
หากสารคดีเรื่อง Father,Son and Holy War ที่ฉายในปี 1995 ของผู้กำกับ Anand Patwardhan นำเสนอเรื่องของชาตินิยม ศาสนานิยม และความเป็นชายที่ล้นเกินของสังคมอินเดียได้อย่างถึงแก่นแล้ว สารคดีเรื่อง The World Before Her ของผู้กำกับ Nisha Pahuja ที่ออกฉายเมื่อปี 2012 ก็คือการถ่ายทอดอีกด้านของชาตินิยมและศาสนานิยมแบบล้นเกินในสังคมอินเดีย ที่ถูกผูกเข้ากับความเป็นหญิง (Femininity) ผ่านการนำเสนอเรื่องราวของกลุ่มผู้หญิงจากสองฟากฝั่งทางความคิด ด้านหนึ่งยึดมั่นในจารีตทางศาสนาและวัฒนธรรมแบบฮินดู อีกด้านหนึ่งเชื่อในวิถีของปัจเจกบุคคล สิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงแบบตะวันตกสมัยใหม่
หนังเล่าเรื่องผ่านชีวิตของผู้หญิงจากสองฟากสลับกันไปมา โดยมีตัวละครหลักๆคือ Prachi เด็กสาวที่เข้าร่วมแค้มป์อบรมความเป็นหญิงและชาตินิยมฮินดูสุดโต่ง หรือที่มีชื่อแค้มป์ว่า "Durga Vahini"แค้มป์นี้จัดตั้งขึ้นทุกปี โดยการสนับสนุนของกลุ่มชาตินิยมฮินดูขวาจัดที่มีชื่อว่า Vishva Hindu Parishad หรือเรียกย่อๆว่า VHP

กลุ่มเด็กผู้หญิงจากค่าย Dulga Valhini เดินขบวนไปตามท้องถนน พร้อมอาวุธปืน
ในแค้มป์จะมีการอบรมเรื่อง หน้าที่ของผู้หญิงฮินดูที่ดี เช่น ผู้หญิงในศาสนาฮินดู ต้องแต่งงาน ดูแลสามี และมีลูกกับคนในศาสนาฮินดู เพื่อสืบทอดศาสนา รวมไปถึงการแต่งกายแบบจารีต ไม่สวมใส่เสื้อผ้าของตะวันตก ไม่ฟังเพลงหรือเสพวัฒนธรรมของตะวันตก รวมไปถึงหน้าที่ของพลเมือง คือการปกป้องชาติและศาสนา โดยสอนให้ใช้ความรุนแรงในการป้องกันตัวเอง เช่น การฝึกหัดให้เด็กผู้หญิงยิงปืน หรือ สอนศิลปะการต่อสู้ โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการปกป้องตัวเอง
นอกจากนี้ ยังมีการปลูกฝังความเชื่อให้เกิดความเกลียดชังคนจากศาสนาอื่น เช่น มุสลิม และคริสเตียน โดยปรับให้เข้ากับหลักคำสอนทางฮินดู เช่น ความเชื่อว่า มุสลิมคือปีศาจที่คัมภีร์พระเวทกล่าวไว้ เป็นต้น
และอีกฟากแนวคิดหนึ่ง ผู้กำกับนำเสนอเรื่องราวของกลุ่มผู้หญิงที่เข้าประกวดนางงามอินเดีย โดยมี Pooja หญิงสาวที่มีความใฝ่ฝันจะเป็นผู้ชนะการประกวด Miss India เพื่อเป็นใบเบิกทางเข้าสู่วงการบันเทิง เพื่อสร้างเกียรติยศให้กับตัวเอง เพราะการเกิดเป็นลูกผู้หญิงคนที่สอง เป็นเรื่องยากลำบากในอินเดียจากค่านิยมเทิดทูนลูกชาย เช่นเดียวกับ Ankita หญิงสาวจากครอบครัวฐานะปานกลาง ที่เข้าประกวดเพื่อเป้าหมายในการขยับฐานะของตัวเองและครอบครัว และทำให้ครอบครัวภูมิใจในความเป็นลูกผู้หญิง โดยยอมแลกกับความพยายามอย่างหนักในการฝึกฝนตัวเองเพื่อให้เข้ารอบลึกๆบนเวที ไม่ว่าจะเป็น การดูแลผิวพรรณตัวเอง หรือการฉีดโบท็อกเพื่อให้ใบหน้าตรงกับมาตรฐานของการประกวดนางงาม เป็นต้น
หนังสัมภาษณ์กลุ่มผู้หญิงจากสองฝั่งทางความคิด โดยไม่ได้บอกว่า ผู้หญิงจากกลุ่มไหนผิดหรือถูก แต่หนังกลับชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่ผู้หญิงเหล่านี้ต้องเผชิญกับการต่อต้านของฝั่งชาตินิยมฮินดู ที่มีต่อกลุ่มการประกวดมิสอินเดีย โดยมีการลุกฮือของกลุ่มฮินดูขวาจัดเพื่อประท้วงเพื่อไม่ให้มีการประกวดนางงาม มีการไล่ล่าผู้หญิงที่เข้าไปใช้บริการไนท์คลับและทำร้ายร่างกาย โดยอ้างว่า ผู้หญิงเหล่านี้ทำลายชาติ และทำลายศาสนาวัฒนธรรมอันดีงามของฮินดูและประเทศอินเดีย

กลุ่มผู้เข้าประกวด Miss India ที่ปรากฎในสารคดี
นอกจากกลุ่มชาตินิยมฮินดูขวาจัดประท้วงการประกวดนางงามอินเดียแล้ว ยังมีการลุกขึ้นมาประท้วงของกลุ่มเฟมินิสต์ในอินเดียกลุ่มหนึ่ง ที่มองว่า การประกวดนางงามคือการทำให้ผู้หญิงกลายเป็นวัตถุสิ่งของ (Dehumanized) ภายใต้โลกของทุนนิยม ในขณะที่เฟมินิสต์อีกกลุ่มหนึ่งออกมาโต้แย้งว่าผู้หญิงมีสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง การเข้าประกวดนางงามอาจนำมาซึ่งอาชีพและเงินทองที่ผู้หญิงเหล่านี้ต้องการ ไม่มีใครมีสิทธิไปตัดสินใจแทนพวกเธอที่เป็นเจ้าของชีวิตตัวเอง และมีอำนาจกระทำการ (Agency) เป็นของตัวเอง
สิ่งที่น่าสนใจไปกว่าวิธีคิดในระดับปัจเจกของผู้หญิงคือ การผูกติดความเป็นหญิงเข้ากับชาตินิยมอินเดียและศาสนาฮินดู โดยผู้หญิงทั้งสองกลุ่มถูกทำให้เป็นตัวแทนของความเป็นชาติและศาสนาฮินดู ที่ต่อสู้กับการรุกล้ำของเจ้าอาณานิคมสมัยใหม่อย่างประเทศอเมริกา ต้นตำหรับการประกวดนางงาม และประเทศตะวันตกอื่นๆที่กลุ่มชาตินิยมฮินดูเชื่อว่า พยายามกลืนความเป็นชาติผ่านทางวัฒนธรรมต่างๆ เช่น เพลง หนัง เสื้อผ้า อาหาร เป็นต้น
ดังนั้น ผู้หญิงทั้งสองกลุ่มจึงถูกมองว่าเป็นความรับผิดชอบของกลุ่มชาตินิยมฮินดูที่จะต้องปกป้องไม่ให้ศัตรูเข้ามายึดครองหรือทำลาย การไปเข้าร่วมกับพวกตะวันตกไม่ว่าจะด้านไหน จึงเป็นการดูหมิ่นและทรยศต่อชาติและศาสนาของตัวเอง ที่สุดแล้ว การใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง และการควบคุมวิถีชีวิตของผู้หญิงทั้งสองกลุ่ม จึงกลายเป็นหน้าที่อันศักดิ์สิทธิของกลุ่มชาตินิยมฮินดูขวาจัดนั่นเอง
หนังสะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงต่อผู้หญิงในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะทางกายภาพหรือทางจิตใจ ความรุนแรงที่มองเห็นและมองไม่เห็น เช่น การที่ Prachi บอกพ่อของเธอว่า เธอไม่ต้องการแต่งงานมีครอบครัว แต่อยากเป็นครูฝึกเด็กผู้หญิงให้กับแค้มป์ Durga Vahini ตลอดไป อยากปกป้องศาสนาฮินดูจากผู้รุกรานอย่างมุสลิมและคริสเตียน แต่พ่อของเธอยืนยันว่า เธอเกิดมาเป็นผู้หญิง การแต่งงานมีลูกคือหน้าที่ของผู้หญิงฮินดูทุกคน Prachi มีสีหน้าที่เศร้ามาก แต่ก็ไม่อาจขัดขืน เป็นความย้อนแย้งในชีวิตของเธอ เพราะด้านหนึ่งเธอบูชากลุ่มชาตินิยมฮินดูเหนือชีวิต ยอมแม้กระทั่งยืนกรานว่าถ้าจำเป็นต้องฆ่าศัตรูเพื่อฮินดู เธอก็จะฆ่าคนเหล่านั้น แต่เธอกลับไม่สามารถเลือกชะตาชีวิตตัวเองได้ เมื่อพบว่าการเป็นผู้หญิงฮินดูที่ดีนั้นจะต้องแต่งงาน
มีตอนหนึ่งที่ดูแล้วรู้สึกเจ็บปวดมากคือตอนที่ Prachi ให้สัมภาษณ์ว่า ถึงแม้พ่อของเธอจะเคยลงโทษเธอด้วยความรุนแรงในสมัยเด็กๆ แต่เธอก็ต้องขอบคุณพ่อที่ยอมให้เธอเกิดมา เพราะการเป็นเด็กผู้หญิงในอินเดียเป็นเรื่องยากลำบากในสมัยนั้น คนอินเดียในสมัยนั้นนิยมฆ่าเด็กผู้หญิง เพราะต้องการเด็กผู้ชาย ดังนั้นเธอถือว่าพ่อของเธอมีบุญคุณที่ยอมให้เธอมีชีวิตอยู่รอดมาได้
ในขณะที่ฝั่งของผู้หญิงที่เข้าร่วมการประกวดมิสอินเดียอย่าง Pooja กับ Ankita ก็ต้องเผชิญกับความรุนแรง ทั้งจากการประท้วงไล่ล่าของกลุ่มชาตินิยมขวาจัด รวมถึงความรุนแรงที่บางคนอาจไม่ถือว่าเป็นความรุนแรงจากการประกวดนางงาม ทั้งในแง่ของการยอมเจ็บตัวเพื่อให้ร่างกายได้มาตรฐานของการเป็นนางงาม การถูกคัดออกเพราะร่างกายไม่ได้มาตรฐานเหมือนสินค้าที่ไม่ผ่านการเช็คคุณภาพ เป็นต้น
ถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่าผู้หญิงจากทั้งสองกลุ่มจะเลือกทางเดินของตัวเองแตกต่างกันไป แต่คำถามสำคัญที่อยากชวนคิดต่อคือ จริงๆแล้วผู้หญิงทั้งสองกลุ่มมีโอกาสได้ “เลือก” ทางเดินของตัวเองหรือไม่ หรือว่าจริงๆแล้ว การเข้าร่วมกับฝ่ายชาตินิยมฮินดูขวาจัด และการเข้าประกวดนางงามในโลกของทุนนิยม ต่างก็เป็นสองขั้วของโลกที่เต็มไปด้วยความรุนแรงที่ผู้หญิงต้องเผชิญทั้งในระดับปัจเจก และในระดับสังคม
ตัวอย่างสารคดี https://www.youtube.com/watch?v=umjDyRaikqQ
สารคดีเรื่องนี้สามารถหาดูได้ใน You Tube https://www.youtube.com/watch?v=zJL0GN1E1Hs
The World Before Her (2012)
Directed by Nisha Pahuja
ความยาว 90 นาที

Comments