top of page
รูปภาพนักเขียนFeminista

IDAHOBIT DAY: Together: Resisting, supporting, healing แด่ทุกความหลากหลายบนโลกใบนี้





ก่อนจะมาเป็นวันต่อต้านและยุติการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศและคนรักสองเพศ คนที่เป็นอินเตอร์เซ็กซ์


17 พฤษภาคม 1990 หรือ วันนี้เมื่อ 31 ปีก่อน องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ได้ยกเลิกข้อกำหนดที่ระบุว่า การมีความสัมพันธ์ของเพศเดียวกันถือเป็นอาการผิดปกติทางจิต ออกจากบัญชีจำแนกโรค ทำให้คนที่มีความรักความสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน ได้รับการปกป้องคุ้มครองมากขึ้นจากการถูกส่งไปบำบัดรักษาเพราะคิดว่าเป็นโรคทางจิตชนิดหนึ่ง นอกจากนี้ก็ยังมีกฎหมายที่ออกมาห้ามไม่ให้บังคับบำบัดเพื่อเปลี่ยนแปลงวิถีทางเพศในหลายๆประเทศด้วย แต่ก่อนที่จะมีการยกเลิกข้อกำหนดนี้ มีคนจำนวนมากที่สูญเสียชีวิต ถูกบังคับบำบัดให้เปลี่ยน วิถีทางเพศ หลายคนต้องเผชิญกับปัญหาทางใจในหลายๆด้าน โดยเฉพาะกับโรคซึมเศร้า จนนำไปสู่การฆ่าตัวตายของผู้คนจำนวนมาก และหลายคนถูกทำร้ายหรือฆ่า จากความเกลียดชังที่มีต่อเพศสภาพ เพศวิถี ที่ถูกบอกว่าเป็นความผิดปกติ


หลังจากมีการประกาศถอดถอนเพศวิถีแบบรักเพศเดียวกันออกจากบัญชีจำแนกโรค ต่อมาปี 2004 จึงได้มีการกำหนดให้ทุกวันที่ 17 พฤษภาคม เป็น วันสากลต่อต้านและยุติการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า International Day Against Homophobia ซึ่งในแต่ละปีก็จะมีการจัดกิจกรรมทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับโลก มีการจุดเทียนรำลึกถึงผู้เสียชีวิตที่เกิดจากอาชญากรรมจากการเกลียดชังคนรักเพศเดียวกัน หรือคนที่เสียชีวิตไปจากการฆ่าตัวตายก็ดี และในเวลาต่อมา ก็ได้มีการเพิ่มคำว่า การเกลียดกลัวคนข้ามเพศ และการเกลียดกลัวคนรักสองเพศเข้าไป กลายเป็น International Day Against Homophobia Transphobia and Biphobia หรือเรียกย่อๆว่า IDAHOBIT DAY


ในเว็บ May17.org ได้อธิบายเรื่องของการแปลคำย่อในอักษรตัว I เอาไว้ว่า บางคนอาจรวมถึง Intersexphobia ด้วย ซึ่งหมายถึงการเกลียดกลัวคนที่มีเพศภาวะแบบ Intersex (ภาษาไทยแปลว่าเพศกำกวม ซึ่งผู้เขียนไม่ค่อยชอบการใช้คำนี้ จึงขอแทนทับศัพท์ว่าอินเตอร์เซ็กซ์) แต่อย่างไรก็ดี ยังไม่มีมติที่เป็นมติร่วมขององค์กรอินเตอร์เซ็กซ์ว่าจะต้องรวมการเกลียดกลัวคนที่เป็นอินเตอร์เซ็กซ์เข้าไปด้วยหรือไม่ ดังนั้นโดยทั่วไป เมื่อพูดถึง IDAHOBIT จะหมายถึง Homophobia, Transphobia และ Biphobia เป็นหลัก แต่อย่างไรก็ดี นักกิจกรรมในหลายประเทศก็ถือว่าวันนี้เป็นวันที่ต่อต้านการเกลียดกลัวคนที่มีเพศวิถีหรือเพศสภาพทุกๆแบบที่ถูกสังคมปฏิเสธ เผชิญกับการเลือกปฏิบัติ การถูกใช้ความรุนแรง


Together: Resisting, supporting, healing


ในแต่ละปี จะมีหัวข้อหลักของงานกิจกรรมที่จะจัดขึ้น หรือการสื่อสารเผยแพร่สื่อต่างๆ โดยเป็นการใช้หัวข้อเดียวกันทั่วโลก และในปี 2021นี้ แนวคิดหลักของการจัดกิจกรรมมีชื่อว่า “Together: Resisting, supporting, healing” ที่หมายถึง "เราจะเคียงข้างกัน :ร่วมต่อสู้ สนับสนุน และเยียวยากันและกัน" เพราะในปี 2021 นี้ ทั่วโลกเกิดวิกฤตการณ์โรคระบาดซึ่งส่งผลต่อคนหลากหลายกลุ่ม และกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเอง ก็เผชิญกับปัญหาที่ทับซ้อนจากการเข้าไม่ถึงการเยียวยาจากรัฐ เข้าไม่ถึงการบริการด้านสุขภาพ เช่น การเข้ารับฮอร์โมนของคนข้ามเพศ เนื่องจากโรงพยาบาลไม่สามารถรองรับผู้ติดต่อขอรับบริการได้ หรือการถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งวิกฤตโรคระบาดทำให้ต้องใช้ชีวิตกับสมาชิกครอบครัวตลอดเวลา และเมื่อวิถีทางเพศไม่ถูกยอมรับจากคนในบ้าน การใช้ความรุนแรง ความเครียด สภาพจิตใจของคนที่รักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ คนที่รักได้ทั้งสองเพศ ก็ย่อมรุนแรงมากขึ้นกว่าในสถานการณ์ปกติ เกิดสภาวะอดอยากเพราะตกงานจากปัญหาเศรษฐกิจในภาวะโรคระบาด ส่งผลให้ LGBTIQ จำนวนมากต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน ต้องขอรับบริจาคทุนเพื่อดำรงชีวิต ซึ่งในประเทศที่ไม่มีสวัสดิการจากรัฐ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการสนับสนุน เยียวยา ใดๆได้เลย


ดังนั้น การต่อสู้เพื่อยุติการเกลียดกลัวคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการถูกเลือกปฏิบัติ ถูกใช้ความรุนแรง เข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ จึงต้องมาจากการร่วมมือร่วมใจเคียงข้างไปด้วยกัน อีกทั้งยังต้องสนับสนุนซึ่งกันและกันในทุกๆด้าน ยกตัวอย่างในประเทศไทย มูลนิธิซิสเตอร์ ซึ่งทำงานให้บริการคำปรึกษาต่อคนข้ามเพศ ก็ได้จัดโครงการช่วยเหลือคนข้ามเพศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด 19 โดยได้มีการตั้งโครงการเทยชนะ จัดทำถุงยังชีพสำหรับคนข้ามเพศ หรือการช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อสิทธิความเป็นธรรมมทางเพศ (FORSOGIE) ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กร OUT Rights จัดทำโครงการเงินเยียวยาเบื้องต้นสำหรับ LGBTIQs ที่ได้รับผลกระทบ ไม่มีค่าใช้จ่ายในการยังชีพ จากแหล่งทุน COVID-19 EMERGENCY RESPONSE FUND ทั้งนี้ก็เพื่อให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศได้ดำรงชีวิตต่อไปในสภาวะโรคระบาดและส่งผลให้คนจำนวนมากตกงาน ไร้บ้าน เผชิญกับความรุนแรง


นอกจากนี้ ยังพบว่าในวิกฤตการณ์โรคระบาด LGBTIQ จำนวนมาก หรือกระทั่งนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหว ทำงานช่วยเหลือชุมชน LGBTIQ ก็เผชิญกับภาวะเครียด โรคซึมเศร้า เหนื่อยล้าทางใจจากการทำงานหนัก การเอาตัวรอดให้พ้นจากการระบาดของโรคและสภาพเศรษฐกิจ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการเยียวยาทั้งในด้านกายภาพและจิตใจ ซึ่งเนื่องในวัน IDAHOBIT ก็มีหลายกลุ่มองค์กรจัดกิจกรรมเพื่อจะเยียวยา แบ่งปันความรู้สึกกันในกลุ่มนักกิจกรรมด้วยกัน


ตัวอย่างเช่น กลุ่ม Queer Riot ที่จัดกิจกรรม LGBTIQN+ ONLINE SAFE SPACE : ปักหลัก เพื่อโอบอุ้มกันและกัน เพื่อน.. ยังอยู่ตรงนี้..ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 16 พฤษภาคม ที่ผ่านมา


ร่วมกันต่อสู้ สนับสนุน เยียวยาซึ่งกันและกัน


และในวันที่ 17 พฤษภาคม นี้ ยังมีองค์กร และกลุ่มอื่นๆ ที่ร่วมกันจัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบขึ้น เช่น

  • กลุ่ม เฟมินิสต์ปลดแอก จัดกิจกรรมยืนสงบนิ่ง ถือป้ายรณรงค์ และจุดเทียนเพื่อเป็นพลังแรงใจและรำลึกถึงเรื่องราวชีวิตของคนเพศหลากหลายที่ถูกเกลียดชังในมิติต่าง ๆ

  • กลุ่ม (Save the Children) ร่วมกับ Thaiconsent จัดกิจกรรม เชิญชวนเด็กและเยาวชนร่วมส่งผลงานศิลปะเพื่อจัดแสดงในนิทรรศการออนไลน์เพื่อเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศ ยุติอคติและความเกลียดชัง โดยนิทรรศการออนไลน์จะเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป

  • กลุ่มเสรีเทยพลัสจัดกิจกรรม ชวนเพื่อน ๆ LGBTQ+ ร่วมแชร์ประสบการณ์ความรุนแรงที่ตนเจอ โดยเข้าร่วมเล่าเรื่องได้ในแฮชแท็ก #ความเจ็บปวดของฉันคือเรื่องจริง ​


และองค์กรต่างๆทั่วโลกก็จัดกิจกรรมขึ้นในรูปแบบต่างๆด้วยเช่นกัน สามารถเข้าไปเช็คในเว็บไซต์ https://may17.org/ ได้ว่าทั่วโลกมีการจัดกิจกรรมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ที่ไหนบ้างเพื่อเข้าร่วมกันค่ะ


เฟมินิสต้า ขอร่วมแสดงจุดยืนในการทำงานเพื่อยุติและต่อต้านการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ คนรักสองเพศ อินเตอร์เซ็กส์ และคนที่มีความหลากหลายทางเพศทุกรูปแบบ และจะร่วมเคียงข้างไปกับทุกคนในการสนับสนุน ต่อสู้ และเยียวยากันและกันต่อไปในทุกๆปี



ข้อมูลอ้างอิง











ดู 220 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page