“เผชิญหน้ากับความทรงจำ ขุดหลุมดำที่ซ่อนอยู่บางแห่งในใจ
ที่ที่คุณเสียศูนย์ลอยเคว้งเพราะพ่ายแพ้ อ่อนแอกับการจากไป เสียใจกับการจากมา
ภาคภูมิกับความหาญกล้าที่จะไม่เกิดขึ้นอีกและหัวเราะให้ความเชื่องเชื่อไร้เดียงสาของตัวเอง”
คำโปรยปกหลังของ Tangerine เปล่า เปลือง เชื่อง ช้ำ รวมเรื่องสั้นของนักเขียนหน้าใหม่ กวีวัธน์
เรื่องสั้นทั้ง 13 เรื่องในเล่มนี้ มิใช่เรื่องรักใคร่โรแมนติกของหนุ่มสาวเยาว์วัย หากแต่เป็นเรื่องสั้นที่พูดถึงความรัก ความสัมพันธ์ และเซ็กซ์ ระหว่างผู้ชายกับผู้ชาย
ทำไมหนังสือเล่มนี้จึงน่าสนใจ?
ในสังคมไทย วรรณกรรมที่เล่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างชาย-ชาย ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่ปรากฎอยู่ในรูปแบบของนิยายวายที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตลาดนิยายวายในไทยเฟื่องฟูอย่างน่าสนใจ กระทั่งร้านหนังสือเจ้าใหญ่ที่เคยมีคำสั่งแบนห้ามไม่ให้วางขายหน้าร้าน กลับมีนิยายวายขายภายในร้านโดยให้พื้นที่มากกว่าหมวดอื่นๆเสียด้วยซ้ำ
แต่งานของกวีวัธน์ชิ้นนี้ต่างออกไป ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องสั้นที่สะท้อนภาพความทรงจำของผู้เขียน
แต่ยังสะท้อนภาพของสังคมชายรักชายในต่างจังหวัด ประสบการณ์การเรียนรู้ที่จะรัก ใคร่ และไขว่คว้าหาความรักความสัมพันธ์ การทดลองและสำรวจวิถีทางเพศ ที่สุดท้ายมักจบลงด้วยการจากลาและความเปลี่ยวเหงา เศร้า สูญเสีย และการเติบโตของตัวละครในเรื่องสั้นทั้งสิบสามเรื่อง
"ผมยิ้ม ยิ้มที่เหมือนกับการยิ้มให้กับคนที่รู้จักเพียงชั่วครู่ ชั่วคราวและไม่มีทางจะกลับมาพบกันอีก"
-หน้า 31-
"วันนั้นพี่วิมไม่ได้กลับมา ผมไม่ได้กินไอติมแท่งนั้น"
-หน้า 47-
"เราต่างมอบความแปลกหน้าให้แก่กันและกันจนมันทำงานอย่างเข้มข้น และท้ายที่สุดทำให้เราเดินกันคนละเส้นทาง"
-หน้า 84-
"ไม่รู้เหมือนกันว่าในตอนนั้นจะอยากโตเป็นผู้ใหญ่เร็วๆไปทำไม ในเมื่อสุดท้าย เราต่างกระจัดกระจาย ถูกกลืนหายไปโดยกาลเวลา"
-หน้า168-
บางข้อความจากเรื่องสั้นในเล่ม เหมือนว่าตัวละครส่วนใหญ่ในเรื่องสั้นเล่มนี้แทบไม่เคยมีความสัมพันธ์ที่สมบูรณ์แบบ เช่น การตกเป็นคนรักลับๆ การเป็นได้แค่ที่ระบายความใคร่ของใครบางคน การไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่กับคนที่รัก การพยายามทบทวนความรู้สึกของตัวเองในความสัมพันธ์ที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจน การอยู่ในภาวะที่ไม่แน่ใจในตัวเองว่ารักหรือแค่ใคร่กันแน่ การจากลา การกลายเป็นคนแปลกหน้าของกันและกัน
นอกเหนือไปจากเรื่องความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนของตัวละครในความสัมพันธ์ที่ไม่สมบูรณ์แบบ
งานชิ้นนี้ยังพูดถึงเรื่องเซ็กส์อย่างตรงไปตรงมาในหลายครั้ง บทบรรยายถึงท่อนเนื้อเปล่าเปลือย
ไอ้จ้อนที่ใส่เข้าไปในปาก หัวนมที่ถูกดูดเลีย ร่างเปล่าเปลือยของผู้ชายสี่ห้าคนที่มีเซ็กซ์แบบหมู่
อ่านแล้วให้อารมณ์เหมือนนั่งอ่านหนังสือโป๊ที่วางขายตามแผงตลาดอยู่พอสมควร ในขณะเดียวกัน
วิธีการเขียนที่ทิ้งเรื่องเอาไว้ให้คนอ่านจมดิ่งไปกับมัน ก็คอยเบรกอารมณ์ดิบๆของฉากเซ็กส์ในเรื่องได้ในจังหวะที่พอเหมาะพอดี ไม่น้อยไป ไม่มากไป
แต่สิ่งที่น่าคิดต่อคือ ถ้าตัวละครในเรื่องสั้นของกวีวัธน์มักเผชิญกับความไม่สมหวัง ความคลุมเครือ ความไม่ชัดเจนของความสัมพันธ์ เรื่องนี้สะท้อนอะไรได้บ้างในสภาพสังคมชายรักชายในบริบทสังคมไทย?
ภาพแทนของความรักระหว่างชาย-ชาย ที่มักถูกนำเสนอในรูปแบบของความผิดหวัง ภาวะความไม่แน่นอน ไม่ชัดเจน ไม่มีรักแท้ มีแต่กิจกรรมทางเพศ จริงอยู่ สิ่งเหล่านี้อาจหล่อหลอมมาจากประสบการณ์ตรงของผู้สร้างสรรค์งาน แต่คำถามคือ สภาพสังคมแบบไหนที่ไม่เอื้อให้ความรัก ความสัมพันธ์ ของคนเพศเดียวกัน ได้มีโอกาสเติบโต งอกงาม ชัดเจน ไม่คลุมเครือ และผิดหวังซ้ำๆซากๆกับการจากมาหรือเดินจากไป
ข้อสังเกตท้ายสุด แม้ว่าตัวละครในเรื่องสั้นของกวีวัธน์มักจะตกอยู่ในความสัมพันธ์ที่ค่อนไปทางไม่สมหวัง ไม่ชัดเจน คลุมเครือ กลับไม่ได้ไปไม่ถึง แต่สิ่งหนึ่งที่สามารถมองเห็นได้ คือตัวละครมีการเรียนรู้ความสัมพันธ์ และความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนเหล่านั้นเอง เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตทางความรู้สึก แม้ไม่สามารถมูฟออนได้ในทันที แต่ดูเหมือนว่า ความสัมพันธ์ที่สิ้นสุดจบลงในแต่ละครั้ง ได้กลายเป็นประสบการณ์และความทรงจำที่มีผลต่อการก้าวต่อไปของตัวละครในแต่ละเรื่อง
กวีวัธน์อาจไม่ได้ตั้งใจบอกกับคนอ่านโดยตรงว่าเรื่องทั้งหมดนี้มีส่วนเสี้ยวมาจากชีวิตส่วนตัวของเขา แต่เมื่ออ่านจบทั้งหมด ก็รู้ได้ว่า บางส่วนเสี้ยวนั้นคงมาจากประสบการณ์ในวันวาน ที่ตัวเขาได้ผ่านพบกับความรักความสัมพันธ์มาหลากหลายรูปแบบ จนก่อร่างเป็นเรื่องสั้นทั้งสิบสามเรื่องในหนังสือเล่มนี้
เปล่า เปลือง เชื่อง ช้ำ อาจไม่ได้สมบูรณ์แบบในทางวรรณกรรม แต่เป็นงานเขียนที่ควรค่ากับการใช้เวลาละเลียดอ่าน เพราะมันเผยให้เห็นโลกของความรักความสัมพันธ์ระหว่างชาย-ชาย ที่ต่างไปจากฟิคชันวายหรือนิยายวายในท้องตลาดทั่วไปที่อาจเน้นความหวือหวาของฉากเซ็กส์หรือแฟนตาซีที่เหล่าสาววายนิยมชมชอบ
สุดท้ายนี้ ผู้เขียนหวังว่า ในโลกของวงการวรรณกรรมไทย จะมีงานเขียนที่เล่าเรื่องความรักความสัมพันธ์ของคนที่มีความหลากหลายทางเพศเพิ่มมากขึ้น เพราะงานเขียนสไตล์นี้ นับว่ายังค่อนข้างขาดแคลน หากเทียบกับวรรณกรรมในต่างประเทศ
รู้จักกับนักเขียนเพิ่มเติมผ่านบทสัมภาษณ์ที่ https://www.the101.world/kaweewat-tangerine-interview/
Tangerine ในมุมมองของนักวิจารณ์วรรณกรรม https://www.the101.world/tangerine-book/
Tangerine เปล่า เปลือง เชื่อง ช้ำ
กวีวัธน์ เขียน
สำนักพิมพ์ P.S.
Comments