top of page

สรุปเวทีรณรงค์นโยบายและกฎหมายที่คํานึงถึงเสียงและสิทธิผู้หญิงและLGBTIQAN+ ในชุมชนชนเผ่าพื้นเมือง

รูปภาพนักเขียน: FeministaFeminista



โครงการจัดตั้งมูลนิธิสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ดําเนินงาน ด้านการพัฒนาสิทธิผู้หญิง เด็กและเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ ในชุมชนเผ่าพื้นเมือง มีพื้นที่ทํางานอยู่ในแนวชายแดนไทย - พม่า จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดตากและจังหวัดเชียงใหม่ ทำงานขับเคลื่อนรณรงค์ร่วมกับเครือข่ายทั้งในระดับชุมชน ประเทศ และนานาชาติ ร่วมกับชนชนเผ่าพื้นเมืองเครือข่าย จาก 5 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนบ้านแม่สามแลบ และชุมชนบ้านทิยาเพอ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ชุมชนบ้านแม่อมกิ และชุมชนบ้านปางทอง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก และ ชุมชน บ้านหนองคริซู อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ซึ่งร่วมกันทําวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมโดยใช้แนวคิดเฟมินิสต์

เรื่อง การพัฒนาสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติของผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมือง โดยได้จัดเวที


“รณรงค์ผลักดันนโยบายและกฎหมายที่คํานึงถึงเสียงและสิทธิของผู้หญิง เด็กชนเผ่าพื้นเมือง รวมทั้ง

ชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศ”


สนับสนุนโดย Foundation for a Just Society ในวันที่ 28 เมษายน 2566 เวลา 13:00 - 16:30 น.


ทั้งนี้เวทีนี้ดําเนินรายการโดย มัจฉา พรอินทร์ ผู้อํานวยการและผู้ก่อตั้งโครงการจัดตั้ง มูลนิธิสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน และให้ความเห็นเชิงวิชาการ โดย มลิวัลย์ เสนาวงษ์ อาจารย์ภาค วิชาสตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีตัวแทนจากพรรคการเมือง คือ (1) เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (2) นาดา ไชยจิตต์ ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสมอภาค (3) สุริยา แสงแก้วฝั้น ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคสามัญชน (4) นานา วิภาพรรณ วงษ์ สว่าง ผู้สมัคร ส.ส. พรรคไทยสร้างไทย เชียงใหม่ เขต 3 และตัวแทนจากเยาวชนนักวิจัยดังนี้ (1) ภัครทรินทร์ จรุงสาคร เยาวชนนักวิจัยชุมชนบ้านทิยาเพอ จังหวัด แม่ฮ่องสอน (2) มะเมียะเส่ง สิริวลัย เยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง ที่มีความหลากหลายทางเพศ เยาวชนนักวิจัย ชุมชนแม่สามแลบ จังหวัดแม่ฮ่องสอน (3) ดาวรุ่ง เวียงวิชชา เยาวชนนักวิจัย ชุมชนแม่อมกิ จังหวัดตาก (4) ดํารงณ์ ราตรีคีรีรักษ์ เยาวชนนักวิจัย ชุมชนแม่ปางทอง จังหวัด ตาก และ (5) อนุทัย ซารังแฮ เยาวชนนักวิจัย ชุมชนหนองคริซุใน จังหวัดเชียงใหม่ และ ศิริวรรณ พรอินทร์ Asian GirlAaward2020/ สาขา Human Right (3) ยศ ธูปทองดี เยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองนักป้องสิทธิมนุษยชน ครูโรงเรียนมัธยม


บริบทของชุมชนและการเผชิญกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชนเผ่าพื้นเมือง



มะเมียะเส่ง สิริวลัย เยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศ เยาวชนนักวิจัย ชุมชนแม่สามแลบ จังหวัดแม่ฮ่องสอน นำเสนอบริบทของชุมชนบ้านแม่สามแลบ ว่าเป็นพื้นที่ที่เผชิญกับผลกระทบจากความขัดแย้งและการใช้อาวุธสงครามมายาวนาน มากกว่า 50% ยังเป็นบุคคลไร้สัญชาติ จึงถูกจำกัดสิทธิหลายอย่าง ถูกเลือกปฏิบัติ เข้าไม่ถึงสวัสดิการรัฐ ถูกละเมิดสิทธิด้านทรัพยากร ซึ่งหลังจากถูกกำหนดให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ชาวบ้านถูกผลักไปตั้งบ้านเรือนอยู่ในที่ที่ไม่ปลอดภัยหลายครั้ง มีน้ำไม่เพียงพอ ไม่สะอาด เจอกับดินถล่ม อุทกภัย ไฟไหม้ ต้องตั้งบ้านเรือนโดยไม่ได้รับการช่วยเหลือ

นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาภาครัฐ เช่น สร้างเขื่อนแม่น้ำสาละวิน 7 เขื่อน โดยที่ผู้นำในชุมชนไม่ได้รับทราบ ทำให้ชาวบ้านรู้สึกไม่ปลอดภัย ถ้ามีการสร้างเขื่อนจะไปอยู่ที่ไหน ซึ่งขณะนี้ก็ไม่มีอาชีพ มีความกังวลว่าลูกๆ จะอยู่อย่างไร นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เวลาฝนแล้งต้องพึ่งพาป่า แต่ไม่สามารถเข้าไปใช้ป่าได้ ไม่มีน้ำสะอาดที่เพียงพอ ผู้หญิงเป็นคนต้องหาบน้ำ และเมื่อเกิดปัญหาฝุ่น pm2.5 ก็เข้าไม่ถึงอุปกรณ์ป้องกัน ไม่ได้รับการคุ้มครอง และผู้หญิงหรือคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็ถูกใข้ความรุนแรงทางเพศจาก วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ เช่น เมื่อผู้หญิงเข้าไปหาอาหารในป่ากลับมาบ้านก็ถูกใช้ความรุนแรง ทั้งๆที่ต้องนำอาหารเหล่านั้นมาเลี้ยงคนในครอบครัว ทั้งยังเสี่ยงต่อการถูกบังคับแต่งงานเพื่อเปลี่ยนเพศวิถี





ภัครทรินทร์ จรุงสาคร เยาวชนนักวิจัย ชุมชนบ้านทิยาเพอ จังหวัดแม่ฮ่องสอน นำเสนอบริบทของชุมชนเอาไว้ว่า

ชุมชนเป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ทำเกษตรยังชีพเป็นหลัก แต่มีรายได้ไม่เพียงพอ ผู้หญิงต้องทำงานทั้งใน-นอกบ้าน ทอผ้าเป็นรายได้เสริม แต่ยังไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นอาชีพหลัก ห้าสิบปีก่อนมีสัมปทานเหมืองแร่ ผู้หญิงที่เคยทำเหมืองบอกว่าเหมืองส่งผลกระทบต่อคนในชุมชน เด็กผู้หญิงถูกละเมิดทางเพศ ถูกข่มขืน และไม่ได้เรียนหนังสือ เกิดปัญหายาเสพติด ทะเลาะวิวาท ทำไร่หมุนเวียนไม่ได้เพราะน้ำจากเหมืองแร่ปนเปื้อนสารเคมี ผู้หญิงทุกคนบอกว่าไม่อยากให้มีเหมืองอีก


ที่ดินและที่อยู่อาศัยรวมถึงป่า ควรเป็นสิทธิที่คนในชุมชนร่วมจัดการ แต่กลับไม่สามารถใช้ทรัพยากรได้ เสี่ยงต่อการถูกจับถ้าเอาไม้มาสร้างบ้าน ที่ดินที่ครอบครองอยู่ไม่มีเอกสารสิทธิ อยู่ในเขตป่าสงวน เตรียมถูกประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ผู้หญิงไม่มีส่วนร่วมคิดจัดการปัญหา ทำให้ไม่รู้ว่ารุ่นลูกจะอยู่ต่อไปได้อย่างไร มีการปลูกพืชเศรษฐกิจมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ มีภาวะเครียด ซึมเศร้า ถูกใช้ความรุนแรง ได้ผลผลิตไม่ดี ทำให้ต้องซื้อของจากข้างนอกมากขึ้น และตัวเองกำลังตั้งครรภ์ ค่าฝุ่นเพิ่มขึ้นโดยที่ไม่รู้ข้อมูลว่าส่งผลต่อร่างกายอย่างไร แต่ก็ใส่หน้ากากสองชั้นไม่ไหว นอกจากนี้ยังมีนโยบายห้ามเผา ทั้งที่เราไม่ได้เผาไร่หมุนเวียนแต่กลับถูกมองว่าเป็นต้นเหตุปัญหา




ดาวรุ่ง เวียงวิชชา เยาวชนนักวิจัย ชุมชนแม่อมกิ จังหวัดตาก นำเสนอบริบทของชุมชนว่าในชุมชนเป็นชนเผ่ากะเหรี่ยง อาศัยอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติท่าสองยาง ซึ่งเตรียมประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ มีปัญหาคนในชุมชนถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมในที่ดินของตัวเองเมื่อปี 2553 คนอื่นๆ จึงหวาดกลัวว่าจะโดนจับไปด้วย เมื่อที่ดินทำกินน้อยลง จึงมีการหันมาทำพืชเชิงเดี่ยวที่ใช้ต้นทุนสูง ทั้งปุ๋ย ยา แรงงาน ทำให้มีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น ครอบครัวเกิดปัญหายากจน ต้องให้ลูกหลานออกไปทำงานหาเงินใช้หนี้ มีสารเคมีปนเปื้อนในดินและน้ำ ดินไม่ดี น้ำไม่สะอาด ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ เกิดโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ โรคที่มากับน้ำ นอกจากนี้ยังมีโครงการผันน้ำยวม เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน-ตาก

และการทำเหมือง ถึงจะห่างจากชุมชน แต่ก็ยังมีคนเข้าไปทำงานในเหมือง ทำให้มีความเสี่ยงด้านชีวิต ครอบครัว และชุมชน





ดํารงณ์ ราตรีคีรีรักษ์ เยาวชนนักวิจัย ชุมชนแม่ปางทอง จังหวัด ตาก นำเสนอบริบทของชุมชนว่า

อาชีพหลักของคนในชุมชน คือเกษตรกรรมผสมผสาน การทำไร่หมุนเวียน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตป่าอุทยานเช่นกัน มีพื้นที่ติดชายแดน และไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง ทั้งที่ห่างจากแม่อมกิเพียงไม่กี่กิโลเมตร (แม่อมกิมีไฟฟ้า)

และยังมีการเตรียมประกาศเป็นพื้นที่อุทยาน ทางการมารังวัดที่ดินชุมชนให้น้อยลง ชาวบ้านทำมาหากินได้น้อยลง จึงหันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง ส่งผลให้มีสารเคมีตกค้างลงสู่แม่น้ำ ระเหยสู่อากาศ ส่งผลต่อคนในชุมชน

ด้านสภาพภูมิอากาศ พืชผลเกิดเสียหาย ทำให้ได้ผลผลิตไม่ดี อีกทั้งสภาพอากาศร้อนมากขึ้นทุกปี แม้ยังไม่ถึงช่วงที่จะเผาไร่หมุนเวียนก็เกิดไฟป่า มีหมอกควัน ชาว้บานถูกห้ามเผา ทำมาหากินไม่ได้ตามปกติ มีไฟป่าก็ต้องไปดับไฟ และถูกควบคุมด้วยนโยบายของรัฐทั้งสิ้น





อนุทัย ซารังแฮ เยาวชนนักวิจัย ชุมชนหนองคริซุใน จังหวัดเชียงใหม่ ได้อธิบายถึงบริบทของชุมชนเอาไว้ว่า

แต่เดิมขาวบ้านทำไร่หมุนเวียน เป็นชุมชนกะเหรี่ยง โดยเมื่อปี 2537 พื้นที่ของชาวบ้านถูกประกาศเป็นอุทยาน ป่าสงวนโดยรอบชุมชน ทำให้ต้องหันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยว ผู้หญิงต้องสัมผัสกับสารเคมี ดินเสื่อมเพราะสารเคมีปนเปื้อน มีสารตกค้างในร่างกาย อาหารท้องถิ่นบางอย่างทั้งพืช/สัตว์มีจำนวนน้อยลง

การปลูกพืชเชิงเดี่ยวถูกควบคุมโดยเกษตรพันธะสัญญา เกษตรกรกำหนดราคาเองไม่ได้ ใช้เงินลงทุนสูง แต่ผลผลิตราคาขายต่ำกว่าต้นทุน ทำให้คนในชุมชนต้องแบกรับหนี้สิน ผู้หญิงต้องหาเลี้ยงครอบครัว ต้องส่งลูกไปอยู่มูลนิธิเพื่อให้เรียนหนังสือ ต้องขายที่ดินเพื่อมาใช้หนี้


นอกจากนี้ยังมีปัญหาระบบทางเดินหายใจ มะเร็ง เพิ่มขึ้น คาดว่าเกิดจากการใช้สารเคมี

ชุมชนใกล้เคียงมีการทำเหมืองแร่ตั้งแต่ปี 2501-ปัจจุบัน มีการระเบิดเหมืองทุกๆสองวัน เครื่องจักรเปิดทำงานตลอด ผลกระทบคือชาวบ้านเสียที่ดิน แหล่งน้ำ-อาหาร ทรัพยากรป่าไม้ แหล่งน้ำไม่สะอาด และรัฐไม่เคยมาตรวจสอบเรื่องสารพิษที่เป็นอันตราย ระบบนิเวศที่เสียหาย ส่วนปัญหาเรื่องหมอกควัน แม้ว่าชาวบ้านยังไม่ได้เผาไร่ แต่กลับถูกเหมารวมว่าเป็นต้นเหตุทำให้เกิดหมอกควัน pm2.5 เด็กและคนในชุมชนมีปัญหาระบบทางเดินหายใจจนต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลจำนวนมาก และชุมชนไม่มีสิทธิในที่ดิน การจัดการน้ำสะอาด และอากาศบริสุทธิ์



ตัวแทนจากพรรคการเมืองร่วมรับฟังและให้ความคิดเห็นต่อบริบทปัญหาและประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนเผ่าพื้นเมือง



นาดา ไชยจิตต์ ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสมอภาค ร่วมแสดงความเห็นว่า จากบทบาทนักสิทธิมนุษยชนที่ผ่านมา ตนมองเห็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างมาโดยตลอดและพรรคเชื่อในการมีสัดส่วนตัวแทนอัตลักษณ์ต่างๆ เช่น ผู้หญิง ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่มีถึง 48% ในบัญชีรายชื่อของพรรค มีการร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องชาติพันธุ์ ซึ่งต้องรับฟังเสียงของชุมชนอีกครั้ง มีการ เสนอพรบ.นิรโทษกรรมผู้ที่อาศัยอยู่กับป่า มีนโยบายรื้อกฎหมายป่าไม้ทุกฉบับ แก้ไข พรบ.ป่าชุมชน ให้เป็นกฎหมายกลางแทนกฎหมายอุทยาน ด้านการเพาะปลูก มีกฎหมายก่อตั้งกรรมการระดับชาติที่เกษตรกรได้มีส่วนร่วมกำหนดราคาผลผลิต มีการประกันกำไรขั้นต่ำ 30% ด้านทรัพยากรธรรมชาติ รื้อแผนของรัฐที่เพิ่มพื้นที่ป่าสัมปทาน


เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมแลกเปลี่ยนว่า ตนเองเป็นคนม้ง และอยากทราบปัญหาของผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์เพิ่มเติม ปัญหาที่ระบุเจาะจงเป็นพิเศษ โดยตนมองจากมุมเฟมินิสต์ ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิด แต่เป็นเรื่องที่ฝังรากลึกในความเชื่อ/ประเพณี กฎหมาย นโยบายรัฐ ที่สนับสนุนชุดความเชื่อแบบชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงไม่ถูกพิจารณาเวลาออกกฎหมาย รัฐมักใช้นโยบายทุ่มเงินโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ให้ไหลลงสู่คนโดยปริยาย แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำยังดำรงอยู่


นโยบายของพรรคก้าวไกลที่จะมีต่อกลุ่มชาติพันธุ์คือการยกเครื่องกฎหมายป่าไม้ทั้งหมด คืนสิทธิที่ดินให้ประชาชนใช้ทรัพยากรเขตป่า, อนุรักษ์พื้นที่ป่า, เพิ่มพื้นที่ป่าในแบบที่ทุกคนมีส่วนร่วม

ผลักดัน พรบ.คุ้มครองวิถีชีวิตชาติพันธุ์ ยกเว้นบังคับใช้กฎหมาย หันมาใช้เงื่อนไข พรบ.ใหม่ อุดหนุนงบ

กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น อนุมัติเงินงบประมาณ และรับสนับสนุนงบเพิ่ม นอกจากนี้จะปฏิวัติการศึกษา พัฒนา/สนับสนุนงบ/คุณภาพบุคลากรให้กับโรงเรียนขนาดเล็ก สร้างการเข้าถึงอุปกรณ์เทคโนโลยี รวมไปถึงการปลดล็อกสัญชาติแก่ผู้ไร้สัญชาติเก้าแสนคนทั่วประเทศ ทุกวันนี้กระบวนการล่าช้า เกิดการคอร์รัปชั่น ประชาชนต้องได้สัญชาติเร็วที่สุดเพราะมีสิทธิ์อยู่แล้ว บัตรเลข 7 หรือ เลข 0 สามารถเปลี่ยนให้เป็นเลข 8 ได้ง่ายๆ


รินทร์สิตา ดีจิตร ผู้ช่วยหาเสียงพรรคไทยสร้างไทยเชียงใหม่เขต 3 ตัวแทนจาก พรรคไทยสร้างไทย ร่วมแลกเปลี่ยนว่า คุณสุดารัตน์ หัวหน้าพรรค มีแนวคิดในการผลักดันเรื่องสิทธิสตรี กองทุนพลังหญิง upskill reskill เพื่อพัฒนาความสามารถ ศักยภาพ ให้ผู้หญิงมีพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้น ที่ผ่านมาผู้หญิงถูกเหมารวมว่าบอบบาง ทั้งที่ผู้หญิงมีความสามารถเท่าเทียมผู้ชาย แต่ขาดโอกาส งานทอผ้าของชาติพันธุ์เหมาะที่จะเป็น soft power

นอกจากนี้ เรื่อง Climate change ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายประเทศ เริ่มจากในประเทศ เช่น พรบ.สภาพภูมิอากาศ, Carbon tax, emission trading เรื่องฝุ่น pm2.5 เห็นจุดฮอตสปอตมาจากประเทศเพื่อนบ้าน จากการปลูกข้าวโพดของทุนใหญ่ ดังนั้นต้องร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการออกนโยบายร่วมควบคุมทุน



สุริยา แสงแก้วฝั้น ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคสามัญชน ร่วมแลกเปลี่ยนว่า ปัญหาของชนเผ่าพื้นเมืองเกิดจากประกาศคำสั่งของคณะปฏิวัติ พ.ศ.2557 คำสั่งที่ 64,66/2557 นโยบายทวงคืนผืนป่าทั้งหมด ชุมชนดั้งเดิมเกือบทั้งหมดโดนคดีเป็นว่าเล่น คดีที่เป็นข่าวใหญ่คือคดีที่ชาวบ้านจาก 14 หมู่บ้านโดนอุทยานฟ้อง ทางพรรคจึงคิดว่าต้องยกเลิกประกาศคำสั่งคณะความมั่นคงแห่งชาติ ฉ. 64, 66/2557 ให้ได้ 8 ปีที่ผ่านมาคดีเกี่ยวกับที่ดิน/ป่าไม้/ทรัพยากรขึ้นศาลปกครองจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่อุทยานฟ้องชาวบ้าน พรรคฯเชื่อว่าควรนิรโทษกรรมทั้งหมดเพื่อทวงคืนความเป็นธรรมให้พี่น้องประชาชน สิ่งนี้จะผลักดันให้ทุกพรรคการเมืองถือเป็นวาระเร่งด่วน พรรคที่อยู่ฝั่งประชาชนเข้าไปเป็นตัวแทนประชาชนต้องทำให้ได้ภายในสี่ปี พรรคฯ จะผลักดันให้สิ่งนี้เกิดขึ้นภายในสี่ปีข้างหน้า


นโยบายพรรคฯ คือ ส่งเสริมสิทธิและโอกาสให้กลุ่มชาติพันธุ์คนไทยพลัดถิ่น คนไร้รัฐ ให้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคน รับรองสถานะบุคคลตามเจตนารมณ์ของบุคคล เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ พรรคฯเล็งเห็นว่าสถานะบุคคลของมนุษย์ที่อยู่ในผืนแผ่นดินไทยมีเสรีภาพที่จะกำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง ไม่ว่าบุคคลคนนั้นจะมีสัญชาติใดก็ตาม สิทธิพลเมืองควรมีตั้งแต่แรกเกิด ดังนั้นทุกคนที่อยู่ในผืนแผ่นดินไทยควรมีสิทธิเลือกตั้ง มีสิทธิกำหนดนโยบาย นี่คือประชาธิปไตยจากรากฐาน


เยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองนำเสนอข้อเสนอแนะแก่ตัวแทนจากพรรคการเมือง




ศิริวรรณ พรอินทร์ Asian Girl Aaward2020/ สาขา Human Right เล่าบริบทปัญหา การทำงานและข้อเสนอแนะว่า

ตนเติบโตในครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ โรงเรียนไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กที่มีครอบครัวที่ไม่เหมือนคนอื่น เพื่อนๆ ครู คนในสังคมตั้งคำถามว่าทำไมมีแม่สองคน ตนจึงทำงานขับเคลื่อนสิทธิการก่อตั้งครอบครัว ตนถูกเลือกปฏิบัติจากระบบกฎหมาย เช่น ตอนอายุ 19 ปี ไปทำประกันชีวิตแต่ไม่สามารถทำได้เพราะไม่มีพ่อแม่ตามกฎหมาย ทำให้รู้สึกโกรธมากที่สังคมไม่ยอมรับ เจ็บปวดที่ไม่ได้รับสิทธิเหมือนคนอื่น นักเรียนในระบบการศึกษาไทย ไม่ถูกสอนเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก ชนเผ่าพื้นเมือง ตนจึงไปทำงานกับเด็กอนุบาล ประถม มัธยม โดยได้รับทุนทำกิจกรรมส่งเสริมสิทธิ สร้างความรู้ความเข้าใจสิทธิ ความเป็นธรรมทางเพศ ความหลากหลายทางเพศ สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กสะท้อนเรื่องราว ความฝัน ความหวัง เพื่อสังคมที่เป็นธรรม โดยตนมีข้อเสนอในการแก้ปัญหาคือ


ครอบครัวต้องยอมรับและรักลูกที่มีความหลากหลายทางเพศโดยไม่มีเงื่อนไข โรงเรียนต้องสอนเรื่องสิทธิให้นักเรียนและครู โรงเรียนที่มีนักเรียนชนเผ่าพื้นเมือง ต้องมีครูชนเผ่าและสอนเรื่องสิทธิชนเผ่า ส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง

บูรณะองค์ความรู้เกี่ยวกับชนเผ่าพื้นเมือง ต้องมีนโยบายผ้าอนามัยฟรี


เด็กที่มีความหลากหลายทางเพศต้องเข้าถึงการศึกษา ต้องมีสมรสเท่าเทียม สร้างสังคมที่มีครอบครัวหลากหลาย ยกเลิกกฎหมายที่ละเมิดสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ปัจจุบันมีเพื่อนๆ เยาวชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยแต่ถูกจับกุมคุมขัง ดังนั้นต้องยกเลิกการดำเนินคดี นิรโทษกรรม เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก และประเทศไทยต้องเป็นประชาธิปไตย



ยศ ธูปทองดี เยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองนักป้องสิทธิมนุษยชน ครูโรงเรียนมัธยม รวมแลกเปลี่ยนว่า ตนเป็นชนเผ่ากะเหรี่ยง อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากอำเภอ 27 กม. ถนนหนทางเดินทางยากลำบาก มีแต่ฝุ่นกรวด ฤดูฝนมีดินสไลด์ ไม่มีไฟฟ้าใช้มีแต่เสาไฟ ไม่มีน้ำประปาสะอาดสมัยเด็กเข้าโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครู 1 คนต่อเด็ก 30 คน ไม่เคยมีโอกาสจับคอมพิวเตอร์ ไม่มีอุปกรณ์การเรียนที่พร้อม พอขึ้นปอหกก็ต้องมาเรียนโรงเรียนข้างล่าง มาอยู่หอพัก เสาร์อาทิตย์เดินเท้า 12 กม.กลับบ้าน ได้มาเรียนต่อมัธยมโรงเรียนประจำอำเภอที่มีน้อย แต่เด็กหลายคนหลุดจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง เพราะไม่มีเงิน และพ่อแม่ไม่อนุญาตให้ออกจากบ้าน

ตนได้เรียนระดับมหาวิทยาลัย ได้รับความช่วยเหลือจากที่อื่นที่ไม่ใช่รัฐ เลยเป็นแรงบันดาลใจให้เรียนครูแล้วมาพัฒนาชุมชนต่อไป ปัญหาระบบการศึกษายังเหมือนสมัยเรียน ช่วงโควิดต้องสอนออนไลน์ บางคนไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์การเรียน ไม่มีเงินเติมอินเตอร์เน็ต ก็เข้าๆ หายๆ จนออกจากระบบไป


ตนทำวิจัยในระดับปริญญาโทเรื่องการออกจากระบบการศึกษากลางคันของเด็กนักเรียน พบว่า 1. กฎระเบียบของโรงเรียนที่เข้มงวด กระทบสิทธิเสรีภาพของเด็ก เด็กไม่มีส่วนร่วมในการออกกฎ 2. เรื่องความยากจนของครอบครัว แม่ฮ่องสอนมีค่าเฉลี่ยรายได้ต่อครัวเรือนต่ำที่สุด สิทธิที่ดินทำกิน การเข้าถึงทรัพยากรชุมชน สภาพภูมิอากาศ ค่าใช้จ่ายการเรียนในระบบมีสูง 3. เด็กไม่เข้าใจเนื้อหาการเรียน จากความเหลื่อมล้ำ นักเรียนบนดอยลงมาเรียนไม่ทันเพื่อน 4. ความรุนแรงในครอบครัว ความเครียดของพ่อแม่เรื่องเศรษฐกิจ วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่


ข้อเสนอที่มีต่อรัฐคือ


ต้องให้ชุมชนเข้าถึงระบบสาธารณูปโภค การศึกษาต้องฟรีอย่างแท้จริง ยกเลิกเครื่องแบบนักเรียน กฎโรงเรียนต้องไม่ละเมิดสิทธิเด็ก ไม่ยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ส่งเสริมทรัพยากรทุกโรงเรียน

มะเมียะเส่ง สิริวลัย เยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศ นำเสนอว่า เด็ก เยาวชน ผู้หญิงไร้สัญชาติเผชิญความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศภาวะ วัฒนธรรมแบบชายเป็นใหญ่ ซึ่งทำให้กรอบเพศมีความแข็งแกร่งในชุมชนและสังคมไทย ทำให้เกิดการควบคุมร่างกายและความคิดของผู้หญิง ถ้าผู้หญิงหลุดจากกรอบจะรู้สึกผิดต่อตัวเองและสังคม

ก่อนที่ตนจะนิยามตัวเองรู้สึกผิดมากเพราะไม่รู้ว่าครอบครัวจะว่ายังไง สังคมให้คุณค่ากับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ผู้ชายจะเข้าถึงเงินทุนได้มากกว่า เพราะผู้หญิงเรียนจบไปก็แต่งงานอยู่บ้าน


เพื่อนที่เรียนจบชั้นประถมด้วยกันไม่ได้เรียนต่อมหาวิทยาลัย เพราะถูกบังคับแต่งงานตั้งแต่เด็ก เพราะเชื่อว่าผู้หญิงอยู่คนเดียวไม่ได้ถ้าไม่มีคนดูแล ผู้หญิงต้องอยู่โดยไม่มีความรักและเคารพสิทธิ ถูกใช้ความรุนแรงก็ต้องอดทน ตั้งแต่ยังเด็กเห็นพ่อแม่ใช้ความรุนแรงในครอบครัว และไม่อยากเป็นเช่นนั้น แต่สุดท้ายตอนนี้มีลูกสามคนแล้วก็ยังถูกใช้ความรุนแรง ลูกเห็นความรุนแรง ลูกก็รู้สึกหวาดกลัว ไม่มั่นคง แต่เพื่อนก็ต้องอดทนอยู่ในความสัมพันธ์เพื่อลูก คิดว่าตัวเองจะอยู่ต่อไม่ได้ถ้าไม่มีสามี คนในชุมชนรู้เห็นแต่ไม่มีใครห้าม เพราะเห็นเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องส่วนตัวที่ย่อมเกิดขึ้น


สาเหตุที่ทำไมผู้หญิงไม่ไปแจ้งความ เพราะพูดไทยไม่ได้ สถานีตำรวจมีวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ ไม่เป็นมิตรกับผู้หญิง และเจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจเรื่องอัตลักษณ์ทับซ้อน จึงเข้าไม่ถึงการแก้ไขปัญหา

ผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเพศ ถ้ายังยึดในความเชื่อแบบเดิม สิ่งที่เกิดขึ้นคือจะไม่ยอมรับตัวเอง เพื่อนที่เป็นทรานส์ต้องออกจากชุมชน เพราะถูกตีตรากล่าวโทษเมื่อเกิดเหตุภัยธรรมชาติว่าเป็นต้นเหตุ



ตัวแทนจากพรรคการเมืองร่วมรับฟังและให้ความคิดเห็นต่อบริบทปัญหาและประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองและที่มีความหลากหลายทางเพศ






นาดา ไชยจิตต์ ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อจาก พรรคเสมอภาค ให้ความเห็นว่า

ต้องให้ความสำคัญกับเสียงของเจ้าของปัญหาโดยนโยบายของพรรคมีสองส่วนคือเรื่องความรุนแรง คือ นโยบายการยุติความรุนแรงในสังคมไทย จะรื้อระบบเพื่อจบความรุนแรง ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ตัวบทกฎหมาย มีความทับซ้อนกันอยู่ และผลิตซ้ำความรุนแรง ผู้เสียหายถูกทำให้เป็นเหยื่อ พรรคจะเสนอกฎหมายเป็นการเฉพาะและให้มีการพิจารณาอย่างเร่งด่วน

ในแต่ละปี ผู้หญิงหนึ่งในสองคนถูกกระทำความรุนแรง หมื่นห้าพันคนเข้าถึงกระบวนการด้านสุขภาพ แต่มีแค่หนึ่งเปอร์เซ็นที่เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม พรรคจะทำงานให้ผู้หญิงหรือผู้เสียหายเข้าถึงข้อมูลหรือความช่วยเหลือจากความรุนแรง ได้รับการชดเชยเยียวยาทางกฎหมาย จะให้กฎหมายเขียนถึงบทบาทหน้าที่ของผู้ให้บริการกับผู้ถูกใช้ความรุนแรง


สำหรับนโยบายเรื่องความหลากหลายทางเพศ คือการใช้ LGBTI inclusion index ในการร่างนโยบาย ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้กันทั่วโลก หนึ่ง ต้องประกาศเจตนารมณ์ สอง ต้องทำให้สถานศึกษาปลอดภัย โอบรับความหลากหลาย เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การทำให้เกิดระบบนี้ได้จะต้องรื้อทั้งองคาพยพ กระทรวงศึกษาธิการจะต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย ต้องมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศ และอาจมีการรื้อ พ.ร.บ. นี้ไปรวมกับ พ.ร.บ. ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล


ร่าง พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องกับชนเผ่าพื้นเมืองจะต้องได้รับการให้ความสำคัญโดยเฉพาะเรื่องภาษาที่ใช้ กฎหมายจะต้องเขียนให้รับรองสวัสดิการด้านสุขภาพที่รองรับความต้องการของคนในกลุ่มต่างๆ การแก้ไขกฎหมายอาญาในอาชญากรรมที่เกิดจากการเกลียดชังให้เพิ่มบทลงโทษมากขึ้น จะต้องเพิ่มประมวลกฎหมายอาญาเข้าไป และแก้ไข พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กให้สอดคล้องกับ child rights convention รวมถึงการส่งเสริมการเข้าถึงสวัสดิการรัฐให้กับผู้หญิง และจะต้องดูแลผู้หญิงที่ต้องทำงานดูแล โดยต้องให้ผู้หญิงมีโอกาสเข้าสู่การศึกษา


และในระดับอาชีวะ กศน. ราชภัฎจะต้องถูกรื้อถอนการตีตราอคติ พรรคเสมอภาคจะทำให้ระบบเงินทุนของประเทศลงทุนไปกับการศึกษาและทำให้ทุกคนที่จบจากทุกสถาบันการศึกษาได้รับความเสมอภาคเท่าเทียมกัน

เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมแลกเปลี่ยนว่า

ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นปัญหาทางนิเวศวิทยาความเหลื่อมล้ำในชนบท ความเท่าเทียมทางเพศเป็นปัญหาการกดทับซับซ้อน การละเมิดสิทธิของคนที่เกิดขึ้นในพื้นที่หนึ่งมีความสลับซับซ้อน ผู้หญิงคนเมืองกดทับผู้หญิงชนเผ่า ผู้หญิงชนเผ่าที่มีสัญชาติกดทับผู้หญิงไร้สัญชาติ จะทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพื่อแก้ปัญหาไม่ได้ วิธีการแก้ไขปัญหาต้องทำสองเรื่อง คือต้องมีกฎหมายและนโยบายที่รองรับคนที่ถูกกดทับสิทธิเพื่อให้มีช่องทางร้องเรียน เรื่องที่สอง ตัวคนที่ถูกกดทับต้องตระหนักและลุกขึ้นมาต่อสู้ เรียกร้อง เพื่อถ่างช่องให้กว้างขึ้น


นโยบายของพรรคก้าวไกล มีนโยบายเรื่องการปฏิวัติการศึกษา นับตั้งแต่หลักสูตรในการสอบเข้ามหาลัย เด็กที่อยู่ในโรงเรียนชั้นสูงกว่ามีโอกาสสอบเข้าได้มากกว่าที่มีชนชั้นต่ำกว่า มีการปฏิบัติการเรียนการสอนต่างกัน ตัวหลักสูตรก็ต่างกัน โดยเฉพาะบางเรื่องที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยหรือถูกนำไปใช้ในโรงเรียนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง เช่น ในโรงเรียนสังคมสงเคราะห์ หลักสูตรที่ไม่ควรมีควรยกเลิก

เวลาเรียนที่ให้เด็กเรียนเยอะแต่ไม่ได้เพิ่มศักยภาพของเด็ก สร้างผลเสีย ต้องลดค่าใช้จ่ายและสนับสนุนค่าใช้จ่ายในบางเรื่อง เช่น การเดินทาง โภชนาการ


เรื่องสิทธิมนุษยชนในโรงเรียน ไม่ว่าจะครูละเมิดเด็กหรือเด็กละเมิดกันเอง ต้องมีระบบการจัดการ สิ่งที่พรรคจะทำคือปัญหาการละเมิดสิทธิเด็ก ครูที่ละเมิดสิทธิเด็กต้องถูกถอนใบอนุญาตทันที ทุกวันนี้เป็นแค่การย้ายจากที่หนึ่งไปที่หนึ่ง ก็เป็นแค่การโยนปัญหาไปให้อีกที่หนึ่ง


ส่วนเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเพศเป็นเรื่องที่ซับซ้อน การแก้ไขเป็นไปได้ยาก แต่สิ่งที่ต้องทำให้ดีคือตัวระบบที่จะทำให้คนที่ถูกละเมิดสิทธิมีเครื่องมือในการปกป้องตนเองด้วยการปฏิรูประบบกฎหมาย ให้รองรับผู้หญิงและ LGBT มากขึ้น หนึ่งร้อยวันแรกที่จะทำคือ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม เมื่อได้เป็นรัฐบาล และถ้าเป็นคดีคนที่ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ นโยบายที่พรรคก้าวไกลจะทำ คือทุกโรงพักต้องมีพนักงานสอบสวนที่เป็นผู้หญิง


นานา วิภาพรรณ วงษ์ สว่าง ผู้สมัคร ส.ส. พรรคไทยสร้างไทย เชียงใหม่ เขต 3 ร่วมแลกเปลี่ยนว่า

จะต้องมีการเร่งรัดกระบวนการขอบัตรประชาชนให้เสร็จโดยเร็ว เร่งรัดกระบวนการขอสัญชาติ พิสูจน์สัญชาติ เรื่องที่ดินจะมีกฎหมายบางส่วนที่ให้มีสิทธิทำกิน จากเสียงสะท้อนของพี่น้องที่กล่าวมา หลายคนมีใบสปก. แต่เนื่องจากไม่มีสิทธิครอบครองจึงไม่สามารถนำไปใช้เพื่อขยายโอกาสในทางการเงินได้ พรรคไทยสร้างไทยมองว่าจะทำอย่างไรให้สิทธิ

สปก. แปลงเป็นสิทธิในการค้ำประกันเพื่อให้เกิดประโยชน์กับชาวบ้าน ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงการครอบครองโดยนายทุนต้องมานั่งคุยกันถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของพี่น้อง เพื่อสนับสนุนให้มีการตัดสินใจที่มีส่วนร่วม


ในภาคเศรษฐกิจ จะมีนโยบาย บำนาญสามพันบาทต่อเดือน นำไปซื้ออะไรก็ได้ นโยบายนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้หญิงและคนรุ่นใหม่ เพราะพอเป็นเรื่องเพศ ผู้หญิงในวัยเดียวกันหรือผู้หญิงทำงานแล้ว ผู้หญิงจะส่งเงินกลับที่บ้านหมด จะมีสวัสดิการเรียนฟรีไม่ต้องกู้หนี้กยศ. เคารพสิทธิการเข้าถึงสัญชาติ คนที่มีความหลากหลายทางเพศ จะมี เครือข่ายผู้หญิงในภาคการเมือง ส่งเสริมผู้หญิงให้มีกองทุนผู้หญิง ให้เงินผู้หญิงที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ถือครองในที่ดินแต่มีภาระเข้าถึงโอกาสและขยายโอกาสให้ตัวเอง


ในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ สนับสนุนนโยบายสมรสเท่าเทียม และความหลากหลายทางเพศ นโยบายไทยสร้างไทยจะปลดล็อคเรื่องเร่งพิสูจน์สัญชาติ ขยายโอกาสให้ผู้หญิงในเรื่องที่ดินทำกิน มีโอกาสในการเข้าถึงเงินทุน นักเรียนเรียนฟรี บำนาญผุ้สูงอายุ


สุริยา แสงแก้วฝั้น ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคสามัญชน กล่าวถึง เสรีภาพของเด็ก เสรีภาพของครูผู้สอน เสรีภาพของครูและผู้เรียน ปัจจุบันยังไม่มี ผู้สอนต้องปฏิบัติตามคำสั่งของสพฐ./กระทรวงศึกษาธิการ มีการกระจายหลักสูตรการศึกษาน้อยมากในปัจจุบัน ถึงแม้เราจะมี พ.ร.บ. การศึกษาบอกว่าหลักสูตร 70 (จากส่วนกลาง) - 30 (ท้องถิ่น) แต่เอาเข้าจริงหลักสูตรทั้งหมดมาจากส่วนกลาง ซึ่งเน้นเรื่องชาตินิยม คนไทย จนละเลยกลุ่มชนเผ่าต่างๆ ที่มีจำนวนมากในประเทศไทย หายไปจากเนื้อหาหลักสูตรการศึกษา พรรคฯ มองเห็นปัญหานี้ว่าควรนำหลักสูตรท้องถิ่นของแต่ละพี่น้องทุกกลุ่มมาไว้ในหลักสูตรในเนื้อหาการเรียนการสอน ลดอำนาจของครู ให้เป็นผู้ให้คำปรึกษา เรียนรู้ไปกับผู้เรียน


ปัจจุบันโรงเรียนในไทยมีระบบอำนาจนิยมสูงมาก จะลดอำนาจของตำแหน่งใหญ่โตผู้บริหารได้อย่างไร นอกจากนี้ยังมีปัญหาการมีส่วนร่วมของเด็ก/เยาวชนอย่างมาก เช่น พรบ.ว่าด้วยสังกัดพรรคการเมืองยังกำหนดกฎเกณฑ์ สมาชิกพรรคต้องอายุ 18 ปีขึ้นไป การนับรวมเด็กไปเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดนโยบายให้เด็กเอง ส่วนใหญ่มาจากผู้ใหญ่ ไม่มีเด็กร่วมกำหนดนโยบายของตัวเอง พรรคฯ จึงจะเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคุณสมบัติสมาชิกพรรคการเมือง ข้อมูลจากศูนย์ทนายสิทธิมนุษยชน พบว่าเด็กเยาวชนถูกดำเนินคดีทางการเมืองมากที่สุด น้อยที่สุดตอนนี้คือ หยก อายุ 15 ปี ถูกควบคุมตัวไว้ ทั้งที่ยังไม่ได้พิสูจน์ความผิด ดังนั้น ต้องนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองสำหรับเด็กเยาวชนทั้งหมด





มลิวัลย์ เสนาวงษ์ อาจารย์ภาค วิชาสตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ข้อเสนอแนะในเชิงวิชาการหลังจากผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนบริบทปัญหา ข้อเสนอแนะ รวมถึงการแลกเปลี่ยนจากตัวแทนพรรคการเมืองเอาไว้ว่า


รู้สึกได้รับพลังจากผู้หญิงเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่ลุกขึ้นมาพูดปัญหาของตัวเอง พลังที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ ตามหลักการสตรีนิยมแล้ว การจะเสริมพลังผู้หญิงที่ถูกทำให้เป็นชายขอบของสังคม ซึ่งในเวทีนี้คือผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมือง เราจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่สนับสนุนให้ผู้หญิงมีพลังซึ่งก็คือ FPAR (การวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมโดยใช้แนวคิดสตรีนิยม) ซึ่งสนับสนุนให้ผู้หญิงลุกขึ้นมาสร้างความเป็นธรรมทางเพศในสังคมได้ ผู้หญิงและคนในสังคมจะต้องตระหนักถึงการถูกกดทับจากประสบการณ์ของตัวเอง วันนี้คนบนเวทีตระหนักถึงการถูกกดทับจากระบบชายเป็นใหญ่ ซึ่งอยู่ในทุกๆเรื่อง ทั้งเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ การตระหนักนี้ถูกส่งออกมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทุกคนกำลังส่งเสียงเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายและสังคม เราหวังว่าเสียงของทุกคนในงานวิจัยครั้งนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เกิดการสนับสนุนการปกป้องคุ้มครองสิทธิของผู้หญิง สิทธิของเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศ


สิ่งที่ชอบมากๆคืออยากเห็นเวทีที่เป็นเรื่องของการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจที่ให้อำนาจที่เท่าเทียมกันระหว่างคนที่จะเป็นผู้กำหนดนโยบายและเจ้าของปัญหาอย่างเวทีในวันนี้ การเมืองที่สอดคล้องและตอบโจทย์กับเจ้าของปัญหาไม่ใช่การเมืองแบบเดิมและมันสร้างบทสนทนาที่ร่ำรวยและสร้างความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันระหว่างนักการเมืองและเจ้าของปัญหา


และอีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการเมืองคือการเมืองฐานราก คือการเมืองที่จะสร้างความมั่นคงและยั่งยืนจะต้องมาจากเจ้าของปัญหา ไม่ใช่แค่การเมืองเฉพาะปัญหาระดับชาติ สุดท้ายเรากำลังสร้างขบวนการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า inclusive movement นักสตรีนิยมเสนอว่าเราจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้จริง เฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะไม่ได้ผล แต่เราต้องมีเครือข่าย มีพันธมิตรในการต่อสู้ เรามีผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมือง เรามีคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เรามีผู้ชายที่เป็นเฟมินิสต์ เรามีภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมผลักดันและเราก็หวังว่ามันจะมีพลังที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม



ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและ/หรือกฎหมาย จากงานวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมโดยใช้แนวคิดสตรีนิยม เรื่องการพัฒนาสิทธิในเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติของผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมือง




โดย องค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน และแกนนํานักวิจัยเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง 5 ชุมชนชนเผ่า พื้นเมือง ได้แก่ ชุมชนบ้านแม่สามแลบ และชุมชนบ้านทิยาเพอ อําเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ชุมชนบ้านแม่อมกิ และชุมชนบ้านปางทอง อําเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก และชุมชน บ้านหนองค ริซูใน อําเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ มีดังต่อไปนี้


1. ยอมรับตัวตน/อัตลักษณ์ การมีอยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองในสังคมไทยและปฏิบัติตามปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง UNDRIP


2. ยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับดิน ป่าไม้ และอุทยานทั้งหมดที่ละเมิดสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง


3. ยกเลิกโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่จะส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง เช่น โครงการ ผันน้ํายวมที่รัฐและ/หรือเอกชน/ภาคธุรกิจร่วมกันผลักดันให้เกิดในพื้นที่ของชนเผ่าพื้นเมือง เพราะนอกจากจะกําหนดและผลักดันโดยไม่มีส่วนร่วมของชุมชนชนเผ่าพื้นเมือง ยังส่งผลกระทบ ต่อสภาพสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศและวีถีชนเผ่าพื้นเมือง


4. ยกเลิกเขื่อนที่จะเกิดขึ้นในแม่น้ําสาละวินทั้งหมดเพราะขาดการมีส่วนของชุมชนชนเผ่าพื้นเมือง และมีผลกระทบต่อสภาพสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศและวีถีชนเผ่าพื้นเมือง นอกจากนี้ การสร้าง เขื่อนในแม่น้ําสาละวิน ยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้ความรุนแรงโดยรัฐบาลเผด็จการพม่าที่กระทําต่อชาติพันธุ์/ชนเผ่าพื้นเมือง


5. ฟื้นฟูและเยียวยาชุมชน ชนเผ่าพื้นเมืองที่ได้รับผลกระทบจากการทําเหมืองแร่ เช่น ชุมชนบ้านทิยาเพอ ยกเลิกเหมืองแร่ที่กําลังดําเนินธุรกิจอยู่ เช่น เหมืองแร่ใน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ และยุติ โครงการที่จะทําและที่จะให้สัมปทานเหมืองในอนาคต เช่น ที่ กะเบอะดิน อ.อมก๋อย และที่อื่นๆ ในประเทศไทย


6. ยกเลิกมาตรการและนโยบายเรื่อง PM 2.5 ทั้งหมด และร่วมกันผลักดันให้เกิด พรบ.อากาศสะอาด ยืนยันหลักการการมีส่วนร่วมของชนเผ่าพื้นเมือง โดยเฉพาะผู้หญิง เด็กและเยาวชนชนเผ่า พื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศ เนื่องจากเผชิญกับความเหลื่อมล้ํา การถูกตีตราและเหมารวม ทําให้เสี่ยงที่จะถูกเลือกปฏิบัติ ถูกบังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่ไม่เป็นธรรม และให้ความสําคัญกับประสบการณ์และภูมิปัญญาชนเผ่าพื้นเมืองในการใช้ไฟจัดการป่าที่ได้สั่งสมมาจาก บรรพบุรุษ ร่วมกับการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความรู้ในทางสังคม เพื่อเอื้อให้เกิดการแก้ไขปัญหา PM 2.5 อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน


7. การันตีการมีส่วนร่วมที่มีความหมายของผู้หญิง เด็ก และเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ ในการผลักดันเชิงกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและการพัฒนาสิทธิมนุษยชนชนเผ่าพื้นเมืองในทุกระดับ โดยการให้ความสําคัญกับการมีตัวแทน การสนับสนุนและการตอบสนองต่อเสียง ความต้องการ ตลอดจนข้อเสนอแนะเหล่านั้น


8. ปกป้อง คุ้มครอง ส่งเสริมและรื้อฟื้นการทําไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นวิถีชีวิตชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อให้มีความมั่นคงทางด้านอาหาร อาชีพและรายได้ ตลอดจนการเก็บเมล็ดพันธุ์ดั้งเดิม รวมทั้งส่งเสริม โอกาส และทางเลือกในการเพาะปลูกที่หลากหลาย กระบวนการผลิตที่ปลอดภัยทั้งในแง่ของการ ผลิตและการบริโภค เพื่อไม่ให้ชนเผ่าพื้นเมือง ตกเป็นเหยื่อของเกษตรพันธะสัญญาและ/หรือการ ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ที่ต้องพึ่งพิงเมล็ดพันธุ์ที่ตัดต่อพันธุกรรม การใช้สารเคมีและยาปราบศัตรูพืช อย่างเข้มข้นจนตกค้างในดินและแหล่งน้ํา อันส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ตลอดจนการไม่สามารถกําหนด

ราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ต้นทุนในการผลิตสูงกว่าอัตราการขายผลิตพันธุ์ทางการเกษตรส่งผลให้ชนเผ่าพื้นเมืองเกิดภาวะหนี้สิน


9. พัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในชุมชนชนเผ่าพื้นเมือง อันได้แก่ น้ําประปาสะอาดที่ดื่มได้และปลอดภัย ถนน ไฟฟ้า และระบบอินเตอร์เน็ตที่ฟรี


10. ต้องมีมาตรการเร่งด่วนที่สุดที่ต้องมีส่วนร่วมกับผู้หญิงและเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ ในชุมชนบ้านแม่สามแลบที่ตอนนี้ขาดแคลนน้ําดื่ม น้ําใช้ เสี่ยงไฟป่าในหน้าแล้ง ไม่มีถิ่นที่อยู่อาศัย ที่ปลอดภัย เสี่ยงน้ําท่วม-ดินถล่มในหน้าฝนและในชุมชนมีสมาชิกที่ยังไม่มีสัญชาติและหรือ ไม่มีสถานะบุคคลมากกว่า 50% ที่ต้องพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติจากป่าในเขตอุทยานที่มีกฎหมาย ควบคุม ปรับ จับกุม รวมทั้งได้รับผลกระทบจากสงครามเมื่อมีการสู้รบจากรัฐบาลเผด็จการพม่า กับชาติพันธุ์/ชนเผ่าพื้นเมืองมากกว่า 70 ปี



ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและ/หรือกฎหมายที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ความเหลื่อมล้ําทางเพศและทางสังคมที่ เกิดขึ้นกับผู้หญิง เด็กและชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศ ทั้งมิติทางสังคม และมิติการศึกษา ของชุมชนชนเผ่าพื้นเมือง





1. การศึกษาต้องฟรีและเป็นสวัดิการจนถึงระดับปริญญาตรี


2. นโยบายเร่งด่วน: โรงเรียนที่มีนักเรียนชนเผ่าพื้นเมือง ต้องมีเงินสนับสนุนการศึกษาและหรือทุนการศึกษาสําหรับนักเรียนชนเผ่าพื้นเมือง ที่จะต้องครอบคลุมค่าเครื่องแบบ(ที่ยังไม่มีการยกเลิก) ค่าเดินทาง ค่ากิจกรรม ค่าเทอม/เงิน

บํารุงการศึกษาที่สถานศึกษาเรียกเก็บ


3. โรงเรียนในพื้นที่ชนเผ่าพื้นเมือง ต้องมีครูชนเผ่าพื้นเมือง มีการเรียนการสอนด้วยภาษาชนเผ่า พื้นเมือง และต้องส่งเสริมสิทธิและอัตลักษณ์ ตัวตนตลอดจนวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมือง โดยต้องมีการปรับปรุงหลักสูตรและบูรณาการการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับวิธีชีวิตชนเผ่าพื้นเมืองและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงโลกในยุคปัจจุบัน


4. ยกเลิกกฎเกณฑ์ เงื่อนไข ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของเด็กนักเรียน นักเรียนชนเผ่าพื้นเมือง เด็กนักเรียนชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมทั้งที่ละเมิดสิทธิบนเนื้อตัวร่างกาย เช่น เครื่องแบบนักเรียน การบังคับตัดผม ฯลฯ ทั้งหมด โดยการแก้ไขกฎกระทรวง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรและแก้ไขกฎระเบียบของโรงเรียนทั้งหมดให้สอดคล้องกับสิทธิเด็ก สิทธิชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิหลากหลายทางเพศ ฯลฯ


5. รัฐต้องไม่ยุบโรงเรียนขนาดเล็ก และส่งเสริมกระจายอํานาจและทรัพยากรให้ทุกหมู่บ้านชนเผ่าพื้นเมืองมีโรงเรียน



ข้อเสนอต่อครอบครัว ชุมชนชนเผ่าพื้นเมือง และสังคมไทย




1. พัฒนากฎหมาย นโยบาย ที่ต้องปกป้องคุ้มครองและส่งเสริมให้ครอบครัว โรงเรียน ชุมชน และ สังคม มีความรู้

ความเข้าใจ เคารพและยอมรับสิทธิเด็ก สิทธิชนเผ่าพื้นเมื่อง สิทธิผู้หญิง และสิทธิ LGBTIQ


2. ผ้าอนามัยต้องฟรีและเป็นสวัสดิการทางสังคม


3. ต้องมีสมรสเท่าเทียม


4. สนับสนุนการเข้าถึงสิทธิการมีสัญชาติของผู้หญิง เด็กและคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และ ผู้สูงอายุที่เป็นชนเผ่าพื้นเมือง


5. ความรุนแรงในความรักความสัมพันธ์และ/หรือความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว: กฎหมาย และนโยบายเรื่องความรุนแรงในความรักความสัมพันธ์ที่ไม่ปกป้องคุ้มครองผู้หญิงโดยเฉพาะผู้หญิงที่ไร้สัญชาติและผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเพศ ต้องเปลี่ยนแปลง โดยคํานึงถึง 2.1) ความซับซ้อนของอัตลักษณ์ เช่น อายุ เพศ รสนิยมทางเพศ ระดับการศึกษา เชื้อชาติ ภาวะการไม่มีสัญชาติ ฯลฯ 2.2) ภาษา 2.3) กระบวนการยุติธรรมที่มีวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ ทําให้กระบวนการไม่เป็นมิตร และปฏิเสธการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้หญิงที่มีอัตลักษณ์ทับซ้อน


6. สถานที่ให้บริการชนเผ่าพื้นเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งของหน่วยงานภาครัฐต้องมีล่ามชนเผ่าพื้นเมือง


7. ยุติการบังคับแต่งงานเด็ก


8. ยุติการเกลียดชังและการละเมิดสิทธิผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะการบังคับแต่งงาน ที่เสมือนเป็นใบอนุญาตข่มขืน


9. ส่งเสริมและพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม ให้มีนโยบายและกฎหมายที่เคารพ ปกป้อง คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศโดยคํานึงถึง Intersectionality/ความซับซ้อนกับมิติ และอัตลักษณ์ต่างๆ เช่น ความเป็นชาติพันธุ์/ชนเผ่าพื้นเมือง สถานะผู้ลี้ภัย การไร้สัญชาติ การไร้ที่ดิน ประสบการณ์การตั้งครรภ์วัยรุ่น ประสบการณ์การยุติการตั้งครรภ์ แรงงานข้ามชาติ และผู้พิการ ฯลฯ



หมายเหตุ ภาพประกอบถ่ายโดย ศิริวรรณ พรอินทร์ และ ดาราณี ทองศิริ

สามารถรับชมถ่ายทอดสดย้อนหลังได้ที่เฟซบุคเพจ Lanner



ดู 262 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comments


bottom of page