top of page
รูปภาพนักเขียนFeminista

Feminista Stories : เราถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยคนรัก


เราเป็นคนหนึ่งที่เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยคนรัก ณ ขณะนั้นเราไม่รู้เลยว่าพฤติกรรมเหล่านั้นคือการละเมิด แค่รู้สึกว่าเค้าลดคุณค่าในตัวเรา เค้าทำให้เราอาย จนภายหลังเราได้รู้ว่าพฤติกรรมแบบนี้คือการละเมิดทางเพศโดยคนรัก ซึ่งความรู้สึกหลังจากที่รู้คือมันไม่โอเคจริง ๆ และเราไม่ใช่คนเดียวที่คิดไปเอง


ที่ผ่านมาเราไม่คิดว่าคนอื่นจะเจอกับประสบการณ์แบบนี้ เพราะไม่มีใครเคยพูดให้เราได้ยิน แล้วเราก็ไม่กล้าถามใคร เราไม่กล้าเล่าให้ใครฟัง แต่ความจริงแล้วมีอีกหลายคนที่เคยเผชิญสิ่งเลวร้ายเช่นเดียวกับเรา





ในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2562 เราทำแบบสำรวจความคิดและความรู้สึกเกี่ยวกับความอึดอัดใจในกิจกรรมทางเพศ

เพื่อหาคนที่เคยมีประสบการณ์แบบเรา แบบฟอร์มนี้มีชื่อว่า Consent and relationships คำถามในแบบฟอร์มเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจในเรื่องของ Consent เพศ อายุ และถามถึงประสบการณ์อึดอัดใจในรูปแบบต่าง ๆ รวมไปถึงการถามถึงการปฏิเสธและผลที่ตามมาด้วยเช่นกัน แบบสำรวจนี้เผยแพร่ผ่าน Twitter ที่มีชื่อว่า dearmedearyou


มีคนเข้ามาทำแบบสำรวจจำนวน 103 คน ได้ผลออกมาว่า มี 59 คนที่เคยอึดอัดใจจากการถูกคนรักสัมผัส มี 44 คนอึดอัดใจจากการถูกคนรักกอด จูบ หรือหอม และมี 64 คนอึดอัดใจหรือไม่อยากมีเพศสัมพันธ์กับคนรัก บางคนเลือกที่จะบอกคนรักว่าไม่โอเคและบางคนก็เคารพคนรักของตัวเองมากพอที่จะไม่ทำต่อ แต่ก็มีคนอีกไม่น้อยที่เลือกทำต่อ เราขอใช้คำว่า "ดันทุรัง" เพราะมันเป็นแบบนั้นจริง ๆ


ที่จริงแล้วคนที่ถูกดันทุรังทำต่อก็ไม่ได้แปลว่ามันจะจบลงตรงนั้นง่าย ๆ หลายคนถูกตัดพ้อใส่ว่าไม่รักกันแล้วหรอ

บ้างก็แสดงความไม่พอใจออกมาเป็นคำพูดหรือท่าทาง และบางคนก็โกรธคนรักของตนที่ปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์


เราประหลาดใจที่โรงเรียนไม่เคยสอนเรื่องนี้ ไม่เคยมีใครสอนเรื่องนี้ สิ่งที่เราทำได้ในตอนนี้คือรวบรวมประสบการณ์ของแต่ละคนและของเราเอง เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้คนได้รู้ว่าคนที่ถูกละเมิดทางเพศโดยคนรักนั้นมีจริง ๆ และการละเมิดทางเพศถือเป็นปัญหา


เพราะคนที่ผิดคือคนที่ละเมิดและไม่เคารพในความยินยอมของคุณ



วัฒนธรรม “เดา” กับ วัฒนธรรม “ถาม” กับความยินยอมที่หายไป


คุณคือคนแบบไหนในความสัมพันธ์ คนที่ถามและยอมรับได้หากเธอหรือเขาจะตอบตกลงหรือปฏิเสธในการทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง หรือเป็นคนประเภทไม่ถามและคาดหวังว่าเธอหรือเขาจะตกลงที่จะร่วมกิจกรรมด้วย



คุณเป็นคนประเภทไหนในความสัมพันธ์ ?



วัฒนธรรมการเดากับสังคมไทย

เป็นไปได้หรือไม่ที่การมีชีวิตในสังคมอำนาจนิยม ทำให้เราชินกับการไม่ตั้งคำถามมาตั้งแต่เด็ก เพราะการตั้งคำถามจะทำให้ดูแปลกแยก กลายเป็นจุดสนใจ หรือบางทีการตั้งคำถามอาจจะทำให้สังคมมองคนคนนั้นว่าก้าวร้าว เสียมารยาท จึงทำให้หลายคนต้องเดาเมื่อไม่เข้าใจอะไร หรือต้องเดาเมื่ออยากรู้คำตอบเพราะไม่กล้าถามและกลัวจะถูกลงโทษจากการถาม

อีกทั้งในภาพยนตร์หรือละคร เรามักจะเห็นฉากเลิฟซีนที่ผูกโยงความบังเอิญเข้ากับเรื่องโรแมนติก แล้วส่วนมากมันก็บังเอิญจะดีเสียด้วยสิ เช่น พระเอกข่มขืนนางเอกแล้วตอนสุดท้ายทั้งคู่รักกัน หรือนางเอกตบพระเอกแล้วถูกพระเอกจูบ


ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ทุกครั้งในทุกความสัมพันธ์จะบังเอิญดีเหมือนในภาพยนตร์หรือละคร เราไม่มีสื่อกระแสหลักที่สื่อถึงการถามคู่ของตัวเองว่าพร้อมที่จะมีกิจกรรมร่วมกันหรือไม่ เพราะถ้าขาด consent แล้วสิ่งนั้นจะเท่ากับการข่มขืนทันที

แรงกดดันในระดับเล็กอย่างความกลัวที่จะถูกคนรอบข้างมองว่าถ้าถามก็จะดูเป็นคนที่ทำไม่เป็น ไม่มีประสบการณ์

หรือมองเป็นหน้าที่ เช่นความเชื่อที่ว่าภรรยาที่ดีต้องเอาใจคู่ครอง ทำให้ผู้หญิงหลายคนไม่กล้าปฏิเสธและทำให้ผู้ชายคิดว่าการที่ผู้หญิงยอมคือเรื่องปกติ ไม่จำเป็นต้องถาม และในทางกลับกัน หากผู้ชายอยากปฏิเสธเพราะไม่พร้อมบ้าง ผู้ชายก็กลัวที่จะถูกคนอื่นมองว่า "ไม่แมน”

ดังนั้น ในเมื่อการเดา การคิดไปเอง และการกลัวคำตอบ เป็นเรื่องที่อยู่รายล้อมชีวิตของเรา ผนวกกับทั้งสังคม สื่อ และโรงเรียน ก็ไม่ได้สอนเรื่องของความยินยอม เราจึงทำตามสื่อหรือแรงกดดันของสังคมที่มีความอำนาจนิยมมาก

ไม่เปิดโอกาสให้คนถามมาก ทั้ง ๆ ที่การคิดแทนไม่ใช่คำตอบที่ดี และการที่เคยทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งร่วมกับคู่ของคุณก็ไม่ได้แปลว่าเธอหรือเขาจะยินยอมตลอดไป

อำนาจนิยมในระดับใหญ่จึงหล่อหลอมให้เกิดอำนาจนิยมอย่างไม่รู้ตัวในระดับเล็ก เกิดความสัมพันธ์ที่ไม่เคารพในการติดสินใจของอีกฝ่าย เป็นที่มาของความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ ยิ่งคบกันยิ่งด้อยค่า (Toxic Relationship) และเมื่อความสัมพันธ์นำไปสู่ความด้อยค่าแล้ว จึงเกิดความเจ็บปวดทางกายและใจตามมา

ความสัมพันธ์ที่ดีคือความสัมพันธ์ที่รับฟังกันและกัน ไม่บังคับขู่เข็ญ ไม่พยายามยัดเยียดสิ่งที่ตัวเองต้องการโดยไม่สนใจอีกฝ่าย และหากมีการยัดเยียดเกิดขึ้นนั่นก็คือการละเมิด ต่อให้ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจสุดท้ายแล้วสิ่งนั้นก็คือการละเมิดอยู่ดี

ดังนั้นการสื่อสาร การถาม จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะทำให้เรารู้ว่าอีกฝ่ายคิดและต้องการอะไรเพื่อเป็นการเข้าใจตรงกัน โดยที่เราไม่ต้องคาดเดาไปเอง


ทั้งๆ ที่เราก็น่าจะรู้ว่าการละเมิดมันไม่ดี แต่ทำไมเราถึงยังทำมัน?

มีหลายคนที่เจ็บปวดจากการถูกคนรักละเมิดทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นการถูกสัมผัสทั้งที่ไม่ต้องการ

การถูกขอให้มี sex ด้วยทั้ง ๆ ที่ไม่อยากมี แต่ก่อนที่จะรู้ว่าเจ็บปวดอย่างไร เราอยากให้คุณรู้ว่าทำไมบางคนถึงคิดว่าทำได้

นี่คือความคิดบางส่วนจากคนที่ละเมิดแฟนตัวเอง

"อยากให้รู้สึกดี”

"เรารู้ว่าเขาต้องการ"

"sex = love"

"ความรู้สึกของการเป็นเจ้าของ"

"ทนไม่ไหวจริงๆ"

"กวนตีน อยากให้รำคาญ"



แล้วคนที่ถูกคนรักกดดันหรือบังคับให้มีเพศสัมพันธ์รู้สึกอย่างไร?

"เขามักจะแสดงท่าทีไม่พอใจ จนทำให้เราไม่สบายใจที่จะปฏิเสธในครั้งต่อๆมา ทั้งๆที่เราก็รู้ว่าเรามีสิทธิที่จะปฏิเสธ แต่สุดท้ายก็ต้องยอม เพราะไม่อยากเห็นท่าทีไม่พอใจจากเขา ไม่ใช่แค่เขาควรจะต้องทำตามสิ่งที่เราเลือก แต่เขาควรจะไม่แม้แต่แสดงความไม่พอใจออกมาให้เราต้องอึดอัดใจด้วยซ้ำ"


"ปฏิเสธ ผลที่ตามมาคือ เราไม่สบายใจเอง"


"รู้สึกไม่ปลอดภัย insecure ลด self esteem มาก ๆ :-(”


"(เจ็บมากกก) แบบส่งผลกระทบทั้งทางกายและทางใจ"


"เข้าใจเลยว่าความรู้สึกของคนที่ถูกข่มขืนมันเป็นยังไง มันเเย่นะ …เรารู้สึกไม่โอเคเลย รู้สึกเเย่ทั้งกับตัวเองเเละเขา"

"เราคิดว่าทำไมเราต้องทำแบบนี้ มันเจ็บจังเลยเนอะ ทั้งกายและใจ เราผิดปกติรึป่าว"

นี่คือความรู้สึกหลังถูกละเมิดโดยคนรัก และคำตอบเหล่านี้มาจากแบบสำรวจที่เราสร้างขึ้นมา หลายคนรู้สึกผิดเนื่องจากคิดว่าไม่สามารถให้ความต้องการกับคนรักได้ ต้องฝืนใจต่อไป รู้สึกไม่สบายใจ ขมขื่น รู้สึกว่าเป็นปม กลัว รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า ขยะแขยงตัวเอง นอกจากนี้ยังไม่สามารถมองคู่รักได้แบบเดิม รู้สึกแย่ทั้งกับตัวเองและเขา

เข้าใจความรู้สึกของคนที่ถูกข่มขืน อึดอัดเมื่อถูกคนรักสัมผัสอีก และรู้สึกเหมือนเป็นที่ระบายความใคร่

หลายคนยังรู้สึกแย่กับประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่เข้าใจว่าทำไมตัวเองต้องมาเจอกับเรื่องแบบนี้ ความรู้สึกเจ็บปวดที่เกิดขึ้นทั้งทางกายและทางใจ บางคนอาจจะยังถามตัวเองอยู่ไม่รู้จบเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ คนที่ถูกละเมิดก็ไม่ได้มีปฏิกิริยาแบบเดียวกันทุกคน บางคนอาจจะร้องไห้ ส่งเสียง หลบตา เกร็ง หรือ

บางคนก็อาจจะไม่ได้พูดอะไรเลยเพราะกำลังช็อค

มาตรฐานที่ควรมีในสังคมไทย : เคารพการตัดสินใจและถามถึงความยินยอม

เราพบว่ามีคนที่เคยถูกละเมิดจากคนรัก และเมื่อคนคนนั้นได้เจอกับคนที่เคารพความรู้สึกกันและกันเข้าในวันหนึ่ง

เธอหรือเขาจะรู้สึกเหมือนกับสิ่งนี้เป็นสิ่งที่พิเศษ ทั้ง ๆ ที่การเคารพกันควรเป็นเรื่องปกติ ควรเป็นสิ่งที่ทุกคนพึงทำ

ในสังคม

จากความเห็นที่เราได้ยกมา หากคุณคิดว่าการละเมิดหรือคุกคามทางเพศในคู่รักนั้นไม่มีจริง ขอให้ลองทบทวนดูใหม่ คนที่หลุดพ้นจากความสัมพันธ์เป็นพิษได้บอกกับเราว่า

“ตอนนี้เราหลุดพ้นจากนรกมาแล้ว และไม่อยากให้มีใครคนไหนต้องเจออะไรแบบนี้อีก”

"พอเราได้พบคนที่เคารพความรู้สึกของเรา เสียงของเราดังขึ้น และมีความหมายกับคนแบบเขา”




ดังนั้นแล้ว หากคุณกำลังเผชิญกับความสัมพันธ์ที่ชวนอึดอัดใจ ยิ่งคบกันไปยิ่งด้อยค่า เราอยากบอกทุกคนว่า

ทุกคนมีสิทธิที่จะไม่ยอม มีสิทธิหยุดกิจกรรมนั้น ๆ มีสิทธิห้าม มีสิทธิไม่พอใจ


และใครก็ตามที่รู้สึกโดดเดี่ยว หรือคิดว่าตัวเองเผชิญกับประสบการณ์ร้าย ๆ นี้คนเดียว เราอยากให้คุณรู้ว่า คุณไม่ใช่คนเดียวในโลกที่ถูกกระทำแบบนี้ มีคนอีกจำนวนไม่น้อยเลยที่เผชิญกับเรื่องราวแบบนี้เหมือนคุณ และนั่นไม่ใช่ความผิดคุณเลย

ถึงแม้ว่าแบบสำรวจที่เราทำขึ้นจะเป็นการถามถึงความคิดเห็นของคนบางส่วนในสังคม ไม่ได้เป็นภาพแทนของสังคมทั้งหมด แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าปัญหาเหล่านี้จะไม่สำคัญ เพราะเพียงแค่มีคนคนหนึ่งต้องรู้สึกแย่กับสิ่งเหล่านี้นั่นก็เป็นปัญหาแล้ว

ทั้งนี้ทั้งนั้น เรามาร่วมสร้างการตระหนักรู้และหยุดละเมิดและคุกคามคนรักกันเถอะ การถามว่ารู้สึกอะไร ต้องการอะไร เป็นเรื่องที่ดีเสมอ ไม่มีอะไรดีไปกว่าการรับฟังความต้องการของกันและกันอีกแล้วล่ะ








ดู 11,207 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page