ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับงานประกาศผลรางวัลทางด้านภาพยนตร์อย่างรางวัล อคาเดมี อวอร์ด (Academy Award) หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันในนาม รางวัลออสการ์
.
.
โดยรางวัลที่ทุกคนเฝ้าลุ้นผลกันใจจดจ่อ คือรางวัล Best Picture Award หรือภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี ซึ่งหากใครติดตาม ก็จะทราบว่า รางวัลตกเป็นของ ภาพยนตร์เรื่อง ปรสิต (Parasite) จากประเทศเกาหลี ที่สะท้อนปัญหาเรื่องชนชั้นและความเหลื่อมล้ำในสังคมเกาหลีนั่นเองนะคะ นอกจากนี้ปรสิตยังได้รางวัลอื่นๆอีก เช่น รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมและภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม
.
.
แต่นอกเหนือจากรางวัลเด่นๆในเวทีออสการ์แล้ว ยังมีอีกรางวัลหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันค่ะ รางวัลนั้นคือรางวัล สารคดีขนาดสั้นยอดเยี่ยม ซึ่งตกเป็นของ สารคดีเรื่อง "Learning to Skateboard in a Warzone (If you’re a girl)"
.
.
โดยสารคดีเรื่องนี้เป็นภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษที่กำกับโดย Carol Dysinger ว่าด้วยเรื่องราวของ องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรชื่อ Skateistan โดยองค์กรนี้เปิดโรงเรียนสอนเด็กผู้หญิงเล่นสเก็ตบอร์ดในกรุงคาบูล ประเทศอัฟกานิสถาน พื้นที่แห่งสงครามและความขัดแย้งมาตั้งแต่ปี 2007 ค่ะ
.
.
ความน่าสนใจคือ ไม่เพียงแต่สอนเล่นสเก็ตบอร์ดเท่านั้น แต่ที่โรงเรียนยังสอนอ่านเขียนหนังสือ และเล่นสเก็ตบอร์ดไปด้วย แม้ว่าการทำเช่นนี้จะเป็นการท้าทายขนบธรรมเนียมของประเทศนั้น เนื่องจากเด็กผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้ร่วมกิจกรรมกีฬาต่างๆค่ะ
.
.
เฟมินิสต้าติดตามข่าวขององค์กรนี้มาได้สักพักแล้วค่ะ แต่เพิ่งทราบว่ามีสารคดีที่ทำเรื่องราวขององค์กรนี้ไว้ด้วย และเพิ่งรู้วันนี้ว่าได้รางวัลสารคดีสั้นยอดเยี่ยมที่เวทีออสการ์ และก่อนหน้านี้ยังได้รางวัลมาแล้วจากเวที BAFTA ด้วย เลยนำตัวอย่างหนังมาให้ชมกัน และหวังว่าจะเข้าฉายในประเทศไทยเร็วๆนี้ค่ะ
.
.
เรื่องสเก็ตบอร์ดกับเด็กผู้หญิง หากดูผ่านๆไม่คิดอะไร ก็อาจจะเป็นแค่เด็กมาเล่นกีฬาชนิดหนึ่งเท่านั้น แต่จริงๆแล้วทราบไหมคะว่า ในบางประเทศ เด็กผู้หญิงแทบไม่ได้รับอนุญาตให้เล่นกีฬา และแม้ว่าจะเป็นประเทศที่เด็กผู้หญิงสามารถเล่นกีฬาได้ แต่กีฬาบางประเภท เด็กผู้หญิงไม่สามารถเล่นได้ เนื่องจากถูกผูกขาดโดยเด็กผู้ชาย หรือวงการกีฬาที่ผู้ชายเป็นคนบอกว่า เด็กผู้ชายเท่านั้นที่สามารถเล่นได้
.
.
กีฬาสเก็ตบอร์ดก็เช่นเดียวกันค่ะ เพราะกีฬาชนิดนี้ สังคมที่มีบรรทัดฐานเรื่องความเป็นหญิงหรือชาย จะมองว่าเป็นกีฬาเอ็กซ์ตรีมหรือผาดโผน เล่นแล้วมีโอกาสบาดเจ็บหรือได้รับอันตราย ไม่เหมาะกับเด็กผู้หญิงที่ควรจะเล่นเย็บปักถักร้อยอยู่ในบ้านหรือทำกับข้าวในครัวกับแม่ หรืออาจได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถมีลูกได้ ดังนั้น กีฬาผาดโผนทั้งหลายจึงไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนให้เด็กผู้หญิงเล่นค่ะ
.
.
แต่ยังมีเด็กผู้หญิงจำนวนมากที่อยากเล่นกีฬาชนิดนี้นะคะ ดังนั้นองค์กร Skateistan ก็ทำงานที่ท้าทายกับบรรทัดฐานของสังคมมากๆค่ะ นอกจากนั้นแล้ว ยังเป็นการทำงานในพื้นที่สงครามอีกด้วย โดยสาเหตุส่วนหนึ่งที่องค์กรนี้ลุกขึ้นมาสอนเด็กผู้หญิงเล่นสเก็ตบอร์ด ก็เพราะผลพวงของสงครามด้วยนะคะ เหตุการณ์ความรุนแรงที่ทำให้เด็กผู้หญิงหวาดกลัว หรือเด็กผู้หญิงบางคนต้องใช้ชีวิตในความเสี่ยง ไม่ได้ไปโรงเรียน การชวนเด็กผู้หญิงมาเล่นสเก็ตบอร์ดก็เป็นการเสริมสร้างพลังให้กับเด็กผู้หญิงได้อีกทางหนึ่งค่ะ
.
.
ในประเทศอินเดีย ก็มีการทำงานกับเด็กผู้หญิงเพื่อเสริมพลัง โดนการใช้สเก็ตบอร์ดเช่นเดียวกันนะคะ
โดยกลุ่ม Girl Skate India ที่ตั้งอยู่ในเมืองบังกาลอร์ จัดฝึกสอนเด็กผู้หญิงในชุมชนและสร้างสนามสเก็ตให้เด็กผู้หญิงได้มาเล่นสเก็ตบอร์ดกันโดยมีอุปกรณ์เซฟตี้เพื่อความปลอดภัยของเด็ก ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากชุมชนด้วยดีเลยค่ะ แม้ว่าจะเป็นการท้าทายกับจารีตของที่นั่นที่เชื่อว่าเด็กผู้หญิงควรจะทำตัวเรียบร้อยและไม่ควรออกจากบ้านไปทำกิจกรรมนอกบ้าน แต่กลุ่มนี้ก็ยังทำงานกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ย่อท้อ
.
.
หากใครอยากรู้จักกลุ่ม Girl Skate India เพิ่มเติม แนะนำให้อ่านบทความนี้นะคะ https://bit.ly/2ScTPLb
.
.
สารคดีเรื่อง Learning to Skateboard in a Warzone ดูตัวอย่างได้ที่นี่ค่ะ https://bit.ly/2UF7xbm
Comments