top of page
รูปภาพนักเขียนFeminista

Feminista Review : The White Tiger เสือขาวไม่ได้มีแค่ตัวเดียวอย่างที่เขาหลอกหลวง


*เปิดเผยเนื้อหาบางส่วน



หลังจากเข้าฉายทาง Netflix ได้ไม่กี่วัน กระแสความชื่นชมหนังเรื่อง The White Tiger เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยมีการเปรียบเทียบกับหนังเรื่อง Parasite หนังที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนในสังคมเกาหลีได้อย่างแสบสันต์ แต่สำหรับ The White Tiger แล้ว เรื่องราวที่ถูกหยิบยกมาเล่าไม่ได้มีแค่เรื่องของชนชั้นทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่มีความทับซ้อนและซับซ้อนมากไปกว่านั้น เพราะในสังคมอินเดียยังมีปัญหาเรื่อง วรรณะ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและกลายเป็นตัวกำหนดชนชั้นทางสังคมไปด้วย ชีวิตของ Balram ตัวละครหลักในเรื่อง จึงเป็นภาพแสดงของชีวิตของผู้คนอีกนับล้านๆคนในประเทศอินเดียที่ถูกทำลายด้วยระบบทางสังคมอันฝังรากลึกอย่างระบบวรรณะ



ชนชั้น วรรณะ กับความเหลื่อมล้ำ


หากใครศึกษาประวัติศาสตร์สังคมอินเดียมาบ้าง ก็คงทราบว่าอินเดียแบ่งคนตามวรรณะต่างๆ ตามหลักความเชื่อของศาสนาฮินดู วรรณะในที่นี้นอกจากจะกำหนดสถานะทางสังคมว่าใครสูงต่ำกว่าใครแล้ว ยังกำหนดสถานะทางเศรษฐกิจของคนๆนั้นด้วย สถานะทางเศรษฐกิจในที่นี้อธิบายสั้นๆก็คือ วรรณะต่างๆจะมีอาชีพที่ถูกกำหนดไว้สำหรับวรรณะนั้นๆ เช่น ถ้าเป็นคนที่มาจากวรรณะสูง อาชีพที่ทำได้ก็จะหลากหลายไปด้วย เช่น เป็นหมอ เป็นครู แต่ถ้าเป็นคนที่มาจากวรรณะต่ำ ก็อาจะเป็นได้แค่พ่อค้า คนรับจ้างทั่วไป ซึ่งตัวเอกของเรื่องอย่าง Balram เป็นตัวละครที่มาจากวรรณะล่างคือวรรณะ Halwai ซึ่งเป็นวรรณะที่มีอาชีพดั้งเดิมคือการทำขนมหวาน แต่ Balram ไม่ใช่ดาลิทหรือคนนอกวรรณะ เพราะคนนอกวรรณะจะไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานอื่น นอกจากงานประเภทเก็บกวาดสิ่งปฏิกูล ตัวละคร Balram ในเรื่องจึงเข้าไปทำงานในบ้านของเศรษฐีได้ แม้ว่าจะถูกเลือกปฏิบัติอย่างหนักเพราะสถานะของคนวรรณะล่างก็ตาม


ในสังคมอินเดีย ระบบวรรณะ กับชนชั้นทางเศรษฐกิจนั้นเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก Balram จะเน้นย้ำเสมอว่าคนวรรณะล่างมีสำนึกของความเป็นทาสอยู่ตลอดเวลา จะซื่อสัตย์ต่อเจ้านาย ยอมทำได้ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือเลว แต่ในความเป็นจริงแล้ว การยอมเป็นทาสหรือสำนึกของความเป็นทาสนั้นมาจากการประกอบสร้างทางสังคมหลายประการ เพราะคนจากวรรณะล่างนั้นรู้ดีว่าถ้าไม่ยอมทำตามกฎที่กำหนดมาแล้ว พวกเขาจะเจอกับอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการถูกฆ่า ถูกทำร้าย ในรูปแบบต่างๆ พวกเขารู้ว่าจะต้องทำอย่างไรก็ได้ให้มีชีวิตอยู่ การแหกกรงไก่ออกไปไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะระบบสังคม กฎหมาย ไม่ได้เอื้อให้พวกไก่เหล่านั้นได้มีเครื่องมือในการแหกกรงสักเท่าไหร่ ทางเลือกสำหรับคนวรรณะล่างนั้นมีน้อยกว่าคนวรรณะสูงเสมอ


อย่างที่ Balram บอกไว้ว่า คนจนจะขยับสถานะได้ก็มีแค่สองทางคือการเมืองกับอาชญากรรม แต่เอาเข้าจริงๆแล้ว คนที่จะใช้วิถีทางการเมืองได้จะมีสักกี่คน และทางเลือกที่สองก็ดูจะเป็นทางเลือกที่ง่ายกว่า?? ตัวหนังเองให้ทางเลือกมาแค่สองทางนี้และ Balram เลือกอย่างหลัง เพราะสภาพสังคมบีบให้เลือกแบบนั้น ดูเผินๆเราอาจจะเห็นด้วยกับทางเลือกสองทางนี้ ว่าสุดท้ายคนจนก็จะเลือกก่ออาชญากรรมเสมอ ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นการชี้ไปว่า คนจน=อาชญากรรม การเสนอแง่มุมแบบนี้เกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นในหนังเรื่อง Parasite หรือเรื่องนี้ก็ตาม ซึ่งถ้ามองแบบนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อคนชนชั้นวรรณะล่าง ก็จะบ่นกันเหมือนเดิมว่า สุดท้ายหนังก็เลือกที่จะให้คนจน คนวรรณะต่ำ เป็นพวกก่ออาชญากรรมอยู่ร่ำไป


ตัวละครในเรื่องอย่าง Pinky ที่เป็นผู้หญิงที่ไปเติบโตในอเมริกา เคยพูดกับ Balram ทำนองว่าให้ออกมาจากการเป็นคนรับใช้ มุ่งไปหาอนาคตที่ดีกว่า ราวกับว่ามีเพียงจินตนาการหรือสำนึกของปัจเจกเท่านั้นที่ขวางกั้นอยู่ ถ้าหากพวกเขาลุกขึ้นสู้เพื่อก้าวไปข้างหน้า ก็จะไม่มีอะไรที่เป็นไปไมไ่ด้ สำหรับ Pinky แล้ว การต่อสู้เพื่อที่จะออกจากความไม่สะดวกสบายในชีวิตนั้นทำได้ง่ายกว่ามาก เมื่อเธอไม่พอใจกับชีวิตที่เป็นอยู่ เธอก็แค่หนีกลับไปอเมริกา เพราะเธอมีทุกอย่างรองรับ ไม่ว่าจะเป็นทุนทางสังคมและเศรษฐกิจ เราจะสังเกตได้ว่าในเรื่อง Pinky เป็นผู้หญิงอินเดียที่มีการศึกษา จบจากอเมริกา มีสามีที่จบจากอเมริกาเช่นกัน แต่เมื่อเธอเข้ามาอยู่ในสังคมชายเป็นใหญ่แบบอินเดีย สถานะทางเพศที่เป็นรองของเธอในฐานะผู้หญิง ทำให้อำนาจที่เธอมีอยู่ไม่สามารถใช้ได้ในสังคมที่กดขี่ผู้หญิง เสียงที่เธอพูดออกไปไม่เคยมีความหมาย ผู้หญิงไม่มีค่าพอให้ผู้ชายต้องรับฟัง ไม่ว่าเธอจะเรียนจบสูงมาแค่ไหนก็ตาม


สิ่งที่น่าสนใจประเด็นหนึ่งในเรื่องและเป็นความพยายามในการเสียดสีวิธีคิดแบบคนอินเดียรุ่นใหม่ นั่นคือการที่ตัวละครทั้งสองคนที่เป็นภาพแทนของหนุ่มสาวอินเดียสมัยใหม่ พยายามจะปฏิเสธวัฒนธรรมที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากโลกตะวันตกว่าเป็นการกดขี่ พวกเขาพยายามออกตัวว่าไม่สนใจเรื่องวรรณะ พยายามใช้คำที่สุภาพต่อทาสรับใช้ผู้ซื่อสัตย์ แต่การกระทำในหลายๆฉากก็บ่งบอกว่าพวกเขาไม่ได้ปฏิบัติกับคนจากวรรณะล่างได้อย่างเท่าเทียมแบบที่ปากพูด เช่น ฉากหนึ่งที่ Balram นำของว่างมาเสิร์ฟให้กับเพื่อนของ Pinky เธอพูดกับเพื่อนต่อหน้าเขาว่าพวกวรรณะล่างสกปรก เคี้ยวหมากเลอะเทอะ และไม่มีสำนึกของความสะอาด อันเป็นคุณลักษณะของการตีตราคนวรรณะล่างในสังคมอินเดีย


หรือในฉากที่ Ashok เจ้านายของ Balram พยายามแสดงออกว่าตนเองไม่ได้รังเกียจคนจากวรรณะล่างด้วยการพยายามยื่นมือไปจับมือกับ Balram ก่อนที่พ่อของเขาจะห้ามไว้ ก็แสดงถึงการพยายามจะบอกว่าตัวเองไม่ถือสากับวรรณะ แต่ตลอดเรื่องเราก็จะพบว่า Ashok ปฏิบัติกับ Balram ในลักษณะนายจ้างที่กดขี่ลูกจ้างตลอดเวลา แม้ว่าเขาจะออกปากว่าไม่ถือกับวรรณะแล้วก็ตาม การปฏิเสธว่าตัวเองไม่ได้ยึดถือกับระบบวรรณะของคนรุ่นใหม่ชนชั้นกลางในอินเดีย ก็เพื่อแสดงออกว่าพวกเขาไม่ได้ล้าหลัง พยายามแสดงออกถึงแนวคิดที่ได้รับการยอมรับจากประเทศโลกที่หนึ่ง เพียงเพื่อสลัดคราบของผู้กดขี่ออกไปผ่านการยืนยันทางคำพูด แต่ในทางปฏิบัติพวกเขายังคงใช้ชีวิตที่แบ่งแยกจากคนวรรณะล่างอย่างสิ้นเชิง และก็ไม่ได้คิดจะแก้ไขระบบวรรณะที่ตัวเองได้ประโยชน์นี้ด้วย ถ้าหากไปถามคนอินเดียที่มาจากวรรณะสูงเกี่ยวกับระบบวรรณะดูสักสิบคน พนันได้ว่ามากกว่าหนึ่งในนั้นจะต้องออกตัวว่า สมัยนี้เราไม่ได้ถือระบบวรรณะแล้ว ทั้งที่จริงแล้วระบบวรรณะนั้นมีอยู่ทุกที่ในสังคมอินเดีย


ระบบวรรณะในอินเดียสัมพันธ์กับชนชั้นทางเศรษฐกิจของคนในอินเดียอย่างแยกไม่ออก เมื่อไหร่ก็ตามที่เราต้องการจะแก้ปัญหาเรื่องชนชั้นทางเศรษฐกิจ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน เราไม่มีทางตัดเรื่องระบบวรรณะของอินเดียออกไปได้แม้แต่น้อย ทุกวันนี้รัฐบาลอินเดียพยายามจะแก้ไขปัญหานี้ ด้วยการออกนโยบายทางสังคมและเศรษฐกิจต่างๆให้เอื้อประโยชน์กับคนจากวรรณะล่างหรือคนนอกวรรณะอย่างกลุ่มดาลิท เรียกพวกเขาด้วยชื่อที่ตั้งขึ้นว่า Schedule Caste/Schedule Tribe เพื่อที่จะรวมคนเหล่านี้ให้เป็นหนึ่งเดียว ออกนโยบายทางการศึกษาและการจ้างงานให้มีอัตราส่วนหรือที่ว่างสำหรับคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ พยายามผลักดันให้คนจากวรรณะล่างๆเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อแสดงให้เห็นว่าคนทุกคนเท่ากันหากเขาคนนั้นพยายามมากพอ ในขณะที่ภูมิใจว่ามีพวกดาลิตเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง พวกเขาก็เลือกที่จะปิดตาข้างนึงกับปัญหาการทำร้ายดาลิตในสถาบันต่างๆของสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการข่มขืนผู้หญิงวรรณะล่างหรือผู้หญิงดาลิตทั้งจากผู้ชายวรรณะสูงและตำรวจ หรือการกลั่นแกล้งรังแกเลือกปฏิบัติคนจากวรรรณะล่างในสถานที่ทำงานและสถานศึกษา


นอกจากความมือถือสากปากถือศีลของตัวละครในเรื่องจากครอบครัวเศรษฐีเจ้าที่ดินที่ปากบอกปฏิเสธระบบวรรณะแต่การกระทำก็ไม่ต่างจากที่เคยทำเพียงแต่เปลี่ยนคำเรียกให้ดูว่าพวกเขาไม่ใช่พวกล้าหลังป่าเถื่อนแล้ว หนังยังเสียดสีนักการเมืองอินเดียที่ชูแนวคิดสังคมนิยมในการหาเสียงกับคนยากคนจน คนวรรณะล่าง เพียงเพื่อให้ได้รับคะแนนเสียงอีกด้วย ปัญหาเรื่องการคอรัปชั่นในอินเดียคือปัญหาใหญ่ที่ทำให้อินเดียยังคงเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงแม้ว่าเทคโนโลยีทางดิจิตอลและอวกาศจะก้าวหน้าขนาดไหนก็ตาม แต่การคอรัปชั่นในวงการการเมืองของอินเดียก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง การรับสินบนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและข้าราชการในอินเดียก็เช่นกัน ในหนังเรื่องนี้ Balram สร้างฐานะขึ้นมาได้ไม่ใช่แค่ความสามารถทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการรู้ช่องทางการติดสินบนเจ้าหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการทำธุรกิจของเขา เพราะเขารู้ดีว่าระบบจะรันไปได้ก็ต่อเมื่อใช้เงินแก้ปัญหาเท่านั้น


เพศ ชนชั้นและวรรณะทำงานร่วมกันอย่างไร?


นอกจากเรื่องวรรณะกับชนชั้นที่เด่นชัดมากๆในสังคมอินเดียแล้ว ตลอดทั้งเรื่องเราแทบจะไม่เห็นผู้หญิงที่ดูเป็นคนดีในเรื่องเลย ผู้หญิงอย่าง Kusum ย่าของ Balram คือตัวอย่างของผู้หญิงที่ใช้อำนาจในการปกครองผ่านระบอบชายเป็นใหญ่ สำหรับครอบครัวอินเดียแล้ว ผู้หญิงในครอบครัวจะมีสถานะทางสังคมขึ้นมาได้เกิดจากการเปลี่ยนสถานะจากเมียมาเป็นแม่สามีหรือก็คือสถานะของผู้หญิงสูงอายุที่กุมอำนาจทุกอย่างในบ้านและใช้อำนาจนั้นกระทำต่อผู้หญิงที่เป็นลูกสะใภ้และผู้ชายที่อายุน้อยกว่า ไม่ว่าจะเป็น ลูกชาย ที่ถูกขูดรีดแรงงานและเงินจากการทำงานหนัก โดยใช้สถานะแม่ที่มีเหนือกว่า หรือการใช้อำนาจกับหลานชาย ด้วยการบังคับให้ออกจากโรงเรียนและทำงานหนักเพื่อหาเงินจุนเจือครอบครัว ในแง่นี้ย่าของ Balram จึงเปลี่ยนสถานะจากผู้ถูกกดขี่ในระบอบชายเป็นใหญ่มาเป็นผู้กดขี่ซะเองเมื่อเธอกลายเป็นผู้หญิงสูงอายุเพียงคนเดียวในบ้านที่ครองอำนาจอันเป็นผลมาจากวิธีคิดเรื่องความอาวุโสในครอบครัวอินเดีย


และถ้าไปดูที่ตัวละครหญิงอย่าง Pinky อย่างที่บอกไปในช่วงต้นว่าเธอมีการศึกษาสูง ใช้ชีวิตในประเทศโลกที่หนึ่งอย่างอเมริกา มีความมั่นใจในตัวเอง กล้าพูดกล้าแสดงออก แต่สิ่งต่างๆที่เป็นแหล่งอำนาจที่เธอมีไม่สามารถใช้ได้กับสังคมอินเดีย เพราะสำหรับสังคมชายเป็นใหญ่ในอินเดียแล้ว ผู้หญิงล้วนมีสถานะเป็นรอง ผู้ชายอินเดียหลายคนแต่งงานข้ามวรรณะได้ หากพวกเขามาจากวรรณะสูงพอและร่ำรวยพอ แต่ท้ายที่สุดแม้พวกเขาจะแต่งงามข้ามวรรณะ วิธีคิดที่มีต่อผู้หญิงและการปฏิบัติก็ยังคงติดกับดักแบบชายเป็นใหญ่ Ashok ที่ดูเหมือนหัวสมัยใหม่รับไม่ได้กับการที่ Balram บอกเขาว่า Pinky ทิ้งเขาไป ความเป็นชายของ Ashok ถูกสั่นคลอนเมื่อผู้หญิงที่เป็นภรรยา ได้ทิ้งเขาไปอย่างไม่ใยดี Ashok ที่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตกในอเมริกา ท้ายที่สุดก็ไม่อาจออกจากกรอบเพศที่ผู้ชายอินเดียถูกสั่งสอนมาว่าต้องเป็นผู้นำและมีอำนาจเหนือผู้หญิง เขาเมามายและรู้สึกล้มเหลวอย่างหนักเมื่อต้องยอมรับว่าภรรยาได้ทิ้งเขาไปแล้วโดยที่เขาไม่สามารถทำอะไรได้


Pinky เป็นตัวละครหญิงที่เป็นภาพแทนของผู้หญิงอินเดียสมัยใหม่มีการศึกษา แต่เธอก็เป็นภาพแทนที่แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงในชนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคมที่สูงกว่า สามารถใช้อำนาจกับผู้ชายที่มีสถานะต่ำกว่าได้อย่างไร เธอปฏิบัติกับ Balram ต่างออกไปจากพี่ชายและพ่อของสามีในบางเรื่อง แต่วิธีการก็ยังคงเป็นลักษณะแบบบนลงล่างและดูแคลน Balram ไม่ต่างจากสมาชิกคนอื่นๆในครอบครัว


ในขณะที่เมื่อเราไปดูตัวละครอย่างนักการเมืองหญิงสังคมนิยม อำนาจของเธอมาจากการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง สถานะทางเพศที่ด้อยกว่าถูกกลบด้วยอำนาจทางการเมืองและเป็นไปได้สูงมากว่าเธอเองก็มาจากครอบครัววรรณะสูง ครอบครัวเศรษฐีของ Ashokไม่อาจปฏิเสธการจ่ายเงินสินบนให้เธอได้เพราะอำนาจทางการเมืองที่มีสูงกว่า พวกเขาตกอยู่ภายใต้อำนาจของนักการเมืองหญิงและครอบครัวของเธออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากเรื่องนี้ทำให้เราเห็นว่า การเป็นผู้หญิงในอินเดียไม่ได้หมายความว่าจะตกอยู่ในสถานะผู้ถูกกดขี่เสมอไป พวกเธออาจมีอำนาจจากแหล่งอื่นๆที่ทำให้กลายเป็นผู้กดขี่ได้เช่นกัน เช่น อำนาจทางวัฒนธรรม คือการเป็นแม่ เป็นย่า เป็นผู้สูงอายุในครอบครัว หรืออำนาจทางการเมือง คือการมีตำแหน่งแห่งที่ในทางการเมืองที่ให้โทษให้คุณกับคนอื่นได้ หรือกระทั่งอำนาจทางเศรษฐกิจ ที่มาจากสถานะครอบครัวซึ่งทำให้เธอกดขี่คนรับใช้ชายจากวรรณต่ำกว่าได้อีกชั้นนึง


อย่างไรก็ตาม ตลอดทั้งเรื่องเราแทบจะไม่เห็นบทบาทของผู้หญิงคนอื่นๆเลย ไม่ว่าจะเป็นแม่ของ Balram หรือแม่ของ Ashok ผู้หญิงในเรื่องที่ถูกแสดงคนอื่นๆล้วนเป็นคนยากจน เป็นคนไร้บ้าน เป็นชาวบ้านในชนบทที่เกิดมาเพื่อแต่งงาน เลี้ยงลูก ทำงานและตายไป




เสือขาวไม่ได้มีแค่ตัวเดียวในรุ่น แต่มันถูกทำให้สูญพันธุ์


จริงๆแล้วคนอย่าง Balram ที่ถูกบอกว่าเป็นเสือขาว เพราะเขามีความฉลาด รู้ภาษาอังกฤษ และมีโอกาสจะไปได้ดีหากได้รับการศึกษา เสือขาวแบบ Balram ไม่ได้มีแค่คนเดียวในรุ่นแน่ๆ ในสังคมอินเดียมีเสือขาวแบบ Balram เต็มไปหมดในบรรดาคนจากวรรณะล่างหรือนอกวรรณะ แต่พวกเขาถูกทำให้ตายลงอย่างช้าๆด้วยระบบวรรณะ มีเด็กหนุ่มจากวรรณะล่างหรือนอกวรรณะหลายคนที่พยายามถีบตัวเองออกมาจากหมู่บ้านอันแร้นแค้นเพราะหวังจะพัฒนาตัวเองไปเป็นคนอีกชนชั้นหนึ่งที่ได้รับการศึกษาสูงๆและสามารถทำงานเลี้ยงดูครอบครัวได้ แต่เสือขาวอย่างพวกเขามักถูกฆ่าตายก่อนระหว่างทาง ไม่ว่าจะเป็นการถูกระบบกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมรังแก หรือถูกเลือกปฏิบัติกลั่นแกล้งจากสังคมในสถาบันการศึกษาหรือสถานที่ทำงาน ซึ่งทั้งหมดมาจากอคติที่ฝังรากลึกต่อคนวรรณะล่างหรือนอกวรรณะ ท้ายที่สุดหลายคนจึงกลายเป็นแค่เสือขาวที่ถูกยิงทิ้ง หรือบางคนก็กลายไปเป็นเสือขาวที่ถูกจัดแสดงเพื่อให้พวกเจ้าของฟาร์มได้อวดว่าพวกเขาดีพอจะทำให้เสือขาวเหล่านี้รอดตายได้ท่ามกลางเสือตัวอื่นๆจากต่างสายพันธุ์กัน และยิ่งถ้าเป็นเสือขาวตัวเมียแล้ว ไม่ต้องพูดถึงเลยว่าชะตาชีวิตของเสือขาวตัวเมียจะเป็นอย่างไรในสังคมที่เต็มไปด้วยชนชั้นวรรณะและวิธีคิดเรื่องเพศแบบชายเป็นใหญ่


อีกประเด็นหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นชัดมากในหนัง คือการกดขี่กันเองภายในชนชั้นและวรรณะล่าง ในเมื่อพวกเขาไม่สามารถสู้กับระบบที่กดขี่ซึ่งเป็นระบบทางสังคมใหญ่ที่สุดที่ครอบงำอยู่ บรรดาเสือทั้งหลายก็เลยกดขี่กันเอง ไล่ฆ่าเหยียบย่ำกันเองเพื่อที่จะขึ้นไปสู่จุดที่ดีที่สุด เพื่อเอาตัวรอดจากการถูกฆ่าทิ้งจากระบบ เราจึงเห็นคนจากชนชั้นเดียวกัน พยายามทำทุกอย่างเพื่อเอาชนะและเอาตัวรอด ไม่ว่าจะด้วยวิธีการสกปรกเพียงใดก็ตาม จะเห็นได้จากฉากที่ Balram หาจุดอ่อนของคนขับรถคนที่หนึ่งที่ปกปิดความจริงว่านับถือศาสนาอิสลาม เพื่อเขี่ยเขาให้พ้นจากเส้นทางในการเอาตัวรอดของ Balram ทั้งๆที่รู้ดีว่าครอบครัวของชายชาวมุสลิมจะเป็นอย่างไร และฉากที่ Balram อ่านหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับการสังหารหมู่คนในหมู่บ้าน ซึ่งเขาเลือกที่จะไม่รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับครอบครัวที่ชนบทหลังจากที่เขาได้ทำการหักหลังนายจ้างของเขาอย่างเหี้ยมโหด ท้ายที่สุดเสือขาวที่เคยเป็นความหวังของหมู่บ้าน ของครอบครัว ก็กลายมาเป็นผู้ทำลายทั้งหมดนั้นเสียเอง เพราะฉะนั้นการเกิดมาเป็นเสือขาวที่แตกต่างจากเสือตัวอื่นๆไม่ได้การันตีว่าคุณภาพชีวิตของเสือตัวนั้นจะดีขึ้น หากสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อเสือตัวนั้นยังเต็มไปด้วยระบบที่กดขี่ขูดรีดและแบ่งแยกอย่างถึงที่สุดจนทำให้เสือทั้งหลายต้องมาห้ำหั่นกันเอง


หนังเรื่องนี้มีฉากหลายๆฉากที่เสียดสีวิธีคิดของชนชั้นกลางใหม่ในอินเดีย เสียดสีนักการเมืองในอินเดีย มันพูดถึงระบบชนชั้น วรรณะ และความเหลื่อมล้ำเหมือนกับหนังอีกหลายๆเรื่องที่ผลิตออกมาในประเทศอินเดีย ในขณะที่หนังนำเสนอแง่มุมที่สะท้อนปํญหาเรื่องชนชั้นวรรณะในอินเดียอย่างเสียดสีแสบสัน แต่ก็เป็นตลกร้ายที่อุตสหกรรมหนังบอลลีวู้ดในอินเดียนั้นเต็มไปด้วยนักแสดงที่มาจากวรรณะสูงเดินเฉิดฉายกันเต็มไปหมด และน้อยนักที่คนจากวรรณะล่างหรือนอกวรรณะจะได้ขึ้นไปอยู่จุดเดียวกัน และแน่นอนว่าชีวิตของคนวรรณะล่างหรือนอกวรรณะก็ไม่ได้ดีขึ้นเพราะความเข้าอกเข้าใจของชนชั้นกลางที่ดูหนังเรื่องนี้แล้วรู้สึกซาบซึ้ง เผลอๆหนังอาจจะตีตราคนจนวรรณะต่ำว่าเป็นพวกชอบก่ออาชญากรรมด้วยซ้ำไป ไม่ต่างอะไรจากเสียงสะท้อนหลังการฉายหนังเรื่อง Parasite ที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นเพียงสิ่งที่คนชนชั้นกลางชื่นชมและสงสารชะตากรรมชนชั้นล่าง ส่วนคนชนชั้นรวยก็ยังคงคิดหาทางป้องกันอันตรายจากพวกชนชั้นล่างที่อาจลุกมาฆ่าพวกเขาได้ในอนาคตต่อไป โครงสร้างที่กดขี่ ระบบที่ฆ่าคนก็ยังคงวนเวียนเป็นวัฎจักรแบบนั้นไม่จบไม่สิ้น เสือขาวในอินเดียมีอยู่ทุกที่ มันก็แค่ถูกทำให้สูญพันธุ์ไปอย่างช้าๆเท่านั้นเอง


หมายเหตุ : The White Tiger เป็นหนังที่ดัดแปลงมาจากหนังสือชื่อเดียวกัน เขียนโดย Aravind Adiga หนังสือได้รับรางวัล Man Booker Prize ปี 2008 หนังกำกับโดย Ramin Bahrani ผู้กำกับชาวอเมริกัน-อิหร่าน เข้าฉายทาง Netflix เมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา นำแสดงโดยนักแสดง Priyanka Chopra, Rajkummar Rao ,Adarsh Gourav












ดู 552 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentários


bottom of page