top of page

สรุปเสวนา กิจกรรม 16 วัน รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงทุกเพศภาวะ : ขบวนการเฟมินิสต์อินเตอร์เน็ต

รูปภาพนักเขียน: FeministaFeminista

Photo Credit : feministinternet.org


องค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน (Sangsan Anakot Yawachon Development Project) ร่วมกับ V-Day Thailand, Thaiconsent และ Feminista จัดเสวนาออนไลน์ เนื่องใน 16 วัน กิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงทุกเพศภาวะ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยในช่วงเช้า เป็นการเสวนาในหัวข้อ "การศึกษาเฟมินิสต์เพื่อความเป็นธรรมทางเพศและทางสังคมและหนทางข้างหน้า" (อ่านสรุปเสวนาได้ที่ http://www.feminista.in.th/post/online-seminar_feminist-education-way-forward)


ส่วนในภาคบ่ายคือหัวข้อ "ขบวนการเฟมินิสต์อินเตอร์เน็ต" โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาคือ


- ดาราณี ทองศิริ ผู้ก่อตั้ง Feminista และผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการสอน School of Feminists

- มีมี่ นักกิจกรรมเยาวชน และ Feminist FooFoo

- แฟร์ ณัฐนพิน ผดุงพัฒโนดม นักศึกษาปริญญาโท และ core team กลุ่ม Visionary


ดำเนินรายการโดย มัจฉา พรอินทร์

- ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน

- ผู้ประสานงานองค์กร V Day ประเทศไทย

- Co-President องค์กรระดับโลก International Family EqualityDay - IFED

- ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการสอน School of Feminists



ดาราณี ทองศิริ ผู้ก่อตั้งเฟมินิสต้าและผู้ร่วมก่อตั้ง School of feminist ได้เล่าถึงความเป็นมาในการใช้อินเตอร์เน็ตเคลื่อนไหวเรื่องเพศเอาไว้ดังนี้


ที่ผ่านมาบรรยากาศของความสนใจเรื่องเฟมินิสต์ในคนรุ่นใหม่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และหลายๆคนเริ่มสนใจเรียนรู้เรื่องเฟมินิสต์ หลังจากนั้นจึงร่วมกับองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชนและ thaiconsent ก่อตั้ง School of Feminists หลักสูตรเรียนรู้แนวคิดเฟมินิสต์และการปฏิบัติการ ขึ้นมาในช่วงที่ประเทศกำลังอยู่ในภาวะโควิด โดยจัดกระบวนการเรียนรู้มาแล้วทั้งหมด 3 รุ่น และนอกจากนี้ก็ยังทำเว็บไซต์เฟมินิสต้าเพื่อเผยแพร่ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเรื่องความเป็นธรรมทางเพศ รวมถึงเป็นนักเขียนและบรรณาธิการงานเขียนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความเป็นธรรมทางเพศ


ในขณะที่ มีมี่ ได้แนะนำตัวเองว่าเป็นนักกิจกรรมเยาวชน และทำกลุ่ม เฟมินิสต์ฟูฟู และงานที่ทำให้ถูกจดจำคือการแสดงสีดาลุยไฟเพื่อต่อต้านปิตาธิปไตย และการโกนหัวเวทีปราศรัยของขบวนการเฟมินิสต์ปลดแอก โดยปัจจุบันทำงานขับเคลื่อนเรื่องสิทธิทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาเยาวชน สิทธิเด็กหรือสิทธิทางเพศ โดยขับเคลื่อนประเด็นเฟมินิสต์เป็นหลัก โดยมองว่าเรื่องสื่อเป็นเรื่องสำคัญและตนก็ใช้พื้นที่สื่อคือ Feministfoofoo ในพื้นที่ instagram เพื่อเแพร่เนื้อหา แล้วก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Feminista เช่นเดียวกัน


ส่วนทางด้านของ แฟร์ ณัฐนพิน ตัวแทนจากกลุ่ม Visionaree ได้เล่าให้ฟังว่า วิชันนารีเป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวของเพื่อนๆในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อผลักดันประเด็นทางเพศ ความเท่าเทียมทางเพศในมหาวิทยาลัย โดยเน้นเป็นหลักคือคอนเท้นท์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลความรู้ เพื่อสร้างการตื่นรู้ ในประเด็นความเป็นธรรมทางเพศ ในประเด็นด้านสิทธิตามสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย โดยมีการเผยแพร่ที่เพจ facebook และ Instagram เป็นหลัก



ทำไมต้องเฟมินิสต์อินเตอร์เน็ต


มัจฉา พรอินทร์ ได้ถามถึงบริบทปัญหา การทำงาน ประสบการณ์ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในการเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมทางเพศและเฟมินิสต์อินเตอร์เน็ตคืออะไร


ดาราณี ได้อธิบายว่า รู้จักกับคำว่า Feminist Internet Movement ตอนที่มีโอกาสได้เข้าร่วม workshop กับองค์กรหนึ่งที่ทำงานเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเฟมินิสต์อินเตอร์เน็ต โดยเป็นการรวมนักกิจกรรมในระดับภูมิภาคเอเชียซึ่งมาจากหลายประเทศ และมาเรียนรู้กันว่าจะทำให้การใช้อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่สำหรับคนทุกเพศได้อย่างไร เพราะว่าตอนนี้ แทบทุกคนใช้ชีวิตน่าจะเกือบครึ่งหนึ่งของวันหรือบางคนน่าจะมากกว่าครึ่งหนึ่งของวันอยู่บนโลกออนไลน์ และโลกออนไลน์กับโลกออฟไลน์ไม่ได้แยกจากกัน และเชื่อมโยงกัน ถ้าเราอยากจะขับเคลื่อนเรื่องของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมประเด็นใดสักประเด็นหนึ่ง อย่างเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องของสมรสเท่าเทียม เราไม่สามารถที่จะทำงานแค่ออฟไลน์ได้อีกต่อไปแล้ว นอกเหนือจากการลงถนนแล้ว ยังมีการสื่อสารออนไลน์ เราใช้การติดแฮชแท็กใน Twitter การโพสต์รูป ธงสีรุ้ง ในการรณรงค์ เป็นการเคลื่อนไหวที่เคลื่อนย้ายมาจากออฟไลน์ แล้วก็มาเพิ่มพื้นที่ ขยายพื้นที่ในการรณรงค์บนรูปแบบออนไลน์ด้วย เพราะฉะนั้นก็เลยพบว่าการรณรงค์ออนไลน์ หรือการเคลื่อนไหวออนไลน์ หรือแม้กระทั่งการที่เราใช้อินเตอร์เน็ตในการทำงานในชีวิตประจำวัน สิ่งที่เจอคือแนวคิดแบบชายเป็นใหญ่ แนวคิดที่มีความเหยียดเพศ กดขี่ทางเพศ หรือแม้กระทั่งการกระทำบางอย่างที่เป็นความรุนแรงทางเพศ มันได้ปรากฎอยู่บนออนไลน์ด้วย


จากที่เคยพบว่า Sexual Harassment หรือว่าวัฒนธรรมการข่มขืน ปรากฏอยู่บนพื้นที่ทางกายภาพ แต่พบว่าปัจจุบัน ได้เข้ามาอยู่บนพื้นที่ออนไลน์ ในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าอยากจะเข้าไปในวงการเกม อยากจะไปเล่นเกม แล้วเราก็พบว่ามันเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยมุกเหยียดเพศ การกีดกันผู้หญิงออกจากพื้นที่เกม หรือแม้กระทั่งการเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาเทคโนโลยีในทางออนไลน์ เรายังพบว่ามันยังมีเรื่องของความไม่เป็นธรรมทางเพศเกิดขึ้น หรือการที่ใช้พื้นที่ออนไลน์รณรณรงค์เรื่อง gender ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม เช่นเรื่องการทำแท้งปลอดภัย เรื่องของการคุกคามทางเพศ ก็จะพบว่า ไม่ว่าจะในฐานะคนทั่วไป คือคนที่ไม่ได้มีสังกัดองค์กรอะไรหรือคนที่มีองค์กร มีเพจ ตั้งกลุ่มของตัวเองขึ้นมา สิ่งที่เจอก็คือ การคุกคามบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการส่งภาพที่ไม่ต้องการมาให้ การส่งข้อความมาก่อกวน หรือว่าการโทรล (Trolling) ก็คือ การมาก่อกวนปั่นหัวซ้ำ ๆ พาพวกหลาย ๆ คนมารุมด่า แล้วก็การเอาภาพไปโพสต์ตามที่ต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้เราเห็นว่ามันมีลักษณะของการเหยียดเพศ มีการกีดกันทางเพศอยู่สูง ก็เลยทำให้มีความสนใจว่า ถ้าเรามี Movement เฟมินิสต์ข้างนอก ที่กำลังขับเคลื่อนเรื่องกฎหมาย เรื่องนโยบายต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน อินเตอร์เน็ตก็คือชีวิตประจำวันส่วนหนึ่ง แล้วก็อาจจะเป็นส่วนใหญ่แล้วด้วย เพราะฉะนั้น Movement ของการทำให้อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ที่มีความเป็นธรรมทางเพศ จึงเป็นส่วนสำคัญที่อยากจะผลักดันให้เกิดขึ้น

ว่า ผู้หญิง LGBTQ คนที่อยู่นอกกรอบเพศ คนที่เป็นชายขอบทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ ใครก็แล้วแต่ที่เข้ามาอยู่บนโลกออนไลน์น ในเมื่อมี accessing คือสามารถที่จะเข้าถึงออนไลน์ได้แล้ว แต่ว่าการใช้งานมันยังถูกกีดกันอยู่ด้วยเหตุแห่งเพศ เลยคิดว่าจะทำยังไงที่จะต้องสร้างให้เกิด Movement ที่ทุกคนไม่ถูกกีดกันออกไปจากพื้นที่ออนไลน์ และไม่ถูกใช้ความรุนแรงทางเพศบนพื้นที่ออนไลน์ ก็เป็นลักษณะของปัญหาที่เราเผชิญแล้วก็เป็นงานที่กำลังจะทำให้มันเกิดขึ้น


ในขณะที่ มีมี่ ได้กล่าวถึง เฟมินิสต์อินเตอร์เน็ตเอาไว้ว่า สิ่งแรกที่นึกถึงคือ คือคำว่า เฟมทวิต ซึ่ง เฟมทวิตก็คือหนึ่งใน Feminist Internet Movement แล้วก็ถือว่าเป็นมูฟเม้นท์ที่ใหญ่มาก เป็นที่รู้จักค่อนข้างกว้างขวาง คือเรามองว่าใน ขบวนการเฟมทวิต นอกจากสายตาของคนบางกลุ่มอาจจะคิดว่ามันคือขบวนการเฟมินิสต์ประสาทแดก แต่จริงๆแล้วข้างในขบวนการคือการเอ็มพาวเวอร์กัน แล้วเป็นการหยิบประเด็นเล็กๆน้อยๆที่คนไม่พูดมาพูด ทำให้กลายเป็นประเด็นสาธารณะที่ทุกคนพูดกัน ต่อให้ทุกคนจะบอกว่ามันไร้สาระ แต่จริงๆแล้วมันเป็นประเด็นสำคัญ ถามว่าทำไมต้อง

เฟมทวิต ทำไมต้องอยู่ในพื้นที่สื่อ จริงๆแล้วมีอีกประเด็นนึงที่นักกิจกรรมหลายคนยกวลีมาพูดก็คือ ทำไมอยู่แต่ในโลกอินเตอร์เน็ต ทำไมไม่ออกมาลงพื้นที่ ทำไมถึงไม่มาออฟไลน์ แต่เราต้องรู้ก่อนว่า สังคมมันถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมแบบชายเป็นใหญ่ที่ไม่ปลอดภัยกับเพศชายขอบหรือคนชายขอบเลยแม้แต่น้อย แล้วการที่ดันให้เขาไปลงพื้นที่ ไปพบเจอกับ Alarm Zone พื้นที่ที่มีแต่ความรุนแรง มันก็ไม่ใช่พื้นที่สำหรับเขา พื้นที่เดียวที่สามารถทำได้คือ พื้นที่ออนไลน์และพื้นที่สื่อ เฟมินิสต์ฟูฟูเองก็เช่นกัน ตอนแรกก็ชั่งใจอยู่นานว่าจะเปิดเพจในเฟซบุคดีไหม เพราะเฟซบุคเป็นพื้นที่ที่มีพวก Troll เยอะมาก เรามีแต่ทวิตเตอร์และอินสตาแกรม แต่สุดท้ายเราก็ยืนหยัดว่ายังไงก็จะเปิดเพจในเฟซบุคให้ได้ เราคิดว่าตรงนี้คือสิ่งที่สำคัญ คือการยืนยันในสิ่งที่ถูกต้องแล้วก็ทำให้เกิดความเป็นธรรมทางเพศ เพราะสิ่งที่กลุ่มแอนไทเฟมินิสต์ทำ มันเป็นการ Troll ทำให้คนอื่นรู้สึกแย่และสูญเสียความมั่นใจไป


อีกประเด็นหนึ่งที่เราสนใจคือช่วงนี้กระแสเรื่องความเป็นธรรมทางเพศกำลังมา แต่ก่อนอาจจะไม่ค่อยมีคนพูดถึง แต่อย่างล่าสุดเรื่องของยูทูบเบอร์คนหนึ่งที่มีประเด็นเรื่องการออกแบบโลโก้ ซึ่งเคยนิยามตัวเองว่าเป็นไบเซ็กช่วล ซึ่งก็จะเห็นว่าจากประเด็นที่เกิดขึ้น นอกจากเขาจะโดนตำหนิเรื่องการกระทำแล้ว ยังมีเรื่องของการเหยียดเพศ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับการกระทำของเขาเลย เช่น มีคนเอาโลโก้ของเขาไปทำล้อเลียนสื่อถือขนของอวัยวะเพศ หรือเรื่องการแต่งกายที่มีคนวิจารณ์ว่าเขาแต่งตัวเปิดเผยร่างกายเพราะเรียกให้คนมาดูเพื่อเพิ่มยอดหรือเพื่อให้ตัวเองดัง ซึ่งมันเห็นได้ชัดมากว่า แค่เพราะเขาเป็นผู้หญิง เขาเลยโดนแบบนี้ ทั้งๆที่มันไม่เกี่ยวกับการกระทำของเขาเลย แล้วสังคมก็อนุญาตให้คนเอาอัตลักษณ์ของเขามาล้อเลียน


นอกจากนี้ยังคิดว่า Feminist Internet Movement เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะทำให้อินเตอร์เน็ตเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการเคลื่อนไหว เนื่องจากอินเตอร์เน็ตมันเป็นพื้นที่ออนไลน์ที่คนอาจจะเข้าถึงได้มากกว่าพื้นที่ออฟไลน์ในกรุงเทพด้วยซ้ำ พื้นที่ออนไลน์ตรงนี้ต้องปลอดภัย เพราะเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงได้ง่าย เป็นพื้นที่ที่ทำให้ทุกคนสามารถเข้ามาแสดงความเห็นได้ เช่น ถ้าเราไปในพื้นที่ออฟไลน์ เราอาจโดนคนที่มีอำนาจเหนือกว่ากีดกันไม่ให้เราพูด หรือถ้าเราพูดไปก็อาจจะไม่ถูกรับฟังเท่ากับคนที่มีหน้าตาในสังคม แต่พอเป็นพื้นที่ออนไลน์ โพสต์ของเราอาจจะได้รับการรับฟังขึ้นมาก็ได้ เลยคิดว่าพื้นที่อินเตอร์เน็ตต้องปลอดภัยเพื่อให้มีความคิดเห็นที่หลากหลายเข้ามา


ในขณะที่ แฟร์ ณัฐนพินได้เสริมจากมีมี่และดาราณีว่า ยุคสมัยปัจจุบันเป็นยุคที่คนเติบโตมากับเทคโนโลยีและการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้กับเผด็จการเพื่อประชาธิปไตย การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา การปฏิรูประบบเศรษฐกิจ ทุกที่ใช้อินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีมาใช้ในการสร้างสรรค์และสร้างมูพเม้นท์ขึ้นทุกที่ แต่ทำไมประเด็นความเท่าเทียมถึงต้องมีข้อกังขา ถึงเป็นสิ่งที่ถูกติ ถูกวิจารณ์ตลอด ไม่เหมือนกับฝั่งประชาธิปไตยที่เอาอินเตอร์เน็ตมาผลักดันอะไรหลายๆอย่างให้เกิดการตระหนักรู้ แล้วทำไมถึงไม่ได้รับการตอบรับแบบเดียวกับประเด็นด้านเพศ ซึ่งทุก ๆ ที่เขาก็ใช้อินเตอร์เน็ตในการ Disrupt ระบบเดิมเหมือนกัน แต่ทำไมพอเป็นเสียงของผู้หญิงหรือเสียงของคนชายขอบถึงได้รับการตำหนิหรือต้องรอการอนุมัติจากผู้ชายหรือใครสักคนอยู่ตลอดเวลา อันนี้ถือเป็นข้อสังเกตอย่างหนึ่ง แล้วในมุมมองของวิชันนารีส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องคอนเท้นต์เพราะตอนที่เราทำมาได้สักพัก โควิด-19 มาพอดีเลยยังไม่ได้ทำ Onsite มาก แต่ว่า Onsite ก็จะเน้นเรื่องของการเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยปรับเปลี่ยนกฎระเบียบที่ไม่ได้เอื้อให้เกิด Support System (ระบบสนับสนุน) ต่อคนที่ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศในมหาวิทยาลัย แล้วถ้าเป็นไปได้ก็อาจจะจัด Workshop ในเรื่องของประเด็น Feminist บ้าง แต่ว่าสิ่งที่เคลื่อนไหวในด้านคอนเท้นต์ออนไลน์เป็นหลักคือ นอกจากจะประสบความสำเร็จในด้านของการเผยแพร่ความรู้เพื่อสร้างการตระหนักรู้ด้านความเท่าเทียมทางเพศ ประเด็นเรื่องของมุมมอง Non-binary ต่าง ๆ จริง ๆ ก็เคยได้รับคำชมว่าขอบคุณที่สร้างกราฟิกดี ๆ เผยแพร่ความรู้ให้เข้าใจโดยง่าย แต่พร้อม ๆ กันนั้นเราก็เคยเจอการโจมตีจากกลุ่ม Trolling เหมือนกัน เคยเจอทั้งการ Mansplaining คือการถูกผู้ชายอธิบายใส่ และการเอาตัวตนเรามาด่าโจมตีโดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็น เจอ Hate Speech


ยกตัวอย่างอย่างรุ่นน้องเราเคยทำคอนเท้นต์เเรื่อง Period Poverty ในประเทศไทย แล้วก็โชว์กราฟิกอย่างดีเลยว่าทำไมถึงเป็นเรื่องเร่งด่วนและควรได้รับการจัดสรร ทำไมผ้าอนามัยถือเป็นเรื่องที่เราควรเรียกร้อง แต่ก็มีคอมเม้นต์ผู้ชายมาพูดว่า แล้วทำไมผู้ชายต้องเสียภาษีให้กับผู้หญิงโดยที่ตนเองไม่ได้รับประโยชน์ด้วย ก็รู้สึกว่าน่าท้อใจที่ความเลวร้ายมันเห็นอย่างเป็นที่ประจักษ์แล้ว แต่ยังมีคนที่ไม่พร้อมจะเปิดใจและยังมองด้วยความที่ตนเองมีเพศสภาพที่ไม่ได้รับผลกระทบ เลยไม่ได้มองว่าสิ่งนี้เป็นปัญหาและจะร่วมแก้ไข รู้สึกว่าเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่จะต้องผลักดันให้เกิดความตื่นรู้ทางสังคมต่อไป


มัจฉา พรอินทร์ ได้เสริมว่า ในตอนนี้เรามีชีวิตอยู่ในทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงการทำงานของนักเคลื่อนไหว และเผชิญกับเรื่องเดียวกันคือ การถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ทั้งในชีวิตแบบออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งแยกกันไม่ขาดแล้ว เพราะฉะนั้นเฟมินิสต์ก็ลุกขึ้นมาพยายามที่จะทำยังไงให้พื้นที่ออนไลน์นั้นปลอดภัยสำหรับทุกคนจริง ๆ และยังใช้เป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหว แต่ก็มีข้อท้าทายว่ามันเป็นพื้นที่ที่มีความซับซ้อน แล้วก็ต้องการความเข้าใจ


และสิ่งที่มีมี่ได้พยายามที่จะชี้ให้เห็นก็คือ Intersectionality ในพื้นที่ออนไลน์ ที่บอกว่าการเคลื่อนไหวอยู่แต่ในพื้นที่ออนไลน์ คนรุ่นใหม่ไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลง แต่ในทางเป็นจริงก็คือ หนึ่ง พื้นที่ออนไลน์สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ สอง คือคนชายขอบจำนวนมากไม่สามารถที่จะเข้าถึงการเคลื่อนไหวแบบ Physical ได้ เช่น กลุ่มผู้พิการ กลุ่ม LGBT ที่ถูกกีดกัน หรือแม้กระทั่ง Feminist เอง คำถามต่อมาก็คือ มันจะถูกยอมรับและทำให้ปลอดภัยสำหรับทุกคนได้อย่างไร ในเมื่อเรายังเผชิญการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศทั้งจากสังคม การใช้มิติทางเพศเป็นเครื่องมือในการที่จะบีบพื้นที่ไม่ให้เราพูดถึงความเป็นธรรมทางเพศเกิดขึ้นทั้งในออนไลน์และออฟไลน์


เราจะเห็นความสำเร็จในแง่ที่คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาใช้พื้นที่ออนไลน์แล้วก็สร้างคอนเท้นต์ให้น่าสนใจมากขึ้น เข้าถึงได้ง่าย เข้าใจได้ง่าย เห็นภาพ แล้วก็ติดตา แต่ในขณะเดียวกันก็เหมือนเรียกแขกสำหรับคนที่ต่อต้านเรื่องความเป็นธรรมทางเพศ ให้เข้ามาสร้างผลกระทบในแง่การของเคลื่อนไหวโดยใช้พื้นที่ออนไลน์อย่างเป็นรูปธรรม สิ่งที่น่าสนใจที่หลายคนพยายามจะบอกว่า มีรูปแบบความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ออนไลน์ เช่น การ Troll การเข้ามาพูดแทน การส่งข้อความเข้ามา Harassment


นอกจากนี้ มัจฉายังได้ถามผู้เสวนาต่อไปว่า รูปแบบความรุนแรงเหล่าบนออนไลน์ส่งผลกระทบต่อนักเคลื่อนไหวอย่างไร และเราจะมียุทธศาสตร์ในการที่รับมือหรือมีข้อเสนออะไรบ้าง


ดาราณี ได้ให้ความเห็นไว้ว่า การเผชิญกับความรุนแรงออนไลน์จากการเคลื่อนไหวประเด็นทางสังคมมีมานานแล้ว และในหลายๆประเทศก็เริ่มทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ อย่างแคมเปญของบางประเทศ ทำงานประเด็นเรื่อง Trolling ซึ่งเกิดขึ้นกับผู้สื่อข่าวที่มีเพศภาวะหญิงจำนวนมาก จนทำให้ผู้สื่อข่าวรู้สึกไม่ปลอดภัย ทั้งในการทำงานออนไลน์และออฟไลน์ รวมไปถึงทำให้ผู้สื่อข่าวหลายคนต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง ไม่สามารถที่จะพูดในหลายๆเรื่องได้ เพราะพูดอะไรออกไปก็จะโดนก่อกวน เข้ามาคอมเม้นท์ ซึ่งการคอมเม้นท์ไม่ใช่แค่เรื่องของเนื้อหาการทำงานอย่างเดียวแต่ว่า อย่างที่แฟร์บอกว่ามีการโจมตีไปที่ตัวบุคคลนั้น ๆ ด้วยโดยที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับประเด็นปัญหา มันทำให้ผลกระทบที่เกิดกับคนทำงาน ส่งผลต่อสภาพจิตใจด้วย เพราะการที่เราถูกบุคคลทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก เป็นพัน ๆ Comment เข้ามาพูดจาโจมตี เอารูปไปตัดต่อ แล้วก็มา Comment รูป มา Comment ก่อกวน มันส่งผลให้เราไม่สามารถที่จะแสดงออกหรือส่งเสียงได้ เป็นการ Silence หรือว่าปิดเสียงของเราไปในที่สุด นักข่าวหลาย ๆ คนต้องปิดแอคเคาท์ Twitter เช่นเดียวกันกับสถานการณ์ในประเทศไทย นักกิจกรรมหญิง นักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศ Queer และ Non-binary หลายคน ถูกกลุ่ม Trolling ในไทย กระทำคล้าย ๆ แบบเดียวกัน คือเมื่อจะพูดอะไรสักเรื่องหนึ่ง เช่น นักกิจกรรมข้ามเพศ ที่เป็นเยาวชนไปชูป้าย สมรสเท่าเทียม ก็จะถูกบูลลี่เรื่องของเพศสภาพ เรื่องของรูปร่างหน้าตา รวมไปถึงการคุกคามทางเพศด้วย ก็จะเป็นจุดที่ทำให้นักกิจกรรมหลาย ๆ คน ในที่สุดก็ไม่อยากแสดงตัวบนโลกออนไลน์อีกต่อไป เพราะว่า ไม่สามารถที่จะรับมือกับกลุ่มคน trolling ได้ trolling เป็นเรื่องใหญ่ในหลาย ๆ ประเทศที่ก็พยายามจะรณรงค์กัน แต่สำหรับประเทศไทย การรับรู้ของคนที่ใช้อินเตอร์เน็ตเองก็ยังไม่ได้ให้ความสำคัญว่าเป็นความรุนแรง ตัวกฎหมายไม่มีการปกป้องคุ้มครองตรงนี้ แพลตฟอร์มผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตก็ไม่ได้สนใจการจัดการ


ถ้าถามว่ามียุทธศาสตร์การรับมืออย่างไร ตอนนี้ก็มีแต่การผลักภาระมาที่ปัจเจก เคยรายงานไปที่ผู้ให้บริการแล้ว แต่แทบจะไม่มีอะไรคืบหน้า เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำได้ กลายเป็นนักกิจกรรมต้องมานั่งเซฟตัวเอง ใช้วิธีการบล็อกบัญชี Account Twitter หรือ Facebook ที่มาก่อกวน กลายเป็นการจำกัดการทำงาน ที่ชัดเจนมากคือ เยาวชนที่ออกมาส่งเสียงเคลื่อนไหว อย่างที่มีมี่บอกว่า เยาวชนหลาย ๆ คนไม่ได้สะดวกที่จะไปร่วมม็อบ เพราะว่าหนึ่งเขายังเป็นเด็ก พ่อแม่ผู้ปกครองอาจจะไม่ได้อนุญาต เพราะฉะนั้นพื้นที่เดียวที่เขาสามารถส่งเสียงของตนเองที่เชื่อมโยงกับขบวนการเคลื่อนไหวในระดับประเทศ เช่น ประชาธิปไตย สมรสเท่าเทียม ก็คือพื้นที่ออนไลน์ เพราะฉะนั้นคนที่บอกว่าคนพวกนี้ขับเคลื่อนแต่บนพื้นที่ออนไลน์ทำไมไม่มาลงถนน แสดงว่าเขาไม่ได้เห็นความทับซ้อน เรื่องอำนาจที่ไม่ได้เท่าเทียมที่จะทำให้คนหลาย ๆ กลุ่มไม่สามารถที่จะไปอยู่บนถนนได้แบบ Physical เพราะฉะนั้นพื้นที่ออนไลน์เป็นพื้นที่ที่เขาใช้ในการรณรงค์ แล้วเมื่อใช้พื้นที่ออนไลน์ในการรณรงค์แล้วไม่มีความปลอดภัย ยังถูกกีดกันเรื่องการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ เชื้อชาติ ศาสนา ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ ก็ทำให้เขาเข้าไม่ถึงหรือขาดการมีส่วนร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหว


ดังนั้น ยุทธศาสตร์ก็คือจะต้องทำให้คนในสังคมเข้าใจว่าโลกออนไลน์ ไม่ได้ตัดขาดกับออฟไลน์ แล้วก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่ต้องทำให้เกิดความเป็นประชาธิปไตย ทำให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศให้ได้ จะต้องอาศัยการสื่อสารของเยาวชนคนรุ่นใหม่หลาย ๆ คนที่กำลังทำออกมาอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างกลุ่มนักเรียนเลว เขาก็มีออฟไลน์ด้วย ใครสะดวกไปร่วมออฟไลน์ก็ไป แต่รูปแบบออนไลน์ก็เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เพราะเด็กและเยาวชนอยู่ในพื้นที่ออนไลน์ แล้วเขาก็ทำงานออนไลน์ ในขณะเดียวกันก็อิมแพคมาก ๆ ต่อผู้ใหญ่ที่คงไม่ชอบใจเท่าไหร่ที่เห็นนักเรียนเลวออกมาเคลื่อนไหวแบบนี้ แต่ว่าในขณะเดียวกัน เราคิดว่านี่เป็นพลังของคนรุ่นใหม่จริง ๆ ที่ใช้อินเตอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์ต่อขบวนการของตัวเขาเอง ไม่ใช่ให้คนอื่นไปพูดแทน นี่คือยุทธศาสตร์การทำให้อินเตอร์เน็ตมีความเป็นประชาธิปไตยและมีความเป็นธรรมทางเพศ ที่น่าสนใจอีก movement หนึ่ง


มีมี่ ได้เสริมเพิ่มในเรื่องของนโยบายแพลตฟอร์มว่าไม่ไ้ด้ให้ความสำคัญกับเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหว รวมถึงเรื่องเพศด้วย ประเด็นหนึ่งที่พูดถึงเรื่อง เด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 15 หรือ 18 ปี ถ่ายรูปเปิดเผยร่างกาย และมีคนในทวิตเตอร์ไปชี้ว่าเขากำลังทำ child porn ซึ่งเขาถ่ายเพื่อชื่นชมร่างกายของตนเอง แต่กลับโดนประณามด่าทอ เราเข้าใจว่าคนหวังดี แต่จริง ๆ แล้วมันมาในรูปแบบของการ Blame เหยื่อ ไม่ก็มาในรูปแบบของการสั่งสอน ทั้งที่เขาไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อที่จะทำ Child Porn หรือพอมีประเด็น เด็กออกมาเคลื่อนไหว เราก็จะเห็นเด็กที่ใส่ชุดนักเรียนออกมา ซึ่งก็ตกเป็นเหยื่อของการคุกคามทางเพศอย่างร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นในฝ่ายประชาธิปไตยเอง หรืออีกฝ่ายหนึ่ง ที่เอาเด็กในชุดนักเรียนไปใช้ในทาง Sexual Harassment และมีเรื่องการ แหกเรียล ถ้าใครไม่รู้ว่าแหกเรียลคืออะไร แหกเรียลคือการเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของคนในโลกออนไลน์ คือถ้า เราเล่นทวิตเตอร์อยู่ แล้วเราทำอะไรผิดพลาดไป มีคนที่เอาตัวตนจริงของเรา จาก IG หรือ Facebook มาเผยแพร่ลงในทวิตเตอร์ เพื่อเปิดโปงตัวเรา เอาข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ มาเปิดเผย แล้วสุดท้ายคือสิ่งที่เราเห็นได้ชัดก็คือ ประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมดทางแพลตฟอร์มไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter ที่แหกเรียลคนหรือว่า Blame เหยื่อ หรือว่ามีข้อความที่ Hate Speech การด่าอัตลักษณ์คนอื่น แต่แพลตฟอร์มนั้นไม่ได้จัดการอะไรเลย แล้วก็เรื่องของ Policy ก็ไม่ได้มีอะไรมาจัดการตรงนี้ คนที่เป็นเพศชายขอบ คนที่โดนกระทำก็ต้องโดนทำซ้ำ ๆ วนไป เพราะว่าทางแพลตฟอร์มก็ยังติดหล่มชายเป็นใหญ่ ทีนี้เราก็ต้องมา Empower กันเอง ช่วยเหลือกันเอง เราเลยคิดว่า เรื่องของนโยบายแพลตฟอร์มสำคัญมาก เพื่อทำให้ยืนยันได้ว่าสิ่งที่เราทำมันคือสิ่งที่ถูกต้อง เพราะว่าความรู้สึกของคนและผลกระทบที่เกิดขึ้นมันคือเรื่องจริง


แฟร์ ณัฐนพิน ได้เสริมว่าถ้าถามถึงความรุนแรงเฉพาะที่เกิดขึ้นในพื้นที่ออนไลน์ เรารู้สึกว่าเราเห็น Pattern นี้บ่อยคือ เวลาผู้ถูกกระทำต้องการจะใช้ Platform ออนไลน์ในการ Call out ถึงสิ่งที่ตัวเองเผชิญกับความรุนแรงทางเพศมาก่อน เพราะว่ากระบวนการทางกฎหมายมันไม่เอื้อให้ตัวผู้ประสบความรุนแรงดำเนินคดีได้อย่างราบรื่น สุดท้ายแล้วก็ต้องเก็บเสียงตัวเองเงียบออกไปในสังคม จะต้องใช้เวลาในการเยียวยาจิตใจ เราเข้าใจว่ามันยากจริง ๆ กับการที่ต้องกล้าจะ Speak up ออกมา แต่ทันใดที่เขา Speak up ในพื้นที่ออนไลน์ออกมาแล้ว เขาก็จะเจอกับความรุนแรงซ้ำไปซ้ำมาไม่ว่าจะเป็น victim blaming บ้าง หรือ Slut Shaming บ้าง แล้วการเข้าข้างผู้กระทำความผิดโดยที่เราไม่รู้ตัว ก็มีคอมเม้นต์ที่กลายเป็นตัดสินเหยื่อไปก่อน สุดท้ายก็เอื้อให้ผู้กระทำความผิดลอยนวลไปได้ แล้ว Pattern นี้เกิดขึ้นซ้ำ ๆ เราไม่รู้เลยว่าผู้ประสบความรุนแรงทางเพศ เขาสามารถข้ามผ่านกับปัญหาที่เขาเจอได้หรือเปล่า เรารู้สึกว่ามันไร้ช่องทางในการที่จะมาจัดการตรงนี้ได้อย่างทันท่วงที เพราะเรารู้ว่าในเชิงของ Onsiteก็มีปัญหา ในเชิงออนไลน์ก็ต้องเตรียมรับกับการโจมตีอย่างรุนแรง เราคิดว่าตัวแพลตฟอร์มควรมีนโยบายที่เอื้อให้เกิดความปลอดภัยและการคุ้มครองสิทธิของคนให้มากขึ้น อย่างเช่นการเซ็นเซอร์ Hate Speech เพราะอย่างที่คุยกันก่อนหน้านี่ว่าสุดท้ายแล้ว Policy มันไม่รองรับความคุ้มครองอะไรเลย ก็แค่บล็อกไปให้เราไม่เห็นเขา แต่ไม่ใช่ว่าคอมเม้นต์นั้นจะหายไป มันก็ยังอยู่ในสายตาคนทุกคน แล้วก็ยังหลอกหลอนคนที่ต้องเจอทรอม่าซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ


อยากจะแชร์มุมหนึ่งเหมือนที่มีมี่พูดถึงเรื่องที่โดนด่าว่าเฟมประสาทแดก เราก็รู้สึกว่าเราเคยเป็นแบบมีมี่เลย คือเราพยายามสื่อสารจริง ๆ พยายามพูดคุย พยายามแลกเปลี่ยนกับกลุ่มคนที่คิดไม่เหมือนเรา ไม่ต้องเอาในเชิงของกลุ่มวัยรุ่นเลย เราเคยคุยกับคนที่โตกว่าด้วยซ้ำในแวดวงที่ค่อนข้างวิชาการ ก็ยังเลี่ยงที่จะเจอพวกปัญหานี้ไม่ได้เลย คือ mansplaning หรือ tone policing เช่น ทำไมไม่พูดเสียงให้น่ารัก ทำไมไม่พูดให้อ่อนหวาน ทำไมต้องเกรี้ยวกราด คือเราโดนแบบนี้ตลอดเลย กลายเป็นเวลาจะเรียกร้องอะไร ต้องอยู่บนตรรกะของสิ่งที่ผู้ชายพร้อมที่จะรับฟัง ซึ่งจริง ๆ คำว่าน่ารักหรือว่าน่าฟัง มันคือวิธีการใช้อำนาจของผู้ชายในการกดให้เราเป็นในแบบที่เขาต้องการ สุดท้ายมันก็คือการสานต่อระบบปิตาธิปไตย ที่แฝงอยู่ทุกที่ไม่ว่าจะเป็นแวดวงไหน แต่ก็ต้องสู้ต่อไป คือต้องยอมรับว่าการถกเถียงในโลกออนไลน์หลายครั้งมันไม่ใช่การถกเถียงเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล สื่อสารกัน แต่มันคือการเถียงเพื่อเอาชนะ แล้วในการเถียงเพื่อเอาชนะก็มีการเรียกพวกบ้าง การโจมตีตัวบุคคลบ้าง การใช้ Hate Speech บ้าง Tone Policing พูดจาดี ๆ หน่อย อย่าทำตัวประสาทแดกได้ไหม ไม่น่าฟังเลยอะไรแบบนี้ ซึ่งจริง ๆ แล้ว ก็ไม่รู้หรอกว่าความประสาทแดกของเรามันมาจากความอดกลั้นต่อสิ่งที่มันไม่เป็นธรรมมาหลายชั่วอายุ ทำไมการที่ลงถนนหรือการที่เรียกร้องกฎหมาย ให้แก้ไขทางกฎหมาย ถึงเป็นสิ่งที่คุณยอมรับได้ แต่การที่เรามาทวิตว่า ทำไมผู้หญิงต้องทนกับการโดน Dress Code ตลอดเวลาด้วยวะ ทำไมเราจะใส่ขาสั้นไม่ได้ ทำไมเราจะใส่กางเกงไปทำงานไม่ได้ มันดูเป็นเรื่องที่ไม่จริงจัง ดูเป็นอะไรที่มันเยอะ ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วมันก็คือปิตาธิปไตยที่แฝงอยู่ในทุกพื้นที่ของพวกเราเหมือนกัน


มัจฉาได้เสริมในตอนท้ายว่า อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ คือ เรื่องของการ Protection ว่าเมื่อผลกระทบได้เกิดขึ้นแล้วถูก Harassment แล้ว กลไกการปกป้อง คุ้มครอง จากแพลตฟอร์มและจากกฎหมาย หน้าตาต้องเป็นอย่างไรมันยังบอบบางมาก แต่ถ้าเชื่อมโยงกับการเยียวยาจากการที่เราเข้าไปใช้แพลตฟอร์มก็เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องเรียกร้องต่อ ตอนนี้ประเทศไทยขับเคลื่อนด้วยการด่า ด่าได้ทุกเรื่องยกเว้นเรื่องที่เฟมินิสต์ด่า เฟมินิสต์ด่าไม่ได้ เพราะถ้าพูดไม่เพราะเมื่อไหร่คุณจะไม่ใช่เฟมินิสต์ทันที ถ้าไปด่าเรื่องประชาธิปไตย ยอมรับได้ แต่มิติทางเพศ ต้องพูดเพราะเท่านั้น มาตรฐานของการขับเคลื่อนด้วยการด่าอยู่ไหน แต่ว่าอย่างไรก็ดี คิดว่าเรื่องนี้สำคัญมากเลยก็คือวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ที่อยู่ในสังคมก็เอื้อและเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ลุกขึ้นมาพูดเฉพาะมิติที่ถูกยอมรับ แต่ว่ามิติชายขอบทั้งหลาย ไม่สามารถที่จะมีที่หยัดที่ยืนได้เลยในรากฐานของวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะต้องทำลายก็คือรากเหง้าของมัน คือเรื่องของวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ก็เลยไม่แปลกหากเราถูกด่าว่าประสาทแดก ทำไมเราถูกกีดกัน เพราะว่ามีคนได้ผลประโยชน์จากตรงนี้อยู่มาก ทั้งในขบวนการเคลื่อนไหว แล้วก็ในสังคมด้วย



ข้อเรียกร้องต่อสังคมที่จะทำให้สังคมปลอดภัยทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ สังคม รัฐ หรือคนในขบวนการเคลื่อนไหว จะต้องตระหนักอย่างไรบ้าง


ดาราณี ได้ให้ความเห็นว่า งานที่ทำอยู่ตอนนี้โฟกัสมาที่เรื่องของการสร้างการตระหนักรู้ เรื่องของการศึกษา ทำยังไงคนที่มีความสนใจประเด็นเรื่อง Gender ประเด็นเรื่องความเป็นธรรมทางเพศ จะเข้าถึงข้อมูลความรู้ เข้าถึงเครื่องมือที่เขาจะเอาไปเรียนรู้แล้วก็ทำงานได้ คิดว่าการใช้พลังงานไปกับการไปจัดการหรือไปโต้แย้งกับคนที่เขาไม่ได้อยากจะเข้าใจมาตั้งแต่ต้น มันเสียพลังงานไปเปล่า ๆ เช่นการที่แท็กเราไปดีเบต เราคิดว่าถ้ามันไม่ได้มาจากฐานของการที่อยากจะทำความเข้าใจจริง ๆ ก็จะไม่ไปใช้พลังงานกับตรงนั้น แต่พบว่าคนรุ่นใหม่ หรือคนที่ทำงานแล้วหรือคนที่อยู่ในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น หมอ ครู อาจารย์ เจ้าหน้าที่รัฐ หลาย ๆ คนที่เขาอยากจะเข้าใจประเด็นเรื่อง Gender เรื่องความเป็นธรรมทางเพศ เขากลับขาดแคลนคนที่จะมาให้ข้อมูลกับเขาตรงนี้ได้หรือเขาจะเข้าไปสู่กระบวนการเรียนรู้ได้อย่างไร เพราะฉะนั้นก็จะเห็นว่างานที่เรากำลังทำอยู่ตอนนี้ก็จะเป็นการทำ school of feminist กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มคนทำงาน กลุ่มนักเคลื่อนไหว ในขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงกับงานส่วนอื่น ๆ ขององค์กรอื่น ๆ ที่เขาต้องการความเชี่ยวชาญเรื่อง Gender เมื่อมีการเชิญชวนให้เข้าไปช่วยกันอบรมหรือว่าจัด Workshop เราก็จะเข้าไปร่วม เพื่อที่จะทำให้แต่ละพื้นที่เกิดความเข้าใจเรื่อง Gender


อีกส่วนหนึ่งก็พยายามที่จะรวบรวมเรื่องของข้อมูลความรุนแรงออนไลน์ ตอนนี้ก็เป็นงานวิจัยที่กำลังทำอยู่ นักกิจกรรมหรือว่าใครที่ใช้อินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นเพศใดที่ออกมาพูดเรื่อง Gender แล้วถูกใช้ความรุนแรง ถูกคุกคาม ก็พยายามที่จะเก็บข้อมูลตรงนี้ เพื่อที่จะให้มีเป็นงานวิจัยออกมาว่าสิ่งเหล่านี้มีอยู่จริง เหมือนที่หลักการ Feminist Internet ระบุไว้ คือการทำให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ก็คือเราต้องยืนกรานว่าความรุนแรงทางเพศออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศหรือ GBV (Gender base violent) แล้วมันมีอยู่จริง มีคนได้รับผลกระทบอยู่จริง อีกส่วนหนึ่งก็จะเป็นเรื่องของการเผยแพร่เสียงของ Feminist เสียงของผู้ที่อยู่ในปัญหา ความรุนแรง เสียงของนักเคลื่อนไหว เรื่อง Gender เราคิดว่าเครื่องมือในการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวคงต้องใช้หลายส่วน ต้องมีกระบวนการหลาย ๆ แบบ สื่อออนไลน์ก็เป็นตัวหนึ่งที่จะช่วยทำให้คนเข้าถึงได้


เราพยายามที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหวทุก ๆ ขบวนการ ไปทำงานกับกลุ่มแรงงาน กลุ่มสิ่งแวดล้อม เพราะเราพบว่าในองค์กรที่ทำประเด็นในเรื่องสิทธิต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่มีปัญหาการคุกคามทางเพศจากคนในที่ทำงาน หรือจากการไปเคลื่อนไหวข้างนอกแล้วถูกคุกคามทางเพศ เพราะฉะนั้นเรื่องเหล่านี้ถ้าเราสามารถที่จะเข้าไปผนึกกำลังกับกลุ่มที่อยู่ในสิทธิมนุษยชนในประเด็นต่าง ๆ ได้เราคิดว่า Movement ของ Feminist เอง ไม่ว่าจะในออนไลน์หรือออฟไลน์ก็จะได้รับการสนับสนุน งานของเราเป็นงานในระยะยาว ไม่ใช่การที่ทำให้คนที่ยังต่อต้านเฟมินิสต์หรือยังไม่เข้าใจ มีอคติทางเพศอยู่ สามารถที่จะเข้าใจในเร็ววันนี้ แต่ว่างานที่เราทำก็คงเป็นการที่ทำยังไงให้มีจำนวนคนที่เข้าใจเรื่อง Gender มากขึ้น คนที่เขาอยากจะเข้าใจแต่เขาไม่รู้ว่าจะไปหาได้จากที่ไหน ทำยังไงให้มีคู่มือเรื่องความเป็นธรรมทางเพศออกมาเยอะ ๆ ส่วนในอินเตอร์เน็ต Movement ที่เราพบโดยเฉพาะในเด็กรุ่นใหม่ เมื่อเขาออกแคมเปญอะไรมาที่เกี่ยวกับเรื่อง Gender ตั้งกลุ่มใหม่ ๆ เราก็จะพยายามรวบรวมแล้วก็สื่อสาร ช่วยประชาสัมพันธ์ เข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะใน ClubHouse ทวิตเตอร์ Facebook พยายามที่จะเข้าไปช่วยกันกระจายข้อมูลตรงนี้


ส่วนข้อเสนอ คิดว่าในระดับของปัจเจกเคนที่ใช้อินเตอร์เน็ตทุกวันนี้ต้องยอมรับได้แล้วว่าเราไม่ได้มีชีวิตอยู่บนพื้นที่ออฟไลน์อย่างเดียว เพราะฉะนั้นการที่จะไล่ให้คนที่ใช้ชีวิตบนอินเตอร์เน็ตหรือออนไลน์ออกไปใช้ชีวิตออฟไลน์มันคนละประเด็นกัน แต่เราควรจะต้องมาช่วยกันคิดว่าจะทำยังไงให้คนที่เขาไม่สามารถที่จะไปร่วมเคลื่อนไหวทางออฟไลน์สามารถใช้พื้นที่ออนไลน์รณรงค์เคลื่อนไหวประเด็นทางสังคมได้อย่างปลอดภัย ไม่ถูกกีดกัน แบ่งแยกทางเพศไม่ถูกใช้ความรุนแรงคุกคามเมื่อเขาออกมารณรงค์ออนไลน์ ไม่ใช่แค่ประเด็นเรื่องเพศอย่างเดียว เรื่องประชาธิปไตย เรื่องสิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อม ทำแท้งปลอดภัย เราคิดว่าคนที่ใช้อินเตอร์เน็ตที่ไม่ใช่ในระดับนโยบายอาจจะต้องมาช่วยกันดูตรงนี้ว่า เราจะทำให้แพลตฟอร์มอินเตอร์เน็ตเป็นพื้นที่สำหรับทุกคนได้ยังไง เหมือนกับที่เราเรียกร้องประชาธิปไตยข้างนอกว่าคนทุกคนควรจะเข้ามามีส่วนร่วมในพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ทางการเมืองได้อย่างเท่าเทียม อันนี้ก็เป็นการเรียกร้องปัจเจกให้หันมาให้ความสำคัญกับพื้นที่ออนไลน์ที่ปลอดภัยมากขึ้น


ในส่วนของนโยบายก็คงจะเป็นเรื่องของการทำงานที่ต้องมาคิดกันต่อว่าจะไปเรียกร้องให้เกิด Policy ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่คุ้มครองปกป้องสิทธิของคนที่ใช้บริการอินเตอร์เน็ตได้อย่างไร ต้องมาช่วยกันผลักดันรัฐ จริง ๆ รัฐมีหน้าที่คุ้มครองพลเมืองจากการใช้อินเตอร์เน็ต แต่ว่าสิ่งที่รัฐทำอยู่ตอนนี้มันตรงกันข้าม คือรัฐมาจัดการกับผู้ใช้อินเตอร์เน็ตซะเอง เพราะฉะนั้นก็คงเป็นเรื่องที่จะต้องไปดูว่ากฎหมายตัวไหนที่มาทำร้ายประชาชน ก็อาจจะต้องพยายามไปผลักดันให้ยกเลิกกฎหมายตัวนั้น


มีมี่ เสริมว่า ตนมองว่าสื่อมีผลจริง ๆ แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นตรงกันก็คือเรื่องของคนในพื้นที่ที่ไม่สามารถลงไปออฟไลน์ได้ เช่นประมาณช่วงปีก่อน ๆ เรามีความสนใจเรื่องของเฟมินิสต์ เรื่องของ Gender แต่เราไม่เคยรู้จักคำว่านักกิจกรรม ไม่รู้จักคำว่านักเคลื่อนไหว ไม่รู้ว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองคืออะไรมาก่อนเลย ไม่เข้าใจ เลย Search คำว่า เฟมินิสต์ ใน Facebook แล้วเพจ Feminista ขึ้นมาแล้วเราก็อ่าน ๆ ไป แล้วเราก็เป็น FC คุณดาราณี มันมีผลจริง ๆ นะ เพราะเราคิดว่าเด็กรุ่นใหม่หลาย ๆ คน เขาอ่านอะไรเขาก็จะรู้จักตามเพจ Facebook มาก่อน มันเหมือนเป็นการค่อย ๆ หย่อนเมล็ดพันธุ์เฟมินิสต์น้อย ๆ ไว้ เมล็ดพันธุ์สีรุ้งไว้ แล้วค่อยเติบโตมาช่วงหลังนี้


สิ่งหนึ่งที่น่าจะมีการทำกระบวนการหรือว่าเรียกร้องแบบเป็นจริงเป็นจังไปเลยในเรื่องของการคุกคามทางเพศ เพราะว่าเวลามีข่าวว่า สถานีตำรวจไม่รับทำคดีการคุกคามทางเพศและยังเหยียดเพศ ยัง Sexual Harassment คนที่มาแจ้งความ แต่มันยังไม่มี Movement ที่เป็นจริงเป็นจังเกิดขึ้น ข้อเสนอของเราคืออยากจะเริ่มทำให้เป็นกลุ่มเป็นก้อนมากยิ่งขึ้น แล้วก็เริ่มทำแคมเปญแบบจริง ๆ จัง ๆ เพราะว่าทุกคนที่อยู่ในพื้นที่อินเตอร์เน็ต ทุกคนมีปัญญา แล้วก็มีความสามารถเป็นของตัวเอง สามารถสร้างอิมแพคของตัวเองได้ เพราะว่าสิ่งที่ทำได้ไม่ใช่แค่นักกิจกรรมที่ทำ แต่ว่าทุก ๆ คน คนทั่วไปทำได้หมด


อีกเรื่องหนึ่งคือเรามีความคิดที่จะทำ Guidebook เรื่อง Gender เป็นเหมือน Guidebook ที่พูดถึงเรื่อง SOGIESC เรื่องการทำแท้งปลอดภัย เรื่องของเพศ Intersex เรื่องของเพศสรีระ เป็นประเด็นหลาย ๆ อย่างที่คนสนใจไว้ในเล่มเดียว อธิบายสั้น ๆ เข้าใจง่าย แล้วเอาไปใช้ได้จริง เผยแพร่เป็น PDF เป็น E-Book บ้าง แจกในม๊อบบ้าง เพื่อให้เรื่องราวเหล่านี้มันได้กระจายมากขึ้น และสุดท้าย พื้นที่ออนไลน์มีความสำคัญเพราะว่าตอนนี้ทางสภาหรือว่าทางกฎหมายก็กำลังปรับเปลี่ยน อย่างเช่น จะมีม็อบสมรสเท่าเทียม จะมีการล่า 1 ล้านรายชื่อ จะไม่มีการล่ารายชื่อแบบกระดาษแล้ว แต่ว่าเข้าชื่อผ่านเว็บไซต์ ตอนนี้ทางกฎหมายมีการปรับเปลี่ยนให้สามารถเข้าชื่อผ่านเว็บไซต์ เลยคิดว่าพื้นที่ออนไลน์กำลังบูมมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วเราก็ใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ คนในนี้ก็ใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ จะบอกว่าเราไม่เข้าไปในพื้นที่ออฟไลน์ ก็เพราะว่าพื้นที่ออฟไลน์มันไม่เปิดพื้นที่ให้เราเข้าไง พื้นที่ออนไลน์จึงสำคัญมาก เลยคิดว่าอยากจะชวนเพื่อน ๆ ทุกคน ถ้าอยากจะร่วมกันทำแคมเปญเฟมทวิตเพื่ออินเตอร์เน็ตมันก็ดีนะ เป็นการรวบรวมประเด็นทั้งหมดที่เราทำ แล้วก็สร้างพื้นที่การเคลื่อนไหวให้จริงจังมากขึ้น


สิ่งที่ขาดก็คือ ในเรื่องของทักษะในการทำงาน เพราะว่าด้วยความที่เป็นเยาวชน พื้นที่แรกที่เราพบเจอก็คือพื้นที่สภาพแวดล้อมในโรงเรียน ซึ่งให้เราท่องตัวหนังสือ ตัวอักษร แล้วก็ไปสอบ การที่เราได้เรียนรู้จริง ๆ มันคือการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ผ่านสภาพแวดล้อม คิดว่าการที่พี่ ๆ เฟมินิสต์ช่วยกันจัดกระบวนการหรือว่าช่วยทำ Focus Group ช่วยทำ Workshop มันช่วยได้มากแล้ว เหมือนเป็นการวางรากฐานแล้วนำไปใช้ได้จริง ต่อมาก็น่าจะเป็นการแนะนำในเรื่องของทรัพยากรหรือว่าแหล่งทุนที่สามารถมาสนับสนุนองค์กรเฟมินิสต์ได้เพราะว่าในต่างประเทศมันก็จะเป็นทุนแบบ

เฟมินิสต์รุ่นใหม่ หรือว่า Young Feminist ที่เขาทุนให้ก้อนใหญ่แบบเป็นโครงการ เคยอ่านแบบผ่าน ๆ มา เลยคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ อีกเรื่องหนึ่งก็คือเนื่องจากว่าแหล่งทุนเหล่านี้เป็นภาษาอังกฤษ แล้วไม่ค่อยมีคนแปลไทย ไม่ใช่ว่าเยาวชนทุกคนจะสามารถอ่านภาษาอังกฤษได้ เลยคิดว่าน่าจะมีช่องทางประชาสัมพันธ์เรื่องแหล่งทุนเฟมินิสต์ต่างประเทศที่แปลไทยให้แล้วเรียบร้อยน่าจะดีขึ้น


แฟร์ ณัฐนพิน เสริมตอนท้ายว่า ด้วยความที่เป็นองค์กรที่ผลักดันในสถานศึกษาเป็นหลักสิ่งที่ทำมาตอนนี้ก็จะมีเรื่องของการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในกลุ่มของนักศึกษาก่อนเพื่อที่จะได้ขยายและส่งต่อความรู้ในวงกว้างมากขึ้น แล้วก็ยังมีส่วนในการผลักดันเรื่องของ Protocol ในการจัดการกับประเด็น Sexual Harassment ในสถานศึกษา เพราะว่า หลาย ๆ ครั้งเราก็ได้รับ Case ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาหรือว่าบุคลากรในมหาวิทยาลัยถูกคุกคามทางเพศ แต่ว่าไม่มีการจัดการปัญหาได้อย่างถี่ถ้วนหรือว่าตามระบบกฎหมายได้อย่างถูกต้อง สุดท้ายก็ไม่มีอะไรมาเป็น Support System ก่อนหน้านี้กลุ่มเราคุยกันเรื่องจะสร้าง Protocol เสนอให้ทางมหาวิทยาลัย ให้จัดตั้งกลุ่มคณะกรรมการที่มาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ โดยผลักดันเรื่องของการดำเนินคดีไปพร้อม ๆ กับการสร้างสถานที่ที่ดูแลเรื่อง Mental Health ให้กับผู้เสียหายโดยเฉพาะ เพราะประเด็นเรื่อง Mental Health เป็นประเด็นที่ไม่ควรทอดทิ้งในการดำเนินคดีควบคู่กับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางเพศ


อยากให้ตัว Protocol นี้ยังอยู่กับมหาวิทยาลัยตลอดไป เพื่อที่จะได้รู้ว่าไม่มีเหยื่อคนไหนถูกทอดทิ้ง เขาจะได้รับความคุ้มครองอย่างเป็นธรรม พร้อม ๆ กับเรื่องของการดูแลสุขภาพจิตด้วย อย่างน้อยผู้พบเจอกับความรุนแรงทางเพศจะได้มีสิทธิเลือกได้ว่าเขาอยากเปลี่ยน Class เรียน อยากเปลี่ยน Sec ที่หลีกเลี่ยงไม่ให้เจอกับคนที่เป็นผู้คุกคามเขาหรือเปล่า ซึ่งมันเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน แต่ว่าหลายคนก็ยังมองข้ามอยู่ เลยอยากทำประเด็นนี้ เรื่องของการคุ้มครองสิทธิผู้ประสบความรุนแรงทางเพศให้เห็นได้เด่นชัดมากขึ้นในสถานศึกษา ก่อนที่จะไปประเด็นอื่น ๆ สำหรับสังคมที่กว้างขึ้น แล้วก็จะมีแพลนว่าจะส่งต่อแนวคิดนี้ไปเรื่อย ๆ


แล้วสิ่งที่คิดตรงกับมีมี่คือเรื่องของการทำ Guidebook ก่อนหน้านี้เราก็เคยคุยกับน้อง ๆ ในทีมแล้วก็เพื่อน ๆ ในทีมว่าอยากให้ธรรมศาสตร์จัดตั้ง TU หนึ่ง TU ด้วยซ้ำที่เกี่ยวข้องกับ Gender แต่จริง ๆ ก็เคยมีคนมาคอมเม้นต์เหมือนกันว่า มันจะมีปัญหาเรื่องของระบบ Grading นะ แล้วก็ปัญหาที่คนจะมองว่าทำไมต้องเรียน แต่เรารู้สึกว่ามันต้องมีหนทางให้ได้กับการที่มองว่าเรื่องของเพศศึกษา แล้วก็เรื่องของ Gender แล้วก็เรื่องของ Sex Education เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กับเรื่องของการเรียนในหลักวิชาการอื่น ๆ เพราะมันคือเรื่องของพวกเราโดยตรง ตอนนี้ก็เลยเป็นสิ่งที่กำลังวางแผนกันอยู่


มัจฉา ได้กล่าวปิดท้ายงานเสวนาเอาไว้ว่า อยากดึงประสบการณ์ตอนที่เราทำคอร์สเฟมินิสต์มาเล่าสู่กันฟังสั้น ๆ ตอนที่จัดคอร์สออนไลน์เรื่องเฟมินิสต์ เราก็ไม่มีงบประมาณ ทำกันแบบไร้งบประมาณ แล้วตอนที่มาเจอน้อง ๆ เราก็จะมีพลังมหาศาลมากเหมือนวันนี้ แต่พอกลับไป น้อง ๆ ก็ไปสู้ในพื้นที่ออนไลน์ืกลับไปแบบมีพลัง แบบมีเครื่องไม้เครื่องมือกันไป ไปสู้รบในพื้นที่ออนไลน์ แล้วสิ่งที่เราติดตามดูน้อง ๆ ในกระบวนการต่อสู้ เหมือนเราโดดเดี่ยวมาก ๆเวลาไปอยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวที่ไม่ยอมรับอัตลักษณ์ ตัวตน และเสียงของเรา เราต้องการพื้นที่ปลอดภัยให้เราได้พูด ให้เราได้อธิบายความซับซ้อนของปัญหาที่เราได้เผชิญอยู่ จริง ๆ แล้วมีคนแบบพวกเราอยู่เยอะมาก เพียงแต่ว่าพวกเราถูกกีดกันแบ่งแยกออกไปแล้วตอนนี้พื้นที่ออนไลน์ก็ทำให้พวกเรามาเจอกัน แต่ก็มีกลุ่มต่อต้านเราไม่อยากให้เรามีพื้นที่ได้มีพลังเพื่อขับเคลื่อนต่อ เพื่อฉะนั้นเรากำลังเรียกร้องให้ทุกคนที่สนับสนุนการยุติความรุนแรงทางเพศทุกรูปแบบ มาร่วมมือกันกับเฟมินิสต์ เราทำลายมายาคติและอคติหลายเรื่องของการเป็นเฟมินิสต์ เราก็คือคนธรรมดาทั่วไปที่เผชิญกับความไม่เป็นธรรมจากรัฐ จากคนรอบตัว แล้วก็ลุกขึ้นมาต่อสู้ เพราะฉะนั้นเราต้องการยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับขบวนการสิ่งแวดล้อม กับขบวนการประชาธิปไตยกับชนเผ่าพื้นเมือง แรงงานข้ามชาติ เราอยากเห็นสังคมที่ดี และน้อง ๆ Young Feminist ที่อยู่ที่นี่ ยังต้องการการสนับสนุนทั้งในงานที่เขาทำอยู่ ทรัพยากร และพื้นที่ แล้วถ้าใครคิดว่าอยากเปิดพื้นที่ให้เฟมินิสต์เข้าไปร่วมทำงานด้วย อยากให้คำนึงถึงเรื่องการระมัดระวังในมิติเรื่องทางเพศที่เราคุ้นเคยกับการใช้ การ Harassment การใช้ Joke ที่ยอมรับไม่ได้ เฟมินิสต์ประสาทแดกกับเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นถ้าคิดว่าอยากจะให้เราร่วมขบวนจะต้องเคารพประเด็นเรื่องสิทธิทางเพศ


และทั้งหมดนี้ คือเสียงจากเฟมินิสต์อินเตอร์เน็ตที่ต้องการเห็นความปลอดภัยและความเป็นธรรมทางเพศในทุกพื้นที่ทั้งในออฟไลน์และในออนไลน์


ฟังเสวนาย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/saydpthailand/videos/4306850862773819





















ดู 159 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comments


bottom of page