เราไม่สามารถตัดสินใครว่าเป็นคนไม่ดีจากจินตนาการทางเพศและการเสพสื่อที่มีเนื้อหาขัดต่อกฎหมายและสิทธิมนุษยชน แต่เราควรตั้งคำถามกับสื่อเหล่านั้นว่าเขาจะรับผิดชอบต่อสังคมที่เกิดอาชญากรรมเพราะสื่อโป๊ที่มีเนื้อหาขัดต่อกฎหมายและสิทธิมนุษยชนเหล่านี้อย่างไรได้บ้าง เพราะความแตกต่างระหว่างหนังโป๊กับชีวิตจริง ไม่ได้น่าเสียวอย่างที่ได้ดูแม้แต่น้อย
ช่วงที่ผ่านมาผู้เขียนได้ลองทำแบบสอบถามอย่างไม่เป็นทางการในทวิตเตอร์ โดยเนื้อหาของแบบสอบถามเกี่ยวกับการเสพสื่อโป๊และจินตนาการทางเพศ ซึ่งมีผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 1,422 คน อยู่ในวัยที่หลากหลาย (ส่วนมากอยู่ในวัยเรียน) เป็นผู้ชายประมาณ 23.6 % และเป็นผู้หญิงประมาณ 76.4% ซึ่งในบทความนี้ผู้เขียนจะเจาะจงไปยังพื้นที่รสนิยมอันสร้างข้อถกเถียงออนไลน์ในช่วงเวลาที่ผ่านมาว่า
หากเรามีแฟนตาซีทางเพศกับสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ในชีวิตจริง อะไรคือเส้นแบ่งระหว่างอิสระภาพในการเสพและสร้างสื่อสนองจินตนาการ และแบบไหนจึงจะเรียกว่าการสนับสนุนอาชญากรรม
มีอะไรน่าสนใจในคำตอบของแบบสอบถามบ้าง ?
จากแบบสอบถามที่มีตัวเลือกจินตนาการทางเพศรูปแบบต่างๆ กว่า 60 รูปแบบ พบว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่มีรสนิยมชอบการแสดงว่าถูกข่มขืน (Rape Fantasy) ด้วยจำนวนตัวเลข 14.9% โดยในที่นี้ Rape fantasy หมายถึง ความชื่นชอบในการดูสื่อโป๊ที่มีลักษณะเป็นการข่มขืน หรือมีความต้องการให้คู่นอนของตนเองกระทำกับตนในลักษณะขืนใจ ส่วนแฟนตาซีอีกประเภทที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันก็คือ Abuse fantasy (การมีเพศสัมพันธ์แบบใช้ความรุนแรงทางอำนาจ) ไม่ว่าจะเป็นการลักหลับหรือตัวละครแสดงออกมาอย่างไม่เต็มใจ มีผู้ตอบแบบสอบถามว่าสนใจแฟนตาซีลักษณะนี้มากถึง 19.6% และมีเปอร์เซนต์ที่สูงเมื่อเทียบกับแฟนตาซีที่ตัวอื่น ๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย ขัดต่อสิทธิมนุษยชนหรือสิทธิเด็ก ไปจนถึงการก้าวล่วงทางอำนาจหรือไม่ได้มาจากความสมัครใจของผู้คนที่เกี่ยวข้อง เช่น การแอบถ่าย (Voyeur) และ การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว (Incest)
ผู้เขียนจึงพยายามสร้างความเข้าใจว่าเหตุใด การข่มขืนที่ถือเป็นหนึ่งในอาชญากรรมในสังคมถึงได้มีการถ่ายทอดซ้ำแล้วซ้ำเล่าแบบที่เราสามารถเข้าเว็บแล้วหลับตาสุ่มก็กดเจอ นอกจากนี้ในสื่ออย่างนิยายแฟนฟิคที่มีฉากติดเรท (ฉาก NC) ก็สามารถพบเห็นเรื่องราวการข่มขืนได้กลาดเกลื่อนไม่ต่างกัน หรือละครน้ำเน่าที่ไม่ได้นับว่าเป็นสื่อโป๊แม้แต่น้อย ก็ได้นำการข่มขืนมาทำให้เป็นเรื่องน่าฝันหวาน เป็นบ่อเกิดของความรักของคนทั้งสองคน ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วเหยื่อจากการข่มขืนไม่ได้มีความสุขเลยแม้แต่น้อย ไม่ได้ก่อให้เกิดความรักใด ๆ ทั้งนั้น มีแต่บาดแผลและความเจ็บปวด
สำหรับเรื่อง Rape Fantasy นั้น เป็นจินตนาการทางเพศที่นักจิตวิทยาหลาย ๆ คน เช่น Jenny M Bivona, Joseph W Critelli และ Michael J Clark เชื่อว่ามันเป็นเรื่องปกติในการที่เราอาจจะมีความอยากในการถูกบังคับขืนใจ ในปี 2012 มีผลการวิจัยจาก Notre Dame and the University of North Texas อธิบายถึงการมี Rape fantasy ในเพศหญิง ว่าสาเหตุมีสามข้อด้วยกัน
1. Sexual Blame Avoidance: การตีตัวออกห่างจากเรื่องเพศ ด้วยความเชื่อของสังคมที่จำกัดกรอบการแสดงออกของทางเพศเพศหญิง เพราะการถูกข่มขืน เราเป็นคนที่ถูกบังคับ เราไม่ได้ฝักใฝ่ในเรื่องเพศซะหน่อย เราจึงไม่ได้เป็นคนที่ผิดอะไร
2. Sexual Desirability: ความปรารถนาทางเพศ เป็นความรู้สึกของการเพิ่มความมั่นใจในเสน่ห์และความน่าหลงใหลในตนเอง ฉันทำให้ผู้ชายหลงรักฉัน ฉันเป็นคนที่ฮอตมาก
3. Sexual Openness: การเปิดกว้างในแฟนตาซี ยอมรับในจินตนาการนั้น ๆ โดยไม่มีเรื่องของความกดดัน ความรู้สึกผิด หรือความอายเข้ามาเกี่ยวข้อง เราสามารถมีความสุขไปโดยไม่มีขอบเขตกั้น เพราะมันเป็นแฟนตาซีที่อยู่ในหัว จะคิดยังไงอะไรก็ได้
จากเหตุผลตรงนี้ก็เห็นอะไรที่น่าสนใจอยู่บ้าง เช่น เรื่องที่ตีตัวออกห่างจากเรื่องเพศ Sexual Blame Avoidance เพราะมีความเชื่อของสังคมที่ว่าผู้หญิงนั้นไม่ควรฝักใฝ่ในเรื่องเพศ จะทำให้ดูไม่งาม และในเรื่องของ Sexual Desirability ที่เชื่อว่าผู้หญิงหลาย ๆ คนรับอิทธิพลมาจากนิยายประโลมโลก (Romance Fiction) ที่นางเอกทำให้พระเอกที่ดูเป็นผู้ชายกล้าหาญ อันตราย ๆ แมน ๆ เคลิบเคลิ้มและคล้อยตามไปกับเธอ จนท้ายที่สุดก็ได้แต่งงานมีลูก สิ่งเหล่านี้ได้สร้างภาพจำและการเหมารวม (Stereotype) ในสังคมว่า ผู้ชายต้องแมน ๆ ในขณะที่ผู้หญิงต้องเป็นเจ้าหญิงรอให้เจ้าชายขี่ม้าขาวมาช่วย
และเรื่อง Sexual Openness ก็เป็นอะไรที่ขัดแย้งกับ Sexual Blame Avoidance แต่เป็นเรื่องที่ค่อนข้างเป็นปัจจุบันมาก ๆ หรือเกิดขึ้นในสังคมที่ค่อนข้างเปิดกว้างเรื่องเพศ เช่น มันเป็นแฟนตาซีที่อยู่ในหัว จะคิดยังไงอะไรก็ได้ เป็นการปลดล็อคตัวเองจากกรอบของสังคมเดิม ๆ โดยมีสิ่งที่สามารถพอเห็นได้จากความนิยมในการโรลเพลย์ ที่อยู่ในภายใต้ความยินยอมของคนที่จะร่วมโรลเพลย์กัน (โรลเพลย์ คือ การสวมบทบาทเป็นตัวละครใดตัวละครหนึ่ง อาจจะมีคอสตูมหรือของเล่นมาใช้เพื่อเสริมอรรถรส เช่น โรลเพลย์แสดงเป็นโจรบุกเข้ามาปล้นและขืนใจเจ้าของบ้าน)
ทั้งนี้ ตัดภาพจากจินตนาการมาสู่ชีวิตจริง การข่มขืนในชีวิตจริงที่พบได้บ่อยที่สุดก็คือ การข่มขืนในคู่รัก ที่ถือว่าเป็นอาชญากรรมแฝง (Hidden crime) ซึ่งแตกต่างจากในหนังและแฟนตาซีมาก ๆ มันไม่ใช่แค่เรื่องบนเตียง มันอาจลามไปถึงการที่เราต้องตัดขาดจากเพื่อน จากโลกภายนอก การถูกกดดันให้ทำในสิ่งต่าง ๆ โดยคู่ของเรา อาจจะเป็นตัวแปรจากศาสนา ครอบครัว หรือตัวแปรจากความเป็นคู่กัน ที่ต้องยอมเพื่อรักษาความสัมพันธ์ไว้ หรือจะเป็นตัวแปรจากการแต่งงาน เช่น คิดว่าหากหย่าไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น มันมีสถานการณ์ในอนาคตเข้ามาให้คิด แล้วเราเป็นผู้หญิงแล้วอาจถูกด่าทอโดยสังคม มันมีกรอบของสังคมที่ครอบไว้อีกชั้นหนึ่ง ชีวิตจริงกับแฟนตาซีเลยไม่ได้สอดคล้องกันเสมอไป
สิ่งที่น่าตั้งคำถามก็คือ การเสพสื่อข่มขืนในปัจจุบันนั้น ถูกผู้เสพมองว่าเป็นเรื่องปกติหรือไม่? เป็นสิ่งที่ควรตระหนักและแยกแยะได้ขนาดไหน หากการข่มขืนส่วนมากยังคงมาจากคนรู้จักหรือคู่รัก?
หากปัจเจกมองว่าปกติ สังคมจะมองว่าการใช้อำนาจในเพศสัมพันธ์นั้นปกติไปด้วยหรือไม่? และถ้าหากไม่ใช่ทุกคนที่จะมีวิจารณญาณพอที่จะฉุกคิด ตัวสังคมเอง หรือผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมหนังโป๊ ควรร่วมรับผิดชอบต่อส่วนรวมอย่างไร?
ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามที่มีรสนิยมชอบ Rape Fantasy ท่านหนึ่งบอกกับเราว่า
“ต่อให้เรามีจินตนาการทางเพศแบบนี้ แต่ในชีวิตจริงเราก็ไม่อยากถูกข่มขืนจริง ๆ หรอกนะ
ไม่มีใครอยากถูกข่มขืนจริง ๆ หรอก”
ส่วนแฟนตาซีอันดับที่สองรองจากการข่มขืนและใช้ความรุนแรงคือการแอบถ่าย แอบส่อง (Voyeur) คิดเป็น 10.3% ทั้งนี้อาจจะเป็นคลิปหลุดระหว่างมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอน หรืออาจจะมาจากการถูกตั้งกล้องแอบถ่ายโดยไม่รู้ตัว นอกจากการแอบถ่ายจริงๆ แล้ว ก็ยังมีการแสดงหรือกำกับว่าถูกแอบถ่ายอีกด้วย โดยสื่อประเภทแอบถ่ายนี้สามารถหาได้โดยทั่วไปในเว็บไซต์สื่อโป๊ ไปจนถึงการตั้งกลุ่มซื้อขายคลิปแอบถ่ายในกลุ่ม LINE
ในกรณีของการแอบถ่าย มีความชัดเจนว่า เป็นการกระทำที่ไม่ได้มาจากความยินยอมใจของผู้ที่อยู่ในคลิปวิดีโอหรือในภาพเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิ์ และสร้างบาดแผลทางจิตใจต่อผู้ที่ถูกเป็นเหยื่อ
เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าคลิปที่ถูกปล่อยออกไปมีคนได้ดูกี่คนแล้ว หรือมีคนได้ดาวน์โหลดเก็บไว้อีกกี่คนถึงแม้ว่าคลิปนั้นได้ถูกแจ้งให้ลบทิ้งไปแล้ว
ซึ่งเราถามผู้ตอบแบบสอบถามว่า เห็นด้วยหรือไม่หากเว็บโป๊จะมีนโนยายแบนคลิปแอบถ่ายโดยอัตโนมัติ ความเห็นที่ต้องการให้แบนโดยอัตโนมัติมี 91.5% ส่วนอีก 8.5% นั้นไม่เห็นด้วยกับการแบนสิ่งผิดกฎหมายนี้ออกจากเว็บโป๊
แนวคิดเรื่องการแอบถ่ายไม่ใช่หนังโป๊ นำไปสู่การเคลื่อนไหวทางสังคมในชีวิตจริง
มีเคสจาก #NotYourPorn https://notyourporn.com/ ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวของเหยื่อที่ถูกนำคลิปแอบถ่าย/ถูกแฮ็คโทรศัพท์และนำภาพถ่ายส่วนตัวไปลงในเว็บโป๊ต่าง ๆ โดยที่พวกเธอไม่รู้ตัว แฟนเก่าของพวกเธอหรือคนที่อัพโหลดก็ได้เงินจากยอดวิวคลิป ทั้ง ๆ ที่มันไม่ได้มาจากความยินยอมด้วยซ้ำ แย่ไปกว่านั้นมีคลิปของผู้เยาว์ที่อายุต่ำกว่า 18 ปีอีกด้วย กลุ่มองค์กรนี้จึงต้องการให้เกิดการควบคุมเว็บโป๊และตัวอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวดมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่สอดส่องเฝ้าดู แต่ต้องกำจัดเนื้อหาที่ผิดกฎหมายอย่างทันที
Rose Kalemba หนึ่งในเหยื่อได้ให้สัมภาษณ์ต่อ BBC ถึงฝันร้ายที่สุดในชีวิตของเธอที่ไม่ได้จบเพียงแค่การถูกข่มขืนตอนอายุ 14 แต่คลิปนั้นก็ยังถูกเอาเผยแพร่ในเว็บโป๊ในหมวด ‘Secret Recording’ และทางเว็บโป๊ขาใหญ่อย่าง Pornhub เองก็ไม่ได้มีการจัดการต่อคลิปนั้นแต่อย่างใด รวมถึงคลิปของผู้เสียหายคนอื่น ๆ ใน ‘หมวด’ หนังโป๊อันนี้ด้วย
“LEAKED SEX TAPES is not a genre.”
“คลิปหลุดไม่ใช่หมวดหนัง”
ประเภทแฟนตาซีสีเทาอันดับที่สามคือแนวเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวและญาติพี่น้อง (Incest) มีจำนวน 8.9% จากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด
การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวและญาติพี่น้องในมุมมองหนังโป๊ (Fauxcest – Fictional Incest Porn) ก็คือการจับนักแสดงที่ไม่เกี่ยวข้องกันทางสายเลือดมาถ่ายแบบปกติ แต่แค่แปะป้ายชื่อเรื่องไว้ประมาณ “พ่อจ๋าหนูอยากได้” “แม่เลี้ยงสุดสวยหน้าอกใหญ่ xxx” “พี่ชายของฉันสุดจะขี้x” อะไรเทือก ๆ นี้ แค่ชี้ให้เห็นว่ามันมีคนในครอบครัวมีเพศสัมพันธ์กันพอ ซึ่งบางครั้ง ตัวหนังต้นฉบับที่เป็นภาษาต่างประเทศ อาจไม่ได้จัดวางความสัมพันธ์ของตัวละครไว้ในลักษณะ Incest แต่เมื่อถูกก็อปปี้มาใส่ในเว็บโป๊ไทย กลับเกิดการตั้งชื่อให้เป็นเรื่อง Incest เพื่อเรียกยอดวิวและเอาใจรสนิยมคนไทยโดยเฉพาะ
Jacky St. James ผู้กำกับหนังโป๊เฟมินิสต์ ได้ออกมาพูดถึงเรื่อง Incest ไว้ว่า
“มันเป็นหนึ่งในสิ่งต้องห้ามที่ไม่มีทางทำได้ในสังคมจริง ๆ และเมื่อกล่าวถึงสิ่งต้องห้าม มันก็มักจะน่าดึงดูดใจถูกไหมล่ะ ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ”
นอกจากผู้กำกับแล้ว นักแสดงอย่าง Gia Paige ก็มีความเห็นที่จะไม่ทำ Fauxcest ด้วยเหตุผลที่ว่า ในช่วงแรก ๆ ที่เธอเข้าวงการมานั้น แนว Incest ยังไม่ได้ดังเท่าในปัจจุบัน ในตอนนี้แทบจะทุก ๆ เรื่องที่เธอถูกจองตัวไว้ต่างเป็นแนวมีอะไรกับคนในครอบครัวหมด และแฟน ๆ ของเธอเริ่มทำตัวประหลาด ขึ้นเรื่อย ๆ
เธอได้เล่าว่า
“มีแฟนคลับคนหนึ่งบอกกับฉันว่าเขากับภรรยาได้กักตัวลูกของเขาไว้ จนกว่าเขาจะโตพอที่จะขึ้นเตียงแล้วร่วมมีอะไรกับพวกเขา ฉันตกใจมาก ๆ เหมือนกับว่าฉันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กคนนี้ถูกล่วงละเมิดทางเพศเลย”
หลังจากนั้นเป็นต้นมาเธอยอมให้ค่ายหักคิวของเธอลงถึงครึ่งนึง เธอปฏิเสธการเล่นบทแนวนี้และจะไม่รับเล่นอีกต่อไป
“เทคโนโลยีอยู่ใกล้แค่ปลายนิ้ว ฉันไม่อยากให้เด็กคนไหนก็ตามมาเห็นฉันในหนังพยายามเกลี้ยกล่อมให้พี่ชายมาเอากับฉัน และทำให้เด็กเข้าใจว่ามันโอเคนะที่เขาจะกลับไปทำตามที่บ้านกับน้องสาวหรือญาติของเขา ฉันรักวงการหนังโป๊นะ แต่ฉันก็หวังว่าอยากให้เทรนด์นี้มันตาย ๆ ไปซะ”
มันดูจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเพียงเพราะการตั้งชื่อเรื่องจริง ๆ ทั้งที่เนื้อเรื่องภายในมันก็ดูไม่ได้ต่างอะไรจากหนังโป๊ทั่วไป แต่สิ่งที่น่าสลดก็คือคนที่ผลิตสื่อเหล่านี้ออกมา ยอมที่จะขายฝันปลอม ๆ ของผู้บริโภคทิ้งแล้วเปลี่ยนชื่อเรื่องไปเป็นอะไรก็ได้ที่ ‘รับผิดชอบต่อสังคม’ กว่านี้ อย่างน้อยที่สุดก็อาจเซฟเด็กคนหนึ่งจากผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตก็เป็นได้
ในอันดับสุดท้าย ‘การมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก’ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นแฟนตาซีที่มีผู้ตอบแบบสอบถามนิยมเท่าหมวดอื่น แต่ยังสามารถสังเกตได้ว่า สื่อที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์กับเด็กยังคงถูกเสพอยู่ไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นตามสื่อโป๊ หรือแฟนฟิคชั่นก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องน่าใคร่ครวญว่า ไม่ว่าจะเสพสื่อเนื้อหาแบบนี้ทางช่องไหนก็ตาม ผู้เขียนเล็งเห็นความเข้าใจและความพยายามที่จะบิดผันและหาความชอบธรรมต่าง ๆ เพื่อให้ ‘การมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก’ กลายเป็นรสนิยมที่ยอมรับได้ตามบทสนทนาบนโลกออนไลน์
ในความเป็นจริงแล้ว คนที่ชอบการมีเพศสัมพันธ์กับเด็กนั้น บางส่วนอาจจะเป็นการแสดงออกของโรคทางจิตเวชซึ่งสมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกา (American Psychiatric Association) ได้กำหนดไว้ว่า Pedophilic disorder นั้นมีลักษณะอาการดังนี้
อาการของ Pedophilia จะอยากมีเพศสัมพันธ์กับเด็กอายุก่อนวัยเจริญพันธุ์ ในเด็กผู้หญิงราวๆ อายุ 10-11 ปี ในขณะที่เด็กผู้ชายอายุราวๆ 11-12 ปี หรือคร่าว ๆ คือ อายุ 13 ขวบลงไป โดยคนที่ถูกมองว่ามีอาการ ‘ใคร่เด็ก’ นี้ต้องมีอายุอย่างน้อย 16 ปี และแก่กว่าเด็กที่จ้องจะระบายความใคร่อย่างน้อย 5 ปี แต่ในเรื่องของอายุเราก็ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดขนาดนั้น จะมีสิ่งที่เรียกว่า Age of Consent อยู่ซึ่งไม่เท่ากันในแต่ละประเทศ ก็จะขึ้นอยู่กันประเทศนั้น ๆ ว่าจะมีการตัดสินอย่างไร
ถ้าหากพูดถึงในอุตสาหกรรมหนังโป๊ก็จะเป็นแนวของ Fake Child Porn การนำนักแสดงหน้าเด็กมาแสดงแบบโกงอายุ (เพราะเป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่าการลงคลิปของผู้เยาว์ในเว็บโป๊เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย และไม่ได้เกี่ยวกับ Age of Consent ในแต่ละประเทศเลย) ถ้าจะให้เข้าข่ายจริงๆ ต้องเป็นการครอบครองรูป/คลิปนู้ดของผู้เยาว์ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี โดยไม่จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์เข้ามาเกี่ยวข้อง และในกรณีนี้เรื่อง Age of Consent ของแต่ละพื้นที่ก็ไม่สามารถนำมาแก้ต่างทางกฎหมายได้ หากอายุต่ำกว่า 18 ปีก็คือตัดสินผิดลูกเดียว แต่ก็ยังคงมีคลิปและภาพถ่ายของผู้เยาว์อยู่มากมายตามอินเตอร์เน็ต และไม่ใช่เพียงแค่เว็บโป๊เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงโซเชียลมีเดียต่าง ๆ
ซ้ำร้าย ผู้เผยแพร่อาจจะเป็นของผู้ปกครองหรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเด็กคนนั้น
การใคร่เด็กปรากฎได้ในสื่อหลากหลายชนิด ไม่ใช่เพียงแค่หนังโป๊ แต่รวมไปถึงการ์ตูน นิยาย แฟนฟิค มังงะ โดจิน เกมส์ มีเยอะมาก ๆ จนน่าตกใจ ไม่ว่าจะเป็นมังงะที่ตัวละครอายุ 11 แต่มีจิตใจเป็นคนอายุ 25 ซึ่งก็มีคนเคยถกเถียงว่านับเป็น Pedophilia หรือไม่ เกิดบทสนทนาเช่น “การหากินทางเพศกับตัวละครเด็กมันก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าอ่านสักเท่าไหร่อยู่แล้ว” “เรื่องจิตใจที่เอามาใส่ในตัวละครเด็กมันเป็นแค่ข้ออ้างที่จะไม่ดูเป็นคนที่เป็นกามวิปริตเท่านั้นเอง”
เบสท์ บุษยาภา ศรีสมพงษ์ นักกฎหมายผู้ก่อตั้งองค์กร SHero ได้ให้ความเห็นถึงปัญหาของเฮ็นไต (หนังโป๊แนวการ์ตูน) รวมไปถึงรสนิยมข่มขืนและใคร่เด็กที่เกิดขึ้นในสังคม ในเรื่องของปัจจัยของการข่มขืน ที่มีทั้งเรื่องการใช้อำนาจ ความไม่เท่าเทียมทางเพศ และบรรทัดฐานของสังคม ปัญหาของเฮ็นไตคือเป็นสื่อที่ฉายภาพของปิตาธิปไตย (Patriarchy) และนำเสนอการมองบุคคลบางกลุ่มเป็น Sex Object จนในที่สุดสื่อเหล่านี้ก็นำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศ รวมถึงการที่สื่อต่าง ๆ นำเสนอเรื่องเหล่านี้ สนับสนุนการกระทำเหล่านี้จนกลายเป็นเรื่องปกติ ทำให้สังคมไม่ตระหนักว่า การล่วงละเมิดทางเพศเป็นเรื่องที่จริงจัง
นอกจากนี้ Emma Thomas นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศ ได้กล่าวไว้ถึงเรื่อง Rape Culture ที่เกิดขึ้นจากสื่อต่าง ๆ เช่น เฮ็นไต ละครหลังข่าว “เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ว่า เฮ็นไตถึงแม้ว่าจะไม่มีผู้ถูกล่วงละเมิดขณะถ่ายทำ แต่คนส่วนใหญ่ก็สามารถเห็นได้ว่า เฮ็นไตถูกสร้างมาเพื่อตอบสนอง มุมมองของผู้ชาย (Male Gaze)” การสร้างสื่อที่ใช้ ‘มุมมองของผู้ชาย’ ทำให้ผู้ที่ได้รับเกิดความคิดบิดเบี้ยว (และความคิดเบียว ๆ)
หลาย ๆ อย่าง เช่น สนับสนุนการมีเพศสัมพันธ์กับผู้เยาว์ การมองว่าเพศหญิงก็เหมือนกับทาส และอาจกลายเป็นเรื่องน่าวิตกขึ้นมาหากเด็กผู้ชายหลาย ๆ คนเข้าใจว่า “มุมมองแบบนี้เป็นเรื่องปกติที่ผู้ชายก็มองกัน”
เรื่องของการใคร่เด็กในปัจจุบันยังไม่สามารถนับมาเป็นรสนิยมหรือแฟนตาซีได้
เพราะว่ามันมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ’ เข้ามาเกี่ยวข้อง ความเป็นผู้ใหญ่-ความเป็นเด็ก แน่นอนว่าสิ่งนี้เป็นตัวแปรสำคัญของเรื่องนี้ อำนาจของความเป็นผู้ใหญ่นั้นจะคอยกดขี่เด็ก ลองคิดดูว่าในชีวิตจริงเรามีเด็กในปกครอง และเรามีความสัมพันธ์แบบนี้กับเด็ก มันเป็นอันตรายต่อเด็กคนนั้นขนาดไหน consent ความยินยอมก็ไม่สามารถเอามาพูดแก้ต่างอะไรตรงนี้ได้ เพราะเด็กนั้นอายุต่ำกว่าเกณฑ์จริง ๆ เอาแค่เป็นผู้เยาว์ก็ผิดกฎหมายแล้ว สอดคล้องกับข่าวข่มขืนเด็กที่ผุดขึ้นมาเยอะขึ้นเรื่อย ๆ และหลังจากการสืบสวนก็มีการแก้ต่างว่าเด็กนั้นสมยอมให้ถูกกระทำ ข้ออ้างเรื่องความยินยอมนี้เป็นวาทกรรมที่ฉกฉวยโอกาสจากความไร้เดียงสาของเด็ก และกดขี่เด็กด้วยความกลัว
แตก็มีเส้นบาง ๆ ของการก่ออาชญากรรมนี้ บางทีคนที่ข่มขืนเด็กก็ไม่ใช่กลุ่มที่มีอาการ Pedophile เสมอไป แต่เป็นคนที่เห็นช่องว่างในเรื่องของการใช้อำนาจและการบังคับเลยเลือกเหยื่อที่สู้ตัวเองไม่ได้ก็เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการข่มขืน หรือจะเป็นใคร่เด็กจริง ๆ การใช้อำนาจทั้งสองรูปแบบล้วนเป็นเรื่องที่อันตรายหากจะให้การยอมรับในสังคม
“ผู้เขียนอยากจะขอย้ำอีกครั้งว่า Pedophilia ไม่ใช่รสนิยมอย่างแน่นอน”
ผู้เขียนมองว่ามีความเชื่อมโยงกัน หากความใคร่เด็กนำไปสู่การข่มขืน การแอบถ่ายนำไปสู่การข่มขืน ทั้งหมดทั้งมวลก็มีความเกี่ยวข้องกันในด้านของ ‘ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ’ ที่พอมาเป็นเรื่องในชีวิตจริงแล้วมันก็ไม่ได้ดูน่าเสียวน่าตื่นเต้นเหมือนกับในหนัง ยิ่งกับเหยื่อที่โดนกระทำแล้ว มันก็คือนรกขุมหนึ่งดี ๆ นี่เอง
แต่ก็มีคนตั้งคำถามกับผู้เขียนว่า “การดูหนังโป๊ก็ไม่ต่างอะไรจากการเล่นเกมปล้นฆ่า เราต้องแยกแยะได้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ ตอนเล่นเกมเราก็รู้ว่าการปล้นไล่ฆ่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่เราก็ยังสามารถสนุกไปกับมันได้ไหมล่ะ”
ความแตกต่างของสื่อปล้นฆ่ากับสื่อละเมิดทางเพศต่างกันตรงที่ การปล้นฆ่าเป็นอาชญากรรมที่โจ่งแจ้งและทั้งสังคมเห็นพ้องต้องกันว่าผิดกฎหมายอย่างแน่นอน การชิงทรัพย์แล้วคร่าชีวิตผิดกฎหมายอาญานั้น สังคมช่วยสอดส่องและพึงเห็นว่าเป็นสิ่งที่รุนแรง ในขณะที่กรณีล่วงละเมิดทางเพศและข่มขืนมักถูกเพิกเฉยในสังคม บ่อยครั้งสังคมเองก็ไม่นับว่าเป็นการละเมิดและปกป้องผู้กระทำด้วยซ้ำไป
ยกตัวอย่างเช่น กรณี Hidden Crime หรือการข่มขืนในคู่รัก ซึ่งสามารถพบเห็นได้บ่อยครั้ง แต่ตำรวจเพิกเฉย ไม่รับแจ้งความ เพราะเห็นว่า ‘เป็นเรื่องในครอบครัว’ การล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นโดยคนใกล้ชิดเป็นส่วนมาก เพราะสามารถเลือกเหยื่อที่ใกล้ตัวและปกปิดความผิดได้ ในกรณีที่เกิดขึ้นกับเด็ก บางทีเด็กยังไม่รู้เลยว่าการล่วงละเมิดทางเพศคืออะไร และคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเป็นเรื่องปกติในสังคม
ถ้าหากลองเปรียบเทียบโดยยกเรื่องกฎหมายขึ้นมา การสืบสวนเพื่อหาฆาตรกรในการปล้นฆ่านั้นง่ายกว่า รวมถึงในทางกฎหมายสามารถสืบเจตนาและตัดสินได้ชัดกว่าในกรณีล่วงละเมิดทางเพศ ที่จำเลยสามารถโทษเหยื่อว่ามีการสมยอม และการสืบหาเจตนาเพื่อตัดสินโทษก็จะมีความพร่ามัว และยุ่งยากมากขึ้น ดังนั้นการเปรียบเทียบกันระหว่างการเล่นเกมปล้นฆ่ากับการดูหนังโป๊ เป็นเรื่องที่ซับซ้อนเมื่อนำมาถกเถียงกันในเรื่องผลกระทบที่ตามมาของสื่อทั้งสองนี้
ผู้เขียนคิดว่า ถ้าหากทุกคนแยกแยะได้คงจะเป็นเรื่องที่ดีมาก ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกมหรือดูหนังโป๊อยู่ในห้อง แต่คนที่แยกแยะได้คนเดียวมันคงไม่พอสำหรับสังคมนี้ โดยที่เราจะไปโทษสื่อเกมส์สื่อหนังโป๊ว่าเป็นความผิดของเขาทั้งหมดก็ไม่ได้ เพราะความคิดความอ่านของเราทุกคนก็ไม่ได้ถูกประกอบสร้างมาจากสื่ออย่างเดียว มันเป็นเพียงจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งในภาพใหญ่ของคน ๆ หนึ่งก็เท่านั้น
ยกตัวอย่างเช่น มีแฟนฟิคชั่นและนิยายมากมายที่เกี่ยวข้องกับการมีเพศสัมพันธ์กับเด็กและทำให้มันโรแมนติก (โดยบางครั้งผู้เขียนเองก็เป็นเด็ก) แต่มีนิยายเพียงไม่กี่เรื่องที่พูดถึงบาดแผลจากการถูกล่อลวงให้มีเพศสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ เช่น “สวนสนุกแห่งการลงฑัณฑ์ รักในฝันของฝางซือฉี” เรื่องราวที่อิงมาจากเค้าโครงเรื่องจริงของเด็กสาววัย 13 ปี ที่มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับครูสอนภาษาจีนนานกว่า 5 ปี เธอถูกล่อลวงว่าสถานที่ที่เธออยู่คือสวนสนุกอันเต็มไปด้วยรักแท้ จนท้ายที่สุดจิตใจของเธอก็แตกสลายไม่มีชิ้นดี นักเขียนเรื่องนี้ หลิวอี้หาน เธอตัดสินใจจากโลกนี้ไปเมื่อปี 2017 หลังจากเขียนนิยายเล่มนี้เสร็จ โดยมีคนเชื่อมโยงว่าโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในนิยายคือเรื่องจริงของชีวิตเธอ
ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร แต่หากเทียบกันแล้ว สวนสนุกแห่งการลงฑัณฑ์ เป็นเพียงนิยาย 1 เล่ม ที่เข้ามาเสนอ “มุมมองอีกมุม” ท่ามกลางมหาสมุทรสื่อโป๊ในโลกอินเตอร์เน็ท
สามารถเห็นได้ว่ารสนิยมที่ขัดต่อกฎหมายและสิทธิมนุษยชนของสังคมนั้นยังถูกเสพอยู่ โดยที่บางคนอาจคุ้นชินจนไม่เห็นว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องผิด หรือกว่าจะเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผิดก็ใช้เวลานาน การปรับตัวจากการเสพสื่อที่คุ้นชินนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะการรับรู้จากสื่อนั้นได้ค่อย ๆ ซึมซับเข้าไปในผู้ที่ดูทีละนิด ๆ เมื่อนานวันเข้าก็มักจะมีบางส่วนที่อยู่ภายใต้จิตสำนึกและความคิดของเรา แต่การเลือกดูสื่อก็มีความน่าสนใจในตัวของมัน ว่าเราเลือกดูหนังโป๊ตามความชอบอยู่แล้ว หรือหนังโป๊เป็นตัวสร้างรสนิยมให้เราดูในสิ่งนั้นต่อ ๆ ไป
มีคำถามยอดฮิตในโซเชียล “ทำไมเฟมินิสต์ยุคนี้ถึงประสาทxกับเรื่องสื่อจัง” เรื่องสื่อนั้นไม่ได้ดูเพียงแค่ฉายออกมาให้คนดูแล้ว คนดูได้รับอะไร มีพฤติกรรมอย่างไร แต่จะมองรวมไปถึงเบื้องหลังของสื่อด้วย จึงมีการออกมาพูดถึง ‘การแสวงหาผลประโยชน์’ (Human Exploitation) ภายในสื่อโป๊หลาย ๆ ครั้ง เพราะสื่อโป๊เกี่ยวโยงไปถึงการค้ามนุษย์ (Sex Trafficking) และอาชญากรรมต่าง ๆ ผลผลิตก็คือ หนังโป๊เรื่องหนึ่ง แต่เบื้องหลังก็คือผู้แสดงไม่สมยอม (Non-Consensual Porn)
อย่างเช่นในกรณีของ NthRoom ห้องแชทแชร์ภาพโป๊และคลิปอนาจาร ที่เหยื่อส่วนใหญ่ยังไม่บรรลุนิติภาวะและโดนบังคับมา ถ้าหากไม่ทำตามก็จะแบล็กเมล์ปล่อยข้อมูลส่วนตัว อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ กรุ๊ป LINE คลิปโป๊เด็ก คลิปแอบถ่าย ที่สามารถเห็นได้เกลื่อนกลาดในประเทศไทย ซึ่งเรื่องผิดกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชน เฟมินิสต์ไม่นิ่งเฉยอยู่แล้ว ถ้าจะให้พูดให้ถูก ‘ทุกคน’ ไม่ควรนิ่งเฉยต่อเรื่องเหล่านี้
ผู้ตอบแบบสอบถามให้ความเห็นที่หลากหลายกับเราต่อกรณีการเสพสื่อโป๊ที่มีเนื้อหาขัดต่อกฎหมายและสิทธิมนุษยชน
“เรารู้สึกว่าเรากำลังสนับสนุนอาชญากรรมให้เกิดขึ้นเพียงเพราะดูหนังโป๊”
“เรารู้สึกว่ามันก็ไม่ผิดนะที่จะมีจินตนาการทางเพศแบบนี้ มันอยู่ในหัวของเราไม่ได้ไประรานใคร”
“เรามีรสนิยมชื่นชอบในสิ่งที่ผิดศีลธรรม สำเร็จความใคร่ในสิ่งที่สังคมเห็นมิชอบ แต่เราก็ยังคงมีความสุขกับมันอยู่นะ”
คำว่า ‘รสนิยม’ มีมิติมุมมองที่กว้างมาก แต่เมื่อกลายมาเป็นคำว่า ‘รสนิยมและจินตนาการทางเพศ’ ที่พื้นที่สีเทาตรงนั้น ก่อให้เกิดอาชญากรรมแบบวงกว้าง และเป็นสื่อที่เรียกได้ว่าหล่อหลอมพฤติกรรมความชอบและเปรียบเสมือนคุณครูคนแรกที่สอนเรื่องเพศศึกษา ยิ่งในปัจจุบันเรื่อง Early Exposure ต่อสื่อโป๊นั้นเกิดขึ้นกับเด็กที่อายุน้อยลงเรื่อย ๆ แต่ในทางกลับกันก็สามารถเห็นได้ว่าคนในสังคมเริ่มมีความตระหนักรู้มากขึ้นกับรสนิยมของตนและเนื้อหาที่ขัดต่อกฎหมายและสิทธิมนุษยชน ผู้เขียนเชื่อว่า หากสังคมช่วยหล่อหลอมให้เด็กคนหนึ่งมีความตระหนักรู้ต่อสื่อโป๊ที่ตนได้ดู สังคมมี Sex Education ที่พร้อม ปัญหาเรื่อง Early Exposure จะถูกลดทอนลง พร้อมกับรสนิยมและความเชื่อที่ผิด ๆ ในเรื่องเพศด้วยเช่นกัน ในบางมิติสื่อโป๊ก็สามารถเป็นสื่อทางเพศที่ดีได้ หากคนในอุตสาหกรรมสื่อโป๊เลือกที่จะทำในสิ่งที่รับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น
สุดท้ายนี้ แม้จะยังไม่มีใครสามารถสรุปได้แน่ชัดว่าจินตนาการทางเพศที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการขัดต่อกฎหมายและสิทธิมนุษยชนสรุปแล้วทำให้บุคคลนั้นเป็นคนไม่ดีหรือไม่ แต่สิ่งที่แน่ชัดคือหากเรามีจินตนาการทางเพศและรสนิยมแบบที่ต้องใช้ความระมัดระวังต่อผลกระทบที่อาจเกิดในสังคม (ไม่นับการใคร่เด็กเพราะมันคือภัยสังคม!) สิ่งที่ควรทำคือมีวิจารณญาณและเลือกที่จะไม่เอาการกระทำนั้นไปใช้ในชีวิตจริง
โดยท้ายที่สุดแล้วผู้เขียนเชื่อว่าหากจะทำให้สื่อที่มีเนื้อหาดลใจเรื่องพื้นที่สีเทาทางเพศให้อยู่ต่อไปในสังคมและถ้าอยากให้คนยอมรับได้ อุตสาหกรรมสื่อโป๊ นักคิดนักเขียน ผู้มีอิทธิพลทางความคิดในสังคม ก็ต้องพยายามมากขึ้นในการสร้างความตระหนักรู้ให้มนุษย์ทุกคนมีวิจารณญาณ เพราะถ้าเป็นไปได้ สื่อเหล่านั้นต้องไม่ไปดลใจให้ใครก่ออาชญากรรมหรือกดขี่ผู้อื่น แม้แต่เพียงคนเดียวก็ไม่ควรมี
อ้างอิง
Aurora, S. (2019, Feb 24). Can the Disturbing Rise of Fake Incest Porn Be Stopped?. Retrieved from https://www.thedailybeast.com/can-the-disturbing-rise-of-fake-incest-porn-be-stopped?ref=scroll
Aurora, S. (2017, May 5). ‘Fauxcest’: The Disturbing Rise of Incest-Themed Porn. Retrieved from https://www.thedailybeast.com/fauxcest-the-disturbing-rise-of-incest-themed-porn?ref=scroll.
By The Numbers: Is The Porn Industry Connected To Sex Trafficking?. (2019, July 19). Retrieved from https://fightthenewdrug.org/by-the-numbers-porn-sex-trafficking-connected/.
Choltanukul, T. (2020, May 29). Hentai porn contributes to Thailand’s rape culture, say activists. Retrieved from https://thisrupt.co/society/hentai-porn-contributes-to-rape-culture/?fbclid=IwAR1BSX8KJX54FWCCZA7kSplzgy0DwBy4Idu1t81uZE_TdjHoauInUS4wAyc
Emma, T. (2016, April 1). RAPE CULTURE IN THAILAND. Retrieved from https://undertheropes.com/2016/04/01/rape-culture-in-thailand/?fbclid=IwAR3VLURf7WOHUY-HsIfukE-BYz_jax0iTcKAXzLE3BR4Rz5eHjdSUGPu0zQ
Isaacs, K. (2020, March 9). Pornhub needs to change – or shut down. Retrieved from https://www.theguardian.com/global-development/2020/mar/09/pornhub-needs-to-change-or-shut-down
Jensen, R. (2016, May 25). How porn makes inequality sexually arousing. Retrieved from
What Legally Makes It Child Pornography?. Retrieved from
What The Porn Industry Has To Do With Sexualizing Minors. (2020, Feb 13). Retrieved from https://fightthenewdrug.org/exploitation-industry-has-to-do-with-normalizing-pedophilia/
Bivona, JM et al. “Women’s Rape Fantasies: An Empirical Evaluation of the Major Explanations,” Archives of Sexual Behavior (2012) 41:1107.
Bivona, JM and. “The Nature of Women’s Rape Fantasies: An Analysis of Prevalence, Frequency, and Contents,” Journal of Sex Research (2009) 46:33.
Quadara, A., El-Murr, A., & Latham, J. (2017). The effects of pornography on children and young people.
Comentarios