top of page
รูปภาพนักเขียนFeminista

เสียงของเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน: เราจะฝ่าวิกฤตโควิด 19 ไปด้วยกัน






เนื่องจากสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 9 สิงหาคม ของทุกปีเป็น “วันชนเผ่าพื้นเมืองโลก” เพื่อระลึกถึงชนเผ่าพื้นเมืองที่ยังเผชิญกับการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบอยู่จนถึงทุกวันนี้ องค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน, V-Day Thailand, เยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ร่วมกับ Thaiconsent และ Feminista จึงได้จัดงานเฉลิมฉลองก่อนวันชนเผ่าพื้นเมืองโลก 2564: “เสียงของเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน: เราจะฝ่าวิกฤตโควิด 19 ไปด้วยกัน” ขึ้นในวันที่ 8 สิงหาคม เพื่อร่วมเฉลิมฉลองก่อนวันชนเผ่าพื้นเมืองโลก




มัจฉา พรอินทร์ (ผู้อํานวยการและผู้ก่อตั้งองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน, ผู้ประสานงาน V-Day Thailand และ Co-President องค์กร International Family Equality Day-IFED) ได้กล่าวถึงความสำคัญของการจัดงานในครั้งนี้และอธิบายถึงความสำคัญของนิยามความหมายและความสำคัญของวันชนเผ่าพื้นเมืองโลก รวมไปถึงบริบทการทำงานของเธอดังนี้


เราอาจเคยได้ยินวาทกรรม “ชาวเขา” ซึ่งเต็มไปด้วยมายาคติ เช่น ชาวเขาไม่ใช่ชาวเรา และถูกผลักให้เป็นอื่นมาก่อน ระยะต่อมาประเทศไทยให้ความสำคัญกับคำว่า “ชาติพันธุ์” มากขึ้น แต่ถ้าหากอยากสะท้อนความเป็นการเมืองที่ให้ความสำคัญกับมิติ “การเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของความเป็นชาติพันธุ์” คำว่า “ชาติพันธุ์กลุ่มน้อย หรือ Ethnic minority” จะสะท้อนว่าชาติพันธุ์บางกลุ่มยังถูกเลือกปฏิบัติและละเมิดสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและวัฒนธรรม อย่างไรก็ดี ในขบวนการเคลื่อนไหวปัจจุบันทั้งในระดับชุมชน ประเทศและนานาชาติหันมาให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนโดยใช้คำว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง” ซึ่งนอกจากจะหมายถึงการถูกผลักให้เป็นชาติพันธุ์กลุ่มน้อยแล้ว ยังประกอบด้วย


1. การนิยามตนเองว่าเป็นชนเผ่าพื้นเมืองและได้รับการยอมรับจากชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองว่าเป็นสมาชิก

2. อัตลักษณ์ด้านภาษา วัฒนธรรมและความเชื่อ ฯลฯ ที่ต่างจากกระแสหลัก

4. มีวิถีชีวิตที่ยึดโยงและเป็นส่วนหนึ่งกับที่ดิน ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการทำมาหากิน

5. มีประวัติศาสตร์ยาวนานก่อนที่จะมีรัฐชาติ และภายหลังถูกครอบงำโดยแนวคิดอาณานิคม (Colonization) และ/หรืออาณานิคมภายใน (Internal-colonization) ทำให้ได้รับผลกระทบ เช่น ถูกแย่งชิงทรัพยากร ถูกละเมิดสิทธิที่ดิน สูญเสียอำนาจในการบริหารจัดการตัวเอง มีอุปสรรคในการสืบทอดภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ความคิดความเชื่อ ตลอดจนวิถีชีวิตดั้งเดิมของตน ฯลฯ

6. มีความพยายามต่อสู้เพื่อดำรงไว้ซึ่งสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ซึ่งเชื่อมโยงกับธรรมชาติ


ด้วยองค์ประกอบดังกล่าว จึงสามารถสรุปได้ว่า ประเทศไทยไม่ได้มีแต่ชาติพันธุ์เท่านั้น แต่ยังมีชาติพันธุ์กลุ่มน้อยที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชนเผ่าพื้นเมืองซึ่งกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ


วันที่ 9 สิงหาคม 2546 เป็นวันชนเผ่าพื้นเมืองโลก ซึ่งปีนี้ขับเคลื่อนด้วยธีมประจำปีว่า “Leaving no one behind: Indigenous peoples and the call for a new social contract” เทศกาลออนไลน์ครั้งนี้จึงเปิดพื้นที่ให้เสียงของเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองบ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ได้บอกเล่าถึงบริบทชนเผ่าพื้นเมืองในไทยว่ามีความซับซ้อนอย่างไร เยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองได้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง พัฒนาชุมชนเพื่อเสริมพลังอำนาจให้แก่ชนเผ่าพื้นเมืองอย่างไรบ้าง รวมทั้งบอกเล่าประสบการณ์การมีส่วนร่วมใน “โครงการเยาวชน ชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ซึ่งเป็นนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน และความไม่เป็นธรรมทางเพศ ผ่านการสร้างธุรกิจผ้าทอชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงสีรุ้ง โครงการฯ นี้ได้สนับสนุน ช่วยเหลือให้เยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศและผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมือง ที่มีสถานะไร้สัญชาติ บ้านแม่สามแลบให้มีอาชีพ มีรายได้และสามารถเลี้ยงครอบครัวในภาวะวิกฤตโควิด-19 และเสริมศักยภาพ ความเชื่อมั่นในตนเอง รวมทั้งสานต่อวัฒนธรรมทอผ้าชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยง ในชุมชนให้แก่รุ่นต่อไป






น้องแอร์ สายรุ้งยามเย็น เยาวชนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศ, นักวิจัยเยาวชน COVID19 FPAR และผู้ประสานงานโครงการเยาวชน ชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการ พัฒนาอย่างยั่งยืน (IY4SD) เกิดและเติบโตในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่าซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามมาอย่างยาวนาน คนในชุมชนไม่มีสัญชาติ ไม่มีอาชีพรองรับ ไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ ด้วยปัจจัยทั้งหมดนี้ บวกกับระบบการศึกษาที่ไม่ได้ “ฟรี” จริงๆ เธอจึงต้องมาทำงานใช้แรงงานในเชียงใหม่ตั้งแต่เด็กเพื่อหาเงินเรียนหนังสือ


เมื่อเป็นคนไร้สัญชาติก็ถูกเอารัดเอาเปรียบในการทำงาน ถูกโกงค่าแรง เวลาเดินทางมักถูกตำรวจเรียกตรวจและถูกจับ ถ้าไม่มีเงินประกันตัวก็ต้องนอนรอในคุก คำถามจึงเพิ่มพูนขึ้นในใจเรื่อยๆ ว่า ทำไมเราถูกละเมิดสิทธิในชีวิตเช่นนี้ แม้แต่ที่บ้านเกิดของตนก็ไม่มีสิทธิบนที่ดิน ถูกผลักให้ไปตั้งหมู่บ้านในพื้นที่ภัยพิบัติจนต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างหวาดระแวงว่าจะเจอน้ำท่วม ดินสไลด์ หรือไฟป่าเมื่อไหร่ ซ้ำเมื่อบ้านได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติก็ไม่ได้รับเงินเยียวยา เหตุเพราะไม่มีสัญชาติ


การที่เธอเป็นเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศก็ต้องเผชิญกับความรุนแรงภายในครอบครัว ทั้งการไม่ยอมรับในเพศวิถี ไม่สนับสนุนให้เรียนหนังสือต่อ เพราะเป็นผู้หญิงก็มีหน้าที่ต้องแต่งงานและดูแลครอบครัว หากมีเพศวิถีที่ต่างออกไปก็จะถูกบังคับให้แต่งงานเพื่อเปลี่ยนแปลงให้กลับมามีเพศวิถีที่สังคมยอมรับ


หลังจากที่น้องแอร์รับทุนการศึกษาจากองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน และได้ร่วมกิจกรรมกับองค์กร เธอก็เริ่มมีความหวังว่าจะมีอนาคตที่ดีขึ้น ได้รู้จักคำว่าสิทธิ ความเท่าเทียม และตัดสินใจลุกขึ้นมาทำงานเพื่อให้ตัวเอง รวมทั้งครอบครัวและชุมชนเข้มแข็ง โดยนำประสบการณ์ของตนซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองไม่มีสัญชาติไปเล่าให้คนฟัง และเป็น “คนชนเผ่าพื้นเมืองที่มีสถานะไร้สัญชาติ” คนแรกที่ได้ไปประชุมเวทีระดับอาเซียนที่ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อปีพ.ศ. 2560 ในการประชุมครั้งนั้นเธอได้พบปะและนำเสนอปัญหาให้กับคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Asean Intergovernmental Commission on Human Right - AICHR) ของประเทศมาเลเซีย เธอจึงได้รู้ว่าเสียงของเธอมีพลัง ที่ช่วยทำให้เกิดการพูดถึงปัญหาของคนที่มีสถานะไร้สัญชาติมากขึ้นในอาเซียน และเธอยังได้ทำวิจัยเชิงปฏิบัติแบบมีส่วนร่วม โดยใช้แนวคิดสตรีนิยม (Feminist Participatory Action Research) จนได้ข้อมูลนำไปเสนอ ขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบาย ทั้งกับภาครัฐในระดับชุมชน เช่น อบต. ในระดับประเทศ เช่น การจัดเวทีสาธารณะเพื่อนำเสนอปัญหาและการยื่นเรื่องร้องเรียนเพื่อเรียกร้องให้เกิดการช่วยเหลือผู้หญิง เด็ก และเยาวชนชนที่มีความหลากหลายทางเพศ ในชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองที่มีสถานะไร้สัญชาติซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด 19 ต่อคณะกรรมาธิการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ การเสนอปัญหาชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองในเวทีระดับนานาชาติ รวมทั้งการเขียนรายงานไปยังกลไก ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง รวมถึงการเขียนรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประเทศไทย ครั้งที่ 3 (The 3rd circle of Universal Periodic Review (UPR) - Thailand)



มัจฉา พรอินทร์ และน้องแอร์ สายรุ้งยามเย็น เข้าพบคณะกรรมาธิการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อเรียกร้องการเยียวยาช่วยเหลือจากรัฐเพราะประสบปัญหาจากสถานการณ์โควิด 19



ทุกวันนี้น้องแอร์ยังคงทำงานในชุมชนร่วมกันองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชนทั้งการให้ความรู้ ก่อตั้งโรงเรียนผู้หญิง เพื่อให้ผู้หญิงได้เรียนหนังสือ รวมทั้งเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน โดยทำมาทั้งหมด 5 รุ่นแล้ว จัดกิจกรรมเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศจนเมื่อสองปีที่แล้วตัวเธอเองก็ได้รับการยอมรับจากครอบครัวและชุมชน น้องแอร์ยังเป็นคนแรกที่ไปยื่นขอสัญชาติที่อำเภอด้วยตัวเอง รู้ว่ากว่าจะได้มาต้องใช้ทั้งเวลา เงิน และข้อมูล เมื่อทำเองได้สำเร็จเธอจึงจัดทำกระบวนการขอสัญชาติเพื่อช่วยคนในชุมชนยื่นขอสัญชาติ


ในภาวะวิกฤติโควิด คนในชุมชนเจอวิกฤติอาหารและความยากจนฉับพลัน ก็มีการร่วมระดมทุนให้ความช่วยเหลือร่วมกับองค์กรต่างๆ ถึง 10 ครั้ง ระดมทุนการศึกษาให้เยาวชนที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษารวม 30 คน และรวมถึงริเริ่มโครงการผ้าทอกะเหรี่ยงร่วมสมัยสีรุ้งเพื่อสร้างอาชีพให้ผู้หญิงด้วย



น้องแอร์ สายรุ้งยามเย็น ,ศิริวรรณ พรอินทร์ และมัจฉา พรอินทร์ ระหว่างเสวนาออนไลน์



ศิริวรรณ พรอินทร์ Asian Girl Award and Asian Girl Award Ambassador 2020, อาสาสมัครองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน และ สมาชิกโครงการชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (IY4SD) เล่าต่อถึงที่มาที่ไปของโครงการผ้าทอกะเหรี่ยงร่วมสมัยสีรุ้งว่า จากบริบทของเธอมีความเข้าใจและมีแรงบันดาลใจที่จะต้องสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน สิทธิชนเผ่าพื้นเมือง และความเป็นธรรมทางเพศ เนื่องจากเธอเติบโตในครอบครัวที่ผู้ปกครองมีความหลากหลาย เธอมีแม่ 2 คน ซึ่งปัจจุบันยังไม่ถูกยอมรับทางกฏหมายจึงถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายมิติ รวมทั้งเธอมองเห็นปัญหาในระบบการศึกษาไทยที่ยังมีการเลือกปฏิบัติ/การบุลลี่ ด้วยเหตุแห่งชาติพันธุ์/ชนเผ่าพื้นเมือง มิติทางเพศ มิติทางร่างกาย ฯลฯ โดยรูปแบบความรุนแรงมีทั้งการใช้ถ้อยคำพูดดูหมิ่นเหยียดหยาม การคุกคาม ซึ่งการถูกเลือกปฏิบัตินี้สามารถเกิดขึ้นในหลากหลายมิติอย่างซับซ้อน เพียงเพราะมีอัตลักษณ์ชายขอบที่ไม่เป็นกระแสหลัก เธอจึงรู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้เรื่องเหล่านี้ได้เป็นที่พูดถึงในสังคม เริ่มเขียนบทความเพื่อต่อต้านการบุลลี่ในสถานศึกษา รวมถึงให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างๆ จนกระทั่งสองปีที่แล้ว เธอจึงได้เข้ามาเป็นอาสาสมัครองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน เข้าร่วมการประกวด Asian Girl Award 2020 ได้รับเลือกให้เป็นยุวทูตระดับเอเชียสาขาสิทธิมนุษยชน รางวัลนี้มอบโดยองค์กร The Garden Of Hope Foundation ประเทศไต้หวัน



การมีส่วนร่วมทำงานให้กับองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน ทำให้เธอได้เรียนรู้และตระหนักว่าเด็ก ผู้หญิงและเยาวชนชนที่มีสถานะไร้สัญชาติ ในชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองมีสถานะไร้สัญชาติ บ้านเม่สามแลบ ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างแสนสาหัส จึงทำให้แกนนำเยาวชนชนชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศ ร่วมกับองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล และนำไปสู่การให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ตลอดจนเกิดการอบรมเสริมศักยภาพเด็ก เยาวชน ชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศและผู้หญิง ซึ่งนำไปสู่การนำเสนอความต้องการของกลุ่มผู้หญิงไร้สัญชาติว่าอยากมีอาชีพ มีรายได้ เพื่อออกจากปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน



องค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชนกับกลุ่มผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองที่เข้าร่วมอบรมในโรงเรียนผู้หญิง



พวกเราจึงก่อตั้งกลุ่มเยาวชน ชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน - สร้างสรรค์อนาคตเยาวชน (IY4SD: Indigenous Youth For Sustainable Development) เราดำเนินงานโดยได้ปรึกษากับผู้หญิงและอบต.บ้านแม่สามแลบ หลังจากเราได้สร้างการมีส่วนร่วมกับผู้หญิงและชุมชนแล้ว เราจึงได้เริ่มพัฒนาแนวคิดทางด้านธุรกิจและเขียนโครงการเข้าประกวด Youth Co-Lab 2020/UNDP Thailand จากการเข้าร่วมประกวดทำให้เราผ่านการคัดเลือกเป็น 10 ทีม ที่ได้รับโอกาสเข้าร่วมพัฒนาศักยภาพและแนวคิดด้านการทำธุรกิจ ตลอดจนผ่านการ Piching/นำเสนอแผนธุรกิจ จนสามารถผ่านเข้ารอบ 5 ทีมสุดท้าย ที่ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท ในการทดลองเริ่มทำธุรกิจตามแผน ซึ่งนี่เองเป็นที่มาของการเริ่มทดลองทำธุรกิจผ้าทอชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงสีรุ้งอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้โครงการเยาวชน ชนเผ่าพื้นเมืองเมืองเพื่อการพัฒนาอย่างยืน นอกจากเราจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก Youth CoLab/UNDP Thailand แล้ว เรายังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน องค์กรส่งเสริมธุรกิจเพื่อผู้หญิงและชุมชน Chimmuwa และ ThaiConsent ที่ทำให้เราสามารถอบรมเสริมศักยภาพผู้หญิงไร้สัญชาติ 30 คนในมิติความเป็นผู้นำ สิทธิมนุษยชน ความเป็นธรรมทางเพศ และแนวทางในการดำเนินธุรกิจอย่างมีส่วนร่วม


หลังจากได้ทดลองทำธุรกิจ เราได้นำเสนอความก้าวหน้าของโครงการฯ และการประกวดเพื่อชิงชนะเลิศ เพื่อจะได้เป็น 1 ใน 2 ทีมสุดท้ายที่จะได้รับเงินทุนสนับสนุน 100,000 บาท จาก Youth CoLab/ UNDP Thailand ซึ่งก็อย่างที่ทราบกันไปแล้วว่า เราชนะเลิศและได้รับเงินรางวัล 100,000 บาทมาขยายการทำธุรกิจผ้าทอชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงสีรุ้ง ทำให้เราสามารถขยายจำนวนการอบรมเสริมศักยภาพให้กับผู้หญิง ทั้งในมิติสิทธิมนุษยชน ความเป็นธรรมทางเพศ ความเป็นผู้นำ แนวทางการทำธุรกิจแบบมีส่วนร่วม รวมทั้งการออกแบบ การผลิตสินค้าผ้าทอชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงสีรุ้งให้มีเอกลักษณ์ คุณภาพ งดงาม ประณีต และมีจุดขายในแง่ของการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะวัตถุดิบคือเส้นใยฝ้ายธรรมชาติ 100% ย้อมสีธรรมชาติ 6 สีและเป็นงานคราฟต์


จากจุดเริ่มต้นที่ไม่มีคนในชุมชนสนใจทอผ้า ไม่ได้ให้คุณค่าเรื่องการอนุรักษ์วัฒนธรรมผ้าทอชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยง จนมีผู้หญิงเข้าร่วมโครงการฯ ของเรากว่า 30 คน แม้ช่วงแรกจะมีผู้หญิงที่สนใจทอผ้าเพียง 2 คน เพราะหลายคนที่มาร่วมโครงการไม่มั่นใจว่าตัวเองจะทำได้ แต่พอทั้ง 2 คนได้พิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถทอย่าม ผ้าทอชนเผ่ากะเหรี่ยงสีรุ้ง 2 ใบแรกของโลกออกมาได้ พวกเราก็ดีใจมากที่ได้สร้างโอกาสให้กันและกัน และเมื่อเราเชื่อมั่นในศักยภาพของผู้หญิงว่าพวกเธอมีทักษะ ความสามารถ และทำได้ ทำให้ท้ายที่สุดในรุ่นที่ 1 เรามีกลุ่มผู้หญิงทอผ้าทั้งสิ้น 6 คน ซึ่งตอนนี้เมื่อเราเปิดรับรุ่นที่ 2 ก็มีการอบรมเสริมศักยภาพผู้หญิงอีกหลายสิบคน และมีผู้หญิง ชนเผ่าพื้นเมืองไร้สัญชาติเข้ามาร่วมทอผ้าเพิ่มอีก 5 คน จนตอนนี้มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 11 คน และที่สำคัญคือ ผู้หญิงรุ่นแรกเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ และส่งเสริมประสบการณ์ทอผ้าให้กับผู้หญิงในรุ่นที่ 2






แอ๊ะวินา ตัวแทนจากกลุ่มผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองไร้สัญชาติ สมาชิกกลุ่มทอผ้าชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงสีรุ้ง โครงการ “เยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” เล่าว่าชุมชนของเธอมีแค่อาชีพค้าขายกับขับเรือ ส่วนตัวเองไม่มีอาชีพ อยู่บ้านดูแลครอบครัว ทำกับข้าว และส่งลูกไปเรียนหนังสือเท่านั้น พอช่วงโควิดที่ครอบครัวไม่มีรายได้ ก็ได้รู้จักกับองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชนที่เข้าไปทำงานและแจกของในชุมชน เริ่มได้เรียนรู้เรื่องสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศจากโรงเรียนผู้หญิง จึงได้ตั้งคำถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ทั้งที่เราก็ทำได้ทุกอย่างเหมือนผู้ชาย หลังจากนั้นก็ร่วมหาทางออกจนมาเป็นงานธุรกิจ



แอ๊ะวินาระหว่างการทอผ้าในโครงการผ้าทอกะเหรี่ยงสีรุ้งโดยมีลูกๆของเธอร่วมเรียนรู้การทอผ้าอย่างใกล้ชิด


หลังจากได้ร่วมทำธุรกิจผ้าทอ เธอก็ได้เรียนรู้ความเป็นผู้นำ มีรายได้มาซื้อขนมให้ลูก ซื้ออาหาร ข้าวของที่ตัวเองอยากได้ รู้สึกว่าตัวเองมีศักยภาพมากขึ้น สามีก็มองเห็นว่าเรามีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น หาเลี้ยงครอบครัวได้ ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชนที่ให้ความช่วยเหลือชุมชน



เฌอมะพอ ตัวแทนอีกคนจากกลุ่มผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองไร้สัญชาติ สมาชิกกลุ่มทอผ้าชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงสีรุ้ง โครงการ “เยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” บอกว่าก่อนหน้านี้ไม่รู้จักความเป็นธรรมทางเพศหรือสิทธิมนุษยชน มองไม่เห็นว่าตัวเองถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัว เธอไม่มีอาชีพหรือรายได้ ทำได้แค่หาผักหาปลาในพื้นที่ไปเรื่อยซึ่งก็มีความเสี่ยงจากการเข้าไปในพื้นที่ควบคุม

ช่วงแรกๆ ที่เข้าร่วมโครงการเธอไม่มั่นใจว่าจะทำได้หรือเปล่า มีแค่สองคนที่ตกลงมาทอผ้า แต่ตอนนี้เมื่อธุรกิจนี้สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้ เธอก็คิดว่านี่เป็นอาชีพที่มั่นคงยั่งยืน สามารถส่งต่อไปถึงลูกหลานได้



เฌอมะพอ ระหว่างการทอผ้าในโครงการผ้าทอกะเหรี่ยงสีรุ้งโดยมีลูกๆของเธอร่วมเรียนรู้การทอผ้าอย่างใกล้ชิด


ส่วนปัญหาเรื่องสัญชาตินั้น เธอมีประสบการณ์ตอนที่ลูกสาวไม่สบายจึงพาลูกนั่งรถโดยสารไปโรงพยาบาล เจอตำรวจนอกเครื่องแบบเรียกให้รถจอด ถามเธอว่าจะไปไหน ซึ่งเธอตกใจมากเพราะตัวเองพูดไทยไม่ได้ ตำรวจจึงพาตัวไปสถานีตำรวจ ถ้าไม่มีเงินจ่ายค่าประกันตัวก็ไปไหนไม่ได้ เธอต้องโทร.ให้ญาตินำเงินสี่ร้อยบาทมาประกันตัว จึงอยากมีสัญชาติไทยเพราะทุกวันนี้เดินทางไปไหนไม่ได้ ต้องหวาดกลัวอยู่ตลอดเวลา

เฌอมะพอรู้สึกขอบคุณองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชนและน้องแอร์ที่ทำให้ได้เสริมศักยภาพ และธุรกิจทอผ้านี้มีความหมายกับเธอมาก



ด้าน นานา–วิภาพรรณ วงษ์สว่าง จาก Thai Consent เล่าว่าเริ่มต้นทำไทยคอนเซนท์จากประเด็นเพศที่เกิดขึ้นใกล้ตัว ซึ่งก็คือกลุ่มนักศึกษาในเมือง จนได้มีโอกาสเจอคนทำงานสิทธิประเด็นต่างๆ ในพื้นที่นอกอินเตอร์เน็ต เลยอยากช่วยส่งเสียง ร่วมทำงานในสิ่งที่ตัวเองทำได้ซึ่งก็คือการใช้แพลตฟอร์มและสื่อเพื่อให้คนในพื้นที่ได้เป็นคนบอกเล่าปัญหาด้วยตัวเอง


จากฐานคิด Intersectional Feminism ทำให้เธอมองเห็นว่าอัตลักษณ์อื่นๆ นอกเหนือจากอัตลักษณ์ทางเพศก็ถูกกีดกันเช่นกัน และแทนที่จะแก้จากศูนย์กลางอำนาจ ก็อยากแก้ปัญหาจากวงนอกสุดเข้ามา ก็เริ่มศึกษาว่าตัวเองจะสื่อสารแบบไหนได้บ้างโดยการติดตามคนทำงานไปยังพื้นที่ที่ประสบปัญหา และพบว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราเลย เพียงแต่เราอาจมองไม่เห็นทั้งในโลกออนไลน์และรอบตัว อีกทั้งจากมุมมองการทำงานด้านสื่อก็พบว่ามีเรื่องที่ไม่ถูกเล่าอีกมากมาย และต้องการพื้นที่ในการเล่าเช่นเดียวกับประเด็นอื่นๆ รวมทั้งพบว่ายังมีการแบ่งเขาแบ่งเราในการช่วยเหลือ จากประสบการณ์ดังกล่าวทำให้เริ่มมองประเด็นที่ซับซ้อนมากขึ้น และไม่จำกัดตัวเองหรือหยุดอยู่แค่สิ่งที่ตัวเองทำได้


“เพราะเราอยู่ร่วมสังคมเดียวกัน ไม่ว่าจะมีอัตลักษณ์อย่างไร” และนี่คือสิ่งที่ผู้ร่วมเวทีอยากฝากทิ้งท้ายถึงคนในสังคมที่อาจยังมองไม่เห็นผู้ที่มีความหลากหลายทางอัตลักษณ์ ซึ่งมีสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เฉกเช่นเดียวกัน


สุดท้ายเมื่อถามว่าอยากฝากอะไรถึงสังคมหรือมีข้อเสนอแนะต่อสังคมอย่างไร


ข้อเสนอแนะจาก ศิริวรรณ

1. เรียกร้องสมรสเท่าเทียม เพื่อให้สิทธิครอบคลุมผู้มีความหลากหลายทางเพศ เด็กในครอบครัวได้มีสิทธิเทียบเท่าครอบครัวคู่รักต่างเพศ

2. ยังมีเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ เยาวชนพิการ เยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองไร้สัญชาติ ถูกเลือกปฏิบัติในสถานศึกษาด้วยเหตุแห่งอัตลักษณ์ที่ซับซ้อน ดังนั้น

2.1 ต้องมีพื้นที่ปลอดภัยในสถานศึกษา มีการสอนเรื่องสิทธิมนุษยชนครอบคลุมทุกเรื่อง ซึ่งครูต้องมีความรู้ด้านนี้ รวมทั้งให้กระทรวงศึกษาธิการผลักดันให้มีการสอนเพศศึกษารอบด้านในทุกโรงเรียนและทุกระดับชั้น

2.2 ต้องมีนโยบายปกป้องคุ้มครองเด็กที่ถูกกระทำด้วยเหตุแห่งความเปราะบาง เช่น LGBTIQ+ ผู้หญิง ผู้พิการ ฯลฯ ให้มีประสิทธิภาพ และให้เยาวชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง

3. ให้เยาวชนกลุ่มเปราะบางมีส่วนร่วมในการเปลี่ยงแปลงเชิงนโยบายทุกระดับ ไม่ใช่ให้ผู้ใหญ่เป็นคนบอกว่าเยาวชนต้องทำอย่างไร

“บ้าน โรงเรียน สังคม ต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ ผู้พิการ และชนเผ่าพื้นเมือง”


ข้อเสนอแนะจาก น้องแอร์

1. รัฐและสังคมยอมรับการมีอยู่ของชนเผ่าพื้นเมือง ทั้งอัตลักษณ์ ตัวตน ในทางปฏิบัติและทางกฎหมาย ซึ่งจะนำมาสู่การเข้าถึงสิทธิต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการได้รับสัญชาติ สิทธิที่ดินและการครอบครองทรัพยากรธรรมชาติ

2. สังคมโดยเฉพาะรัฐบาลมีมาตรการแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศอย่างเร่งด่วน โดยมีเจ้าของปัญหาเป็นผู้มีส่วนร่วม ในกรณีนี้หมายถึงผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองไร้สัญชาติ

3. ยกเลิกและแก้ไขกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพและสิทธิของชุมชนชนเผ่าพื้นเมือง โดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรป่าไม้ รวมถึงกฎหมายอุทยาน

4. เนื่องจากชุมชนแม่สามแลบตั้งอยู่บนพื้นที่ภัยพิบัติ รัฐบาลไทยต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อจัดหาที่อยู่ที่ปลอดภัยให้ชุมชน ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของเจ้าของปัญหา เพื่อการันตีว่าพื้นนั้นจะมีความปลอดภัย มีสาธารณูปโภคพื้นฐานได้แก่ ถนน ไฟฟ้า ระบบประปา รวมถึงมีโรงเรียนและโรงพยาบาล

5. เยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง LGBTIQ+ ที่ไม่มีสัญชาติเข้าไม่ถึงการศึกษา จึงเรียกร้องให้รัฐบาลจัดทุนการศึกษาให้เยาวชน

6. ต้องการให้รัฐบาลเยียวยาจากผลกระทบโควิด

7. ชนเผ่าพื้นเมืองไร้สัญชาติต้องเข้าถึงข้อมูลโควิดอย่างรอบด้านในภาษาชนเผ่าพื้นเมือง เข้าถึงวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับทุกคนในสังคมไทย


ข้อเสนอแนะจาก แอ๊ะวินา

1. จากผลกระทบช่วงโควิดทำให้ชุมชนไม่มีรายได้ จึงต้องการให้จัดหาอาชีพให้ชุมชน

2. ต้องการการเยียวยาจากรัฐบาลเพื่อให้มีเงินซื้ออาหารเลี้ยงชีพ

3. ชนเผ่าพื้นเมืองต้องได้รับวัคซีนแม้ไม่มีสัญชาติ

4. ต้องการสัญชาติไทยเพื่อให้เข้าถึงระบบการศึกษา การรักษาพยาบาล การเดินทาง ได้เรียนภาษาไทยเพื่อสื่อสารกับคนในสังคมให้ได้รับรู้ถึงสภาพปัญหาของพวกเรา


ข้อเสนอแนะจาก เฌอมะพอ

1. ต้องการสัญชาติไทย เพราะเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล ต้องประสบความหวาดกลัวทุกครั้งเมื่อเดินทาง

2. ต้องการรับการศึกษา เพราะจะทำให้ตนมีความเชื่อมั่นในตัวเอง เพื่อที่จะสอนการบ้านลูกได้ สื่อสารกับเจ้าหน้าที่ที่อำเภอได้

3. ต้องการวัคซีนที่ปลอดภัยสำหรับคนไร้รัฐไร้สัญชาติ เข้าถึงข้อมูลรอบด้านเพื่อเลือกวัคซีนได้


ข้อเสนอแนะจาก นานา

หวังว่าเสียงของพี่น้องชนเผ่าจะมีพื้นที่มากกว่านี้ในสังคม อยากเห็นสังคมที่ร่วมมือกันโดยเฉพาะคนที่ต่อสู้เรื่องสิทธิ


ข้อเสนอแนะจาก มัจฉา พรอินทร์


นอกจากเราอยากเฉลิมฉลองวันชนเผ่าพื้นเมืองโลก โดยให้ความสำคัญกับเสียงและข้อเรียกร้องของเยาวชน ชนเผ่าพื้นเมืองผู้หญิงและเยาวชน ชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศ ในชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองที่มีสถานะไร้สัญชาติ อันจะนำไปสู่การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง: ชนเผ่าพื้นเมืองและการเรียกร้องพันธะสัญญาประชาคมใหม่ ที่มีปฏิบัติที่แบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง


นอกจากนี้อยากขอเพิ่มเติมข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้


1. โควิดทำให้ภาพการเลือกปฏิบัติชัดเจนขึ้น สังคมเริ่มตระหนักถึงช่องว่างและโครงสร้างสังคมที่ไม่เป็นธรรม ที่บางคน/บางกลุ่มได้เข้าถึงวัคซีนแล้ว แต่บางคน/หลายกลุ่มที่มีอัตลักษณ์ชายขอบ ที่อยู่ในประเทศไทย ยังเข้าไม่ถึงวัคซีนที่มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพ นี่รวมทั้งพี่น้องชนเผ่าพื้นเมือง ที่เมื่อโควิดไม่เลือกเชื้อชาติ/เผ่าพันธุ์ และสัญชาติ ตลอดจนสถานะทางกฎหมาย ดังนั้น “ทุกคน” ต้องได้เข้าถึงวัคซีนป้องกัน COVID 19 ทั้งนี้ต้องนับรวมแรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย คนในประเทศไทยที่ยังมีสถานะไร้สัญชาติทุกคน


2. ท่ามกลางวิกฤตโควิด 19 ได้ส่งผลให้เกิดวิกฤตความรุนแรงทางเพศ ซึ่งทำให้ผู้หญิงและ LGBTIQAN+ เสี่ยงที่จะถูกเลือกปฏิบัติและ/หรือถูกใช้ความรุนแรงถึงชีวิต จึงอยากเห็นสังคมลุกขึ้นมาต่อต้านความรุนแรงและปกป้องคุ้มครอง ต่อผู้หญิง เด็ก และ LGBTIQAN+ ที่ถูกทำร้าย เราต้องร่วมกันรณรงค์ ต่อต้านความรุนแรงทุกรูปแบบ เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียเช่นนี้อีก ดังนั้นเราต้องพัฒนาระบบและกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ และใช้ได้จริง


3. สังคมไทยต้องเป็นประชาธิปไตย และเราต้องการขับเคลื่อนพัฒนาประชาธิปไตยไปพร้อมกับส่งเสริมสิทธิมนุษชนและปกป้องทุกอัตลักษณ์ที่หลากหลายอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม ขบวนการประชาธิปไตยต้องนับรวมการขับเคลื่อนเรื่องความเป็นธรรมทางเพศ สิทธิหลากหลายทางเพศ และสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ให้เป็นส่วนหนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหวประชาธิปไตย


4. เวทีสาธารณะพูดถึงประเด็นสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม การศึกษา โดยทั่วไปต้องมีสัดส่วนผู้หญิงและ LGBTIQ+ ที่เท่าเทียมเป็นธรรม และทุกเวทีฯ ต้องมีเยาวชนที่หลากหลายเป็นตัวแทนในเวที 70% ขึ้นไป เพื่อสะท้อนการให้ความสำคัญและสนับสนุนเสียงเยาวชน เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้ใช้อำนาจขับเคลื่อน เปลี่ยนแปลงประเทศให้เท่าเทียม เป็นธรรม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ให้เป็นจริงเสียที


สำหรับผู้สนใจฟังเสวนาย้อนหลัง เข้าไปฟังได้ที่ https://www.facebook.com/saydpthailand/videos/675706056687015


รับชมแฟชั่นโชว์ผ้าทอกระเหรี่ยงสีรุ้งได้ที่ https://www.facebook.com/watch/live/?v=284884333400132&ref=watch_permalink


ติดต่อสั่งซื้อสินค้าผ้าทอกระเหรี่ยงสีรุ้งจากโครงการเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ที่เพจขององค์สร้างสรรค์อนาคตเยาวชน https://www.facebook.com/watch/saydpthailand/









ดู 233 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page