top of page
รูปภาพนักเขียนFeminista

Feminista Interview เสียงจากเฟมทวิต : เขาหาว่าเราบ้า ประสาทแดก เกรี้ยวกราด และไม่ใช่เฟมินิสต์





แม้ว่าจะมีสื่อหลายสำนักให้ความสนใจกับปรากฎการณ์เฟมทวิต ไม่ว่าจะเป็นการเสนอบทความข่าวของบีบีซีไทยที่ชื่อว่า เฟมทวิต : ประวัติศาสตร์ของแนวคิดสตรีนิยม และปมขัดแย้งในสังคมไทย ที่สรุปเหตุการณ์กระแสการถกเถียงของกลุ่มเฟมทวิตและกลุ่มเบียวชิบหาย หรือบทความ จาก ‘เฟมินิสต์’ สู่ ‘เฟมทวิต’: สำรวจความ(ไม่)เท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย กับ ชานันท์ ยอดหงษ์ ที่พาผู้อ่านไปรู้จักกับเฟมทวิตผ่านบทสัมภาษณ์จากนักวิชาการเรื่องเพศ และในบทความ รู้จัก 'เฟมทวิต' ในการชุมนุม '#เยาวชนปลดแอก' ที่พยายามอธิบายความหมายของกลุ่มคนที่แสดงตัวว่าเป็นเฟมทวิตในการชุมนุมทางการเมือง และจากบทความสัมภาษณ์ล่าสุดใน ‘พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ’ : จากกรณีเฟมทวิต VS เบียว สู่การตั้งคำถามถึงขอบเขตของ Free speech ก็มีการพยายามอธิบายถึงคนที่เรียกตัวเองว่าเฟมทวิต ในมุมมองของนักสิทธิมนุษยชน


แม้จะมีบทความจำนวนมากที่พูดถึงเฟมทวิต แต่ผู้ใช้งานบนทวิตเตอร์บางส่วนได้ตั้งคำถามที่น่าสนใจว่า ในบรรดาบทความหรือข่าวทั้งหมดที่พูดถึงเฟมทวิต กลับไม่มีเสียงของเฟมทวิตเลย มีแต่เสียงของนักวิชาการหรือคนที่ไม่ได้อยู่ในชุมชนของเฟมทวิต ไม่ได้เป็นตัวแทนของคนกลุ่มที่ถูกพูดถึง


เฟมินิสต้า จึงได้สัมภาษณ์กลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นเฟมทวิต เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนที่ถูกพูดถึงในบทความต่างๆ ได้ส่งเสียงของตัวเองและเปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้ทำความรู้จักกับพวกเขาให้มากขึ้นกว่าที่เห็นจากตามสื่อต่างๆ




เสียงของ แม้ก @MaxSPSR


นิยามหรือเรียกตัวเองว่าเฟมทวิตตั้งแต่เมื่อไหร่คะ


ตั้งแต่ตอนเห็นคนเรียกเฟมินิสต์บนทวิตเตอร์ว่าเฟมทวิตครับ ปกติเป็นเฟมินิสต์แล้วก็เรียกตัวเองว่าเฟมินิสต์อยู่แล้ว มีช่วงหลังๆมานี้เองที่จู่ๆก็เห็นคำว่าเฟมทวิตขึ้นมาจากคนที่ไม่ได้เล่นทวิต บางทีก็บอกเล่าพฤติกรรมของเฟมินิสต์ปลอมที่อาศัยอยู่ในทวิตเตอร์ (ซึ่ง เล่นทวิตวันละหลายชั่วโมง ฟอลคนที่เป็นเฟมินิสต์ตั้งเยอะก็ไม่เคยเห็นเองกับตาเสียที เหมือนเป็นสัตว์ในเทพนิยาย) แล้วคำก็ใช้กันจนเกร่อจนรู้สึกเหมือนเป็นหุ่นฟางใน strawman fallacy ที่คนตั้งขึ้นมาตีเล่นๆ ก็เลยนิยามตัวเองว่าเป็นเฟมทวิตบ้าง แต่เป็นเฟมทวิตเช่นเดียวกับเฟมินิสต์ที่(มีตัวตนจริงและ)เล่นทวิตเตอร์ ฮะ


แต่ในช่วงที่ผ่านมา คำว่าเฟมทวิต ถูกกลุ่มเบียวเอามาใช้ด่า แล้วก็เป็นคำเหยียดหยามด้วย ทำไมไม่ปฏิเสธหรือบอกว่าเราไม่ใช่เฟมทวิต ทำไมยังใช้คำนี้หรือนิยามตัวเองคะ


คงเพราะคำมันไม่ได้มีเซนส์ของการด่าและเหยียดหยามในตัวมันเองด้วยมั้งครับ ผมเป็นเฟมินิสต์ และเล่นทวิตเตอร์ ก็ตรงตามตัวพอดี มันมีการ reclaim ความหมายอยู่ ผมว่ามันสำคัญที่จะปฏิเสธนิยามเดิมที่หละหลวม แล้วก็ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างคนจริงๆ นอกจากจะโพสอวยกันเองในกลุ่ม


ไม่ใช่แค่ความหมายเดิมจะไม่ตรง มีคนใช้มันแย่ เราจึงไม่ควรใช้คำนั้น เพราะผมรู้สึกว่าเบื้องหลังของการแปะป้ายว่าคนอื่นว่าเฟมทวิตเป็นปัญหาเดิมๆในรูปแบบใหม่ที่เฟมินิสต์ต้องเจออีกครั้ง ในคราบของการบอกว่าไร้แก่นสาร ไร้สาระ อคติ ย้อนแย้ง และเกลียดชังต่อเพศชาย ผมคิดว่ามันไม่ควรจบแค่เราไม่เลือกที่จะหยิบป้ายมาแปะ แต่การมีอยู่ของป้ายที่พยายามกลบความคิดเห็นจริงๆ กลบบทสนทนาหรือโอกาสที่จะเกิดบทสนทนาเรื่องความเท่าเทียมความเพศขึ้นมา มันอันตรายต่อทุกคน

ผมว่าจุดที่สำคัญอย่างนึงที่ทำให้ผมกล้าจะบอกว่าผมเป็นเฟมทวิตเพราะผมเป็นผู้ชายครับ ไม่ใช่ในฐานะคนขี่ม้าขาวมาช่วยแบบ savior complex แต่เพราะความเท่าเทียมทางเพศเป็นเรื่องของทุกคน และก็เป็นเรื่องของผู้ชายเช่นกัน

ภาพลักษณ์ของเฟมทวิตในความหมายของกลุ่มเบียวมักจะเป็นภาพของผู้หญิง ติ่งเกาหลี SJW และมีความเกลียดชังต่อผู้ชาย เป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ต่างจากเวลาคนมองเฟมินิสต์ปกติด้วยซ้ำ และผมในฐานะผู้ชายที่มีพริวิเลจในการไม่ตกไปอยู่ใน category ของอคติที่มีต่อเฟมินิสต์ และในฐานะเฟมินิสต์ ก็ควรจะทำให้เห็นว่าเฟมินิสต์ไม่ได้มีแค่ผู้หญิง และไม่ได้ทำแค่เพื่อผู้หญิง แต่เพื่อความเท่าเทียมที่รวมไปถึงเกย์ ชายข้ามเพศ หญิงข้ามเพศ ไบเซกชวล เควียร์ และคนชายขอบในกลุ่มอื่นๆ อย่างน้อยก็เป็นอะไรที่พอทำได้ถ้ามันช่วยอะไรได้บ้างซักนิดนึงด้วยพริวิเลจตรงนี้ก็ยังดี ผมว่ามันสำคัญที่เราทบทวนทั้งตัวเองและแนวคิด


และน่าเศร้าที่การออกมาพูดว่าความเป็นชายทำร้ายเราอย่างไรจากผู้ชายด้วยกันเองมันถูกเปิดใจรับมากกว่าสิ่งที่เฟมินิสต์ผู้หญิงหลายๆคนพยายามอธิบายกันปากเปียกปากแฉะ แต่ก็ถูกปัดทิ้งแค่เพราะว่าไม่มีทางเข้าใจเรื่องของผู้ชายเพียงเพราะเธอเป็นผู้หญิง


ในฐานะเพศกำเนิดชาย เวลาเราออกมาพูด เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เจอแรงต้านหรือถูกคุกคามมั้ยคะ


คิดว่าอาจจะเจอบ้างอยู่เหมือนกันครับ แต่คิดว่าค่อนข้างเบา คือคิดว่าส่วนนึงที่เจอเพราะตัวผมเองไม่ใช่ heterosexual บางทีก็ถูกเข้าใจว่าเป็นแอคเคาท์ผู้หญิงบ้าง คือปกติผมใช้แอคเคาท์นี้เล่นส่วนตัวคุยกับเพื่อนๆตามปกติ แล้วก็มีส่วนร่วมในประเด็นสังคมไปด้วยทั้งเรื่องความเท่าเทียมทางเพศแล้วก็เรื่องอื่นๆ


ส่วนใหญ่แล้วผมไม่ค่อยเจอแรงต้านเท่าไหร่ แบบ ไม่ได้ถูกต่อต้านเพราะเป็นผู้ชาย ผมรู้สึกว่าผมสะดวกใจที่จะพูดเรื่องแพทริอาคี่มากๆด้วยซ้ำว่าความเป็นชายทำร้ายผู้ชายยังไง เพราะผมเองก็เป็นผู้ชายที่ทั้งฟิทอินและไม่ฟิทอินในสเตริโอไทป์ ผมเล่นกีฬาไม่เก่ง ไม่เก่งเลข ไม่เก่งวิทย์ เรียนคณะสายศิลป์ แต่ผมก็เป็นคนเดียวกับคนที่ทำปรัชญา ชอบอ่านคอมมิค ชอบเล่นเกม ชอบอ่านการ์ตูน ชอบเล่นการ์ดเกม แล้วก็ยังเป็นคนเดียวกับคนที่ร้องไห้บ่อย กับคนที่เศร้าง่าย กับคนที่มีความรู้สึกร่วมกับเหตุการณ์หลายๆอย่างมากกว่าที่สังคมบอกว่าผู้ชายควรจะมี


ผมไม่เคยถูกคุกคามถึงขั้นได้รับ death threat หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวอะไร มีโดนแคปทวิตไปลงเพจเฟมทวิตบ้าง ไม่แน่ใจว่าโดนพูดถึงยังไงในเพจบ้างเพราะผมเลื่อนผ่านหมวดรูปแล้วมันไม่มีคอมเมนต์ข้างใต้ให้ดู ผมไม่ค่อยได้เล่นเฟสบุ๊คด้วยฮะ ไม่ค่อยจะแอคทีฟเท่าไหร่ ถ้าเข้าไปดูก็จะเลื่อนแบบเร็วๆเพราะบางทีก็ไม่อยากเห็นคนแชร์คอนเทนต์กรุ๊ปเบียวมา บางทีก็ไม่อยากไปยุ่งเพราะแค่บนทวิตก็เหนื่อยแล้ว


แล้วคิดยังไงคะ กับที่มีคนบนเฟซบุคมาบอกว่า พวกเฟมทวิตคือฉอดในทวิตไปวันๆ ไม่ทำอะไรในชีวิตจริง ออกไปดูโลกภายนอกบ้าง


รุ้สึกว่าประหลาดดีครับ เพราะคนที่พูดแบบนั้นก็พูดอยู่แค่ในเน็ตเหมือนกัน 55 ผมคิดว่าผมในฐานะที่เป็นเฟมินิสต์และในอีกเวอร์ชั่นที่ไม่เป็นเฟมินิสต์ก็คงไม่ต่างกันมาก ผมไม่ใช่นักกิจกรรม จนตอนนี้จะเรียนจบแล้วผมก็ไม่ ผมคิดว่าคนเราสุดท้ายก็จะพูดในที่ที่คิดว่าสะดวกพูด สบายใจที่จะพูด แล้วคิดว่าพูดไปแล้วมันได้อะไรบ้างเพราะคนเรามีภาระและความถนัดที่ต่างกัน ผมไม่คิดว่าการพูดแต่ในเน็ตเป็นแบบ เอคโค่แชมเบ้ออะไรนะ ตั้งแต่เล่นทวิตมาผมรู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศเยอะขึ้นมากๆๆๆ เพราะคนคุยกันเยอะ แล้วก็มีคนเขียนให้อ่านกันฟรีๆ บางทีก็มาในรูปแบบของการบอกเล่าประสบการณ์บ้าง เป็น thread บ้าง ผมเคยเขียนอันนึงด้วยเพราะรำคาญเวลา่คนบอกว่าเฟมินิสต์คือพวกต้องการให้ผู้ชายลุกให้นั่ง มีคนบอกว่าชอบที่ผมเขียนแล้วก็เข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น แล้วก็ทำให้เพื่อนเข้าใจได้ทันทีด้วยการแค่ส่งลิ้งค์ที่ผมพูดคนเดียวประมาณสิบทวิตติดกันไปให้เค้าอ่าน


ถ้าคนในเฟซได้เล่นทวิตบ่อยๆเท่าหลายคนในนี้ก็คงจะตกใจกับจำนวนคนที่พูดเรื่องพวกนี้มันเพิ่มขึ้นจริงๆน่ะครับ ซีนารีโอ้ในทวิตตอนนี้เป็นอะไรที่ผมเองไม่คิดว่าจะได้เห็นเมื่อ10 ปีก่อนด้วยซ้ำ ทั้งนึกภาพตัวเองและคนรอบตัวสมัย10ปีก่อนไม่ออก แล้วก็แทบไม่อยากเชื่อว่าแม้แต่ตัวเองก็มีส่วนร่วมในบทสนทนาอะไรแบบนี้ ทั้งเรื่องประชาธิปไตย ความเท่าเทียมทางเพศ ปัญหาคนชายขอบ ปัญหา3จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือแม้แต่ระบอบการปกครอง ผมไม่รู้ว่าตัวเองมีส่วนมากแค่ไหนในนี้ ที่แน่ๆคือไม่เยอะ แต่ผมก็คิดว่าอย่างน้อยเราก็ไม่ได้มาผิดทางนะ 55


อะไรแบบนี้เป็นอย่างนึงที่ผมชอบในอินเตอร์เน็ต เวลาท้อเพราะปัญหาสังคมทีไรผมชอบนึกแบบที่บอกไปข้างบน แบบ ทุกอย่างตอนนี้มันดีกว่าเมื่อ10ปีก่อนจริงๆ มันก็คงจะมีหวังอยู่บ้างแหละ


แล้วที่ว่าไม่ทำอะไรในชีวิตจริงนี่เลยยิ่งเป็นอะไรที่รู้สึกค้านแบบหัวชนฝาเลยครับ เพราะโลกอินเตอร์เน็ตไม่ได้แยกออกจากชีวิตจริง อีกอย่างเพราะผมเจอคนเป็นเฟมินิสต์เยอะมากๆๆๆ แบบมากจริงๆ เจอคนหลากหลายประเภทมาก ผมว่าโลกบนเน็ตมันก็คือโลกภายนอกนี่แหละฮะ แค่ทำให้คนเราเจอกันง่ายขึ้น ถ้าอะไรที่อยู่บนอินเตอร์เน็ตไม่มีจริง อย่างงั้นม๊อบตุ้งติ้งก็คงไม่สำเร็จ ไม่มีใครได้ไปโบกธงไพรด์ตรงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

รู้สึกว่าเพราะไม่มีอะไรที่ทำไปไร้ค่าเลยอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับความเท่าเทียมทางเพศเยอะๆฮะ เหมือนกับที่เราอยากให้คนมีส่วนร่วมกับการเมืองนั่นแหละ ผมว่าเรื่องแบบนี้มันไม่ได้แยกขาดกันขนาดนั้น แล้วเอาจริงๆคนที่ผมรู้จักส่วนใหญ่ก็แอคทีฟทางการเมือง ไม่ใช่ถึงกับเป็นนักกิจกรรมทุกคน แต่ก็ทั้งใช้ชีวิตของตนเองแล้วก็พูดเรื่องพวกนี้ไปด้วยทั้งบทสนทนาในชีวิตจริงและบนทวิตเตอร์ เป็นคนเดียวกับที่พูดเรื่องการเมืองกับที่บ้าน กับเพื่อนฝูง ทุกคนก็เป็นคนปกติทั่วไปที่ทำอะไรที่ตัวเองทำได้นั่นแหละ


สุดท้าย อยากบอกอะไรกับสังคมหรือฝากอะไรให้คนที่มาอ่านบทสัมภาษณ์นี้เกี่ยวกับเฟมทวิตมั้ยคะ


ถ้าว่างๆก็ลองเล่นทวิตเตอร์ดูฮะ แบบ ตอนแรกผมก็เล่นเฉยๆ ไว้คุยกับเพื่อน ตอนนี้กลายเป็นมีส่วนร่วมในบทสนทนาต่างๆได้ไงไม่รู้ คงเพราะคณะที่เรียนด้วย แต่แบบ คนที่พูดกันตรงนี้ก็เป็นคนจริงๆทั้งนั้นฮะ เพราะงั้นถ้าอยากรู้ก็ลองอ่าน ลองคุย ไม่ก็แค่ลองดูว่าคนเค้าคุยอะไรกันก็ได้ครับ จริงๆมัน sensible กว่าที่คิดนะ จริงๆๆๆ แบบจริงๆที่พูดกันนี่ก็เรื่องปกติ ไม่ต้องเรียนจบอะไรมา หลายคนที่ผมรู้จักไม่ได้เรียนสายมนุษย์ด้วยซ้ำไปแต่รู้เรื่องเยอะมากๆ บางคนเป็นเด็กมัธยมด้วยซ้ำแต่ดูรู้เรื่องกว่าผมสมัยมัธยมซักสิบเท่าได้ ดีใจ อยากเห็นคนคุยเรื่องความเท่าเทียมทางเพศเยอะๆ เหมือนกับที่การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน เพราะความเท่าเทียมทางเพศก็เป็นการเมืองและเรื่องของทุกคนเหมือนกัน



เสียงของ คิตาจิม่า มายะ @thegreatgrumpyy


นิยามตัวเองว่าเป็นเฟมทวิตตั้งแต่เมื่อไหร่คะ


เริ่มสนใจเรื่องเฟมินิสต์มาสักระยะใหญ่ ๆ แต่เพิ่งศึกษาจริงจังมาไม่กี่ปี ส่วนตัวไม่ได้เรียนด้านนี้โดยตรง แต่ก็พยายามหาความรู้เพิ่มเรื่อย ๆ จนมารู้ว่ามีคนกลุ่มหนึ่ง (คิดว่าจุดเริ่มต้นน่าจะมาจากกลุ่มที่ตอนนี้เรียกกันว่ากลุ่มเบียว) เรียกเฟมินิสต์ในทวิตเตอร์ว่า “เฟมทวิต” ในใจก็คิดว่า เออ แล้วยังไงหว่า? เพราะดูเขาจะใช้คำนี้แบบดูถูกติเตียนกัน เราไม่รู้สึกขุ่นเคืองหรอก แต่คิดว่าความหมายของเฟมทวิตมันถูกฉกฉวยเป็นใช้ กดทับขบวนการมากขึ้นเรื่อยๆ เราอยากจะ reclaim คำนี้กลับมาก็เลยนิยามตัวเองว่าเปนเฟมทวิตค่ะ


แล้วตั้งแต่รีเคลมคำมาใช้ เจอคุกคามหรือต่อต้าน อะไรมั้ยคะ ในรูปแบบต่างๆ


ยังไม่เคยเจอถึงขั้นคุกคามค่ะ ต้องพูดตรง ๆ ว่าเรายังทำงานน้อยมากเทียบกับมิตรสหายเฟมทวิตอีกหลายท่าน เช่น เฟลอร์ ที่ถูกคุกคามหนักมาก เป็นสิ่งที่ทำให้นับถือทุกคนที่ออกหน้าและต้องรับแรงปะทะจากกลุ่ม anti feminism มาก ๆ ค่ะ


แล้วคิดยังไงที่มีคนบอกว่าเฟมทวิตประสาทแดก บ้าบอ


คนประสาทแดกมีทุกที่มีทุกศักดิ์ฐานะ ไม่ว่าจะเป็นอะไรมาจากไหนก็ประสาทแดกได้ทั้งนั้น แต่ที่คนกลุ่มนึงรู้สึกว่าพฤติกรรมของเฟมินิสต์ประสาทแดก อยากย้อนถามว่าเพราะคุณเห็นว่าเขาประสาทแดกจริง หรือเกิดจากอคติลึก ๆ ในใจกันแน่ มันมีทุกยุคเลย ไอ้การแปะป้ายประสาทแดกให้ผู้หญิงที่แหกบรรทัดฐานสังคม เนี่ย สมัยก่อนก็หาว่าเปนแม่มดบ้าง เป็น hysteria หรือเป็นบ้าบ้าง ก็คือมีมาตลอด เราไม่แปลกใจอะไร และก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าพฤติกรรมประสาทแดก (as they’ve always said so) มีในขบวนการจริง แต่ก็อยากให้คนที่คิดเช่นนั้นได้ทบทวนอคติในใจด้วย การมองว่าผู้หญิงที่ออกมาพูด ออกมาแสดงความเห็น (ไม่ว่าจะเป็นความเห็นที่เจือด้วยอารมณ์หรือไม่ก็ตาม) นั้นประสาทแดก มันมาจากพฤติกรรมของพวกเธอจริง ๆ หรือมาจากอคติที่ว่าผู้หญิงควรเสงี่ยมหงิมสงวนถ้อยคำและก้มหน้าก้มตาอดทนทุกอย่างกันแน่


แล้วคิดยังไงกับคนที่บอกว่า เฟมทวิตฉอดแต่ในออนไลน์ ไม่ออกไปทำอะไรข้างนอก ไม่ใช่เฟมินิสต์แท้จริง


การจะผลักดันวาระ (agenda) ของการเคลื่อนไหวใด ๆ ย่อมต้องลงแรงนอกจากการแสดงความเห็นในเน็ตอยู่แล้ว ประเด็นคือเราจะขยับขยายพื้นที่การแสดงความเห็นในเน็ตนี้ไปสู่การทำงานภาคสนามได้อย่างไร ไม่ใช่ว่าวันดีคืนดีนึกอยากจะทำก็ทำได้เลยนี่ มันก็ต้องมีทรัพยากรก่อน ทั้งองค์ความรู้, เวลา, และแรงสนับสนุนอื่น ๆ ใช่ ถ้าคุณอยากทำ คุณทำเลย แต่ถ้าจะให้การทำงานออกดอกผลแม้เพียงเล็กน้อย เราก็ต้องเตรียมอะไร ๆ ให้พร้อม


ที่เราพูดเรื่ององค์ความรู้นี่ไม่ใช่ว่าต้องมีใบปริญญาด้านสตรีศึกษานะ แต่หมายถึงสิ่งที่คุณตกผลึกได้จากการคลุกคลีกับผู้คนและประสบการณ์ส่วนตัวที่สัมพันธ์กับขบวนการ และหมายถึงสิ่งอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการผลักดันวาระของคุณ (เช่นข้อกฎหมาย ฯลฯ) ทุกสิ่งทุกอย่างที่ว่าไป มันไม่ได้มาง่าย ๆ โดยเฉพาะในสังคมนี้ บ้านเมืองเราไม่ได้สอนให้คนสงสัยใคร่รู้ ไม่ได้สอนให้คนมีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่นและกระทั่งต่อตนเอง พอเป็นแบบนี้เรามันก็ยาก แต่ความขับข้องใจมันมีจริงไง มีตลอดแหละ ตอนนี้ที่ผู้ถูกกดขี่ (ผู้หญิง) สามารถแบ่งปันประสบการณ์และทรัพยากรให้กันได้ผ่านทวิตเตอร์ เขาก็ทำกันละ ไม่ต่างอะไรจากที่สมัยก่อนคุยกันผ่านเว็บบอร์ดหรอก เรายังงงว่าเฟมทวิตแล้วทำไมนักนะ ถึงกับต้องมาวิเคราะห์เชิงวิชาการเหรอ มันก็เปนไปตามยุคสมัยและความสะดวกใจของคนกลุ่มหนึ่งน่ะ


แต่มีคนจำนวนหนึ่งบ่นเยอะว่า ทวิตเตอร์มันไม่เหมาะจะพูดเรื่องพวกนี้ มัน Toxic มันสั้นๆ เข้าใจผิดกันเยอะ แล้วก็เหมือน Echo Chamber กันเอง คิดยังไงกับความเห็นทำนองนี้คะ


ทวิตเตอร์ไม่ได้เหมาะจะพูดเรื่องที่... อืม... จะว่ายังไงดี เรื่องอะไรที่ต้องคุยกันยาว ๆ น่ะค่ะ เห็นด้วยนะ พื้นที่การเรียนรู้เรื่องพวกนี้มันควรขยายมามากกว่าในเน็ตแหละ เรื่อง echo chamber เราก็ไม่ได้เห็นว่าจะต่างจากที่ผ่านมาสักเท่าไหร่ ยิ่งถ้าพูดถึงเฟซบุ๊กแล้ว โห พอกันไหม แถมทางนั้นจะแย่กว่าอีก แหล่งมั่วสุมสารพัดความเกลียดชังและอคติต่อกลุ่มคนชายขอบ แบบนี้สมควรเรียก toxic มากกว่าอีก ไอ้พฤติกรรม doxxing คนน่ะมันไม่ดีในตัวเองอยู่แล้ว ไม่ได้เกี่ยวกับ platform หรอก เพียงแต่ทวิตเตอร์ก่อาจจะเอื้อให้เกิดสถานการณ์แบบนั้นง่ายไปหน่อยค่ะ เสริมเรื่อง echo chamber เราว่าการจะมาพูดคุยกัน แต่ละฝ่ายถือคุณค่า ground พื้นฐานร่วมกันก่อนนะ และต้องเปิดใจด้วย ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยเห็นใครจะเปิดใจจริง ๆ เลย ทัศนคติเหยียดหยามมาก แล้วแบบนี้จะคุยกันได้เหรอ


ถ้าอย่างนั้น หากอยากบอกอะไรกับสังคมเกี่ยวกับเฟมทวิต อยากบอกอะไรไหมคะ หรืออยากให้สังคมสนับสนุนเฟมทวิตในแง่ไหนบ้าง


อยากฝากว่าเฟมทวิตก็คือเฟมินิสต์ ไม่ได้มีอะไรต่าง พฤติกรรมประสาทแดกมีทุกที่ไม่ใช่แค่ในขบวนการเฟมินิสต์ ถ้าคุณรู้สึกขยุกขยิกเพราะคนกลุ่มนึง (โดยเฉพาะผู้หญิง) ออกมาพูดเรื่อง traumatic experience ที่เกิดขึ้นเพราะเพศสภาพของพวกเขา ก็ควรพิจารณาอคติตัวเองให้ดี อคติเปนเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะเราถูกหล่อหลอมมาในสังคมแบบนี้ ที่ต้องทำคือสำรวจตัวเอง ยอมรับว่าตัวเองมีอคติ เปิดใจเรียนรู้ว่าโลกนี้ประกอบด้วยความหลากหลาย และมีความเห็นอกเห็นใจให้คนอื่นด้วย



เสียงของ เฟยฯ​@fueianna


นิยามตัวเองว่าเป็นเฟมทวิตมาตั้งแต่ตอนไหนคะ


เฟยสนใจประเด็นเฟมินิสต์มาซักพักแล้วค่ะ แต่ไม่กล้าเคลมว่าตัวเองเป็นเฟมินิสต์เพราะรู้สึกว่าไม่ได้เคลื่อนไหวมากเท่าคนอื่นที่ศึกษาเรื่องนี้มานาน กระทั่งวันนึงมีคนในทวิตเตอร์นี่แหละ เรียกเฟยว่า 'เฟม' (ในเชิงเหน็บแนม) ก็เลยรู้ว่าสิ่งพูดที่ทำอยู่ทุกวันนี้ก็เป็นเฟมินิสต์แล้วนี่นา


จนต่อมาไม่นาน ก็มีประเด็น 'เฟมทวิต' เกิดขึ้นระหว่างแพลตฟอร์ม ก็เรียกตัวเองว่าเฟมทวิตตั้งแต่ตอนนั้นเลยค่ะ เพราะเข้าใจตั้งแต่แรกว่าหมายถึง 'เฟมินิสต์บนทวิตเตอร์' แบบที่คนนั้นเรียกเฟยนั่นแหละ


แต่ว่าคำนี้เนี่ย กลุ่มเบียวเค้าเอามาเรียกเฟมทวิตในทางลบ ที่หมายถึงพวกผู้หญิงประสาทแดก อยากเป็นใหญ่เหนือผู้ชาย


ทำไมถึงไม่ปฏิเสธและยังเอามานิยามตัวเองล่ะคะ


เฟยเคยถกกับคนหลายคนถึงคำนี้นะคะ คนที่ไม่ได้เล่นทวิตเตอร์เขาก็ให้คำนิยามค่อนข้างต่างกัน บางคนก็บอกว่าหมายถึงเฟมินิสต์ที่ทำตัวแย่ บางคนก็ว่าเป็นผู้หญิงที่อยากเหนือผู้ชาย บางคนไม่ได้บอกว่าเป็นผู้หญิงด้วยซ้ำ คิดว่าเป็นแค่คนเล่นทวิตเตอร์


แทนที่จะไหลไปตามนิยามจากคนที่ไม่ได้ใช้แพลตฟอร์มนี้ ทำไมเราไม่นิยามด้วยความหมายที่เราเข้าใจดีล่ะ ก็พยายามจะให้คนอื่นๆ เข้าใจว่ามันเรียบง่ายมากๆ เฟมทวิต = เฟมินิสต์บนทวิตเตอร์ แค่นั้นเอง


ถ้าอย่างนั้น เวลาเราแสดงตัวว่าเป็นเฟมทวิต เคยถูกต่อต้านหรือคุกคามบ้างมั้ยคะ จากคนที่ไม่ชอบเฟมทวิต


ไม่เคยโดนคุกคามนะคะ หรืออาจจะมีแต่เราไม่ทันได้สังเกต เพราะปกติจะ mute แจ้งเตือนอยู่บ่อยๆ ไม่ก็เป็นการแสดงความเห็นเชิงประลองความรู้มากกว่า ซึ่งเฟยก็ไม่ได้มีความรู้เยอะอะไร ถ้าใครอยากชนะ อยากรู้มากกว่า ก็เอาไปเลยค่ะ เฟยไม่สู้ 55555


แต่ที่เจอบ่อยมากคือประโยค "เฟยไม่ใช่เฟมทวิต" ประโยคแบบนี้แหละที่เฟยอยากทำให้ทุกคนเข้าใจตรงกันว่า เฟมทวิต คืออะไร และ "เฟยเป็นเฟมทวิต" แน่นอน


แล้วที่มีคนบอกว่าเฟมทวิตฉอดแค่ในออนไลน์ ไม่ออกไปทำไรข้างนอกล่ะ คิดยังไงกับคำต่อว่าพวกนี้


คิดว่ามองด้านเดียวเกินไปค่ะ เพราะเราไม่มีทางรู้เลยค่ะว่าคนคนนึงทำอะไรนอกเหนือจากการเล่นมือถือบ้าง หลายครั้งที่เห็นคำแขวะว่าเฟมทวิตดีแต่ฉอด แต่การเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์หลายครั้งก็มาจากทวิตเตอร์นะ และหลายคนที่เคลื่อนไหวก็เคลมตัวเองว่าเป็นเฟมทวิตด้วย คนที่แขวะเขาแค่แยกไม่ออกเฉยๆว่าเวลาคนวางโทรศัพท์แล้วออกมาทำกิจกรรมเป็นเฟมทวิตหรือไม่ เพราะเขาไม่ได้อยู่ในทวิตเตอร์เท่านั้นเอง


แต่ก็นั่นแหละ บางคนก็จะตอบกลับมาว่า "ก็เพราะคนเหล่านั้นไม่ใช่เฟมทวิตไง" เหมือนเขาเอาไว้เรียกคนที่เขาไม่พอใจเฉยๆ เฟยว่ามันหลักลอยกว่านิยามที่เขาพยายามก่อรูปขึ้นมาอีกค่ะ


เฟยว่าทวิตเตอร์เป็นแพลทฟอร์มที่เหมาะกับการพูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมั้ยคะหรือมันควรไปใช้แพลทฟอร์มอื่น หรือจริงๆแล้ว ทวิตเตอร์มันเอื้อให้คุยเรื่องนี้ได้มากกว่า


เฟยคิดว่าไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็พูดเรื่องความเท่าเทียมได้อยู่แล้วนะคะ เพียงแต่ทวิตเตอร์มันเป็นแพลตฟอร์มที่ส่งไปได้ไวและกว้างมากในจำนวนประชากรคนเล่นทวิตเตอร์น่ะ ซึ่งมันก็มีโอกาสที่ข้อมูลเหล่านั้นจะผิดด้วยเช่นกัน เพราะความไวทำให้มันไม่ได้ถูกกรอง


แต่ถึงดีเทลมันจะผิด แต่พวกคอนเซ็ปต์หรือแนวคิด มันก็เข้าไปอยู่ในสายตาของคนที่เลื่อนผ่านไทม์ไลน์แล้วอยู่ดี ไม่ได้หมายถึงแค่ความเท่าเทียมทางเพศหรือประเด็นสังคมอื่นๆ นะ แต่รวมถึงเรื่องราวต่างๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นข่าวดาราเลิกกัน ประชุมสภา รีวิวเซเว่น มันเป็นลักษณะเฉพาะของทวิตเตอร์อยู่แล้ว ดังนั้นถ้ามีคนพูดถึงประเด็นสังคมมากๆ คอนเซ็ปต์เหล่านี้ก็เข้าไปฝังหัวคนหมู่มากอยู่แล้ว


ส่วนในแพลตฟอร์มอื่นๆ เฟยว่ามันก็กระจายความรู้หรือคอนเซ็ปต์ต่างๆ ได้คนละแบบแตกต่างกันไปตามธรรมชาติของแต่ละที่ เฟยตามแอคเคาท์ที่รณรงค์เรื่อง gender ใน Stories ของ Instagram ดู Infographic ลายเส้นน่ารักเคลื่อนไหวแบบเข้าใจง่ายจาก YouTube อ่านข่าวความหลากหลายทางเพศจาก Facebook มันสามารถเล่าเรื่องอะไรก็ตามได้ทุกแพลตฟอร์มอยู่แล้วค่ะ


อยากบอกอะไรกับสังคมที่ยังมองเฟมทวิตในแง่ลบหรืออยากให้สนับสนุนเฟมทวิตยังไงบ้างคะ


เฟยอยากให้เข้าใจตรงกันว่า เฟมทวิต = เฟมินิสต์ที่ใช้ทวิตเตอร์ หรือเคลื่อนไหวบนทวิตเตอร์ แค่นั้นเลยค่ะ


แต่เอาจริงๆ เฟมินิสต์ก็โดนกดทับและไม่ได้การยอมรับจากสังคมมากพออยู่แล้ว คนมักจะคิดว่าเป็นแนวคิดสุดโต่ง หรือเป็นไปได้จริงยาก แต่คนยุคนึงเคยสู้จนผู้หญิงได้เลือกตั้งมาแล้ว ดังนั้นสิ่งที่มองว่ามันดูเป็นอุดมคติ เป็นจริงไม่ได้ ถ้าเราเคลื่อนไหวต่อไป คนรุ่นถัดไปก็ได้ประโยชน์จากความเท่าเทียมทางเพศที่เรากำลังทำ ซึ่งคอนเซ็ปต์นี้มันคือการสร้างความเท่าเทียม ไม่ได้ต่างจากประชาธิปไตยเลย แค่เจาะจงไปที่เรื่องเพศเท่านั้นเอง


จริงๆเฟยก็ยังไม่ค่อยมั่นใจนะคะ เพราะไม่ได้ศึกษาอะไรมามากมายจริงๆ แล้วก็รู้สึกว่าเราไม่ได้ทำอะไรมากเท่านักวิชาการด้วย แบบคำพูดของพวกเขานั่นแหละ แต่ก็คิดได้ว่าการเคลื่อนไหวของคนในทวิตเตอร์มันสร้างพลังและอิมแพคมากจริงๆ ดังนั้น twitter user is matter และ เฟมทวิตก็เช่นกัน


คือนักวิชาการก็ผูกขาดการอธิบายปรากฎการณ์เยอะ แต่หลายครั้งก็เป็นการพูดแทน และไม่ตรงกับข้อเท็จจริง


จริงๆก็เข้าใจ เพราะทำงานกับแวดวงคอนเทนต์มานาน เขาก็อยากได้คนที่เป็นแม่เหล็กเพื่อจะได้เอนเกจเหมือนกัน แล้วมันก็รู้สึกว่าเราตัวเล็กลงเรื่อยๆ ด้วย


ทำไมรู้สึกตัวเล็กลงล่ะคะ?


คือเพราะรู้สึกว่าเราไม่ได้ทำอะไรจริงๆ แบบที่เค้าว่า เรามาศึกษาหลังเค้า เสียงเราเลยไม่ทรงพลังเท่าเค้า เราไม่มีคนรู้จัก เลยไม่มีใครตั้งใจฟังเรา จนมันกลายเป็นความไม่มั่นใจมากขึ้นเรื่อยๆเลยค่ะ จนได้มาเจอนักกิจกรรมนักเคลื่อนไหว​ อย่างพี่รวง​ (หิ่งห้อยน้อย)​ พี่วาดดาว​ (1448​ for All) รวมถึงเฟมินิสต้าด้วย ที่บอกว่าเฟยก็ทำอะไรมาเยอะแยะ ซึ่งเฟยก็ไม่คิดหรอกว่าเฟยทำเยอะแล้ว แต่อยากทำอีก


แต่เฟยก็ทำประเด็นสมรสเท่าเทียมอยู่ด้วย ไมไ่ด้แค่พูดบนทวิตเตอร์ ออกไปม็อบไปอะไรด้วย


เฟยไม่แน่ใจว่าทำไมถึงต้องพรูฟตัวเองตลอดเวลา 555 อาจจะเพราะรู้สึกว่าสิ่งที่ทำมันยังไม่สำเร็จซักอย่างด้วย แต่พอทำงานกับอะไรที่ถูกสังคมกดทับมานาน มันเลยยากที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงด้วยแหละค่ะ แต่พอได้เจอพี่ๆ NGO ที่ทำงานมานานก็มั่นใจมากขึ้นและมีกำลังใจมากขึ้นนะคะ


เสียงของ Wadee@senoritawadee_


เริ่มเรียกตัวเองว่าเป็นเฟมทวิตตั้งแต่ช่วงไหนคะ


จริงๆแล้วเราเป็นเฟมินิสต์แอคทีฟออฟไลน์มาสักพักแล้วค่ะ และก็เล่นทวิตเตอร์ด้วย แต่ส่วนใหญ่ก็เน้นแย้งเป็นประเด็นๆไปในแต่ละวันมากกว่า แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องใช้คำว่าเฟมทวิต เพราะเราร้สึกว่าอยู่ไหน เฟมินิสต์ก็คือเฟมินิสต์ค่ะ แต่พอมามีกระแสจากกลุ่ม Facebook แชร์เกี่ยวกับเฟมทวิตในแง่ที่เป็นการแปะป้ายว่าเป็นเฟมินิสต์ปลอม เป็นพวกหญิงเป็นใหญ่ ประสาทแดกและชอบใช้แต่อารมณ์ ยอมรับว่าเรียกตัวเองว่าเป็นเฟมทวิตตั้งแต่วันนั้นเลยค่ะ ฮ่าๆ


เพราะเรารู้สึกว่าเป็นเฟมทวิตแล้วทำไมหรอ การที่ออกมาเรียกร้องให้ตนเอง ให้ผู้หญิงที่ถูกกดขี่ ให้กับเพศอื่นๆที่โดนกดทับมันทำไมหรอคะ การที่พวกคุณไม่เห็นด้วยมันแปลกประหลาดมาก บวกกับเราเชื่อเรื่องการใช้อารมณ์ไม่ใช่เรื่องผิดค่ะ เพราะเราถูกกระทำ จะไม่ให้มีอารมณ์ร่วมในการพูดถึงหรือเรียกร้องก็ดูเป็นการกีดกันหลายๆอย่างออกไป ยอมรับว่าเรียกว่าเฟมทวิตเพราะไม่ต้องการให้โลกหมุนรอบผู้ชายที่กำลังรู้สึกสั่นคลอนในอภิสิทธิ์ความเป็นชายของตัวเอง เห็นผู้หญิงออกมาเรียกร้องสิทธิ์ก็รู้สึกว่าผู้หญิงกำลังจะเป็นใหญ่ ทั้งๆที่เราแค่ต้องการให้มันเท่ากันเท่านั้นเอง เรารู้สึกไม่สามารถปล่อยให้ผู้ชายมาจำกัดความ มากำหนดขอบเขต’พวกเรา’”แบบที่เขาต้องการได้


คือในฐานะเฟมินิสต์และเป็นเฟมทวิต เราไม่ต้องการสยบหรือเป็นไปตามความต้องการของผู้กระทำ เพราะตั้งแต่เกิดเราทำตามใจโลกของปิตาธิปไตยตั้งแต่อยู่ในท้องแม่แล้วด้วยซ้ำ คุณกดฉันอยู่ ทั้งรู้หรือไม่รู้ก็ดี แล้วคุณยังมาบอกอีกว่าฉันต้องทำแบบนี้ แบบนั้นเพื่อให้คุณรับฟัง พูดไม่ดีผมไม่ฟังคุณนะ ซึ่งจริงๆคุณควรรับฟังผู้ถูกกระทำมากกว่าตั้งแต่ต้น เราเลยรู้สึกว่าการขยายความเฟมทวิตให้รุนแรงเพื่อผลักให้คำพูดเราไม่่มีความหมาย ให้โดนปัดตก เป็นอะไรที่รุนแรงและเราไม่สามารถยอมรับได้ และเราจะไม่ยอมจำนนเด็ดขาด เราเลยเรียกตัวเองว่าเฟมทวิตค่ะ

แต่ว่ามันเป็นคำด่าที่ใช้โดยคนกลุ่มหนึ่ง ทำไมถึงเอามาใช้ล่ะคะ มีคนพยายามบอกว่าเฟมทวิตคือพวกประสาทแดก บ้าบอ ต้องการอยู่เหนือผู้ชาย เป็นคำในแง่ลบมากๆเลย


เพราะว่าจริงๆมันไม่ใช่แบบนั้นอะค่ะ การพยายามผลักไม่ให้ฟังเสียงเฟมินิสต์ในทวิตเตอร์จากกลุ่มคนบางกลุ่ม ที่ไม่ยอมรับว่าตัวเองนั้นได้กดคนอื่นอยู่ จากอภิสิทธิ์ความเป็นชายที่ตนมี และรู้สึกรับไม่ได้ที่เฟมินิสต์มีการพูดถึงปัญหาอย่างตรงไปตรงมาและไม่มีข้อยกเว้น มันช่างดูรุนแรงในสายตาพวกเขามาก เราตามไม์ไลน์เฟมินิสต์เห็นทุกคนพูดถึงปัญหาที่นอกเหนือจากตัวเองตลอดนะคะ เพราะเฟมินิสต์คือการเรียกร้องความเท่าเทียมให้ทุกคน แน่นอนว่าปิตาธิปไตยถ้ามันหายไปได้ ผู้ชายที่ยืนด่าๆเราอยู่เนี่ย ก็ได้ผลประโยชน์ด้วยนะคะ เราก็จะย้ำรอบที่ล้านว่าเราพูดถึงระบบปิตาธิปไตย เราไม่ได้ต่อว่าหรือเกลียดผู้ชาย แต่ทุกครั้งที่เราด่าระบบว่ามันทำให้มนุษย์มองคนไม่เท่ากันผ่านเพศ สิ่งที่เป็นอยู่มันกดทับเราอย่างไรบ้าง ก็จะมีผู้ชายบางท่านวิ่งเข้ามาสอน มาปะทะกับเรา เพราะกลัวว่าถ้ามันเปลี่ยนแปลงไป เขาจะเสียผลประโยชน์บางอย่าง ในทวิตเตอร์เองเราเห็นเฟมินิสต์พูดถึงปัญหาหลายอย่างมาก ไม่ว่าจะสิทธิเรื่องการทำแท้ง Domestic violence sex woker การคุกคามทางเพศ เรื่องผ้าอนามัย การสมรสเท่าเทียม ปัญหาแรงงาน คนชายขอบทั้งหลาย คนไร้สัญชาติ หรือแม้กระทั่งการยกเลิกทหารเกณฑ์ Toxic masculinity สำหรับเรามันเป็นก้อนเดียวกันมันคือปัญหาที่เกิดขึ้นใต้ปิตาธิปไตยอะค่ะ


เฟมินิสต์พยายามพูดถึงปัญหาและผลักปัญหาที่เจอให้เป็นภาพใหญ่ให้มันมีเสียงมากกว่าเดิม หให้คนอื่นทราบอะค่ะ ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องปกติในทวิตเตอร์อยู่แล้วด้วยที่จะมีไว้บ่นหรือระบายสิ่งที่พบเจอ สิ่งที่ถูกกระทำ ถูกกดทับจากโลกภายนอก กลายเป็นว่าเจอคนที่กดทับเหมือนกันหลายๆคน ได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงปัญหาหรือขอความช่วยเหลือ ที่จริงๆอาจจะไม่สามารถพูดกับใครได้ในชีวิตจริง กลายเป็นว่า Twitter เป็นพื้นที่ที่สำคัญขึ้นมา เพราะสามารถบอกถึงปัญหาที่พบเจอได้ค่อนข้างดีมากและมีคนรับรู้ค่อนข้างหลากหลาย และพูดได้ว่าเป็นพื้นที่ของการรับฟังความรู้สึกนึกคิดของผู้ถูกกดทับได้โดยตรงค่ะ เราก็เลยรู้สึกว่ามันมีอะไรไม่ดีด้วยหรอในการเป็นเฟมทวิตเนี่ย และการขับเคลื่อนหลายๆอย่างโดยใช้อินเตอร์เน็ต นี่ 2020 ทุกอย่างขับเคลื่อนได้หมดค่ะ


และคิดว่าหากเราไหลไปกับคำพูดของคนที่เป็นแอนตี้เฟม มันก็เหมือนเรายอมรับไปด้วยว่าเฟมทวิตประสาทแดก ซึ่งจริงๆคำว่าประสาทแดก มันมาจากคนไร้ ความเห็นอกเห็นใจ ไม่อยากรับฟังปัญหาคนอื่นนอกจากปัญหาของตัวเองมากกว่า เลยพยายามแปะป้ายคนนู้นคนนี้ไปทั่วว่าสิ่งนี้ไร้สาระ เรื่องเล็กน้อย ประสาทแดก คิดกันไปเองอะไรแบบนี้มากกว่า เราไม่เคนคิดว่าเฟมทวิตมีปัญหาเลยค่ะ แต่คนที่มาด่าเฟมทวิต มานั่งแซะ นั่งแขวะ คุกคามทางเพศเนี้ย เป็นปัญหาของจริงแล้วละค่ะ


แล้วช่วงที่มีการต่อต้านเฟมทวิต ในฐานะที่เราก็เคลื่อนไหวอยู่ในทวิตเตอร์และเป็นเฟมทวิต เคยเจอการต่อต้านหรือการคุกคามทางคำพูดอะไรจากกลุ่มที่เค้าด่าเฟมทวิตมั้ยคะ


เคยเจอแต่คนรอบตัว แบบผู้ชายในชีวิตจริงค่ะ เห็นเราแชร์หรือพูดถึงในเฟมินิสต์อีกแง่ ตอนที่คนเพิ่งจะรู้จักเฟมทวิต เขาก็บอกว่าให้เราไปเก็บอารมณ์ใช้กับที่อื่น อารมณ์ใช้ได้กับสิ่งที่ควรใช้ เช่น ประชาธิปไตย แต่อย่างอื่นถ้าอยากได้แนวร่วมก็ให้พูดดีๆ มาเน้น tone policing เป็นหลักกับเรา ทั้งๆที่ตัวเองก็ด่ากราดเผด็จการตลอดเวลา กลับมาบอกให้เราเลิกใช้อารมณ์กับเรื่องเพศเพราะมองว่าไม่จำเป็น เราเลยงงมากว่าเอาอะไรมองคะ เอาจู๋คุณมองหรอ หรือบางรายพอทราบว่าเป็นเฟมทวิต ก็ไม่ได้รับฟังหรืออยากเสวนาอะค่ะ เหมือนเข้ามาเพื่อสอน ให้เราเลิกเป็นเฟมทวิตและบอกว่าเราเป็นเฟมินิสต์ปลอม พร้อมสอนเรื่อง wave ต่างๆเพราะคิดว่าตัวเองเรียนมา พยายามเอาเหตุผลและตัวหนังสือมาสอนเรา ทั้งๆที่เราเนี่ยเป็นคนโดนกระทำ เป็นผู้ถูกกระทำ ควรรับฟังฉันมากกว่ามาสอนไหม ก็คือล้วนมีแต่คนเดินเข้ามาสอน แต่ไม่มีใครฟังประเด็นที่เราพบเจอหรืออยากแก้ไขเลยหลังจากบอกว่าฉันเป็นเฟมทวิตค่ะ


เขามองว่าพวกเฟมทวิตเนี่ยใช้อารมณ์ ไม่ใช้เหตุผล สมควรแล้วที่ไม่ได้รับการขับเคลื่อนจากคนอื่นๆ เราก็ขี้เกียจพูดอะค่ะประเด็นนี้ เพราะว่าเราก็ active ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ตลอดเวลา ส่วนตัวมองว่าพอเป็นเฟมทวิตเนี่ยทุกอย่างขับเคลื่อนเร็วกว่าเดิมมากด้วยซ้ำ มีพลังมากกว่าเพราะมันเป็น controversial จากประเทศไทยที่คนรู้จักเฟมินิสต์น้อยมาก กลายเป็นว่าช่วงนี้ก็มีการพูดถึงมากขึ้น และประเด็นที่เราพูดกันก็ต่อยอดเป็นความรู้ใหม่ๆ หรือเป็นพื้นที่ให้ผู้หญิงทั่วไปกล้าออกมาเล่าปัญหาเยอะขึ้น เช่น การดีเบตเรื่องมองนมไม่ผิด หรือการโดนคุกคาม กลายเป็นว่าผู้หญิงกล้าออกมาเล่าว่าเจอคนรอบตัวคุกคาม คนไม่รู้จักคุกคาม หรือเรื่องโนบรา หน้าอกมีหลายแบบ ผู้หญิงกล้าโนบรามากขึ้น จิ๋มเราหลากหลายแบบ ไม่จำเป็นต้องโกนขน กลายเป็นว่าผู้หญิงกล้าพูด กล้าสื่อสารและมี community มากขึ้นผ่านทวิตเตอร์นะคะ


แล้วคิดยังไงที่มีคนบอกว่าเราฉอดกันแต่ในออนไลน์ ทำไมไม่ออกไปคุยกับป้าข้างบ้าน ไปแจกใบปลิวพูดเรื่องสมรสเท่าเทียม เอาแต่หมกมุ่นอยู่ในทวิต


อยากจะแปะเรื่องทำแท้งถูกกฏหมาย ว่าพื้นที่ social media มันส่งผลขนาดไหน 5555 หรือแม้กระทั่งม็อบล่าสุดที่เรียกคนได้เยอะๆ ก็อยากจะบอกว่ามาจากไอเดียในทวิตเตอร์ค่ะ ออฟไลน์สำคัญค่ะ แต่จะปฏิเสธออนไลน์ไม่ได้ ซึ่งเรามองว่าเปอร์เซ็นต์สูสีกันด้วยซ้ำ ส่วนตัวมองว่าพื้นที่ออนไลน์มันเป็นทั้ง PR หรือเป็นพื้นที่นำไปสู่การดีเบทได้รวดเร็วและว่องไวมาก และเดี๋ยวนี้องค์กร หรือบุคลากรหลากหลายอาชีพก็อาศัยอยู่ในพื้นที่ออนไลน์ไม่น้อยเลยค่ะ ข้อมูล

สามารถลิ้งค์กันและบทสนทนามันกว้างและได้ความหลากหลายเยอะกว่าการไปยืนเคาะประตูบ้านขออนุญาตคุยเรื่องเพศเสียอีก จากเราเพิ่งมารู้จักเฟมินิสต์ตอนเรียนมหาวิทยาลัย แต่พอใช้ทวิตเตอร์หลายเป็นว่าอะ เด็กมัธยมปลายมีความรู้แน่น และมีประเด็นเพิ่มเติมเยอะกว่าเราอีกด้วยซ้ำ อย่าปฏิเสธการฉอดค่ะ มันไม่ใช่ Hate speech ด่ากราด มันคือการวิเคราะห์ปัญหา พูดถึงปัญหา มันคือการสื่อสารและหลายๆครั้งมันคือการให้ความรูั ในยุค 2020 ค่ะคุณ


ยกตัวอย่างน้องมัธยมที่เผชิญกับความรุนแรงในครอบครัว โดนใช้ความรุนแรงในครอบครัว ถ้าเขาอยู่ในบ้าน ไม่มีทวิตเตอร์เขาก็จะไม่ทราบเลยว่านี่ความรุนแรง เพราะผู้ใหญ่มักจะพูดว่าพ่อตีเพราะรัก แม่ด่าเพราะหวังดีซึ่งมันเป็นค่านิยมที่ เป็นพิษต่อจิตใจของเด็กมากเลยค่ะ ที่โดนกระทำแต่ต้องทน เพราะระบบบอกให้ทนภายใต้อำนาจของผู้เหนือกว่า ซึ่งก็คือพ่อแม่ แต่พอมาอยู่ในโลกออนไลน์ เจอข้อความว่าเราไม่จำเป็นต้องทนนะคะ เราต้องเอาตัวเองเป็นหลักเพราะรักจริงๆเขาต้องเห็นความเจ็บปวดที่เราเจอจากเขา ใจกล้าหน่อยไปฟ้องตำรวจ ตำรวจก็อาจไม่รับเรื่องอีก เพราะสุดท้ายก็ต้องกลับบ้านไปอยู่กับพ่อแม่ กลายเป็นว่าพอออกมาใช้พื้นที่ออนไลน์ ก็ได้รับการประสานเข้าสู่องค์กรอย่างรวดเร็วแน่นอนว่าเฟมินิสต์เป็นคนแรกๆที่ติดต่อให้ค่ะ เรารู้สึกประทับใจมาก ที่พื้นที่ออนไลน์มันช่วยเหลือคนได้จริง เพราะคนมีการเรียนรู้และเห็นถึงความจริงของเรื่องความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น แต่ทุกอย่างจะไม่เกิด ถ้าไม่เห็นทวิตฉอดเรื่อง นี้มาก่อนค่ะ นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมการฉอดถึงเป็นสิ่งสำคัญค่ะ แถมไม่จำเป็นต้องเปิดเผยหน้า คือมันสามารถเป็นพื้นที่ผลักประเด็นที่หลายคนทำเป็นมองไม่เห็นออกมาตีแผ่ได้อย่างเต็มที่และชัดเจนค่ะ


ซึ่งในฐานะเฟมินิสต์ที่โดนกดทับ เห็นคนกดทับได้รับการช่วยเหลือ และมีคนกล้ามาขอความช่วยเหลือผ่านพื้นที่ออนไลน์ เราว่ามันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่อิมแพคกว่าออฟไลน์ด้วยซ้ำไป


แล้วตอนนี้คิดว่า การเคลื่อนไหวของเฟมทวิต ต้องการการสนับสนุนจากสังคมในแง่มุมไหนบ้างคะ ถ้าหากเรายืนยันที่จะส่งเสียงผ่านทวิตเตอร์ต่อไป


ต้องการการสนับสนุนในแง่ของความปลอดภัยและความเป็นธรรมจากสื่อต่างๆค่ะ เพราะเราสังเกตว่าเวลาคนที่ออกมาพูดถึงปัญหาที่โดนอย่างตรงไปตรงมาก็จะเจอคนที่ไม่เห็นด้วยนำไปคุกคาม ซึ่งสิ่งที่รับไม่ได้ที่สุดคือการคุกคามทางเพศค่ะ เช่นการตามหาแอคจริง การนำรูปไปพูดในทางเสียหาย ซึ่งจริงๆเราว่าเลวร้ายมาก เหมือนเถียงด้วยเหตุผลไม่ได้ ก็ทำอย่างอื่นให้กลัว ให้ไม่กล้าออกมาพูด เพียงแค่เพราะไม่ชอบใจ


และซ้ำร้ายสื่อต่างๆก็ยังเขียนเนื้อหาไบแอส หยิบประเด็นฝั่งเดียวไปขยาย ส่งต่อความรู้ ความคิดผิดๆ จนคนนอกที่เพิ่งรู้จักเฟมินิสต์จะคิดว่า อ่อ เฟมินิสต์ดีๆก็มีนะ พูดเพราะ แต่พวกในทวิตมันไม่ใช่เฟมินิสต์ มันเป็นพวกประสาทแดก ซึ่งจุดนี้ถามว่าสื่อที่เขียนเนื้อหาส่งต่ออะไรแบบนี้ออกไป เขาได้มาช่วยแก้ไขหรือนำความคิดแนวคิดของผู้กดทับโดยตรงหรือเฟมินิสต์ไปพูดให้เท่ากันหรือเปล่า ไม่เห็นจะมีใครหยิบเนื้อหา หรือประเด็นที่น่าสนใจไปนำเสนอให้มันเท่ากับการต่อต้านเลย ค่อนข้างน่าผิดหวังนะคะ ในฐานะเฟมทวิตคงต้องการสื่อดีๆสักสื่อมั้งคะ ฮ่าๆ


แล้วการถูกแปะป้ายว่าเป็นเฟมทวิตประสาทแดก ส่งผลกับการออกมาพูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศยังไงบ้างคะ และจะยังพูดต่อมั้ย


ส่งผลค่ะ คือพอคนรู้ว่าเป็นเฟมินิสต์ยิ่งเป็นเฟมทวิตเขาก็จะยัดเยียดวิธีการนำเสนอของเราว่าเรดิคัล ไม่อยากรับฟัง กลายเป็นว่าเอาอคติมาก่อนเนื้อหาแล้ว ไม่รับฟังสิ่งที่เรานำเสนอเลย ทั้งๆที่เราก็บอกทุกครั้งว่าเราไม่ได้ด่าผู้ชาย เราด่าระบบชายเป็นใหญ่นะ เราไม่สามารถทนให้มันครอบงำเราต่อไปได้แล้ว และถ้ามันหายไป มันก็ดีต่อทุกเพศ ทุกวัย ดีต่อทุกคน ซึ่งทุกคนก็แปะไว้แค่ว่าเราต้องการหญิงเป็นใหญ่ละสิ ใช้แต่อารมณ์ พวกเฟมทวิตมันคือของปลอม ซึ่งคนที่เป็นแบบนี้กับเรามีค่อนข้างเยอะมากๆเลยค่ะแต่ว่าคนที่เข้าใจเราและเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลก็มีมากขึ้นเช่นกันค่ะ ก็คือเพื่อนๆที่เป็นผู้หญิง และเพื่อนๆ LGBTQ+ เหมือนว่ายิ่งเราโดนผลักออกไป เราอาจจะคิดว่าแนวร่วมน่าจะไม่มีแล้ว แต่ที่จริงมันเป็นการแสดงให้เห็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าเนี่ยความจริงของปิตาธิปไตยาทำอะไรเรา แค่ลุกออกมาพูดว่าตัวกู นมกู ก็โดนคนเข้ามายุ่งแล้ว เหมือนยิ่งโดนผลัก คนก็ยิ่งเห็นมากขึ้นนะคะ ว่าผู้หญิงออกมาจากกรอบเดิมๆก็โดนคนมากดไว้ คนที่เป็นผู้ถูกกดทับเหมือนกันก็จะรู้สึกตื่นมากขึ้นเเหมือนเป็นโปรเจคเตอร์ฉายให้เขาดูอะค่ะ ว่านี่คือสิ่งที่ผู้เรียกร้องกำลังเจอ แต่ถ้าเธอมาร่วมมันก็จะใหญ่ ใหญ่ขึ้นในทุกวัน แล้วพวกเราก็จะได้หลุดออกจากหลุมนี้ด้วยกันสักวันนะ


และส่วนตัวคิดว่าเราก็ไม่ได้ต้องการแนวร่วมที่ไม่รับฟัง เน้น tone policing อย่างเดียวเหมือนกันค่ะ

แต่แค่ช่วงนี้ยังเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของไทย มันอาจจะยังเห็นภาพไม่ชัด แต่แน่นอนว่ามูฟเม้นมันไปไกลและกำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแน่นอนค่ะ ซึ่งไม่มีผลอะไรเลยค่ะการมาแปะป้ายว่าเฟมทวิต แถมขอบคุณด้วยซ้ำที่เรียกชื่อพวกเราบ่อยๆ ไม่ได้รู้สึกบั่นทอนหรือไม่อยากพูดเลยค่ะ เป็นแรงขับให้เราใส่รองเท้าแล้ววิ่งออกไปสู้ด้วยซ้ำ เ ต่อให้คนด่าเราหนักกว่านี้เราก็ยังยืนยันจะพูดต่อไป เพราะเรากำลังทำเพื่อตัวเรา พวกเราและทุกคนที่กำลังโดนกดขี่ กดทับจากปิตาธิปไตยค่ะ


งั้นแสดงว่า เฟมทวิตในความหมายเดิมก็เปลี่ยนไปแล้ว


ใช่ค่ะ จริงๆคนก็น่าจะเก็ทกันตั้งแต่ black lives matter แล้ว มีเพื่อนที่เคยบอกเราว่าเฟมินิสต์ใช้อารมณ์ เวลาคุยด้วยฟังไม่ขึ้น มาขอโทษว่าเข้าใจมากขึ้นแล้ว เพราะเขาเข้าใจสาเหตุที่คนดำต้องออกมาประท้วงและทำลายข้าวของ เพราะเขาโดนกดเป็นทาส โดนกดขี่มาตั้งกี่ร้อยปี กลายเป็นว่าเข้าใจคอนเซ็ปท์การเรียกร้องสามารถมีความโกรธ และอารมณ์ได้ผ่านเหตุการณ์อื่นๆ เพราะมันคือเรื่องเดียวกัน นั่ก็คือเรื่องการโดนกดขี่อย่างอยุติธรรม และความไม่เท่าเทียมค่ะ คนเข้าใจมากขึ้นว่าที่เราโกรธนั้น โกรธเพราะอะไร เราโดนอะไรมา มากกว่าที่จะเป็นมุมมองว่าเออพวกนี้ชอบใช้อารมณ์ ใครจะอยากคุยดีๆด้วย


คิดว่าทวิตเตอร์เป็นแพลทฟอร์มที่ได้ผลในการพูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมั้ย


มันดีมากเลยนะคะ บางครั้งการพูดเรื่องความเท่าเทียมสมมุติเราจะไปพูดกับพ่อที่บ้าน มันมีอำนาจบางอย่างกดเราผ่านเพศ วัย ความสัมพันธ์ที่ทำให้เราไม่สามารถแสดงออกมาให้เต็มที่ แต่พอมาในพื้นที่ออนไลน์โดยเฉพาะทวิตเตอร์ เราสามารถพูดถึงความเท่าเทียม ความอยุติธรรมที่โดนได้อย่างเต็มปอด เพราะไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครห้าม หรือเข้ามาเบรกขณะพูด หรือแสดงความชิงชังต่อหน้าได้ เป็นพื้นที่ปลอดภัยในการจะพูด หาแนวร่วมหรือให้กำลังใจคนอื่นๆได้ค่ะ


และเพศมีมากมายหลากหลายและเป็นความรู้ใหม่มากสำหรับประเทศไทยที่หาไม่ได้ในหนังสือสุขศึกษา เราควรเปิดใจและศึกษาเรื่องเพศผ่านคำบอกเล่าของเพศนั้นๆโดยตรงเป็นสิ่งที่ดีและสมควรจะทำที่สุดค่ะ


และหากคุณเชื่อเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ คุณก็ต้องเชื่อเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศด้วยค่ะ บางคนเปิดหัวมาบอกมองคนเท่ากัน พอเราบอกว่าเราเจออะไรมา เขาก็จะบอกเราคิดมาก ใครๆก็โดน กลายเป็นว่าคุยต่อไม่ได้ซะงั้น ปัญหาก็วางอยู่ที่เดิมอยู่ดี อย่างตัวเราเอง เมื่อก่อนเราก็ไม่ได้มีความรู้เรื่อง LGBTQ+ มากมายนัก รู้จักแค่เกย์ เลสเบี้ยน แต่พอมาใช้ทวิตเตอร์เราก็ทราบเรื่องเพศหลากหลาย ได้เรียนรู้อัตลักษณ์ ฟังเสียงพวกเชา ฟังความต้องการ เรียนรู้และช่วยพวกเขาผลักดัน เหมือนที่พวกเขาก็ช่วยเราเหมือนกัน เรารู้สึกว่ามันสามารถ connect หากันได้และได้ผลมากค่ะ


สุดท้ายนี้ อยากบอกอะไรคนที่มาอ่านบทสัมภาษณ์นี้


อยากบอกว่าการรวบรวมความกล้าหาญลุกออกมาสู้ของผู้หญิงในฐานะเฟมินิสต์มันไม่ง่ายเลย เหมือนต้องรวบแรงกาย แรงใจทั้งหมดตะโกนออกไป หากคุณจะไม่เห็นด้วยหรือไม่สนใจเราก็ไม่ได้ผิดหวังอะไร แต่อย่ามาขัดขวาง บิดเบือนหรือปิดช่องทางในการเรียกร้องของพวกเรา อย่ามาสร้างกำแพงให้พวกเราต้องปีนยากไปมากกว่านี้เลย ขอแค่ความเป็นมนุษย์ที่เห็นใจเพื่อนร่วมโลกที่โดนกดขี่ คงไม่ได้ยากอะไรสำหรับการเป็นมนุษย์



เสียงของ Dear you III @dearmedearyou


เรียกตัวเองว่าเฟมทวิตมั้ยคะ ถ้าใช่นี่เริ่มตั้งแต่ช่วงไหน


เรียกค่ะ ขิมคิดว่าตัวเองคือเฟมทวิต แล้วที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นเฟมทวิตเนี่ยเพราะว่ามาคิด ๆ ดู เออ เราเป็นเฟมินิสต์นี่หว่า แล้วบวกกับช่วงนึงที่คนชอบด่าเฟมทวิตอะ ขิมก็คิดว่าเออ กูนี่แหละเฟมทวิต มีไรไหม แล้วก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไรหนิ ไม่ได้ไปทำใครเสียหายสักหน่อย


แต่ว่าคนที่อยู่กลุุ่มเบียวหรือพวกเพจล้อการเมืองต่างๆ เค้าเอาคำนี้มาเป็นคำด่านะคะ ที่บอกว่าพวกนี้บ้า ประสาทแดก เฟมปลอม ทำไมยังใช้อยู่คะ


เพราะขิมไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นแบบที่เค้าว่าอะ 5555555

มันเป็นฟีลแบบ แล้วไง ชั้นไม่แคร์หรอก


แล้วขิมคิดยังไงกับการที่คนพยายายามจะตีตราว่าเฟมทวิตเป็นแบบนั้น เช่น ต้องการกดผู้ชาย ประสาทแดก หยุมหยิม เรียกร้องเยอะ อ่านหนังสือไม่แตก


ขิมว่าคนที่คิดงี้ใจแคบมากๆ เลย ไม่เปิดใจเลย มันมีทั้งคนที่เรียกตัวเองว่าเฟมแล้วกดผู้ชายก็จริง แต่คนที่ต้องการความเท่าเทียมจริง ๆ ก็มีตั้งเยอะแยะ เหมือนคนพวกนั้นมองไปแค่จุดเล็ก ๆ อะ ทั้ง ๆ ที่มีเฟมตั้งหลายคนที่กำลังต่อสู้และพยายามอยู่ แล้วก็การที่มาว่าเฟมทวิตว่าประสาทแดก หยุมหยิม เรียกร้องเยอะ อะไรแบบนี้เนี่ย อยากให้คนเหล่านั้นถามตัวเองก่อนว่าทำไมถึงคิดแบบนี้ เพราะคุณกลัวตัวเองจะเสียผลประโยชน์รึป่าวถึงคิดแบบนี้้


ถ้าอย่างนั้นที่เค้าบอกว่าเฟมทวิตก็แค่ฉอดไปวันๆในทวิตเตอร์ล่ะ ไม่เห็นออกไปทำไรข้างนอกเลยนะ


ไม่จริง ไม่จริงเลย มีคนที่ออกไปทำอะไรตั้งเยอะแยะ และต่อให้บางคนไม่ได้ออกไป แค่อยู่ในเน็ตก็ไม่ได้แปลว่าเค้าอยู่เฉยๆ สักหน่อย อย่างตัวขิมเองก่อนหน้านี้้ก็ไม่ได้ลงพื้นที่ แต่ก็พยายามใช้พื้นที่และพรีวิลเลจบนโลกออนไลน์ของเราทำให้คนตระหนักรู้มากขึ้น แบ่งปันเรื่องที่ควรรู้แต่หลายคนไม่รู้ แล้วพอขิมได้ออกไปทำงาน ไปลงพื้นที่ ไปเจอกัเบเคสก็ทำให้รู้ว่าคนที่ทำตรงนี้เค้าทำงานหนักมากเลยนะ อย่าด่ากันเลยค่า


แล้วทำไมถึงคิดว่าจะพูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศบนทวิตเตอร์คะ เพราะหลายคนบอกว่ามันไม่มีผลอะไรเท่าไหร่ แล้วมันก็เข้าใจผิดกันเยอะด้วย ทวิตเตอร์ Toxic เกินไปที่จะพูดเรื่องเหล่านี้


ไม่จริงงง ไม่จริงทั้งหมดนะ มันอาจจะมีบางแอคที่ให้ข้อมูลผิดบ้างแต่หลายๆ แอคเค้าก็ตั้งใจศึกษามาดีนะ อย่างของขิมอะพอมาพูดประเด็นต่างๆ บนทวิต แค่เดือนแรกที่เริ่มทำคนฟอลขิมมา 2,000 กว่าคนเลยอะ มันมีผล มีคนทักมาหาขิมจริงๆ มีคนทักมาขอบคุณที่หยิบประเด็นต่างๆ ขึ้นมาพูด มีคนทักมาขอปรึกษา บางคนก็บอกว่าแอคขิมคือ safe place ของเค้าด้วย


มีหลายคนที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นตัวประหลาดเพราะสังคมไม่เคยให้พื้นที่กับพวกเค้า แต่พอขิมหยิบเรื่องพวกเค้ามาพูดเค้าก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนปกติ ไม่ได้ผิดปกติอะไรแบบนี้ด้วย

แล้วเคยถูกคุกคามหรือด่าเพราะออกตัวว่าเป็นเฟมทวิตมั้ยคะ


อันนี้ยังไม่เคยเลยค่ะ ถ้าเป็นคนนอกนะ คนไม่ค่อยรู้ตัวตนของขิมด้วย แล้วก็ส่วนมากโทนในการทวีตของขิมมันจะออกไปทางเฟรนลี่มากกว่าไม่ค่อยด่าอะไร (เวลาลงบทความสั้นๆ เงี้ยค่ะ)

แต่ก็เคยโดนคนใกล้ตัวหาว่าขิมโจมตีผู้ชาย งงไปเล้ย


คิดว่าถ้าสังคมเข้าใจเฟมทวิตในแง่ลบอย่างเดียว อยากบอกอะไรกับสังคมบ้างคะเกี่ยวกับเฟมทวิต


ลองเปิดใจรับฟังกันมั่งดีกว่าค่ะ ขิมเข้าใจทั้งเฟมที่โกรธหรือใครก็ตามที่โกรธแล้วทวีตด่า ๆ คือการจะพูดดี ๆ ได้มันก็ทำได้แหละ แต่ไม่ใช่ทุกคน ยังไงดีอะ มันมีต้นทุนในการพูดอะ อย่างของขิมเมื่อก่อนก็โกรธมาก ด่าอย่างเดียว ต้องใช้เวลากว่าจะรับมือกับเรื่องที่เจอแล้วออกมาพูดแบบโอเค ๆ ได้


อยากให้ลองคิดว่าทำไมเราด่าการเมืองได้ ทำไมเราด่านายกได้ แต่พอผู้หญิงในเน็ตด่าเรื่องที่ตัวเองโดนเอาเปรียบกลับกลายเป็นว่าผู้หญิงพวกนั้นประสาทแดก ทำไมผู้หญิงโกรธแล้วข้อจำกัดมันเยอะจัง ต้องพูดดีๆ น้า อย่าไปด่า อะไรแบบนี้ค่ะ


เสียงของ Three Inches of Snow @3inchesofsnow


เริ่มเรียกหรือนิยามตัวเองว่าเป็นเฟมทวิตตอนไหนคะ


ปกติเรียกตัวเองเป็นเฟมินิสต์ หรือพันธมิตรของเฟมินิสต์มาโดยตลอด ไม่เคยเรียกตัวเองว่าเป็นเฟมทวิต เพราะไม่ได้เคลื่อนไหวแต่ในทวิตเตอร์อยู่แล้ว ถ้าจะมีช่วงที่รู้สึกอยากเรียกตัวเองว่าเป็นเฟมทวิตจริงๆ คง เป็นหลังจากที่เห็นกลุ่มเฟมินิสต์ออกมาร่วมชุมนุมม็อบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 18 กรกฎาคมที่ ผ่านมา ซึ่งเป็นจุดที่ผมคิดว่าคำนี้ถูกช่วงชิงความหมาย (reclaim) มาแล้วจริงๆ โดยผู้หญิงที่เป็นเฟมินิสต์ ในไทย จึงอยากสนับสนุนการ reclaim คำๆ นี้


คำว่าเฟมทวิตถูกใช้เป็นคำด่าจากคนกลุ่มหนึ่ง ทำไมถึงยังใช้อยู่คะ


คิดว่าเป็นเพียงกระแสคำใหม่ เพราะหากดูบริบทการใช้แล้ว คำนี้แทบจะเป็นคำที่มีความหมายเดียวกันกับคำว่า เฟมินาซี ที่่ถูกใช้โดยกลุ่มต่อต้านเฟมินิสต์ พยายามทำลายความน่าเชื่อถือของเฟมินิสต์มานาน โดยหาว่าคิดมากไป หัวรุนแรงไป และมีจุดประสงค์ต้องการกดขี่ผู้ชาย ไม่ใช่ต้องการความเท่าเทียม จนถึงขั้นนำไปเทียบกับลัทธินาซี สาเหตุที่เกิดคำๆนี้ขึ้นมา คิดว่ามาจากการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นต่างๆผ่านแนวคิดแบบเฟมินิสม์ (ไม่ว่าจะทำโดยคนที่เรียกตัวเองว่าเฟมินิสต์หรือไม่ หรือคนที่ไม่รู้ตัวว่าใช้แนวคิดเฟมินิสม์อยู่ก็ตาม)ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาในไทยมักเกิดขึ้นบนทวิตเตอร์มากกว่าแพลทฟอร์มอื่น หลังจากนี้ต่อไปหากมีแพลตฟอร์มใหม่ที่มีเฟมินิสต์ส่งเสียงมากขึ้น ก็คงมีคำใหม่ไว้เรียกเฟมินิสต์กลุ่มนี้ว่า เฟม(แพลตฟอร์มใหม่)อยู่ดี ที่ความหมายก็คงไม่ต่างกัน


พอมาใช้คำว่าเฟมทวิต มีการคุกคามหรือต่อต้านรูปแบบใดมั้ยคะ


ถูกต่อต้านมาตั้งแต่สมัยยังไม่มีคำว่าเฟมทวิตเกิดขึ้น แต่ตอนนั้นเนื่องจากยังไม่มีคำนี้ เลยมีคนเรียกผมว่าเฟมินิสต์หัวรุนแรง (Radical Feminist) แทน รูปแบบที่เจอมามีทั้งการพูดจาถึงแบบอ้อมๆ แบบ Passive Agressive เชิงต่อต้าน ที่มาจากจำนวนคนหลายๆคน รวมถึงรุมเมนชั่นด้วยข้อหาต่างๆว่าอยากดัง หรือหัวรุนแรงเกินไป หลังมีคำว่าเฟมทวิตเกิดขึ้น การต่อต้านมาในรูปแบบของ Public Shaming คือเฟซบุคเพจที่มีจุดยืนต่อต้านเฟมินิสต์หลายๆเพจ จะนำทวีตที่มีเนื้อหาที่พวกเขาตัดสินว่าดูเป็น 'เฟมินิสต์ประสาทแดก' มากเกินไปมาลงให้ลูกเพจหัวเราะเยาะหรือต่อว่ากัน แต่โดยส่วนตัวทราบดีตั้งแต่ศึกษาเรื่องเฟมินิสม์ แล้วว่ามันเป็นการท้าทายอำนาจ ท้าทายระบบที่ฝังรากลึกในสังคม คนต่อต้าน คนไม่เข้าใจย่อมมีเยอะ นอกจากนี้ยังเห็นกระแสต่อต้านเฟมินิสต์หนักๆมาแล้วในต่างประเทศช่วง Gamergate จึงพอทราบวิธีรับมือเวลาเจอเสียงต่อต้านอยู่บ้าง ทำให้ยังคอยรักษาสุขภาพจิตและพูดเรื่องความเท่าเทียมต่อไปได้


แต่ส่วนหนึ่งก็เข้าใจได้ว่าการที่ผมเป็นผู้ชายตรงเพศ (Cisgender) ทำให้รูปแบบการต่อต้านนั้นไม่หนักเท่ากับเฟมินิสต์ที่เป็นผู้หญิงต้องเจอ เช่น การขู่ฆ่า หรือขู่ใช้ความรุนแรงทางเพศ ปัจจุบันยังไม่เคยเจอ ในขณะที่เฟมินิสต์ที่เป็นผู้หญิงนั้นมีหลายคนต้องคอยรับมือกับสิ่งเหล่านี้


คิดยังไงที่มีคนบอกว่าเฟมทวิต เป็นเฟมินิสต์ปลอม เป็นเฟมประสาทแดกบ้าบอ


ผมนึกถึงที่ Allan G. Johnson เขียนไว้ในหนังสือ “The Gender Knot” ว่า ”feminism มักถูกโจมตีจากคนที่เข้าใจมันน้อยที่สุด”


บ่อยครั้งที่คนกลุ่มนี้มักพดว่า feminism ที่แท้จริงคือ “หญิง-ชายเท่าเทียมกัน” แต่ไม่มีพูดไปถึงว่าอะไรตอนนี้บ้างที่เป็นปัญหาความไม่เท่าเทียมที่ผู้หญิงกำลังเผชิญอยู่ อำนาจชายและหญิงแตกต่างกันอย่างไร กลุ่มไหนที่ถืออำนาจในสังคมมากกว่าตอนนี้ รวมถึงมองไม่เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำอื่นๆ ที่ทับซ้อนกัน อยู่ เช่น สีผิว ความหลากหลายทางเพศ หรือ ความพิการ


จากการที่ทวีตของผมที่วิจารณ Eucerin Ultrawhite ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่คุณมารีญาเป็นพรีเซนเตอร์ ว่าชื่อของมันมีนัยยะสนับสนุน colorism หรือค่านิยมผิวขาวในสังคมไทย ถูกนำไปประจานในเพจเฟมทวีตว่าบ้า คิดมากเกิน ทำให้ผมเห็นว่าหลายๆ คนไม่ทราบด้วยซ้ำว่าความเชื่อ หรือค่านิยมหลายๆ อย่างในสังคมตอนนี้มันมีปัญหา ทั้งๆ ที่ถ้าหากศึกษาเรื่อง feminism มาจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ อ่านบทความบนอินเตอร์เนท หรือการนำตัวเองเข้าไปอยู่ในชุมชนเฟมินิสต์ และฟังเขาถกเถียงกัน ย่อมต้องเคยเห็นเหตุผลสนับสนุนหรือหลักการต่างๆ ที่ใช้วิเคราะห์ประเด็นปัญหาเหล่านี้ผ่านตามาบ้าง


สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เฟมินิสต์ในญี่ปุ่นเองก็มีการต่อสู้เรียกร้องบนทวิตเตอร์มากขึ้น แน่นอนว่าย่อมมีเสียงต่อต้านจากกลุ่ม anti-feminist และชื่อที่พวกเขาตั้งให้เฟมินิสต์บนทวิตเตอร์ก็คือ ซึยเฟมิ (ツイフェミ) ที่เกิดจากการนำคำว่าทวิตเตอร์และเฟมินิสต์ในภาษาญี่ปุ่นมารวมกัน โดยคำนี้ก็มักใช้เรียกคนที่พวกเขาคิดว่าเป็นเฟมินิสต์ที่จริงๆ แล้วเหยียดผู้ชาย อยากกดขี่ผู้ชาย เฟมินิสต์ปลอมหรือเฟมินิสต์เลว เลยรู้สึกว่ากลยุทธ์การสร้าง label ขึ้นมากล่าวหาเฟมินิสต์ว่าเป็นของปลอม ไม่ได้สู้เพื่อความเท่าเทียมจริงๆ เป็นวิธีสากลที่คงมีกันทั่วโลก


ทำไมถึงออกมาพูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศบนทวิตเตอร์คะ


ช่วงปี 2012 - 2013 เป็นช่วงที่ได้เรียนรู้และเข้าใจ feminism จากชุมชนในต่างประเทศ รวมถึงศึกษาเองผ่านการพูดคุย แลกเปลี่ยนความเห็น และศึกษาจากหนังสือเกี่ยวกับความเท่าเทียมและ feminism ต่างๆ แต่เมื่อมาดูบนทวิตเตอร์ในไทย พบว่าแทบไม่มีการพูดถึงเรื่องเหล่านี้เลย เมื่อก่อนผมเองก็เป็นคนที่เข้าใจ feminism ผิดๆ คิดว่าเป็นเรื่องของผู้หญิงสุดโต่งเรียกร้องแต่สิทธิของตัวเองให้ได้เหนือผู้ชาย


เมื่อศึกษาจนเข้าใจมัน ก็ได้พบว่า feminism มีความสำคัญอย่างมากทั้งต่อการสร้างสังคมที่เท่าเทียม และต่อการเรียกร้องเพื่อสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างตัวผมเอง พอคิดได้แล้วจึงอยากใช้ทวิตเตอร์เป็นสื่อในการสร้างบทสนทนา พูดถึงปัญหาความไม่เท่าเทียม หรืออคติทางเพศ เพราะอยากให้คนหันมาสนใจเรื่องนี้มากขึ้น และเผื่อว่าจะได้เจอเพื่อนที่เป็นเฟมินิสต์คนอื่นๆ ในประเทศไทยด้วย


นอกจากนี้จากการที่ได้เรียนรู้เรื่องของอภิสิทธิ์ (privilege) ก็ได้พบว่าตัวเองมีอภิสิทธิ์หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา ด้านฐานะการเงิน การที่ไม่ได้มีความพิการใดๆ มีอาชีพที่สามารถแบ่งเวลามาสร้างสื่อความรู้ หรือพูดเรื่องความเท่าเทียมได้ นอกจากนี้ การเป็นผู้ชายก็มาพร้อมกับอภิสิทธิ์ความเป็นชาย ที่ทำให้เวลาพูดเรื่องอะไร คนมักจะฟัง และเชื่อมากกว่าเวลาที่ผู้หญิงพูด รูปแบบการต่อต้านก็ไม่รุนแรงถึงขั้นการถูกขู่ใช้ความรุนแรงทางเพศเหมือนที่ผู้หญิงเผชิญ จึงคิดว่าควรใช้อภิสิทธิ์ของตนเองให้เป็นประโยชน์ ช่วยสนับสนุนเสียงของคนที่มักไม่ได้รับการรับฟัง และตัดสินใจออกมาพูดเรื่องนี้บนทวิตเตอร์ต่อไป


ปัจจุบันนี้พยายามที่จะสร้างแหล่งการเรียนรู้เกี่ยวกับ feminism ที่เป็นภาษาไทยมากขึ้น จึงเริ่มหันไปทำซับไตเติ้ลให้กับวีดีโอที่ให้ความรู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศบน Youtube และแปลบทความ หรือข่าวต่างๆ


คิดยังไงกับคนที่บอกว่าพวกเฟมทวิตเอาแต่ฉอดออนไลน์ไม่ทำอะไรในชีวิตจริง


รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องประหลาดที่เรายังแยกออนไลน์ออกจากชีวิตจริง ราวกับว่าโลกออนไลน์ไม่ใช่ส่วนหนึ่งในชีวิตจริง โดยเฉพาะปีนี้โควิด-19 ทำให้หลายๆอย่างต้องย้ายมาเป็นระบบออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหรือการเรียนหนังสือ ยิ่งน่าจะทำให้รู้สึกว่าออนไลน์มีส่วนสำคัญต่อชีวิตจริงมากแค่ไหน


จริงอยู่ที่ตัวตนของคนเรา อาจจะแยกระหว่างออนไลน์กับออฟไลน์ แต่เวลาที่เราใช้ไป การกระทำที่เราทำ

ลงไป มันก็คือการกระทำในชีวิตจริง การกระทำนั้น ไม่ว่าจะเป็นออนไลน์หรือออฟไลน์ ก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อชีวิตคนได้ ด้วยเหตุนี้ การออกมาทวีตถึงปัญหาสังคมผ่าน feminist lense ของหลายๆ คน หรือที่เรียกกันว่าการฉอด จริงๆ ก็ถือว่าเป็นการกระทำในชีวิตจริงแล้ว และมีคนจำนวนไม่น้อยที่ความเห็นต่อบางประเด็นเปลี่ยนแปลงไปจากการติดตามอ่านการฉอดเหล่านี้บนทวิตเตอร์


หากคำว่าชีวิตจริงหมายถึงการกระทำออฟไลน์เพียงอย่างเดียว เฟมินิสต์หลายๆ คนบนทวิตเตอร์ก็ทำการเรียกร้องและรณรงค์ต่อสู้แบบออฟไลน์ด้วยอยู่แล้ว แต่ส่วนตัวไม่คิดว่าทุกๆ คน ต้องทำทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ต่างคนต่างมีภาระ อุปสรรค และความถนัดแตกต่างกันออกไป จึงไม่คิดวาคนๆ นึงจะต้องออกมาพิสูจน์ว่าเป็นนักกิจกรรมที่สมบูรณ์แบบด้วยการทำอะไรทั้งออนไลน์และออฟไลน์


การต่อสู้เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมไม่ใช่เรื่องของการที่ให้ทุกคนเป็นยอดมนุษย ที่สามารถต่อสู้ได้ทุก

ทางได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่น่าจะเป็นการที่คนหลายๆ คน ช่วยกันต่อสู้จากหลายๆ ทาง เท่าที่ตัวเองจะ

สามารถทำได้มากกว่า...


และทั้งหมดนี้เป็นความคิดเห็นจากคนที่เรียกตัวเองว่าเฟมทวิต และใช้ทวิตเตอร์เพื่อพูดคุยสื่อสารเรื่องความเท่าเทียมทางเพศค่ะ สำหรับผู้ที่สนใจว่ากระแสการถกเถียงเรื่องเฟมทวิตเริ่มมาจากไหน สามารถเข้าไปอ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ลิ้งด้านล่างนี้ค่ะ


อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นเฟมทวิตได้ที่
















ดู 4,441 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page