ภาพจาก Reuters
ในบรรดาคนดูแลที่ผลัดเวียนกันเข้ามาดูแลยายเราก่อนเสียชีวิต คนที่เราจำได้ดีที่สุดคือ ป้าตู่
ป้าแกอายุอานามค่อนข้างมากแล้ว คุยเก่ง อาจเป็นเหตุผลที่เข้ากับยายเราได้ดี ภาพที่เห็นจนคุ้นเคยคือป้าตู่เฝ้ายายกินข้าวไม่ให้ข้าวติดคอบ้าง บีบนวดแขนขาบ้าง บางวันก็ถือสมุดเล่มบาง ๆ ให้ยายฝึกออกเสียง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นหลังจากยายได้รับวินิจฉัยว่าเป็นโรคกล้ามเนื้อเสียการประสานงานจากสมองน้อยและไขสันหลัง (Spinocerebellar Degeneration — โรคเดียวกับนางเอกในซีรี่ส์ญี่ปุ่นบ่อน้ำตาแตก One Litre of Tears)
ป้าตู่อยู่กับยายเราเป็นปี ฟังดูไม่ได้นานมาก แต่ก็ถือว่านานแล้วถ้าเทียบกับคนดูแลคนอื่นตามแต่จะหาได้ที่หมุนเวียนกันเข้ามาช่วยเฝ้าดูอาการยาย งานดูแลคนแก่ไม่มีอะไรซับซ้อน ออกจะน่าเบื่อด้วยซ้ำ แต่ความมีรายละเอียดยิบย่อยของมันและการต้องอยู่โยงเฝ้าคนแก่หนึ่งคนเป็นเวลาทั้งวัน ซ้ำ ๆ ทุกวัน ก็ไม่ใช่เรื่องสนุกสนานน่ายินดีปรีดาอะไร บ้านเราแบกรับค่าใช้จ่ายพยาบาลอาชีพที่มาจากศูนย์หรือโรงพยาบาลไม่ไหว ที่ผ่านมาเลยได้แต่ถามไถ่แม่บ้านในละแวกว่าพอมีใครว่างหางานอยู่บ้าง ซึ่งนี่ก็อาจจะเป็นเหตุผลที่พอเข้ามาจับงานได้สักพัก หลายคนก็ขอลาออกและกลับไปทำงานแม่บ้านที่ตัวเองถนัดมากกว่า
ที่ยกมาเล่าสู่กันฟังเพราะเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เพิ่งได้มีโอกาสดูคลิปชื่อ Who Knows Kids Better? Mums Vs Maids เป็นคลิปที่ไปสัมภาษณ์พี่เลี้ยงเด็กในประเทศสิงคโปร์ด้วยการถามคำถามสั้น ๆ เกี่ยวกับเด็ก จากนั้นก็เอาคำถามเดียวกันไปถามคนเป็นแม่ แล้วก็ปิดด้วยการให้ลูก ๆ มาเฉลย ตัวอย่างเช่น คำถามว่า “อนาคตเด็กอยากโตไปเป็นอะไร” “เพื่อนสนิทที่โรงเรียนชื่ออะไร” “ชอบเรียนวิชาอะไรที่สุด” เป็นคำถามง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน ที่น่าสนใจคือกลายเป็นว่าคนเป็นพี่เลี้ยงเด็กตอบคำถามได้ถูกต้องกว่าคนเป็นแม่ ในคลิปสรุปไว้เป็นตัวเลขให้เลยว่า พี่เลี้ยงเด็กตอบตรงใจเด็กกว่าถึง 74% คลิปไม่ถึงสองนาทีเท่านั้น แต่ทรงพลังมากมาย
Who Knows Kids Better? Mums Vs Maids
จุดที่น่าสนใจอยู่ตรงท้ายคลิปนี่แหละ จริง ๆ นี่เป็นวิดีโอโปรโมตวันลาหยุดตามกฎหมาย (ซึ่งคาบเกี่ยวไปถึงเรื่องค่าจ้างที่เป็นธรรม) ของแรงงานภาคการดูแล/แรงงานในครัวเรือน ความหมายอย่างกว้างที่เราเข้าใจกันง่าย ๆ ก็คือบรรดาแม่บ้าน พี่เลี้ยงเด็ก พยาบาล คนดูแลคนชรา ผู้พิการและผู้ทุพพลภาพ ฯลฯ เรียกว่าเป็นชีวิตที่มาดูแลอีกหนึ่งชีวิต หรือหลายชีวิตในครอบครัวด้วยซ้ำ ยังไม่นับคนที่ควงกะเวียนไปทำงานปัดกวาดเช็ดถูหลายบ้าน รับจ็อบเสริมเป็นพี่เลี้ยงเด็กอาทิตย์ละสองสามครอบครัว หรือเวียนไปทำงานตามศูนย์ดูแล บรรดา “แรงงานที่มองไม่เห็น” เหล่านี้ล้วนขยับเข้ามาเติมเต็มช่องว่างของงานดูแลซึ่งเรียกร้องเวลาและพลังงานมหาศาล ทำให้ใครอีกหลายคนสามารถออกไปใช้ชีวิต ทำงานหาเงินหรือได้ทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจได้ แน่นอนว่าครอบครัวเราเองก็เป็นอีกครอบครัวหนึ่งที่ได้แรงงานภาคการดูแลอย่างป้าตู่ช่วยค้ำจุนชีวิตไว้
กระดูกสันหลังติดปีก: เมื่อแรงงานในครัวเรือนกลายเป็น “สินค้าส่งออก”
ก่อนจะขยับไปพูดถึงวิกฤตการณ์ทางความสัมพันธ์ อยากชวนมาตกตะกอนย้อนคิดถึงภาพแรงงานในคลิปในแง่ของการเมืองกันก่อน สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีทั้งกฎหมายและนโยบายเปิดรับแรงงานภาคการดูแลจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเข้มข้น เรียกได้ว่าได้รับการสนับสนุนไฟเขียวสามผ่านจากรัฐบาล บรรดาแรงงานข้ามชาติในครัวเรือน (Foreign Domestic Workers — FDW) เหล่านี้โดยมากก็มาจากประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชียอาคเนย์ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นจากฟิลิปปินส์ กัมพูชา เวียดนาม หรือแม้แต่จากไทยเอง อย่างที่เราอาจจะได้ยินเสียงภาษาบ้านเกิดที่แม่บ้านพูดในคลิปนั่นแหละ พวกเขาเดินทางเข้ามาทำงานโดยอยู่อาศัยร่วมชายคากับผู้ว่าจ้างหรือบรรดาครอบครัวต่าง ๆ แล้วก็เป็นแรงงานที่ได้รับการรับรองจากภาครัฐอย่างถูกกฎหมาย
สิงคโปร์ไม่ใช่ประเทศเดียวที่ดำเนินนโยบายรับบรรดา “กระดูกสันหลังติดปีก” เข้ามาเป็นแรงงานขับเคลื่อนประเทศ ก่อนอื่น การหลั่งไหลของบรรดาแรงงานข้ามชาตินั้นเกิดขึ้นโดยปกติทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นงานในภาคส่วนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การศึกษา หรือศาสตร์อื่นใดก็ตาม แรงงานจากประเทศหนึ่งเดินทางข้ามไปอีกประเทศเพื่อไปหาโอกาสและรายได้ที่ดีกว่าจากประเทศซีกโลกเหนือหรือประเทศเพื่อนบ้านที่ร่ำรวยกว่า นี่เป็นโมเดลเศรษฐกิจแบบที่เราเห็นกันจนคุ้นเคยและเกิดขึ้นมายาวนานหลายทศวรรษแล้ว โดยเฉพาะยิ่งกับในปัจจุบันที่แนวคิดของความเป็นพลเมืองโลกเด่นชัดขึ้น พร้อม ๆ กับความสะดวกสบายของการโยกย้ายข้ามพรมแดนตามนโยบายของรัฐ เมื่อดูตามตรรกะอุปสงค์อุปทานเช่นนี้ ก็เป็นที่เข้าใจได้ไม่ยากว่าแรงงานภาคการดูแลเองจึงเกิดการโยกย้ายถิ่นฐานเข้าไปทำงานในประเทศที่สภาพเศรษฐกิจมั่นคงกว่า จากนั้นก็ส่งเงินกลับมายังประเทศต้นทาง กลับมาหาครอบครัวของตน
อาจจะฟังดูไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่คำถามมีอยู่ว่า ถ้าแรงงานเหล่านั้น (ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิง) เดินทางออกนอกประเทศไปดูแลครอบครัวคนอื่น แล้วใครกันล่ะที่เป็นคนดูแลครอบครัวของพวกเธอ?
จุดตั้งต้นเล็ก ๆ นี้นำมาสู่สิ่งที่เราเรียกกันว่า “ห่วงโซ่ของงานดูแลระดับโลก” (Global Care Chain) ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์ระดับสากลที่เกิดขึ้นเมื่อแรงงานภาคการดูแลเดินทางออกนอกประเทศไปยังประเทศซีกโลกเหนือหรือประเทศที่เจริญกว่า เพื่อไปทำงานภาคการดูแลอย่างการไปเป็นพี่เลี้ยงเด็กและแม่บ้านให้ครอบครัวอื่น ส่งผลกระทบให้ประเทศต้นทาง (ส่วนมากเป็นประเทศในซีกโลกใต้) ขาดแรงงานในภาคส่วนนี้เสียเอง นี่ยังไม่รวมถึงปัญหาที่ว่าหลายครอบครัวต้องเผชิญสภาวะขาดแหว่ง ด้วยคนเป็นแม่หรือคนในครอบครัวต้องเดินทางไปทำงานยังประเทศห่างไกล ได้กลับบ้านเพียงปีละครั้งสองครั้งหรืออาจไม่ได้เดินทางกลับเลย เพียงส่งเงินกลับมาดูแลครอบครัวตัวเองเท่านั้น พูดอย่างดาร์ก ๆ หน่อย เราอาจถึงกับบอกได้ว่าการเชื่อมโยงโครงข่ายของผู้คนทั่วโลก ในแง่หนึ่งก็เกิดขึ้นบนฐานความสัมพันธ์ของการจ้างทำงานภาคการดูแลที่โฉบฉวัดไปมาระหว่างประเทศสู่ประเทศนี่แหละ
ห่วงโซ่งานดูแล: ปัญหาอำนาจทับซ้อนและความเป็นธรรมของแรงงานจากซีกโลกใต้
อย่างที่เกริ่นไป แน่นอนว่าปัญหาห่วงโซ่ของงานดูแลนั้นพัวพันกับประเด็นทางเพศอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะเมื่อแรงงานภาคการดูแลส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง สถิติโดยองค์กรแรงงานระหว่างประเทศเมื่อปี 2018 ชี้ว่า ร้อยละ 76 ของงานที่ไม่ได้รับค่าจ้าง อย่างงานปัดกวาดทำความสะอาดบ้าน ทำอาหาร ซื้อของกินของใช้ งานสอน การดูแลเด็ก คนป่วย คนชรา ผู้พิการและผู้ทุพพลภาพ เกิดขึ้นด้วยแรงงานของผู้หญิงทั้งสิ้น พอมาผนวกเข้ากับการผลักให้แรงงานเป็นสินค้าของทุนนิยมในปัจจุบัน จึงไม่แปลกใจที่ภาพแรงงานข้ามชาติภาคการดูแลแทบทั้งหมดเป็นผู้หญิง ยิ่งในบางประเทศหรือบางครอบครัวก็ยิ่งเห็นชัด เมื่อกำกับไว้ในเอกสารจ้างงานว่า “รับแรงงานเพศหญิงเท่านั้น”
ชวนมามองปัญหานี้ในสเกลใหญ่ขึ้นอีกหน่อย ปัญหางานดูแลระดับโลกนี้ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของเศรษฐกิจระดับมหภาคเท่านั้น แต่ยังมีมิติเชิงอำนาจทับซ้อนอื่น ๆ แฝงอยู่ด้วย ข้อแรก ภายใต้วิธีคิดแบบ “ห่วงโซ่งานดูแล” เช่นนี้ คนที่แบกรับภาระมากที่สุดในห่วงโซ่ก็ไม่ใช่ใคร หากแต่เป็นบรรดาผู้หญิงยากจน เมื่อพวกเธอต้องไปเป็นแม่บ้านให้ครอบครัวของผู้หญิงที่ร่ำรวยกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือพวกเธอจำต้องฝาก “งานในครัวเรือน” ของตัวเองไว้กับคนอื่นอีกที ซึ่งก็คือบรรดาญาติ ๆ ในประเทศบ้านเกิด หรือผู้หญิงที่ยากจนกว่าเธอไปอีก แต่ละครัวเรือนส่งต่องานการดูแลไปเป็นทอด ๆ ผลที่เกิดขึ้นคือการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำของบทบาททางเพศผ่านกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงตอกย้ำพลวัตทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมของประเทศซีกโลกเหนือ-ใต้ (หรือแบบคลาสสิกหน่อยก็เรียก ประเทศโลกที่หนึ่ง-ประเทศโลกที่สาม)
นอกจากนี้ การแปะฝากงานดูแลผ่านระบบการจ้างแรงงานยิ่งทำให้คุณค่าและความสำคัญของงานภาคการดูแลถูกผลักไปไว้ใต้พรมมากกว่าเดิม กลายเป็นว่างานดูแลแบบเดียวที่ได้รับการยอมรับคือแบบที่เกิดขึ้นผ่านระบบเศรษฐกิจ มีการจ้างวานจ้างงานอย่างเป็นรูปธรรมผ่านตัวกลางของเงินเท่านั้น ส่วนงานการดูแลรูปแบบอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่น ๆ ก็โดนลดทอนความสำคัญลงไปให้กลายเป็น “แรงงานล่องหน” ไม่ต่างจากเดิม
ปัญหาใหญ่อีกประการหนึ่งคือ งานในครัวเรือนอย่างการทำงานบ้านหรืองานเลี้ยงเด็กนั้นเกิดขึ้นในพื้นที่รั้วรอบขอบชิดอย่างพื้นที่ในบ้าน การดูแลเรื่องสวัสดิการหรือแม้แต่ค่าแรงและเวลาทำงานที่เป็นธรรมยิ่งเกิดขึ้นได้ยาก โดยปกติแล้วในภาคส่วนอื่น ๆ แรงงานจะมารวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานหรือกลุ่มก้อนอะไรก็ตามเพื่อเรียกร้องสิทธิและผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับ หรือแม้แต่รวมตัวกันเพื่อต่อต้านปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง อย่างเช่น การโดนทำร้ายร่างกาย การโดนล่วงละเมิดทางเพศ การโดนเอารัดเอาเปรียบ ฯลฯ แต่สำหรับแรงงานภาคการดูแลที่ทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ปิด (แถมยังอยู่ในประเทศปลายทางที่ตนไม่คุ้นเคย) อย่างที่ได้เล่าไปแล้วนั้น
พวกเขาถูกดึงแยกออกจากกลุ่มก้อนแรงงานคนอื่น ๆ กลายไปเป็นเหมือนทรัพย์สมบัติหรือเครื่องเรือนอีกชิ้นในบ้าน โดนยึดพาสปอร์ตและเอกสารสำคัญทางกฎหมาย หลายคนเป็นแรงงานข้ามชาติที่ไม่สามารถใช้ภาษาได้ดี บางคนพูดได้แค่ภาษาแม่ของตัวเองแค่นั้น ในความเป็นจริงการคุ้มครองหรือแม้แต่ออกมาเรียกร้องอะไรกับภาครัฐจึงเป็นไปได้ยากมาก แน่นอนว่านี่เป็นประเด็นพัวพันกับเรื่องสิทธิมนุษยชนซึ่งเคยมีงานวิจัยหลายชิ้นเข้ามาศึกษาและทำสถิติไว้เช่นกัน
วิกฤตการณ์ความสัมพันธ์: ครอบครัวที่สูญหาย เราร้องไห้เงียบงัน
Mother: Usually, when she has nightmares, she won’t wake up but she will scream and cry.
Maid: She’ll wake up and look for me because she’s scared.
Daughter: I will tell auntie (maid) to sleep beside me when I have nightmares.
ในคลิป Who Knows Kids Better? Mums Vs Maids ที่พูดถึงไป แม้ว่าจะเป็นการสัมภาษณ์อย่างสั้น ๆ ที่จัดเรียงภาพและตัดต่อมาให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจแล้ว เรายังเห็นแรงตึงบางอย่างพุ่งผ่านอยู่ในนั้น มีอะไรบางอย่างมากระทบใจระหว่างคำพูดประโยคสั้น ๆ เหล่านั้น เราเลยอยากหยิบภาพ “ความสัมพันธ์ที่ดูเหมือนต่อไม่ติด” นี้มาพูดถึงควบรวมกับการทำความเข้าใจงานดูแลใหม่ในฐานะกิจกรรมของการผลิตซ้ำทางสังคมตามทฤษฎีมาร์กซิสต์
แน่นอนว่าการหันกลับมาเล็งเห็นความสำคัญของงานการดูแล ไม่ใช่การพยายามโรแมนติไซส์ ทำให้งานการดูแลกลายเป็นเรื่องของความรักความห่วงหาที่ “ทำด้วยใจ” เพราะนั่นเองก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ผลักงานดูแลกลับไปให้กลายเป็นสิ่งล่องหน ราวกับเป็นงานที่เกิดขึ้นโดยทุกคนทึกทักกันเอาเองว่ามีอยู่ตรงนั้นอยู่แล้วโดยปราศจากมูลค่า แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่การผลักงานภาคการดูแลทั้งหมดเข้าสู่ตลาด โดยเห็นว่าการใช้เงินและกลไกอุปสงค์อุปทานคือทางออก ทั้งที่ยังซุกซ่อนอคติที่แฝงไว้กับบทบาททางเพศว่าแรงงานซึ่งผู้ว่าจ้างมองหาอย่างไรก็ต้องเป็นผู้หญิงอยู่วันยังค่ำ แถมยังเป็นการสนับสนุนวงจรห่วงโซ่งานดูแลให้ยังอยู่ไปเรื่อย ๆ
เราเชื่อว่าทางออกของปัญหานี้อาจคือการจินตนาการถึงชีวิตทางสังคมกันใหม่ การผลิตซ้ำทางสังคมต้องกลายเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนชีวิต ไม่ใช่การขับเคลื่อนทุน รัฐต้องหันมาให้ความใส่ใจกับสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่สะอาด การคมนาคมที่สะดวกสบาย พื้นที่สาธารณะที่ใช้การได้ ตลอดจนน้ำและอากาศที่มีคุณภาพ ทั้งหมดที่ว่ามาคือดินผืนสำคัญเพื่อบ่มเพาะงานดูแล บ่มเพาะชีวิตทางครอบครัวและชุมชนให้อิ่มเอิบ
คำถามไม่ใช่ “เราจะส่งต่องานดูแลไปให้ใคร” แต่เป็น “เราจะทำงานดูแลกันอย่างไร เพื่อให้มีชีวิตที่สามารถเบ่งบานไปพร้อมกัน ชีวิตที่ไม่ใช่การไล่ตามทุนไปเรื่อย ๆ อย่างเดียว” การจัดสรรปันส่วนแรงงานภาคการดูแลไม่ได้หมายถึงการควบรวมทุกอย่างกลับมาอยู่ในรั้วรอบขอบชิดของบ้านและปล่อยให้เป็นภาระที่ผู้หญิงต้องแบกรับ แต่เป็นการคิดภาคขยายโดยมองปัจจัยด้านโครงข่ายทางสังคมและปรับให้สอดรับกับความรับผิดชอบงานภาคการดูแล ผู้ที่ทำงานได้รับค่าแรงอันเหมาะสม ศูนย์ดูแลต่าง ๆ ในพื้นที่ท้องถิ่นมีศักยภาพและได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ในขณะเดียวกันปัจเจกต้องได้รับการสนับสนุนความอยู่รอดขั้นพื้นฐาน
เพราะเราทุกคนมี “คนที่อยู่ข้างหลัง” หรือคนที่เราต้องดูแลเสมอ เราต้องยึดเวลาที่ต้องผลาญไปให้กับนายทุนกลับมาใช้กับการผลิตซ้ำทางสังคม ใช้กับงานภาคการดูแลให้มากขึ้น เราเชื่อว่าสิ่งที่จะตามมาคือความสัมพันธ์ที่ไม่เหนื่อยล้าจนเกินไป ทั้งกับครอบครัว เพื่อน คนรอบข้างและชุมชน บางทีคนเป็นแม่อาจจะตอบคำถามได้ตรงใจลูกมากขึ้นก็เป็นได้
……………
ป้าตู่แวะกลับมาหายายเป็นครั้งสุดท้ายตอนวันงานศพ แกไม่ได้อยู่ดูแลยายจนวาระสุดท้ายก็จริง แต่ก็ยังเป็นคนที่แวะเวียนกลับมาหา เราเห็นแกยืนปาดน้ำตาป้อย ๆ อยู่ไกล ๆ ช่วงหนึ่งในชีวิต ป้าตู่น่าจะเป็นเพื่อนที่สนิทที่สุดของยาย ช่วงที่เราเองก็ทำได้แค่แวะไปคุยกับยายวันละสองสามคำก่อนกลับไปตั้งหน้าตั้งตาเรียนหนังสือ ภาพนั้นทำให้เรานึกขอบคุณช่วงเวลาที่แกมาช่วยดูแลยายเรา ขณะเดียวกันพอมองย้อนกลับไปก็ทำให้นึกถึงอีกหลายล้านชีวิตที่คอยดูแลคนที่อยู่ข้างหลังแบบเดียวกับยายเรา ไม่ว่าจะเป็นเด็กทารก คนป่วย คนชรา พ่อแม่ ลุงป้านาอา ครอบครัวขยาย คนพิการ ผู้ทุพพลภาพ เด็กประถม แล้วก็นึกถึง “คนที่อยู่ข้างหลัง” หรือครอบครัวของแรงงานภาคการดูแลเหล่านั้นอีกที
ถ้าถามว่า “แล้วไง ใครแคร์” คำตอบแรกที่นึกถึงขึ้นมาก็คงเป็นภาพคนเหล่านี้ แต่แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ผลักให้พวกเขาต้องแคร์อยู่ฝ่ายเดียว คำถามเชิงประชดประชันที่เราแอบขโมยมาใช้นี้คงจะเป็นการส่งเสียงเพรียกว่า ถึงเวลาแล้วที่สังคมเราต้องหันมาแคร์ (เรื่องงานแคร์ ๆ) กันให้มากขึ้น.
ขอบคุณข้อมูลประกอบบทความจาก
Sachetti, F. C., Abrahamson, P., Babovic, M., Bahurmoz, A., Biondi, A., Quamruzzaman, A., & Thomas, M. (2020, November 24). Women in global care chains: The need to tackle intersecting inequalities in G20 countries. Retrieved from G20 Insights: https://www.g20-insights.org/policy_briefs/women-in-global-care-chains-the-need-to-tackle-intersecting-inequalities-in-g20-countries/
TAN, E. K. (2010). Managing female foreign domestic workers in Singapore: Economic pragmatism, coercive legal regulation, or human rights. Israel Law Review, 43(1), 99-125.
Vaittinen, T. (2014, November-December). Reading global care chains as migrant trajectories: A theoretical framework for the understanding of structural change. Women's Studies International Forum, 47(Part B), 191-202.
Yeates, N. (2005, September). Global care chains: a critical introduction. Retrieved from Refworld: https://www.refworld.org/pdfid/435f85a84.pdf
Comentarios