตร์โดยใช้มุมมองเจนเดอร์ ซึ่งคลาสนี้เป็นคลาสที่เราชอบมากที่สุด เพราะโดยส่วนตัวเป็นคนชอบดูหนังแล้ววิเคราะห์


ระหว่างการบรรยายจะมีการเปิดให้ถกเถียงกันในประเด็นต่างๆ เช่น เห็นด้วยกับเรื่อง Sex Work หรือการทำงานบริการทางเพศหรือไม่ ถ้าไม่เห็นด้วย มีเหตุผลอะไรบ้าง หรือกรณีการมีเพศสัมพันธ์ อายุแค่ไหนถึงจะเรียกได้ว่าถูกกฎหมาย ไม่เป็นการละเมิดเด็ก



และคลาสที่เราชอบเป็นพิเศษ คือคลาสที่ว่าด้วย ความพิการกับเพศวิถี ที่เชิญผู้บรรยายที่เป็นผู้พิการและมีเพศวิถีแบบหญิงรักหญิงมาอธิบายถึงสิ่งที่คาบเกี่ยวและมีความคล้ายกันระหว่างผู้พิการและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ การถูกปฏิเสธและตีตราจากสังคม นอกจากนี้ยังมีผู้บรรยายที่เป็น Intersex มาเล่าประสบการณ์การถูกละเมิดจากครอบครัวที่พยายามจะบำบัดหรือรักษาให้เธอเลือกจะเป็นเพศใดเพศหนึ่ง เป็นต้น


ในส่วนทฤษฏีของคอร์สนี้ ต้องยอมรับว่าเราไม่เคยเรียนมาทางสังคมศาสตร์ หลายเรื่องเป็นเรื่องใหม่มากๆสำหรับเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง วาทกรรมของฟูโกต์ เรื่องแนวคิดตะวันออกนิยม เรื่องแนวคิดอาณานิคมหรือจักรวรรดินิยม ทำให้ในตอนนั้นก็ค่อนข้างใช้เวลาทำความเข้าใจอยู่พอสมควร แต่ถือได้ว่าเป็นการเปิดโลกทางวิชาการของเราเป็นครั้งแรก



เราใช้เวลาในคอร์สนี้ห้าวันเต็ม นอกจากการเรียนรู้ในคลาสแล้ว ยังได้เรียนรู้จากเพื่อนร่วมชั้นที่ไปเรียนด้วยกัน เราได้รู้จักกับรูมเมทชาวเม็กซิกัน ที่ทำงานเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของคนข้ามเพศและพนักงานบริการทางเพศ เราได้รู้จักกับเพื่อนชาวจีนที่ทำประเด็นเฟมินิสต์ในประเทศจีน ก่อนกลับก็ได้ไปเข้าร่วมขบวนไพรด์พาเหรดที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในวันสุดท้ายของคอร์สนี้พอดี และน่าจะเป็นปีแรกที่งานไพรด์พาเหรดในตุรกีถูกตำรวจสลายการชุมนุมด้วยแก็สน้ำตา ประสบการณ์การถูกแก็สน้ำตาของเราครั้งแรกจึงเกิดขึ้นที่นั่น



โดยสรุปคอร์สนี้เป็นเหมือนการเปิดโลกทางวิชาการของเรา รวมไปถึงการเปิดโลกการทำงานในระดับนานาชาติด้วย การได้ไปฟังประสบการณ์ของคนที่ทำงานในแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะในยุโรป ละตินอเมริกา หรือแอฟริกา ทำให้เราเห็นประเด็นที่สำคัญของแต่ละพื้นที่ ซึ่งก็มีความแตกต่างกันหลายด้าน เช่น ในแอฟริกัน คนทำงานจะตระหนักเรื่องการค้ามนุษย์มาก เพราะเค้ามีประสบการณ์การถูกค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมทางเพศอย่างหนัก ในขณะที่ประเทศฝั่งอเมริกา จะมองว่า คนทำงานบริการส่วนใหญ่นั้นสมัครใจ และสนับสนุนงาน Sex Work อย่างจริงจัง เป็นต้น


หลังจากจบคอร์สกลับมาที่ไทย เรามีโอกาสได้แชร์ประสบการณ์ที่ได้รับจากคอร์สนี้ให้กับคนที่สนใจอยู่บ้าง เช่น จัดกิจกรรมแชร์ประสบการณ์ที่จังหวัดปัตตานี สมัยที่ยังทำงานอยู่ที่นั่นกับคนที่สนใจเรื่องความเป็นธรรมทางเพศ หรือในกรุงเทพที่จัดขึ้นที่สำนักงานของสำนักข่าวประชาไท แต่เราไม่เคยเขียนรีวิวคอร์สนี้ที่ไหนมาก่อน


สำหรับคนที่สนใจคอร์สอบรมนี้ ลองติดตามเฟซบุคขององค์กร CREA ดูเรื่อยๆว่าจะมีเปิดอีกเมื่อไหร่นะคะ ส่วนคนที่สนใจเปเปอร์ที่ใช้ในการเรียนการสอน สามารถส่งอีเมล์มาขอที่เว็บไซต์เฟมินิสต้าได้โดยตรงค่ะ


หวังว่ารีวิวนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่สนใจนะคะ


รู้จักกับองค์กร CREA ได้ที่







ดู 174 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page