(ภาพจากงาน Flashmob ที่ราชประสงค์ วันที่ 1 มีนาคม 2563)
ป้ายกระดาษเขียนด้วยปากกาเมจิกว่า LGBTQ+Rights = Democracy ปรากฎขึ้นในขบวนไพรด์พาเหรดที่เชียงใหม่ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พร้อมกับคำถามของนักศึกษาคนหนึ่งในเวทีเสวนา “ก้าวต่อไป เพื่อยุติความรุนแรงทุกรูปแบบ” มีใจความว่า
“นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศมีจุดยืนอย่างไรกับระบอบประชาธิปไตย?”
ดูเหมือนทั้งห้องเงียบกันไปพักใหญ่ จนกระทั่งพิธีกรของงานเสวนา ทำลายความเงียบของคนในห้องด้วยการตอบคำถามว่า โดยส่วนตัวเธอสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ต้องยอมรับว่า ในขบวนการก็มีความหลากหลาย นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิ LGBT บางคนก็มีความคิดในแบบอื่นๆ แตกต่างกันไป
ผู้เข้าร่วมเสวนาอีกคน กล่าวยืนยันในทำนองเดียวกันว่า ในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อความหลากหลายทางเพศ ก็มีความหลากหลายทางความคิดด้วย บางคนอาจไม่ได้มีจุดยืนสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย เราควรเคารพความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย หากสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย
น่าเสียดายที่ไม่มีเวลาให้แลกเปลี่ยนหลังเวทีเสวนามากพอ คำตอบของคำถามจึงออกมาในแนวนี้ ไม่มีใครพูดคำว่าต่อต้านเผด็จการออกมาชัดๆและตรงไปตรงมา
หลังเวทีเสวนาจบลง มีกิจกรรมจุดเทียน รำลึกถึงความรุนแรงเมื่อสิบเอ็ดปีก่อน ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับกลุ่ม LGBT
ในเชียงใหม่ โดยกลุ่มการเมืองในเชียงใหม่ ที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม คนเสื้อแดง และเป็นกลุ่มต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ผู้เขียนไม่ได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ แต่จดจำข่าวนี้ได้ และได้รับฟังประสบการณ์จากคนที่อยู่ในเหตุการณ์มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง
มันคือความเจ็บปวดสำหรับหลายคนที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่อาจส่งผลให้ใครหลายคนในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของกลุ่ม LGBT มีทัศนคติที่ไม่ดีนักกับกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ขยาดกลัวที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง หรือถึงขั้นเกลียดกลัวคนเสื้อแดง
ตัดกลับมาที่งานไพรด์ช่วงเช้า มีเสียงยืนยันจากใครบางคนในงานว่า
“เราไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง เราทำงานกับทุกรัฐบาล อย่าทำให้เรื่อง LGBT เป็นเรื่องการเมือง”
ผู้เขียนคิดว่า นี่คือปัญหาใหญ่ของขบวนการเคลื่อนไหวสิทธิความหลากหลายทางเพศในไทย
อย่างไร?
ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เป็นใจกลางสำคัญของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไทย คือขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย หลังรัฐประหารปี 49 เป็นต้นมา เกิดขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยขบวนใหญ่ คือขบวนการของคนเสื้อแดง ซึ่งภายหลังถูกสลายการชุมนุมโดยรัฐบาลจนมีคนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก และหลังรัฐประหาร 57 เมื่อขบวนการคนเสื้อแดงได้ถูกทำลายไป แต่ก็เกิดกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อต้านรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารมาโดยตลอด จนกระทั่งมีการเลือกตั้งปี 62 การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลก็ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
กลุ่มนักเคลื่อนไหวสิทธิ LGBT มีส่วนร่วมกับขบวนการประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน?
อาจเรียกได้ว่าเป็นส่วนน้อยมาก หากเปรียบเทียบกับขบวนการแรงงาน ขบวนการที่ดิน หรือขบวนการอื่นๆ ที่เข้าไปร่วมในการต่อสู้กับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ที่ผ่านมา มีเพียงนักเคลื่อนไหว LGBT ที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มเพื่อประชาธิปไตยและความหลากหลายทางเพศ” ที่มีส่วนร่วมในนามนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิ LGBT นับตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 57 เป็นต้นมา ได้มีการออกแถลงการณ์หลายครั้งในนามของกลุ่ม เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุติความรุนแรงกับกลุ่มผู้ประท้วง หรือเพื่อต่อต้านรัฐประหาร และวิพากษ์การทำงานของกลุ่มนักเคลื่อนไหวสิทธิ LGBT ด้วยกันเองในกรณีมอบช่อดอกไม้ให้กับคณะบุคคลที่มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหาร นอกเหนือจากนั้น มีนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิ LGBT เป็นรายบุคคลที่เข้าร่วมกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยอยู่บ้างประปราย มีองค์กรที่ทำเรื่องสิทธิ LGBT เข้าร่วมบ้างแทบนับองค์กรได้ แต่เสียงของ LGBT ในขบวนการประชาธิปไตย นับว่ามีออกมาน้อยมาก เมื่อเทียบกับขบวนการอื่นๆในภาพรวม
ทำไมแนวคิดเรื่อง "สิทธิ LGBT ไม่เกี่ยวกับการเมือง" หรือ "เราทำงานกับทุกรัฐบาล" ถึงเป็นปัญหา?
“The Personal is Political” เรื่องส่วนตัวคือเรื่องการเมือง เป็นประโยคที่หลายคนคงเคยได้ยิน แม้จะมีคนบอกว่าเรื่องเพศวิถีหรือรสนิยมทางเพศ เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่ก็ไม่เป็นความจริง เพราะในความเป็นจริงแล้ว รัฐเข้ามามีส่วนในเพศวิถี และอัตลักษณ์ทางเพศของปัจเจกในทุกๆมิติ เช่น คำนำหน้าในเอกสารราชการ การสมรสและการก่อตั้งครอบครัว การเกณฑ์ทหารของกลุ่มคนข้ามเพศ ระเบียบการแต่งกายของคนข้ามเพศ การรับบุตรบุญธรรม หรือแม้แต่แบบเรียนในโรงเรียนที่สอนเรื่องความหลากหลายทางเพศ ล้วนแล้วเป็นผลมาจากนโยบายรัฐทั้งสิ้น
ดังนั้น รัฐจึงเข้ามามีผลกับชีวิตของกลุ่ม LGBT ทั้งทางตรงและทางอ้อม การที่รัฐเข้ามาจัดการกับชีวิตของกลุ่ม LGBT ก็คือการเมืองในตัวของมันเองแล้ว ยังไม่นับเรื่องที่ กลุ่ม LGBT ต้องไปเรียกร้องเอาสิทธิต่างๆมาจากรัฐ และการเรียกร้องดังกล่าวนี้เอง จึงเป็นเรื่อง การเมือง อย่างไม่อาจปฏิเสธได้
และทำไมแนวคิดว่า เราทำงานกับทุกรัฐบาล ถึงมีปัญหา?
เพราะรัฐบาลที่จะปกป้องสิทธิมนุษยชนของคนทุกกลุ่ม รวมถึงของกลุ่ม LGBT ด้วย คือรัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่รัฐบาลที่มาจากเผด็จการทหาร สิทธิมนุษยชนของคนกลุ่มอื่นๆ ถูกลิดรอนโดยรัฐบาลที่มาจากเผด็จการทหาร ที่ยึดอำนาจมา และฟอกตัวด้วยการเลือกตั้งผ่านกติกาที่เขียนขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ดังนั้น รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จะออกกฎหมายเพื่อกดขี่พลเมืองเมื่อใดก็ได้ แต่รัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตย สามารถวิจารณ์ได้และเรียกร้องสิทธิได้โดยไม่ต้องกลัวถูกคุกคาม
ในขณะที่รัฐบาลที่มาจากเผด็จการทหาร มักออกกฎหมายเพื่อคุกคามประชาชนที่ต่อต้านอยู่เสมอ การที่กลุ่ม LGBT เลือกที่จะทำงานกับทุกรัฐบาลโดยไม่สนใจว่าจะมีที่มาจากไหน จึงเป็นการสนับสนุนให้เผด็จการดำรงอยู่และสามารถลิดรอนสิทธิของคนกลุ่มอื่นๆต่อไปเรื่อยๆ และวันหนึ่งอาจหันกลับมาออกกฎหมายเล่นงานกลุ่ม LGBT เสียเอง
มีแต่รัฐบาลประชาธิปไตยเท่านั้นที่เอื้อให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ
เอื้อให้เกิดความเป็นไปได้กับกฎหมายที่เป็นคุณกับกลุ่ม LGBT ไม่ว่าจะเป็นประเทศประชาธิปไตยในยุโรปหรือเมริกา กฎหมายที่คุ้มครองสิทธิของกลุ่ม LGBT ล้วนมาจากระบอบประชาธิปไตย ผ่านการเรียกร้องสิทธิของกลุ่มนักเคลื่อนไหว นักกฎหมายและการทำงานร่วมกันของพรรคการเมืองในประเทศ ในขณะที่รัฐบาลเผด็จการอย่างในรัสเซียหรืออูกันดา มีกฎหมายลงโทษกลุ่ม LGBT อย่างรุนแรง และหากมีการเรียกร้องสิทธิหรือประท้วง ก็จะได้รับการลงโทษและจับกุมคุมขัง
ดังนั้นจะเห็นว่า ความเป็นไปได้ที่กลุ่ม LGBT จะมีสิทธิที่เท่าเทียมเหมือนคนกลุ่มอื่นๆ จะเกิดขึ้นในประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยมากกว่าประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบเผด็จการ การทำงานกับรัฐบาลประชาธิปไตย จึงมีแนวโน้มที่พูดเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศได้มากกว่ารัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารหรือเผด็จการทหาร
ดังนั้นการบอกว่า
เราไม่ยุ่งการเมือง เราทำงานกับทุกรัฐบาล จึงเป็นแนวคิดที่ทำลายขบวนการเคลื่อนไหวสิทธิของกลุ่ม LGBT และยังเป็นการสนับสนุนการลิดรอนสิทธิมนุษยชนของคนกลุ่มอื่นๆในสังคมไปด้วยพร้อมๆกัน
แล้วขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยให้อะไรกับกลุ่ม LGBT ได้บ้าง?
อาจมีคำถามกลับมาจากกลุ่มคนที่เคยผ่านความเจ็บปวดต่อเหตุการณ์เสาร์ซาวเอ็ดว่า แล้วกลุ่มที่เรียกร้องประชาธิปไตย ทำอะไรเพื่อกลุ่ม LGBT บ้าง นอกจากความรุนแรงในอดีตที่เคยฝากไว้กับกลุ่มผู้จัดงานไพรด์เชียงใหม่ หรือกระทั่งตรรกะเหยียดเพศที่ปรากฎบ่อยครั้งในขบวนการเคลื่อนไหวของฝ่ายประชาธิปไตย
คำตอบต่อคำถามที่ผู้เขียนอยากเสนอคือ เป็นความจริงที่ขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเอง ก็มีจุดอ่อนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและหลายครั้งกลับเป็นผู้ผลิตซ้ำและกระทำความรุนแรงต่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศเสียเอง เพราะในขบวนการเคลื่อนไหว บางครั้งถูกนำโดยแกนนำและขับเคลื่อนด้วยวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่และอำนาจนิยม ซึ่งทำให้เกิดเหตุการณ์อย่างกรณีเสาร์ซาวเอ็ดหรือวาทกรรมเหยียดเพศในขบวนการ
ดังนั้น ข้อเสนอของผู้เขียน คือ กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิ LGBT ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับขบวนการประชาธิปไตยให้มากยิ่งขึ้น เพื่อทำงานกับขบวนการทางการเมืองในภาพใหญ่ ทั้งทางด้านแนวคิดและวิธีปฏิบัติของคนในขบวนการเอง ไม่ใช่ปล่อยให้ขบวนการประชาธิปไตยเดินหน้าโดยปราศจากความเข้าใจเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศ และปล่อยให้กลุ่ม LGBT ต้องต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมทางเพศโดยลำพังเฉพาะกับกลุ่มของตนเอง
สิทธิความหลากหลายทางเพศ จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ในรัฐที่ปกครองโดยระบอบเผด็จการทหารหรือระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
และประชาธิปไตยเอง ก็ไม่สามารถตัดขาดเสียงของคนจากกลุ่มความหลากหลายทางเพศได้ เพราะเป้าหมายส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยคือ ความเท่าเทียมกัน และสิทธิความหลากหลายทางเพศ เป็นส่วนหนึ่งของความเท่าเทียมในสังคมประชาธิปไตย
ดังนั้นทั้งสองอย่างเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันและไม่สามารถแยกออกจากกันได้ นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศหรือกลุ่ม LGBT ต้องยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และปฏิเสธการทำงานกับรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
นอกจากการเชื่อมโยงขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของกลุ่ม LGBT เข้ากับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยแล้ว ผู้เขียนยังเห็นว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของ LGBT ต้องเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับกลุ่มสิทธิมนุษยชนอื่นๆ เช่น กลุ่มสิทธิของผู้พิการ กลุ่มสิทธิของเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง กลุ่มสิทธิของพนักงานบริการทางเพศ กลุ่มสิทธิของผู้หญิงที่ต้องการการทำแท้งปลอดภัย กลุ่มสิทธิแรงงานและที่ดิน และกลุ่มสิทธิอื่นๆ เพราะในทุกๆกลุ่ม ล้วนมีคนที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับผลกระทบหรือถูกลิดรอนสิทธิจากการเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และมีอัตลักษณ์อื่นๆร่วมด้วย เช่น ผู้พิการที่เป็น LGBT แรงงานที่เป็น LGBT เยาวชนชนเผ่าที่เป็น LGBT และคนที่มีอัตลักษณ์ที่ทับซ้อนนี้เอง ถูกลิดรอนสิทธิหรือได้รับการเลือกปฏิบัติมากไปกว่าแค่การเป็น LGBT หรือเป็นผู้พิการอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เป็นการถูกเลือกปฏิบัติหรือลิดรอนสิทธิที่ทับซ้อนสองถึงสามชั้นขึ้นไป
ดังนั้น หากขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ เชื่อมโยงตัวเองเข้ากับขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือสิทธิในด้านอื่นๆได้ ก็จะทำให้ขบวนการสิทธิความหลากหลายทางเพศมีพลังในการเรียกร้องสิทธิให้กับกลุ่มของตัวเองมากขึ้น รวมไปถึงมีส่วนในการผลักดันให้คนกลุ่มอื่นๆมีพลังในการเคลื่อนขบวนไปพร้อมๆกัน ไม่มีใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งถูกทิ้งไว้ข้างหลังและต้องต่อสู้เพียงลำพัง
หมายเหตุ : งานไพรด์เชียงใหม่ จัดขึ้นหลังมีการยุบพรรคอนาคตใหม่หนึ่งวัน และจัดก่อนการเกิดขึ้นของแฟลชม็อบประท้วงรัฐบาลของนักศึกษาและประชาชนในช่วงวันต่อๆมา หลังจากนั้น มีกลุ่มนักกิจกรรม LGBT ส่วนหนึ่ง เข้าร่วมแฟลชม็อบที่ราชประสงค์ในวันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมา ร่วมกับกลุ่มนักกิจกรรมเพื่อการทำแท้งปลอดภัย นักกิจกรรมเพื่อสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม และกลุ่มอื่นๆ
อ่านข่าว เหตุการณ์เสาร์ซาวเอ็ดได้ที่ https://thematter.co/thinkers/thailand-is-not-lgbt-heaven/19197
อ่านข่าว งานไพรด์ที่เชียงใหม่ได้ที่ https://thestandard.co/chiang-mai-pride-2020/
อ่านข่าว การประท้วงของกลุ่มนักสิทธิ LGBT ที่ราชประสงค์ได้ที่ https://www.matichon.co.th/politics/news_2017763
Comments