องค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน (Sangsan Anakot Yawachon Development Project) ร่วมกับ V-Day Thailand, Thaiconsent และ Feminista จัดเสวนาออนไลน์ เนื่องใน 16 วัน กิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงทุกเพศภาวะ : การศึกษาเฟมินิสต์เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางเพศและทางสังคมและหนทางข้างหน้า
โดยในภาคเช้า มีการกล่าวนำเสวนา โดย เด็บ แมค รองผู้ช่วยทูตฝ่ายวัฒนธรรมและการศึกษา สถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย
โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญดังต่อไปนี้
“เมื่อเดือนที่แล้ว รัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดนและรองประธานาธิบดีแฮร์ริส ได้ออกยุทธศาสตร์ว่าด้วยประเด็นทางเพศระดับชาติขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อขับเคลื่อนยกระดับการพัฒนาศักยภาพสตรี เด็กหญิง ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่มีภูมิหลังหลากหลายทุกรูปแบบ ทั้งในสหรัฐฯ และทั่วโลก โดยมุ่งมั่นในการต่อสู้เพื่อพิทักษ์ความเท่าเทียมทางเพศ ปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของสตรีและเด็กหญิง เรามีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อผู้หญิงและเด็กหญิงที่ต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติในรูปแบบที่หลากหลายและทับซ้อน นั่นรวมไปถึงสตรีหรือเด็กหญิงที่พิการ สตรีที่มีความหลากหลายทางเพศ สตรีผิวสี สตรีจากศาสนาหรือเชื้อชาติส่วนน้อย และสตรีชาวพื้นเมือง
ในการออกยุทธศาสตร์ฉบับนี้ สหรัฐฯ ยังคงยืนยันถึงความมุ่งมั่นที่จะทำให้ปัจเจกบุคคลนำความสามารถออกมาใช้ได้อย่างเต็มศักยภาพและการปลดปล่อยศักยภาพของสตรี เด็กหญิง และผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่มีภูมิหลังหลากหลายทุกรูปแบบนั้น เริ่มต้นจากการรับประกันว่าพวกเขาสามารถเข้าถึงโอกาสที่สมควรได้รับอย่างเท่าเทียมในทุกด้าน ทั้งสุขภาพ การศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เศรษฐกิจ ความมั่นคง และการเมือง
เป็นที่น่าเสียดายว่าโอกาสเหล่านี้ยังห่างไกลจากความเป็นจริงของคนจำนวนมากทั่วโลก และไม่มีใครสามารถสร้างความก้าวหน้าในเรื่องเหล่านี้ได้เพียงลำพัง นั่นจึงเป็นเหตุที่สถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ทำงานอย่างใกล้ชิดกับหลายหน่วยงานภาคีในสังคมไทย ซึ่งรวมถึงองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน ในการส่งเสริมและยกระดับความเท่าเทียมทางเพศและความเป็นธรรมทางสังคมในประเทศไทย”
โดยในช่วงเช้า เป็นการเสวนาในหัวข้อ
“การศึกษาเฟมินิสต์เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางเพศและทางสังคมและหนทางข้างหน้า”
ศิริวรรณ พรอินทร์ เยาวชนเฟมินิสต์นักปกป้องสิทธิเด็กและสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ Asian Girl Award 2020 สาขาสิทธิมนุษยชน โดยองค์กร The Garden of Hope Foundation- International Affairs 勵馨基金會國際事務 , Taiwan ผู้รับผิดชอบโครงการระดับนานาชาติ Generation Equality Girls’ Fund grant ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Indigenous Youth For Sustainable Development #IY4SD)
ได้กล่าวถึง บริบท สภาพปัญหา และความสำเร็จจากการทำงานที่ผ่านมา เอาไว้ว่า
ด้วยความที่เติบโตมาในบริบทของการที่มีแม่สองคน ซึ่งไม่ได้อยู่ในกรอบของวัฒนธรรมที่กำหนดว่าต้องมีพ่อแม่ที่เป็นหญิงและชาย ทำให้ถูกเลือกปฏิบัติทางกฎหมาย เช่น การที่ไม่สามารถสมรสเท่าเทียมได้ ไม่ได้รับการยอมรับทางกฎหมาย ทำให้ส่งผลกระทบต่อตนเองที่เป็นลูกของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ได้รับสิทธิในการเดินทางออกนอกประเทศ ไม่สามารถให้ผู้ปกครองเซ็นเอกสารให้ได้ และในสังคมก็ยังมีภาพเหมารวมว่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศไม่สามารถก่อตั้งครอบครัวได้ ทำให้ตนเองและแม่ออกมารณรงค์ในทางสังคม เช่น การเขียนบทความ การให้สัมภาษณ์ในสื่อออนไลน์ และบริบทที่ทำให้ออกมาผลักดันสิทธิของเด็กผู้หญิงและเยาวชนที่เป็น LGBT คือการที่ในสถานศึกษา เด็กผู้หญิงและเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศเผชิญกับการล้อเลียน กลั่นแกล้งรังแกในสถานศึกษาจากทั้งเพื่อนนักเรียนและคุณครูในโรงเรียน และตัวหลักสูตรการศึกษาเองก็ยังสร้างภาพเหมารวมให้กับเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ และเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิในสถานศึกษา กลับไม่ได้รับความช่วยเหลือ และไม่ได้รับการเยียวยา ทำให้ตนเองเริ่มต้นทำงานในประเด็นนี้ โดยได้เขียนบทความเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งรังแก ลงในเว็บไซต์ประชาไท (อ่านบทความได้ที่ https://prachatai.com/journal/2018/10/79157)
จากบริบทที่ผ่านมา รวมถึงการได้มาเป็นอาสาสมัครองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน ทำให้ตนเองเข้าใจและตระหนักถึงแนวคิดสิทธิมนุษยชนว่ามีความสำคัญอย่างไร ทำให้ในปีที่ผ่านมาได้เข้าไปประกวดในสองโครงการ โครงการแรกคือ Asian Girl Award ปี 2020 ซึ่งเป็นโครงการขององค์กร Garden of Hope Foundation
โดยนำผลงานการทำงานที่ผ่านมากับองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชนเข้าไปประกวดและได้รับรางวัลในตำแหน่งยุวทูตระดับเอเชีย และได้รับเงินรางวัลสนับสนุนจำนวน 40,000 บาท และได้นำเงินรางวัลนี้มาจัดทำโครงการเสริมศักยภาพให้กับเยาวชน ผู้หญิง และเยาวชนที่มีความความหลากหลายทางเพศในสถานศึกษา ซึ่งได้จัดอบรมการเสริมศักยภาพเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก และการใช้พื้นที่ออนไลน์อย่างปลอดภัยให้กับเยาวชน ซึ่งตนเองรู้สึกได้รับพลังจากการทำงานมาก เพราะว่ายังมีเด็กหลายคนที่ได้บอกว่ารู้สึกมีกำลังใจที่ได้เห็นตนเองต่อสู้และรู้สึกได้รับแรงบันดาลใจในการต่อสู้เคียงข้างกันด้วย
และอีกโครงการหนึ่งคือโครงการ Youth Collap ของ UNDP ซึ่งเป็นโครงการที่มีชื่อว่า (Indigenous Youth For Sustainable Development (IY4SD) โดยเป็นโครงการที่ทำงานเกี่ยวกับผ้าทอกะเหรี่ยงสีรุ้ง ที่ทำร่วมกับเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศ และกลุ่มผู้หญิงชนเผ่าไร้สัญชาติในพื้นที่บ้านแม่สามแลบ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งกำลังอยู่ในวิกฤตของภาวะสงครามและภาวะการระบาดของโควิด 19 ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและความรุนแรงในครอบครัวที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้องทำงานกับกลุ่มผู้หญิงอย่างเข้มแข็ง โดยการทำงานเพื่อเสริมศักยภาพการเป็นผู้นำกับกลุ่มผู้หญิง สามารถทำงานเพื่อต่อรองกับคนในครอบครัวให้ได้รับการสนับสนุนในการทอผ้ากะเหรี่ยงสีรุ้ง ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนาโครงการ
ส่วนความสำเร็จก็คือ กลุ่มผู้หญิงมีรายได้ สามารถเลี้ยงดูครอบครัว มีอาหารในช่วงวิกฤตภาวะโควิด มีค่าขนมให้กับลูก มีเงินที่สามารถนำไปซื้อของให้ตัวเองได้ ทำให้ผู้หญิงมีความมั่นใจในการทอผ้าและมีภาวะผู้นำเพิ่มขึ้น ที่สำคัญคือเกิดการรวมกลุ่มกันของผู้หญิงที่ทำงานผ้าทอกะเหรี่ยงสีรุ้ง มีการสืบทอดการทอผ้ากะเหรี่ยงสีรุ้งให้กับลูกๆ และนอกจากนี้ยังได้รับทุนจาก Garden of Hope Foundation ในการทำโครงการต่ออีกด้วย
ในขณะที่ น้องแอร์ สายรุ้งยามเย็น นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและเยาวชน ชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศ เยาวชนนักวิจัยโครงการ COVID19 Feminist Participatory Action Research องค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน ได้เล่าถึงบริบท สภาพปัญหาและการทำงานที่ผ่านมาเอาไว้ว่า
การทำงานทั้งหมดมาจากบริบทของชุมชนและชีวิตส่วนตัวของตนเองที่เป็นชนเผ่าพื้นเมือง มีความเกี่ยวข้องกับครอบครัวของตนเองทั้งหมด ทั้งตนเองที่มีความหลากหลายทางเพศ และคนในครอบครัวก็เป็นชนเผ่าพื้นเมืองไร้สัญชาติ อยู่ในพื้นที่ชายแดนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามมายาวนานระหว่างทหารกะเหรี่ยงกับทหารพม่า ส่งผลให้ต้องหลบหนีอยู่ในพื้นที่ของตัวเองตลอดเวลา และการเป็นคนชนเผ่าพื้นเมืองก็ไม่ได้รับการยอมรับจากภาครัฐ การไม่มีสัญชาติทำให้ถูกละเมิดสิทธิในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการเดินทาง ไม่มีสิทธิในการเลือกตั้ง รวมไปถึงสวัสดิการการรักษาพยาบาล ถูกจำกัดการเข้าถึงการทำงาน ในชุมชนมีอาชีพเดียวคือการรับจ้างแบกของ และส่วนมากเป็นผู้ชายที่สามารถทำได้ มากไปกว่านั้น การศึกษาก็ละเมิดเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองและคนไร้สัญชาติ เข้าไม่ถึงระบบการศึกษา นอกจากนี้ เดิมทีผู้หญิงจะพึ่งพิงธรรมชาติ หาของจากธรรมชาติมาขายและเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว แต่เมื่อมีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ ทำให้ถูกควบคุมโดยกฎหมายอุทยาน ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถจะพึ่งพิงป่าได้อีกต่อไป นอกจากนี้ยังถูกผลักดันให้ไปก่อตั้งบ้านเรือนในพื้นที่ภัยพิบัติ ต้องเผชิญกับอุทกภัย น้ำท่วม ดินถล่ม และไฟป่า และในเรื่องสิทธิในที่ดินที่ถึงแม้จะอยู่อาศัยมาอย่างยาวนาน แต่ก็เข้าไม่ถึงสิทธินั้น
ปัญหาทั้งหมดที่ซับซ้อนดังที่กล่าวมานี้ ทำให้เกิดปัญหาความยากจน และถ้าหากเป็นผู้หญิงเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศก็จะเผชิญกับความรุนแรงทางเพศ ถ้าเป็นผู้หญิงก็ถูกสอนให้เชื่อฟังคนในครอบครัว ต้องอยู่ในครัว อยู่แต่ในบ้าน ทำให้ผู้หญิงเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษา ผู้หญิงไม่สามารถอ่านเขียนฟังพูดภาษาไทยได้ แม้แต่ภาษาของตนเองก็ไม่ได้เรียน เพราะต้องอยู่กับภาวะสงครามมาโดยตลอด เมื่อเติบโตมาในวัฒนธรรม บริบทที่ทำให้เข้าไม่ถึงการศึกษา ผู้หญิงจึงถูกบังคับแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย พอแต่งงานแล้วก็ต้องกลับมาอยู่ในวงจรที่ถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัว หลายครั้งที่ตนเเองเห็นแม่ถูกใช้ความรุนแรง และตนเองก็ถูกใช้ความรุนแรงด้วย ซึ่งทำให้แม่ของตนเกิดภาวะอยากฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะในช่วงโควิดที่เกิดความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ทำให้แม่คิดที่จะฆ่าตัวตายอีกครั้ง เมื่อเห็นแม่มีภาวะแบบนั้นก็พยายามที่จะให้กำลังใจ และนำสิ่งที่ได้เรียนรู้พยายามไปทำงานกับแม่เพื่อให้แม่เกิดการเปลี่ยนแปลง พยายามมีชีวิตที่ดีเพื่อตนเองและเพื่อลูกๆต่อไป
รวมไปถึง ความรุนแรงที่เด็กและ LGBT ต้องเผชิญ แบ่งเป็นสามประเด็นคือ ประเด็นแรก เมื่อเด็กเรียนจบชั้นประถมหก ครอบครัวไม่สามารถส่งเรียนต่อได้ เด็กต้องเข้าไปทำงานในเมือง ไปทำงานตั้งแต่อายุยังน้อยและเสี่ยงต่อการถูกจับกุมเนื่องจากไม่มีสัญชาติ เมื่อเข้าไปทำงานก็ถูกใช้ความรุนแรงจากเจ้านาย ถูกเอารัดเอาเปรียบ และต้องอยู่อย่างหวาดกลัวไม่สามารถออกไปไหนได้เพราะไม่มีสัญชาติ เงินที่ทำงานมาก็ไม่ได้ใช้เองแต่ต้องส่งกลับไปให้ครอบครัว ครอบครัวก็ขูดรีดเงินจากลูกของตัวเอง
ประเด็นที่สอง เด็กที่ไม่ได้เข้าไปทำงานในเมือง และไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาแต่ว่าอยู่ในชุมชน จะเป็นเด็กผู้หญิงที่ต้องกลับมาแต่งงานในชุมชน โดยพ่อแม่จะหาคู่ชีวิตมาให้ เพราะครอบครัวเชื่อว่าถ้าลูกสาวแต่งงาน จะทำให้ครอบครัวออกจากความยากจน จะทำให้ชีวิตของครอบครัวดีขึ้นเพราะผู้ชายจะมาเลี้ยงดูครอบครัว แต่ในความจริงแล้ว เด็กที่แต่งงานในวัยเด็กยังไม่มีวุฒิภาวะและยังไม่สามารถจะตัดสินใจด้วยตัวเองได้และต้องเผชิญกับความรุนแรงในครอบครัว และการที่เข้าไม่ถึงระบบการศึกษา ก็ทำให้ต้องเผชิญกับความยากจนและความรุนแรงที่อยู่ในชุมชน และ
ประเด็นที่สาม เมื่อเด็กผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองเข้าไปอยู่ในระบบการศึกษา สิ่งที่เผชิญคือ การไม่ถูกยอมรับทั้งเรื่องของอัตลักษณ์ตัวตนและภาษา ถูกกลั่นแกล้งถูกล้อเลียน เด็กที่ไม่มีสัญชาติก็จะไม่ได้รับทุนการศึกษา ไม่ได้รับการยอมรับจากครูในโรงเรียน ถูกเหยียดเชื้อชาติในหลากหลายรูปแบบ
มากไปกว่านั้นถ้าเป็นเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ ในโรงเรียนจะมีแค่หอพักที่แยกระหว่างชายกับหญิง คนที่มีความหลากหลายทางเพศไม่สามารถเลือกหอพักเองได้ ยกตัวอย่างน้องชายของตนที่เป็นคนข้ามเพศ เข้าไปเรียนชั้นมัธยมและได้บอกความต้องการกับครูว่ารู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะอยู่ร่วมกับผู้ชายเพราะเคยมีประสบการณ์ถูกคุกคามมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการถูกแอบดูตอนอาบน้ำหรือแต่งตัว ถูกจับจ้องและกลั่นแกล้งตลอดเวลา แต่เมื่อขอแยกหอพักหรืออยู่กับผู้หญิง กลับถูกครูที่โรงเรียนด่าทอและไม่ให้ความช่วยเหลือ ทำให้น้องชายต้องใช้ชีวิตในระหว่างนั้นด้วยความยากลำบาก
และถึงแม้จะมีข้อท้าทายในการทำงานที่ซับซ้อนหลายอย่าง แต่ก็มีงานที่ทำสำเร็จมาแล้วสี่โครงการ เช่น โครงการโรงเรียนผู้หญิง เนื่องจากผู้หญิงเข้าไม่ถึงระบบการศึกษาจึงทำโรงเรียนสำหรับผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองขึ้นมาซึ่งจัดมาแล้วทั้งหมดห้ารุ่น ผู้หญิงที่เข้าร่วมได้บอกกับตนว่ารู้สึกดีใจที่ได้กลับมาเรียน ได้เริ่มเรียนรู้ด้วยตัวเอง เริ่มอ่านออกสะกดเป็น และก่อนหน้านี้เวลาผู้หญิงจะเซ็นชื่อ ต้องใช้พิมพ์ลายนิ้วมือ แต่ตอนนี้พวกเธอไม่ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือแล้ว แต่สามารถใช้ปากกาเซ็นชื่อตัวเองได้ และเนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 จึงได้ทำงานวิจัยโดยใช้แนวคิดสตรีนิยมปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ทำงานเรื่องผลกระทบของโควิด 19 และได้นำข้อค้นพบจากงานวิจัยไปเรียกร้องต่อชุมชน ต่อระดับชาติ เพื่อให้เกิดการรับรู้และช่วยเหลือเยียวยาให้กับคนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ยังได้ระดมทุนช่วยเหลือในชุมชนมากกว่า 12 ครั้ง ในการจัดหาอาหารแห้ง ของใช้ต่างๆ ส่วนอีกโครงการคือ โครงการผ้าทอกะเหรี่ยงสีรุ้ง ที่ทำงานกับชนเผ่าพื้นเมือง เพราะหลังจากการทำงานวิจัยและการจัดกิจกรรม ผู้หญิงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากมีอาชีพเพื่อจะออกจากปัญหาความยากจน จึงเกิดเป็นธุรกิจผ้าทอกะเหรี่ยงสีรุ้งที่ทำให้ผู้หญิงมีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว สามารถออกจากปัญหาความยากจนและความรุนแรงทางเพศ ทำให้เริ่มมีอำนาจภายในตนเอง และเมื่อมีอำนาจภายในมากขึ้น ก็สามารถทำให้ผู้ชายเข้ามาช่วยงานในบ้านมากขึ้น โครงการสุดท้ายคือการรณรงค์เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางเพศและความเป็นธรรมทางสังคม จากการทำงานที่ผ่านมาจะเห็นว่าตนอยู่ในเวที อยู่ในงานเสวนาต่างๆ เพื่อส่งเสียงของผู้หญิง สร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อให้เสียงของผู้หญิงที่อยู่ในปัญหาได้ออกมามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และวันนี้ก็เป็นวันสำคัญที่จะออกมารณรงค์เพื่อให้สังคมได้รับรู้และขับเคลื่อนไปด้วยกัน
ด้าน ไศลทิพย์ ศุภางค์ เฟมินิสต์ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิภาคใต้สีเขียว ได้บอกเล่าถึงบริบทปัญหาและการทำงานว่า
ถ้าพูดถึงการต่อสู้เรื่องความเป็นทางสิ่งแวดล้อม เรื่องความท้าทายและการคุกคามจากรัฐในภาคใต้เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก แต่ในขณะเดียวกัน ในมุมของผู้หญิงคนหนึ่งที่เข้ามาอยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวก็จะมีความท้าทายอื่นอีกด้วยคือตัวอย่างของตนเองเช่น นอกจากจะเผชิญกับความไม่เท่าเทียมทางเพศมาตั้งแต่เด็กแล้ว พอเข้ามาอยู่ในขบวนการเคลื่อนไหว ก็ยังพบเหตุการณ์ที่เกิดการคุกคามทางเพศ การละเมิดทางเพศที่ตนโดนทั้งจากชาวบ้านที่ทำงานด้วยและจากนักกิจกรรมที่ทำงานด้วยกัน แม้กระทั่งนักวิชาการ ซึ่งพอขอความช่วยเหลือ ขอคำปรึกษาพูดคุยกับคนอื่นๆ กลับถูกตั้งคำถามกลับหรือว่าบอกให้วางตัวดีๆ บางคนก็ช่วยปกป้องคนที่มาคุกคามตนเอง หลายคนจะพูดประมาณว่า ไม่รู้เหมือนกันว่าจะแก้ไขยังไง และเมื่อถูกตั้งคำถามกลับมา ก็ทำให้ตนเองกลับมาสู่วังวนของการโทษตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองผิดและไม่กล้าทำอะไร ทำให้ปัญหาไม่ถูกแก้ไข และการคุกคามบางครั้งก็มาจากคนเดิมๆซ้ำๆ แต่ก็จะมีคนใหม่ๆที่เข้ามาคุกคามเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะพยายามอ่านบทความเกี่ยวกับสิทธิผู้หญิงแต่ก็ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้
จนกระทั่งมาเจอ School of feminists ก็ทำให้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยได้มาก รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไปตั้งแต่ปีที่แล้ว และก็มีกลุ่มเคลื่อนไหวของผู้หญิง ทำให้รู้สึกว่ามีเพื่อน จึงตัดสินใจพูดเรื่องการคุกคามทางเพศขึ้นมา โดยไม่ได้คิดว่าตนเองจะเป็นคนเปลี่ยนแปลงแก้ไข แต่คาดหวังให้มีการรับรู้ถึงปัญหาว่ามีเรื่องเหล่านี้อยู่และควรมีการเปลี่ยนแปลง โดยในการพูดถึงปัญหาครั้งแรกก็รู้สึกดีใจที่มีคนรับฟัง มีคนเห็นด้วยว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่ก็กลายเป็นว่าตนต้องรับภาระในการร่างนโยบาย ด้วยภาระหน้าที่ของตนทำให้ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้มากนัก และคงต้องหากระบวนการที่นำไปสู่นโยบายต่อต้านการคุกคามทางเพศได้จริง จนกระทั่งในปีนี้ ก็ได้รับความสำเร็จหนึ่งคือ มีคนสนใจมาเข้าร่วมเคลื่อนไหว แต่หลายๆคนก็ยังไม่มีความรู้ในด้านนี้ว่าควรต้องทำยังไง แต่ที่เริ่มทำแล้วก็คือการจัดวงคุยเรื่องการต่อต้านการคุกคามทางเพศ เดือนละหนึ่งครั้ง และจากที่คุยในครั้งแรกก็ค้นพบว่า นอกจากตัวเองแล้วยังมีคนที่ได้รับผลกระทบแบบเดียวกันอีกหลายคน ทั้งหนักและเบา และหลายคนเคยขอความช่วยเหลือหรือเคยเสนอการแก้ไข แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขจนถึงทุกวันนี้ หลังจากประกาศว่าจะมีวงคุยเรื่องนี้ ก็มีหลายคนติดต่อมาว่าอยากขอร่วมด้วย แต่หลายครั้งการติดต่อมาว่าอยากเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไข แต่เนื่องจากหลายคนก็ไม่มีองค์ความรู้ด้านนี้ทำให้หลายครั้งก็มาตั้งคำถามที่เป็นการกดทับตนอีกที ซึ่งตนก็เชื่อว่าหลายคนเจตนาดี แต่ความรู้ในการแก้ไขปัญหายังเข้าไม่ถึงและต้องใช้เวลา และเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะสามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและนำไปสู่นโยบายการต่อต้านการคุกคามทางเพศได้ในอนาคต
มลิวัลย์ เสนาวงษ์ นักวิจัยแนวสตรีนิยม ภาควิชาสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แลกเปลี่ยนถึงบริบท สภาพปัญหาและการทำงาน รวมถึงความสำเร็จของภาควิชาสตรีศึกษาเอาไว้ว่า
สำหรับตนเองแล้วสตรีนิยมเป็นคำอธิบายประสบการณ์ของตนได้ดี โดยเฉพาะคนที่มีประสบการณ์ถูกกดขี่ทางเพศหรือได้รับความไม่เป็นธรรมทางเพศ หรือคนที่ถูกล่วงละเมิดหรือถูกคุกคามทางเพศมาก่อน โดยตนเองตอนที่มาทำงานแรกๆ ทำให้เข้าใจว่าทำไมครอบครัวถึงไม่ให้คุณค่ากับเด็กผู้หญิง ทำไมถึงไม่ให้โอกาสกับเด็กผู้หญิง พอมาทำงานและเข้าใจแนวคิดนี้แล้ว แต่วันนึงที่ไปประสบปัญหา ซึ่งตนเองเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศมาก่อน ในตอนนั้นจึงเข้าใจว่าสังคมแบบชายเป็นใหญ่ทำให้ผู้ชายใช้ความแตกต่างทางเพศมาทำร้าย แต่ถึงจะเข้าใจตรงนั้นแต่ก็ยังรู้สึกเหมือนกับต้น (ไศลทิพย์) ว่าเรายังอยู่กับความรู้สึกผิดตลอดเวลา ตนถูกตั้งคำถามว่า ทำไมเรียนจบถึงปริญญาโทแต่ทำไมยังทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้ ตนรู้สึกแบบนั้นมาตลอด จนกระทั่งมาเจอชุมชนเฟมินิสต์ เจอเจี๊ยบ มัจฉา เจอพี่อวยพร (ผู้ก่อตั้งศูนย์ผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความยุติธรรม )เจอพี่อู๊ด วราภรณ์ (อดีตผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิง) ทำให้เข้าใจว่ามันไม่ใช่ความผิดของเราและสร้างพลังให้กับเราและในจุดนี้เองที่ทำให้ตนคิดว่าเราจะต้องทำงานเพื่อให้มีการศึกษาทางด้านสตรีนิยมและทำให้เกิดชุมชนของนักสตรีนิยมที่จะโอบอุ้มผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงหรือผู้หญิงที่เจอประสบการณ์การถูกกดขี่ทางเพศและจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้
ตรงนั้นเป็นจุดเปลี่ยนของตนเองที่เปลี่ยนจากการเป็นอาจารย์สอนภาษาฝรั่งเศสในมหาวิทยาลัยมาทำงานเพื่อที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และเมื่อมาทำงานที่ศูนย์สตรีศึกษา ก็พบว่าสตรีศึกษาก็ต้องต่อสู้ดิ้นรนอย่างมากในพื้นที่ทางวิชาการเพื่อที่จะให้อยู่รอด ศูนย์สตรีศึกษานั้นเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2536 อย่างเป็นทางการในฐานะศูนย์สตรี และมีเป้าหมายจากอาจารย์วิระดา สมสวัสดิ์และจากอาจารย์ที่ไปเรียนต่อที่อเมริกา และให้ความสำคัญกับสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิง และมีเป้าหมายอย่างแรกเลยก็คือ การสร้างการปฏิบัติการในสังคมก็คือการเข้าไปเสริมสร้างศักยภาพหรืออำนาจให้กับผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงทางภาคเหนือ โดยจะเห็นว่าภาคเหนือมีกลุ่มผู้หญิงชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมืองที่ยังเข้าไม่ได้ถึงโอกาสทางการศึกษาหรือว่ายังถูกกดทับจากวัฒนธรรมอยู่ ยังไม่มีสิทธิมีเสียงทั้งในเรื่องของการพัฒนาตนเองและการพัฒนาชุมชน เราก็เข้าไปอบรมให้ผู้หญิงกลุ่มนี้มีเครื่องมือที่จะไปต่อสู้กับระบบชายเป็นใหญ่ในชุมชน และสุดท้ายก็ได้เห็นกลุ่มผู้หญิงชนเผ่าจำนวนมากที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตนเองและกลายมาเป็นผู้นำ
แต่ในขณะเดียวกันก็มองเห็นว่าแค่ปฏิบัติการทางสังคมอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่จำเป็นต้องมีงานวิชาการเกิดขึ้นด้วย ก็มีการทำวิจัย โดยงานวิจัยของสตรีศึกษาจะมีจุดเด่นสำคัญคือการให้ประสบการณ์ของผู้หญิงเป็นศูนย์กลาง เพราะถ้าไปดูงานวิจัยก่อนที่จะมีแนวคิดสตรีนิยม ข้อมูลหรือองค์ความรู้มาจากผู้ชาย แต่จริงๆแล้วผู้หญิงก็มีองค์ความรู้ แต่เพียงแค่ไม่มีโอกาสเท่านั้นเอง สตรีศึกษาจึงเปิดพื้นที่ตรงนี้เพื่อที่จะทำให้ผู้หญิงออกมาพูดถึงองค์ความรู้ที่ตัวเองมีหรือมา บอกเล่าประสบการณ์ที่ถูกกดขี่เพื่อให้สังคมได้เรียนรู้และจากงานวิจัยก็คิดว่าจะทำยังไงให้สตรีศึกษาสามารถดำรงอยู่ได้ในวงวิชาการไทย ก็มีความพยายามที่จะสร้างหลักสูตรด้านสตรีศึกษา ซึ่งในช่วงแรกเป็นหลักสูตรปริญญาโท เพราะว่าในทางตะวันตกเองการเรียนสตรีศึกษาหรือการทำความเข้าใจในแนวคิดสตรีนิยมคิดว่าเป็นเรื่องที่ยากสำหรับระดับปริญญาตรีและเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เพราะสตรีนิยมจะต้องวิพากษ์ทฤษฎีที่มีอยู่ในตอนนั้น ดังนั้นหลักสูตรแรกจึงเป็นหลักสูตรปริญญาโท แต่พอเปิดหลักสูตรปริญญาโทแล้ว ก็พบว่าในทางฝั่งตะวันตกก็เริ่มมีหลักสูตรสำหรับปริญญาตรี แสดงว่าจริงๆแล้วประสบการณ์ของการถูกกดขี่ คนทุกรุ่นทุกวัยก็สามารถที่จะเรียนรู้ได้ ก็เลยเปิดวิชาสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี ซึ่งจะมีวิชาศึกษาทั่วไปที่ชื่อว่า เพศภาวะกับสังคม และมีวิชาโทสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี และรุ่นแรกๆที่มาเรียนก็บอกว่าเค้าไม่เคยมีพื้นที่แบบนี้ที่จะทำความเข้าใจประสบการณ์ของตัวเอง เพราะรุ่นแรกๆส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษาที่เป็น LGBT และผู้หญิง ส่วนใหญ่จะไม่มีผู้ชาย และนักศึกษาก็คุยกันปากต่อปากว่าวิชานี้ทำให้เค้าเข้าใจประสบการณ์ที่อยู่บนฐานของการถูกกดขี่ทางเพศ
หลังจากนั้นจึงคิดว่าถ้าจะทำให้หลักสูตรสตรีศึกษายั่งยืน จะต้องมีภาควิชา ในปี 2552 ก็มีการต่อสู้กับโครงสร้างของมหาวิทยาลัยเพื่อที่จะทำให้เกิดภาควิชาขึ้น เพราะเมื่อมีภาควิชาแล้ว สตรีศึกษาหรือเพศภาวะศึกษาจะกลายเป็นสาขาวิชาหลักในวงวิชาการไทย แต่หลังจากที่มีภาควิชาแล้วก็มีการต่อสู้กันมาอย่างยาวนาน เพราะในภาควิชามีอาจารย์แค่สองคน แต่ต้องดูแลทั้งหลักสูตรปอตรีและปอโท และตอนหลังก็มีการเปิดหลักสูตรปริญญาเอกด้วย และเราก็พยายามเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยสนับสนุนให้มีอาจารย์เพิ่ม แต่ก็ไปเจอกับกรอบของมหาวิทยาลัยที่บอกว่านักศึกษามาเรียนน้อย ซึ่งเท่ากับว่าเมื่อไม่ให้อาจารย์เพิ่มเราก็รับคนไม่ได้ก็กลายเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก สุดท้ายก็มีความพยายามที่จะทำให้เราลดความเข้มแข็งลง และมีข้อเสนอให้เข้าไปอยู่กับสาขาวิชาอื่น โดยยังคงมีสาขาสตรีศึกษาอยู่ แต่อยู่ภายใต้ภาควิชาอื่น ซึ่งแนวคิดนั้นถ้ามองอย่างลึกซึ้งจะพบว่ามันเป็นการบ่อนเซาะอย่างลึกซึ้งต่อสาขาวิชาสตรีศึกษา เพราะสตรีศึกษาเองมีจุดเด่นที่แตกต่างจากสาขาวิชาอื่น คือจะต้องมีส่วนที่เป็นการสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางสังคมและส่วนที่เป็นภาควิชาการและสุดท้ายคือตนจะไม่ให้มันจบที่รุ่นตนเพราะตนเห็นว่า ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของสตรีศึกษาในวงการวิชาการไทยสามสิบปีมาแล้ว ถ้ายอมแพ้ก็จะไม่มีภาควิชาสตรีศึกษาหรือเพศภาวะศึกษาในวงวิชาการไทยอีกต่อไป ก็เป็นข้อท้าทายและมาถึงจุดที่ตนก็กำลังต่อสู้อยู่
มัจฉา พรอินทร์ ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน ผู้ประสานงานองค์กร V-Day Thailand Co-President องค์กรระดับโลก International Family Equality Day และผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการสอน School of Feminists ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมจากวิทยากรทั้งสี่ท่านเอาไว้ว่า
สิ่งที่ศิริวรรณ พรอินทร์ทำอยู่คือการลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิของเยาวและคนที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยเธอกำลังจะนำเสียงของเยาวชนเข้าไปในระดับชุมชนและระดับนานาชาติ ในขณะที่น้องแอร์ สายรุ้งยามเย็นได้ทำให้ตระหนักรู้หลายอย่างด้วยกัน อย่างแรกคือ บริบทที่ซับซ้อนมาก เวลาผู้หญิงถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ไม่ใช่เพียงเพราะว่าเป็นผู้หญิงหรือเป็นผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่ยังทับซ้อนกับที่ที่เราอยู่ด้วย น้องแอร์ได้อธิบายให้เห็นว่ายังมีชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองที่ประเทศไทยไม่ได้ยอมรับสิทธิ ยังเผชิญกับการไม่มีที่ดิน อยูในพื้นที่ชายแดนที่มีสงคราม ภาวะโควิดทำให้เกิดความอดอยากยากจนมากขึ้น เธอเผชิญกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวถ้าเป็นผู้หญิง ถ้าเป็นเด็กเล็ก เป็นผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเพศหรือเป็น LGBTIQ ในชุมชนชนเผ่าพื้นเมือง พื้นที่ที่จะแสดงออก ที่จะมีความปลอดภัยแทบจะหาไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นน้องแอร์ได้ทำให้เราเห็นสิ่งที่ขบวนการเคลื่อนไหวเฟมินิสต์เรียกว่า Intersectionality หรือ อำนาจและอัตลักษณ์ที่ทับซ้อน เป็นผู้หญิง ไร้สัญชาติ เป็นชนเผ่าพื้นเมือง เป็นเยาวชนและมีความหลากหลายทางเพศ ทั้งหมดนี้มีหลักการสิทธิมนุษยชนที่จะปกป้องคุ้มครองได้มากมาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุเหล่านี้ทั้งหมด แต่ว่าเมื่อเราได้เห็นความเข้มแข็งของผู้หญิงที่ต้องการจะเข้าถึงการศึกษา ต้องการที่จะพูดเสียงของตัวเอง เราได้เห็นพลังการเปลี่ยนแปลงท่ามกลางสภาวะที่ยากลำบาก ต้องขอบคุณน้องแอร์ที่ได้แชร์ประสบการณ์และถ่ายทอดบริบทที่เธอเผชิญและงานที่เธอกำลังทำอยู่
ส่วนงานของ ไศลทิพย์ ได้ทำให้เห็นมิติที่ทับซ้อนลงไปอีกในการขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เป็นขบวนการขับเคลื่อนใหญ่ในขณะนี้ทั้งในระดับประเทศและในระดับโลก สิ่งที่จะเพิกเฉยไม่ได้คือในขบวนการระดับใหญ่เองก็ต้องทำความเข้าใจในมิติเรื่องความปลอดภัย เรื่องการคุกคามทางเพศ และเอื้อให้ผู้หญิงที่อยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวได้ลุกขึ้นมาเคียงบ่าเคียงไหล่และรู้สึกว่าประเด็นที่มีความกังวลนั้นต้องได้รับการรับฟัง โดยเฉพาะมิติเรื่องการต่อต้านการคุกคามทางเพศในขบวนการเคลื่อนไหว ซึ่งจะเห็นรายละเอียดว่า เนื่องจากระบบชายเป็นใหญ่และที่ผ่านมาขบวนการเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ได้นำประเด็นเรื่องเจนเดอร์เข้าไปด้วยก็ส่งผลให้ในขณะที่ขับเคลื่อนไป ผู้หญิงหรือคนที่มีความหลากหลายทางเพศเองก็กำลังเป็นทุกข์กับการไม่ถูกปกป้องคุ้มครอง จึงเป็นงานสำคัญมากว่าจะทำให้การขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมและความเป็นธรรมทางเพศไปด้วยกันได้อย่างไร และจะอ้างว่าไปด้วยกันไม่ได้ ถ้าภายในคนที่ได้รับการถูกคุกคามทางเพศไม่ได้รับการคุ้มครอง ตัวอย่างงานง่ายๆที่เกิดขึ้นได้เลยคือ คณะทำงานเรื่องการคุกคามทางเพศในขบวนการเคลื่อนไหวที่ไศลทิพย์ได้เริ่มต้นทำงานอยู่ จะเป็นแบบอย่างในการขับเคลื่อนในขบวนการใหญ่ระดับประเทศและระดับนานาชาติ
ในส่วนของภาควิชาสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ได้มีการทำงานขับเคลื่อนเรื่องความเป็นธรรมทางเพศมายาวนาน จากที่ได้ฟัง มะลิวัลย์บอกเล่าถึงประสบการณ์การทำงานภายใต้การขับเคลื่อนของศูนย์สตรี สังคมไทยที่ให้ความสำคัญกับการศึกษากระแสหลัก การสอนเรื่องสตรีศึกษา การมีอยู่ของศูนย์สตรีศึกษาที่ได้เผยแพร่แนวคิดเฟมินิสต์มีส่วนที่สำคัญมากที่จะขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า ในยุคหลังโดยเฉพาะในช่วงโควิด แนวความนิยมที่มาในระดับโลกคือการใช้แนวคิดเฟมินิสต์ในการที่จะเชื่อมโยงให้เห็นโครงสร้างที่ซับซ้อนและส่งผลกระทบต่อคนแต่ละกลุ่มไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นการดำรงอยู่และการทำให้การสอนเรื่องแนวคิดเฟมินิสต์เป็นที่นิยมในสถาบันการศึกษากระแสหลักเป็นความจำเป็นและเป็นข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ หลายสถาบันเริ่มเปิดมีการเปิดสอนในรายวิชา มีความพยายามที่จะขับเคลื่อนเป็นสาขาวิชาหรือภาควิชา แต่ทำไมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงมีความพยายามที่จะลดทอนอำนาจในการเผยแพร่องค์ความรู้ที่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของผู้หญิงและเอื้อให้เกิดการทำงานขับเคลื่อนในภาคประชาสังคมให้หายไปจากสังคมหรือลดความสำคัญลง ซึ่งเป็นสิ่งที่เรายอมรับไม่ได้ในแง่ของการที่เป็นคนทำงานในด้านนี้และให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนทั้งทางด้านวิชาการและการเคลื่อนไหวควบคู่กันไปเพื่อให้เกิดองค์ความรู้รอบด้านในสังคมไทย และขอยืนยันว่าในฐานะคนที่จัดการเรียนรู้นอกระบบและเข้าไปร่วมกับในระบบบ้าง เรายืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการยุบภาควิชาและสนับสนุนให้ภาควิชาสตรีศึกษามีอาจารย์เพิ่มขึ้น มีนักศึกษาเยาวชนมาเรียนทุกระดับ
นอกจากบริบทสภาพปัญหาและการทำงานที่ผ่านมา ผู้เสวนาทั้งสี่คน ยังได้บอกเล่าถึงความสำคัญของการศึกษาเฟมินิสต์ว่า ทำไมจึงต้องทำให้เป็นที่นิยม และต้องถูกมองเป็นคุณค่าในเชิงการศึกษากระแสหลักและนอกระบบหรือในชุมชน และจากการผ่านการอบรมแนวคิดเฟมินิสต์แล้ว เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง และมีความจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากสังคมอย่างไรบ้าง
โดย ศิริวรรณ พรอินทร์ ได้กล่าวไว้ว่า
จากการเข้าร่วมอบรมหลักสูตรเฟมินิสต์เบื้องต้นของ School of feminists ซึ่งตนเป็นรุ่นที่สาม รุ่นสำหรับเยาวชน ก็ได้เรียนรู้วิธีการมองปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคมโดยใช้การศึกษาของเฟมินิสต์ ทำให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนว่ามันมีรากฐานมาจากอะไรบ้าง และสิ่งสำคัญคือทำให้เราไม่ยอมให้การละเมิดสิทธิลอยนวลอยู่ในสังคม และรู้สึกชอบเรื่องการใช้ประสบการณ์ในการทำให้เข้าใจว่าทำไมสังคมถึงไม่ยอมให้เราใช้ประสบการณ์ทั้งๆที่มันเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และหลังจากที่ได้ไปอบรมกับเพื่อนๆในรุ่นที่สามก็ทำให้รู้ว่าจะคิดวิเคราะห์อย่างไรให้เป็นเฟมินิสต์โดยการที่ใช้มุมมองเรื่องของเจนเดอร์ หรือการใช้การวิเคราะห์มุมมองทางอำนาจและอัตลักษณ์ทับซ้อน หรือการที่ได้รับกำลังใจและแรงบันดาลใจจากเพื่อนๆที่อยู่ในรุ่นเดียวกันทำให้ตนมีพลังที่จะกลับไปทำงานต่อ หลังจากวันนั้นที่อบรมจบ ก็ได้กลับมาทำงาน โดยมีการไปเข้าร่วมสัมนา เป็นกระบวนกรที่พูดเรื่องปัญหาของชุมชนและการทำงานขององค์กร มีการอบรมกลุ่มผู้หญิงที่เป็นกลุ่มเป้าหมายการทำงานขององค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชนในฐานะที่เป็นสมาชิกโครงการIY4SDด้วย
ส่วนที่สำคัญมากๆที่เป็นการเปลี่ยนแปลงตนเองคือการได้รับทุนดูแลโครงการของ Generation Equality Fund ซึ่งเป็นทุนระดับโลก ในการณรงค์ให้เยาวชนเข้าถึงทุนโดยมีเป้าหมายคือการที่จะให้ Generation ของเรามีความเป็นธรรมทางเพศมากขึ้น และอีกทุนคือ Garden of Hope Foundation ซึ่งเป็นทุนที่ได้รับสนับสนุนมา โดยได้นำทุนทั้งสองมาใช้ในโครงการ โดยในอาทิตย์ที่ผ่านมา ได้เข้าร่วมประชุมกับยุวทูตคนอื่นๆที่ได้รับทุนสนับสนุน และก็ได้อธิบายแผนงานในอนาคตและได้รับเสียงตอบรับที่ดี และในโครงการที่จะทำคือการอบรมเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิเด็กและสุขภาวะทางเพศโดยใช้ศิลปะและกีฬาในการเรียนรู้เรื่องสิทธิ และหลังจากการอบรมก็จะมีการจัดงานนิทรรศการศิลปะ โดยเป้าหมายคือการเสริมสร้างศักยภาพของเยาวชนให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของสิทธิมนุษยชนและหลังจากที่มีการเรียนรู้ ก็จะได้รับพลังที่จะไปต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเองได้ และอีกงานนึงที่กำลังจะทำคือการจัดงานนิทรรศการภาพเรื่องเล่าของเยาวชนที่อยู่ในครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงเขียนหนังสือเรื่องเล่าของเยาวชนที่อยู่ในครอบครัวหลากหลายทางเพศ ซึ่งในส่วนของข้อเสนอคือ
ในฐานะที่เป็นลูกของครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศและเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย เป็นนักศึกษาและเป็นเฟมินิสต์ที่ทำงานขับเคลื่อน อยากเรียกร้องให้
แก้ไขปพพ มาตรา 1448 ให้เกิดการสมรสเท่าเทียมได้เพื่อที่จะส่งผลให้ลูกของคนที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถได้รับสิทธิเหมือนลูกของคนรักต่างเพศ
แก้ไขหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีการสอนเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิเด็กและเพศศึกษารอบด้าน
ให้มีนโยบายการปกป้องการกลั่นแกล้งรังแก การคุกคามทางเพศและการข่มขืนในสถานศึกษา
การออกเสียงในนโยบายจะต้องมีเยาวชนที่เป็นผู้หญิง ผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือกลุ่มชาติพันธุ์เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการทุกกระบวนการ
และอยากให้สังคมไม่มองข้ามปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเพศและทางสังคม โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นกับเด็ก ผู้หญิง LGBT และกลุ่มชาติพันธุ์
และการใช้ความรุนแรงกับลูกทุกรูปแบบไม่ควรเกิดขึ้น เพราะเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก โดยเฉพาะเยาวชนที่เป็นเด็กผู้หญิง LGBT และชนเผ่าพื้นเมือง ครูที่กำลังละเมิดสิทธิเนื้อตัวร่างกายของเยาวชนควรจะยุติ
และสุดท้าย ศิริวรรณได้บอกเอาไว้ว่า สำหรับเพื่อนๆที่กำลังขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย อยากจะบอกพวกคุณว่าคุณไม่ได้โดดเดี่ยวและก็อยากจะเป็นกำลังใจให้ทุกคนด้วย
ในขณะที่ น้องแอร์ สายรุ้งยามเย็น ได้แบ่งปันประสบการณ์ของเธอเอาไว้ว่า หลังจากจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ถ้าหากไม่ได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาจากองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน ก็คงจะต้องแต่งงานและถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัวไปแล้ว คงมีลูกและคงไม่ได้ลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบทุกวันนี้ และหลังจากที่ได้ผ่านการอบรมหลักสูตรเฟมินิสต์จาก School of Feminists ในรุ่นที่1 ไปแล้ว ทำให้ได้เรียนรู้มุมมองเชิงโครงสร้าง มุมมองแบบเฟมินิสต์ ก่อนหน้านี้ถูกกระทำมาตลอดและไม่รู้ว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ คิดว่ามันเป็นเรื่องของวัฒนธรรม เป็นเพราะความเชื่อที่ถูกปลูกฝัง เลยไม่มีการตั้งคำถามไม่มีการลุกขึ้นมาต่อสู้ ตนอยู่กับการถูกกระทำมาอย่างยาวนาน และหลังจากที่ได้เรียนไปเป็นช่วงสถานการณ์โควิดพอดี ก็เลยตั้งคำถามว่า ปัญหาที่มันซับซ้อนอยู่แล้ว และยังเผชิญอีกหลายๆแง่มุม เราในฐานะคนในชุมชน ในฐานะคนทำงานที่กลับมาทำงานกับคนในชุมชนตัวเอง สามารถทำอะไรได้บ้าง
ตลอดเวลาที่ผ่านมาก็เลยมาทำงานวิจัยสตรีนิยมเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเกี่ยวกับโควิด 19 และทุกครั้งที่เก็บข้อมูล เราไม่ได้ไปเก็บเพื่อที่จะได้ข้อมูลมา แต่เราสร้างให้เกิดพื้นที่ปลอดภัย สร้างการมีส่วนร่วม งานวิจัยนี้ผู้หญิงเป็นเจ้าของงานวิจัยร่วมไปกับเรา เราทำงานแบบมีส่วนร่วมและให้ความสำคัญกับเสียงของผู้หญิง และไม่ได้มองตัวเองว่าเป็นคนที่มีอำนาจเหนือกว่ามีการศึกษาสูงกว่า แต่ใช้อำนาจร่วมกันตลอด จึงทำให้ทุกครั้งที่เข้าไปทำงานเก็บข้อมูลก็จะได้ข้อมูลที่ลึกซึ้ง และผู้หญิงเต็มใจจะเล่าให้ฟังว่าเผชิญกับปัญหาอะไรบ้าง และหลังจากที่ทำงานและมีมุมมองแบบเฟมินิสต์ ก็สร้างการเปลี่ยนแปลงหลายระดับ ทุกครั้งที่ได้มาเสวนา ได้มาพูด ตนไม่ได้เอาตัวเองมาอย่างเดียว แต่ตนได้นำประสบการณ์ทั้งของตัวเอง ประสบการณ์ร่วมของผู้หญิง มาพูดเพื่อให้สังคมได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นและเราเรียกร้องอะไรอยู่ และจากบริบทปัญหาการทำงานที่ผ่านมา จึงมีข้อเรียกร้องทั้งหมดต่อไปนี้
ต้องยอมรับการมีอยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองทั้งอัตลักษณ์ตัวตนทั้งการปฏิบัติและกฎหมายซึ่งจะนำไปสู่การเข้าถึงสิทธิต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการได้รับสัญชาติ สิทธิบนที่ดิน การครอบครองทรัพยากรธรรมชาติและรวมไปถึงการมีที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย
สังคมโดยเฉพาะรัฐต้องมีมาตรการการแก้ไขความรุนแรงในครอบครัวอย่างจริงจังและต้องให้เจ้าของปัญหาเข้าไปมีส่วนร่วม การบังคับแต่งงานต้องไม่เกิดขึ้น ต้องไม่มีเงื่อนไขทางวัฒนธรรมมาอ้าง เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี พ่อแม่ไม่มีสิทธิบังคับให้ลูกแต่งงานในวัยเด็กได้
เยาวชน LGBT ที่ไม่มีสัญชาติต้องมีทุนการศึกษาฟรีให้ตลอดการศึกษา
ผู้หญิงที่อายุ 35 ปีขึ้นไป เข้าไม่ถึงระบบการศึกษา จึงเรียกร้องให้รัฐต้องมีการจัดตั้งโรงเรียนผู้หญิงในชุมชนและในโรงเรียนต้องมีหลักสูตรที่ผู้หญิงเป็นคนออกแบบหลักสูตรเอง เราไม่ต้องการหลักสูตรที่ล้าหลัง แต่จะต้องเป็นหลักสูตรที่พูดถึงสิทธิมนุษยชน หลักสูตรเฟมินิสต์ หลักสูตรเจนเดอร์ เพื่อให้มีมุมมองที่จะนำไปใช้จริงในชีวิต และหลังจากเรียนจบแล้วต้องมีใบการศึกษาหรือใบรับรองเพื่อที่จะได้นำไปใช้ในชีวิตจริงได้
ทางด้านของ ไศลทิพย์ ศุภางค์ ได้กล่าวถึงประสบการณ์การเรียนรู้การศึกษาเฟมินิสต์เอาไว้ว่า
ก่อนหน้านี้ตนได้พยายามทำความเข้าใจสังคมและตัวเอง อ่านบทความเรื่องสิทธิผู้หญิงเป็นส่วนๆไปซึ่งมันไม่เป็นชุดความรู้ที่ได้รับการเรียบเรียงมาแล้ว แต่ว่าพอได้เข้ามาเรียนเป็นคอร์สจาก Scool of feminists ตนสามารถเข้าใจความรู้อย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น เข้าใจเฟมินิสต์มากขึ้น มีการคิดวิเคราะห์ที่เป็นระบบและมีฐานอ้างอิงมากขึ้นว่าควรจะวิเคราะห์สังคมและปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร และการแก้ปัญหามันควรจะเริ่มจากจุดไหน ซึ่งนอกจากเรื่องความคิดแล้ว สิ่งที่ได้อย่างมากเลยคือกำลังใจจากการเรียนรู้ประสบการณ์ของเพื่อนๆและกำลังใจจากวิทยากรคนอื่นๆ ซึ่งมันเป็นพลังที่ทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงตนเองและกล้าพูดมากขึ้น ยกตัวอย่างคือ สมมติว่าเราถูกกระทำมา แล้วเราก็จะถูกสังคมกดทับไปด้วย เหมือนเราขุดหลุมตัวเองให้จมดินไปเรื่อยๆ แต่พอเรามาได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนๆ เราก็ได้รู้ว่าเรามีแรงผลักดันตัวเองให้ขึ้นมามีอำนาจมากขึ้นและมีกำลังที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งก่อนหน้านี้เรารู้ว่ามันต้องเปลี่ยนแต่ไม่รู้ว่าจะทำยังไง แต่ตอนนี้รู้สึกว่าเราก็สร้างการเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน สิ่งที่อยากให้บรรลุเป้าหมายและข้อเสนอแนะคือ คาดหวังให้เกิดนโยบาย Anti Harassment การต่อต้านการคุกคามทางเพศ ทั้งในระดับองค์กรและในระดับเครือข่าย ไม่ใช่แค่ในภาคใต้ แต่อยากให้นักเคลื่อนไหวในภูมิภาคอื่นๆ ในประเด็นอื่นๆมีนโยบายนี้เหมือนกัน เพื่อที่จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจากกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง LGBTQ เด็กและกลุ่มเปราะบางอื่นๆ และคาดหวังให้มีนโยบาย Anti Harassment ในโรงเรียนและสถานศึกษาด้วยเช่นกัน อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการสอนเพศศึกษาที่ครอบคลุมและรอบด้านมากกว่านี้ ไม่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงแค่จากระดับของผู้ได้รับผลกระทบหรือเอ็นจีโอเท่านั้น ผู้ที่มีอำนาจเช่นกระทรวงศึกษาหรือรัฐบาล ต้องปรับปรุงหลักสูตรเพศศึกษาที่มีความเข้าใจมิติทางเพศและการเคารพสิทธิซึ่งกันและกันมากขึ้น และอยากให้รัฐบาลให้สัตยาบันในอนุสัญญา C190 ที่เป็นอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศที่ว่าด้วยการป้องกันการคุกคามในโลกของการทำงาน
และ มลิวัลย์ เสนาวงษ์ ได้ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะทิ้งท้ายเอาไว้ว่า ทำไมสตรีนิยมจึงเป็นการศึกษาที่สำคัญและเข้าถึงคนทุกกลุ่ม โดยมองเห็นว่าจากประสบการณ์ทั้งของคนอื่นๆและของตนเอง สตรีนิยมได้ให้เครื่องมือในการคิดวิเคราะห์ความไม่เป็นธรรมไม่เท่าเทียมทางเพศหรือความไม่เท่าเทียมทางสังคมที่เริ่มต้นจากความไม่เท่าเทียมทางเพศ ถ้าเกิดว่าเราให้แนวคิดนี้กับคนทุกคนในสังคม โดนเริ่มตั้งแต่เด็ก อย่างที่หลายๆคนอยากให้มีการศึกษาในเรื่องเพศที่รอบด้านหรือเรื่องสิทธิมนุษยชนและครอบคลุมถึงสิทธิทางเพศกับเด็ก จะทำให้ได้ประชากรที่มีความเคารพในสิทธิของคนทุกคนเริ่มจากฐานของความแตกต่างทางเพศ
ประเด็นที่สองก็คือ นอกจากให้วิธีคิดแล้ว ยังให้พลังในการเปลี่ยนแปลงด้วย ก็คือพลังในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง การเข้าใจประสบการณ์ของตัวเองและมองเห็นว่าเราไม่อยากให้ชีวิตเราเป็นแบบนี้ เราต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง และมันก็นำไปสู่การให้พลังกับคนที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน คนที่ประสบกับปัญหาเดียวกัน พลังเหล่านี้ก็จะนำไปสู่ขบวนการเคลื่อนไหวและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางสังคม ในทางนโยบายและกฎหมายได้ ตนเห็นว่าสตรีนิยมไม่ได้ให้แค่ความคิดแต่ยังให้พลังที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ภาควิชาสตรีศึกษาทำอยู่ สิ่งที่ School of feminsits ทำอยู่ มีคุณค่าอย่างมากในสังคมไทย และควรจะเป็นการศึกษาที่เข้าถึงคนทุกกลุ่ม ไม่จำเป็นเฉพาะในระบบ นอกระบบเองชุดความคิดนี้ก็สำคัญมาก
สิ่งที่อยากจะเรียกร้องคือ อยากให้รัฐสนับสนุนการศึกษาสตรีนิยมในทุกช่วงวัยรวมถึงสิทธิมนุษยชนด้วย เพื่อที่จะทำให้มีคนรุ่นใหม่ที่เป็นประชากรที่มีความเคารพในสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง
และประเด็นที่สอง อยากให้มหาวิทยาลัยบให้การสนับสนุนสาขาวิชาหรือองค์ความรู้ทางด้านสตรีศึกษาหรือเพศภาวะศึกษา เพราะว่าสาขาวิชานี้นอกจากจะมีคุณูปการในการสร้างความรู้จากประสบการณ์ของผู้หญิงและจาก LGBTQIN เป็นพื้นฐานในการเปลี่ยนแปลงสังคมแล้ว ยังทำให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคม มหาวิทยาลัยจะมีบทบาทในการทำให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคมได้อย่างแท้จริงและบรรลุสู่เป้าหมาย SDGs ทุกข้อ ไม่ใช่เฉพาะข้อที่ 5
นอกจากนี้ ธวัลรัตน์ ผู้ผ่านการอบรม School of feminists รุ่นที่ 3 ได้ร่วมแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับความสำคัญการศึกษาเฟมินิสต์เอาไว้ว่า
แนวคิดสตรีนิยมเพิ่งเกิดขึ้นมาได้ไม่นานในโลกตะวันตกและเพิ่งมามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในประเทศไทยไม่นานมานี้เอง โดยในประเทศไทยก็มีการศึกษาเกี่ยวกับสตรีนิยมอยู่บ้าง แต่ก็ยังเป็นการศึกษาแบบตะวันตกหรือคนผิวขาวอยู่ ซึ่งได้นำมาปรับใช้กับบริบทสังคมไทย หรือดูปัญหาของผู้หญิงในประเทศไทย เช่น การทำงาน ครอบครัว ศาสนาและวัฒนธรรม และระบบปิตาธิปไตยก็เป็นระบบแรกๆในสังคมที่กดขี่เรามาตั้งแต่เกิด การเรียนรู้สตรีนิยมจึงทำให้สามารถมองเห็นถึงอำนาจทับซ้อนของตัวเองและของบุคคลอื่นที่ไม่เท่ากันและวิเคราะห์ได้ว่าปัญหาแต่ละอย่างเกิดจากการกดทับกันในมิติใดบ้าง ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ครอบคลุมในทุกๆด้านและแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน
มัจฉา พรอินทร์ ได้สรุปข้อคิดเห็นจากวิทยากรทั้งสี่ในเรื่องความสำคัญของการศึกษาเฟมินิสต์เอาไว้ว่า
จากข้อเสนอแนะของศิริวรรณ จะเห็นว่าถ้ามีการนำข้อเสนอแนะนี้ไปสู่การปฏิบัติการได้ เด็กทุกคนไม่ว่าจะเป็น LGBTIQ เป็นผู้หญิงหรือเป็นชนเผ่าพื้นเมือง จะได้รับการปกป้องทั้งในบ้าน ครอบครัว ในโรงเรียน และในทางกฎหมายและจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีส่วนร่วมของเยาวชน ต้องมีพื้นที่ ต้องฟังเสียง และนำไปปฏิบัติ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรียกร้องคืออย่าทำร้ายในโรงเรียน อย่าทำร้ายในครอบครัว ถ้าถูกทำร้ายด้วยมิติใดก็ตาม โดยเฉพาะมิติทางเพศหรือที่เชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ตัวตนต้องมีกลไกในการปกป้องคุ้มครอง และเรื่องที่สำคัญมากไปกว่านั้นคือความเข้มแข็งทั้งหมดและข้อเรียกร้องคือการนำไปสู่ภาครัฐ ยกตัวอย่างเช่น ปพพ 1448 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งตัดสินเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ว่ามาตรา1448 ที่อนุญาตให้ชายและหญิงสามารถสมรสกันได้ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญไทย หลักที่ว่าคือเรื่องของการไม่เลือกปฏิบัติต่อพลเมือง แปลว่าศาลวินิจฉัยว่า LGBTIQ สมรสไม่ได้ไม่ใช่การเลือกปฏิบัติ ซึ่งในการเคลื่อนไหว การวินิจฉัยแบบนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และจะสร้างผลกระทบต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ สิทธิที่ถูกรองรับในระดับสากลก็คือสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวจะไม่ถูกปฏิบัติในประเทศไทย และกฎหมายยังเป็นช่องว่างและรัฐธรรมนูญที่ระบุไว้แล้วกลับไม่สามารถปรับใช้ได้ ดังนั้นข้อเสนอของศิริวรรณคือ ถ้าแก้ไขให้บุคคลต่อบุคคลสมรสกันได้ นอกจาก LGBTIQ จะได้รับการคุ้มครองแล้ว ลูกๆของพวกเขาก็จะได้รับการเคารพตามหลักการสิทธิเด็กด้วย
ในส่วนของน้องแอร์ มัจฉาได้เสริมว่า ในเมื่อระบบการศึกษาในระบบได้ปฏิเสธผู้หญิงตั้งแต่แรกด้วยเหตุแห่งเศรษฐกิจสังคมการเมือง ข้อเสนอของน้องแอร์ที่ก้าวหน้ามากคือทุกชุมชนต้องสามารถที่จะลุกขึ้นมาจัดการศึกษาของตัวเองได้และเป็นเจ้าของหลักสูตร และจะทำงานในชุมชนแม่สามแลบเพื่อเป็นตัวอย่างว่าจะทำได้อย่างไร และน่าจะเป็นตัวอย่างให้กับชุมชนอื่นๆที่อยากจะขับเคลื่อนแบบเดียวกัน ข้อเสนอที่สำคัญของทั้งศิริวรรณและน้องแอร์คือเราไม่สามารถที่จะไปข้างหน้าโดยทิ้งเจ้าของปัญหาไว้ข้างหลังได้ เพราะฉะนั้นเวลาพูดเรื่องเพศ เรื่องชนเผ่าพื้นเมือง เรื่องคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ต้องให้ความสำคัญกับเจ้าตัวให้ได้มีโอกาสส่งเสียงว่าต้องการอะไร และที่สำคัญคืออัตลักษณ์ที่จำเป็นต้องถูกรับรองในทางกฎหมายเพื่อให้กฎหมายนั้นสามารถนำเอาไปใช้ได้ เช่น ประเทศไทยที่ไปรับกลไกของการปกป้องชนเผ่าพื้นเมืองซึ่งเป็นกฎหมายนานาชาติมา แต่ในประเทศไทยกลับไม่มีนิยามชนเผ่าพื้นเมืองในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ในการณรงค์ เพราะฉะนั้นประเทศไทยไม่ได้มีการปกป้องคนที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองเลย ในแง่ของกลไกสิทธิก็เป็นปัญหาเชิงระบบ ดังนั้นข้อเสนอของน้องแอร์คือ ประเทศไทยต้องยอมรับว่ามีชนเผ่าพื้นเมือง และการยอมรับนั้นต้องสะท้อนออกมาในกฎหมาย และมีนิยามของคำว่าชนเผ่าพื้นเมือง เพราะนั่นหมายถึงสิทธิในที่ดินทำกิน ในทรัพยากรธรรมชาติ และตัวตนของพวกเขา
และจากข้อเสนอของไศลทิพย์ มัจฉาได้ชี้ให้เห็นว่า เมื่อเลยวัยการศึกษามาแล้วหรือเยาวชนที่ยังอยู่ในการศึกษาที่เข้าสู่การทำงาน จะต้องมีการคุ้มครอง แต่รัฐได้เพิกเฉยการคุ้มครองในมิติของการถูกเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน และที่สำคัญคือ LGBTIQ เผชิญกับการเข้าไม่ถึงงาน และเมื่อเข้าถึงงานแล้ว ก็ไม่ได้รับการยอมรับเลื่อนตำแหน่งหรือมีโอกาสเท่าเทียมกับผู้อื่น เผชิญกับการถูกคุกคามอันมีพื้นฐานมาจากอัตลักษณ์ทางเพศและเมื่อถูกกลั่นแกล้งรังแกหรือคุกคามทางเพศก็ไม่มีการปกป้องคุ้มครอง หลายคนเผชิญกับการถูกให้ออกจากงาน ถูกเลิกจ้าง ไม่ผ่านการฝึกงาน ที่เลวร้ายที่สุดบางที่ก็มีการระบุว่า ไม่รับ เหล่านี้เองจึงจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายคุ้มครอง ILO Convention 190 ได้ระบุถึงเรื่องนี้เอาไว้ เราทุกคนต้องเรียกร้องให้รัฐรับรองและออกกฎหมาย แต่ถ้ารัฐยังไม่ทำ องค์กรของเราก็ต้องมีนโยบายต่อต้านการคุกคามทุกรูปแบบรวมถึงการคุกคามทางเพศ การศึกษาเฟมินิสต์จึงทำให้เรามีเพื่อนร่วมทาง ช่วยกันฉุดดึงกันขึ้นมาจากหลุมแห่งความทุกข์ยาก และทำให้เห็นปัญหาที่มากกว่าเชิงประเด็น แต่ทำให้เห็นว่าอะไรเป็นเงื่อนไขทำให้ประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กันถูกทำให้หายไป ซึ่งจะทำให้การทำงานของเรามีความ Inclusive มากขึ้น
ในส่วนสุดท้ายซึ่งเป็นประเด็นการศึกษาสตรีนิยมในระบบ มัจฉาได้เสริมจากมะลิวัลย์ว่าทำไมจึงต้องใช้การศึกษาเฟมินิสต์ในการขับเคลื่อนสังคม สถาบันการศึกษากระแสหลักไม่สามารถทิ้งเรื่องนี้ไปได้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกร้องให้การศึกษาสตรีนิยมยังคงอยู่และเรียกร้องให้มีการสนับสนุนทรัพยากรคืออาจารย์และงบประมาณ มหาวิทยาลัยจะต้องคำนึงถึงเป้าหมายการพัฒนาในทุกด้าน ไม่ใช่เฉพาะเป้าหมายที่ 5 เพราะยังมีในด้านอื่นๆเช่น การอดอยากความยากจน ความไม่เป็นธรรมทางเพศ การศึกษา เพราะฉะนั้นเมื่อมีมุมมองทางเพศก็จะทำให้บรรลุเป้าหมายอื่นๆอีกด้วย
และทั้งหมดนี้คือตัวอย่างว่าทำไมการศึกษาเฟมินิสต์จึงสำคัญในการขับเคลื่อนสังคม โดยมัจฉาหวังว่าสังคมจะมองเห็นคุณูปการและลุกขึ้นมาสนับสนุน สำหรับคนที่ไม่เข้าใจ เข้าใจว่าเฟมินิสต์เกลียดผู้ชาย เฟมินิสต์กำลังกดขี่ผู้ชาย
เฟมินิสต์เป็นเรื่องของตะวันตก เฟมินิสต์เป็นแม่มดที่จะมาทำให้ระบบสองเพศหายไป ทำลายวัฒนธรรม อคติและมายาคติทั้งหลายวันนี้ได้เปิดเผยขึ้นให้เห็นแล้วว่าเป็นเพียงมายาคติที่ผลิตซ้ำจากคนที่ไม่เข้าใจหรือตั้งใจที่จะแบ่งแยกกีดกันการต่อสู้ เพราะฉะนั้น Collective Experience ของประสบการณ์ในการต่อสู้ของคนที่เป็นเฟมินิสต์ในที่นี้คือ
เราตระหนักว่าพวกเรามีความแตกต่างหลากหลาย สองความแตกต่างหลากหลายเหล่านั้นไม่ได้เป็นเหตุผลให้เราแบ่งแยกกัน และเรามีเป้าหมายอันเดียวกันว่าด้วยระบบสังคมและเพศที่ไม่เป็นธรรมมันกดขี่เราและเราต้องการปลดปล่อย และการปลดปล่อยจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีการมีส่วนร่วม การไม่ให้เราไปอยู่ตรงนั้นและพูดถึงปัญหาของเราและยอมรับว่ามีความสำคัญก็เป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะฉะนั้นนี่จึงเป็นคุณูปการของ School of feminists และแนวคิดเฟมินิสต์ซึ่งเกิดขึ้นทั้งในระดับชุมชน ในระดับโรงเรียน ในระดับรัฐก็ได้เช่นกัน และจากนี้ต่อไปอยากเรียกร้องให้การศึกษาเฟมินิสต์ต้องป๊อบปูล่าร์ และการเป็นเฟมินิสต์จะต้องเป็นเรื่องที่ป๊อบปูล่าร์ในสังคมไทย
ทั้งหมดนี้เป็นเสียงจากผู้ที่เป็นทั้งเจ้าของประสบการณ์ เป็นผู้ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง เป็นคนทำงานเคลื่อนไหวทางสังคมและความเป็นธรรมทางเพศ และเป็นผู้ที่ผลักดันให้เกิดการศึกษาเฟมินิสต์ทั้งในระดับชุมชน ระดับชาติ ในสถานศึกษา ทั้งในและนอกระบบ
และโปรดติดตามอ่านสรุปเสวนาภาคบ่ายได้ในบทความตอนต่อไป
ว่าด้วย ขบวนการเคลื่อนไหวเฟมินิสต์อินเตอร์เน็ต
Comentarios